วัดประตูป่า ตั้งอยู่เลขที่ ๙๕ หมู่ที่ ๔ ตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดประตูป่า สร้างราวปีพุทธศักราช ๒๓๐๑ ตามประวัติกล่าวว่าเมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๒๓๐๐ กองทัพพม่าได้ยกกองทัพมาตีเมืองเหนือในเขตดินแดนล้านนา เจ้านายฝ่ายในเวียงนครหริภุญไชยหรือเวียงหละปูน(ปัจจุบันคือจังหวัดลำพูน) พระสงฆ์องค์เจ้าและชาวบ้าน ในเมืองหริภุญไชย ได้อพยพหลบภัยสงคราม มาอาศัยอยู่แถบบริเวณปากลำเหมืองไม้แดง ตั้งอยู่เหนือเวียงหละปูน ทั้งไพล่พลข้าราชการฝ่ายในเมืองหริภุญไชยได้ร่วมใจกันสร้างวัดขึ้น บริเวณที่วัดร้าง ในบริเวณเหนือเวียงหริภุญไชย

ประวัติวัดประตูป่า1.wmv.mp4

ด้วยประวัติศาสตร์นครหริภุญไชยนั้น เป็นเมืองประวัติศาสตร์เป็นนครรัฐที่เก่าแก่ที่สุดก่อนใครในภูมิภาค เป็นต้นแบบทางวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานอารยะธรรมทุกด้านแก่อาณาจักรที่ก่อเกิดขึ้นในภายหลัง เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาในภูมิภาคแถบนี้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จากเหตุผลดังกล่าวทำให้สันนิษฐานได้ว่า บริเวณวัดร้างที่เป็นที่ตั้งของวัดประตูป่าในปัจจุบันตลอดจนวัดร้างกู่ต่างๆซึ่งอยู่ในบริเวณหมู่บ้าน ที่รายรอบชุมชนวัดประตูป่าเคยเป็นชุมชนที่เจริญรุ่งเรืองและเลื่อมใสนับถือพระพุทธศาสนามาก่อน

หลังจากนั้นเมื่อเดือน ๗ ขึ้น ๕ ค่ำ ตรงกับวันจันทร์ พ.ศ.๒๓๔๘ พระเจ้ากาวิละได้มอบหมายให้เจ้าคำฟั่นและบริวารจากเมืองเชียงใหม่และเจ้าบุญมา น้องคนสุดท้องและบริวารจากเมืองลำปาง เจ้าเมืองยองพร้อมด้วยบุตรภรรยา น้องทั้ง ๔ ญาติพี่น้อง ขุนนาง พระสงฆ์และไพร่พลจากเมืองยองนับ ๑๙,๙๙๙ คน เข้ามาแผ้วถางเมืองลำพูนที่ร้างอยู่ จนถึงวันพุธขึ้น ๘ ค่ำ จึงเข้ามารื้อฟื้นลำพูนได้ พระสงฆ์จำนวน ๑๙๘ รูป สวดมงคลพระปริตรในที่ไชยยะมงคล ๙ แห่ง ในเมืองลำพูน

หลังจากแล้วเสร็จจากการ แผ้วถางเมืองหละปูนที่รกร้าง ได้มีการแบ่งพื้นที่ให้ชาวยองได้อาศัยในบริเวณที่ราบลุ่มใกล้น้ำนอกเวียง ชาวยองบ้านป่าม่วงทั้งหลาย จึงเลือกเอาพื้นที่บริเวณพื้นที่วัดห่าง (วัดร้าง)ใกล้ปากลำเหมืองป่าไม้แดง เป็นที่อาศัย เพราะเป็นพื้นที่ติดน้ำ มีที่ราบสำหรับปลูกพืชและข้าวไร่ได้ มีพื้นที่กว้างขว้างเหมาะแก่การตั้งบ้านเรือน ชาวยองจึงช่วยกันแผ้วถางพื้นที่และบูรณะวัดห่างแห่งนี้ขึ้นมาใหม่และได้อาราธนาพระมหาเถระครูบาเหล็ก และพระสงฆ์จากเมืองยองป่าม่วงที่มาด้วยกัน โดยนิมนต์ให้ครูบาเหล็กเป็นเจ้าอารามแห่งนี้

แหล่งข้อมูล : เจ้าอาวาสวัดประตูป่า

ผู้เรียบเรียง : นางสาวจุฑาทิพย์ วิจิตร์