1.3 หลักการใช้ปุ๋ยกับพืช

หลักในการใช้ปุ๋ยกับพืช

การใช้ปุ๋ยโดยเฉพาะปุ๋ยเคมีเพื่อการผลิตพืชจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดที่พืชจะได้รับและปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อม โดยมีหลักในการใส่ปุ๋ยดังต่อไปนี้

1) พิจารณาถึงลักษณะดิน โดยเฉพาะเนื้อดิน โครงสร้างของดิน และความร่วนซุยของดิน เช่น ถ้าเป็นดินทรายควรแบ่งใส่ปุ๋ยทีละน้อย หลายๆ ครั้ง

2) ปุ๋ยที่ใส่ลงไปในดินจะต้องอยู่ในบริเวณที่รากพืชดูดไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว โดยทั่วไปจะสังเกตจากบริเวณที่ปลายรากพืชกระจายอยู่หนาแน่น และมีน้ำทำละลายปุ๋ยเพียงพอ

3) กำหนดวิธีการใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมกับลักษณะของการปลูกพืช เช่นพืชที่ปลูกเป็นแถวเป็นแนวมักใส่ขนานกับแถวของพืช หรือพืชยืนต้นทรงพุ่มต้นใหญ่จะต้องใส่รอบทรงพุ่มต้น

4) ให้ปุ๋ยตรงตามความต้องการของพืชทั้งช่วงเวลาและปริมาณที่พืชต้องการ

5) การใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อให้ธาตุอาหารแก่พืชหรือเพื่อการปรับปรุงคุณสมบัติต่าง ๆ ของดินก็ตาม ควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่เน่าเปื่อยสมบูรณ์แล้วเพราะจะได้ฮิวมัสมาก

วิธีการใส่ปุ๋ย

การใส่ปุ๋ยเพื่อให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุดนั้นจะเกี่ยวข้องอย่างมากกับชนิดพืช การปลูก ลักษณะหรือคุณสมบัติของปุ๋ย ตลอดจนแรงงานและเครื่องมือที่ใช้ ซึ่งมีวิธีการต่างๆ ดังนี้

1) การหว่าน (broad cast application) เป็นวิธีการใส่ปุ๋ยให้กับพืชที่ปลูกไม่เป็นแถวเป็นแนว หรือพืชที่มีระบบรากแพร่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ปลูก เช่น ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หญ้าสนาม เป็นต้น การหว่านปุ๋ยควรหว่านให้กระจายไปทั่วอย่างสม่ำเสมอโดยแบ่งการหว่านออก 2 ครั้ง ครั้งแรกตามแนวทิศเหนือ-ใต้ และครั้งที่ 2 ตามแนวทิศตะวันออก-ตก

2) การโรยเป็นแถวขนานกับแถวของพืช (row or band application) เป็นวิธีการใส่ปุ๋ยให้พืชที่ปลูกเป็นแถวเป็นแนว โดยการโรยปุ๋ยเป็นแถบในบริเวณที่รากพืชกระจายออกไปอยู่หนาแน่นที่สุด

3) การใส่ปุ๋ยในหลุมที่ขุดเป็นจุด (hole application) เป็นวิธีการใส่ที่ลดการกระจายของปุ๋ยในพื้นที่ดินลง เช่น การใส่ปุ๋ยให้ยางพาราอายุ 3-4 ปีหลังจากปลูก

4) การใส่ปุ๋ยลงไปตามร่องที่ไถ (plow-sow placement) ทำได้โดยการใช้ไถเปิดร่องนำไปก่อนแล้วโรยปุ๋ยตามลงไปในร่อง การใส่ปุ๋ยวิธีนี้จะลดการสูญหายของปุ๋ยจากการทำลายต่างๆ ลงได้มาก

5) การฉีดพ่นปุ๋ยเหลวให้ทางใบ (foliar spray application) โดยการฉีดปุ๋ยเหลวให้กับพืช มักใช้กับพืชที่แสดงอาการขาดธาตุอาหารหรือต้องการเร่งการเจริญเติบโตแก่พืช

