4.1วิธีการทำปุ๋ยมูลไส้เดือน

การเตรียมโรงเรือนผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน : โรงเรือนสำหรับเลี้ยงไส้เดือนดิน ต้องมีหลังคากันฝนและพรางแสง เนื่องจากไส้เดือนดินไม่ชอบแสงสว่าง ในบริเวณบ่อเลี้ยงต้องมีตาข่ายปิดด้านบน หรือใช้ตาข่ายกั้นบริเวณด้านข้างรอบโรงเรือนเพื่อป้องกันศัตรูของไส้เดือนบ่อเลี้ยงไส้เดือน กว้างประมาณ 1 เมตรความยาวแล้วแต่ต้องการ และมีความลึกไม่เกิน 0.5 เมตรจะใช้เป็นบ่อเลี้ยงที่ใช้ผลิตปุ๋ยหมัก มูลไส้เดือนดินจากวัสดุอินทรีย์ได้ดีและสะดวกในการจัดการ

บ่อเก็บน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน ควรก่อสร้างบริเวณด้านข้างโรงเรือนหรือด้านหลังโรงเรือนให้น้ำหมักจากบ่อเลี้ยงไส้เดือนไหล เข้าไปเก็บไว้ในบ่อเก็บน้ำหมักได้ง่าย ขนาดของบ่อเก็บน้ำหมักจะมีขนาดเล็กกว่าบ่อเลี้ยงไส้เดือนตามความเหมาะสมของปริมาณ น้ำหมักที่ได้

การเตรียมวัสดุรองพื้นเพื่อเป็นที่อาศัยของไส้เดือนดิน :

ที่อยู่ของไส้เดือนนั้น จะใช้ฟางแห้ง จำนวน 1 กระสอบ + ขี้เลื่อย จำนวน 2 ปี๊บ คนให้เข้ากันกัน ใช้น้ำรดไปเรื่อยๆจนกระทั่งส่วนผสมติดกันปั้นเป็นก้อนได้ คลุมทับด้วยกระสอบป่านหรือผ้าสแลนสีดำ ทิ้งบ่อไว้ 7 วันเมื่อครบ 7 วัน จึงปล่อยไส้เดือนลงเลี้ยง การเริ่มต้นเลี้ยงไส้เดือนในระยะเตรียมการจึงควรมีปริมาณไส้เดือนอย่างน้อย 1 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4 - 6 สัปดาห์ ก็จะทำให้ปริมาณไส้เดือนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และทวีจำนวนมากขึ้นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

การจัดการโรงเรือน : การในการจัดการโรงเรือนจะต้องพยายามควบคุมไม่ให้เกิดความร้อนขึ้นในบ่อเลี้ยงที่ไส้เดือนอาศัยอยู่ เนื่องจากจะเป็นสิ่งที่จำกัดการเจริญเติบโตของไส้เดือน หลังจากที่นำไส้เดือนลงเลี้ยงในบ่อแล้วก็เลี้ยงต่อเนื่องจนไส้เดือนอายุประมาณ 2 เดือน ไส้เดือนก็จะเริ่มเป็นหนุ่มสาว จะสังเกตเห็นถุงเก็บน้ำเชื้อสีขาว (ไคเทอรั่ม)บริเวณรอบคอ พร้อมที่จะวางไข่ จากนั้นจะเริ่มสังเกตเห็นไข่ไส้เดือนเกาะกันเป็นกลุ่มๆ มีลักษณะเหมือนเม็ดแมงลัก ออกสีน้ำตาลสามารถ สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนหลังจากเห็นไข่ไส้เดือน 20 วัน จะเริ่มเห็นลูกไส้เดือนตัวเล็กแรกเกิดจะมีลักษณะเหมือนเส้นด้ายสีขาว หลังจากนั้นอีก 7 วัน จะเริ่มออกเป็นสีน้ำตาลแดง ช่วงนี้ก็สามารถคัดแยกไส้เดือนแม่พันธุ์ออกจากบ่อทั้งหมด เหลือไว้แต่ลูกไส้เดือนเลี้ยงต่อไปตามปกติ ผลผลิตที่ได้จากการเลี้ยงไส้เดือน คือ ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน น้ำหมักมูลไส้เดือน และสร้างรายได้อย่างงามให้กับคุณธงชัย ก้อนทอง นอกจากนั้นการเลี้ยงไส้เดือนก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้าน เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นปุ๋ยหมัก ลดการฝั่งกลบขยะด้านการเกษตร ผลิตปุ๋ยหมักจากไส้เดือนและน้ำสกัดชีวภาพใช้ในการเกษตรอินทรีย์ ด้านอาหารสัตว์ ใช้เป็นอาหารโปรตีนทั้งในรูปไส้เดือนเป็นและผง

www.rakbankerd.com/agriculture/page.php?id=7330&s=tblplant