6) การโรยปุ๋ยรอบทรงพุ่มต้นตามแนวพุ่มใบ (ring application) วิธีนี้มักใช้กับไม้ผลยืนต้นที่มีทรงพุ่มกว้างโดยจะให้ปุ๋ยตามแนวพุ่มใบซึ่งถือเป็นบริเวณที่มีรากอ่อนอยู่มาก

7) การหยอดปุ๋ยที่ซอกใบรอบโคนต้น เช่น การให้ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารไนโตรเจนกับสับปะรดที่ตำแหน่งซอกใบซึ่งมีลักษณะเป็นกระเปาะ เนื้อเยื่อผิวใบค่อนข้างบางสามารถดูดซึมปุ๋ยเข้าไปได้ง่าย

โดยทั่วไปการใส่ปุ๋ยจะคำนึงถึงระยะการเจริญเติบโตทาง ลำต้น (vegetative growth) และระยะการออกดอกผล (reproductive growth) ในการใส่ปุ๋ยให้กับพืชจึงต้องคำนึงระยะการเจริญเติบโตของพืชว่าอยู่ในระยะใด แล้วจึงจะใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมกับระบบการเจริญเติบโตนั้นๆ โดยมีรายละเอียดของระยะเวลาที่ควรใส่ปุ๋ยดังต่อไปนี้

1) ใส่ก่อนปลูกโดยการใส่ปุ๋ยรองพื้น เช่นการหว่านปุ๋ยให้ทั่วพื้นที่แล้วไถคลุกเคล้ากับดินหรือใส่พร้อมหยอดเมล็ด เช่นการโรยก้นร่อง หากเป็นไม้ยืนต้นเช่นยางพารา ไม้ผลก็คือการใส่ปุ๋ยรองก้นหลุม

2) ใส่ระยะที่พืชเจริญเติบโตรวดเร็ว เป็นระยะที่เร่งการสร้าง ใบ ต้น กิ่ง แขนง

3) ใส่ก่อนระยะออกดอก เพื่อให้พืชนำธาตุอาหารไปใช้ในการสร้างดอก ผล และเมล็ดได้อย่างสมบูรณ์

4) ใส่เมื่อพืชแสดงอาการขาดธาตุอาหารใดๆ เมื่อปรากฏชัดเจนว่าพืชขาดธาตุอาหารก็รีบใส่ปุ๋ยที่ขาดนั้นลงไป ในดินหรือฉีดพ่นให้ทางใบ

ในปัจจุบันได้มีการผลิตและการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์กันในปริมาณมากและกว้างขวางทั่วไปมากกว่าการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติ ทั้งนี้เนื่องจากให้ผลในการเจริญเติบโตของพืชได้เร็ว มีจำหน่ายทั่วไปขนส่งและนำไปใช้ได้สะดวก แต่อย่างไรก็ตามการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์บางประเภทติดต่อกันเป็นเวลานานๆ หรือใช้อย่างขาดความรู้ รอบคอบจะทำให้คุณสมบัติบางประการของดินเสื่อมลงได้ เช่น ความพรุนของดิน ปริมาณและกิจกรรมของจุลินทรีย์ในดิน หรือทำให้ปฏิกิริยาของดินเปลี่ยนแปลง เป็นต้น ดังนั้นมีความจำเป็นที่ควรจะพิจารณาและได้นำเอาปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติที่มีอยู่แล้วทั่วไปในบริเวณที่ปลูกพืชมาใช้เพื่อการบำรุงดิน และควบคุมคุณสมบัติหลายประการของดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชดังกล่าวแล้ว ดังนั้นมีความจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยรักษ์โลก ไปเร่งการเจริญเติบโตของพืช ลดความเสื่อมสภาพของดิน ทำให้ดินมีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชอย่างยั่งยืน