6.1ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านทุ่งศรี หมู่ที่ 3 ตำบลทุ่งศรี อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่

เดิมหมู่บ้านทุ่งศรี มีชื่อว่าบ้างทุ่งเพอะ (ภาษาพื้นเมืองแปลว่ากระจัดกระจาย) เนื่องจากใน อดีตมีทุ่งนาและบ้านเรือนอยู่ห่างกระจัดกระจายกันอยู่ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นบ้านทุ่งศรี เมื่อปี พ.ศ. 2500 ในสมัยกำนันเมือง จันทิ

“บ้านทุ่งศรี” เป็นชุมชนขนาดกลางมี 111 ครัวเรือน ประชากร 349 คน เริ่มกิจกรรมชุมชนปลอดขยะตั้งแต่ปี 2553 จนได้รับรางวัลชุมชนปลอดขยะระดับประเทศปี 2555 และได้รับคัดเลือกจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการขยะที่มีมาตรฐานตัวแทนเทศบาล ต.ร้องกวาง เพื่อเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดความรู้ด้านจัดการขยะของชุมชนไปยัง อปท. หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ชุมชนต่างๆ ที่ต้องการมาศึกษาดูงาน เพื่อนำไปปรับใช้กับท้องถิ่นตัวเอง

“เราเริ่มจากกลุ่มคนเล็กๆ ที่อยากเปลี่ยนแปลงชุมชนให้ดีขึ้น เช่น ตัวผมหลังเรียนจบวิศวกรรมการเกษตรที่ ม.แม่โจ้ ไปทำงานที่อื่นเกือบสิบปี พอกลับมาบ้านเห็นว่าทุกอย่างเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง เลยสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้าน แล้วรวบรวมคนที่มีความคิดเดียวกันร่วมกันสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาชุมชน ซึ่งเมื่อชาวบ้านเห็นผลดีก็เข้ามาร่วมกันมากขึ้น จนขยายการมีส่วนร่วมครอบคลุมทั้งหมู่บ้าน” โดยย้ำว่าการทำงานได้ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะเป็นชุมชนเกษตรกร ซึ่งชาวบ้านจะคัดแยกขยะตั้งแต่ในครัวเรือน มีการนำสิ่งของกลับมาใช้ใหม่ ทั้งรณรงค์นำเศษอาหาร เศษฟางข้าว เศษใบไม้ ทำปุ๋ยหมัก ผลิตน้ำหมัก ทำถ่านอัดแท่งขาย ส่งเสริมการเลี้ยงไส้เดือน จนปัจจุบันยกระดับการดำเนินการให้เป็นเศรษฐกิจชุมชน สร้างรายได้แก่ชาวบ้าน และตอบโจทย์ปัญหาได้ครอบคลุมทุกด้าน นายธีรวัฒน์ ต๊ะวิกา ผู้ใหญ่บ้านทุ่งศรี กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการเข้ามาสร้างความมือของชาวบ้านเพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนบ้านทุ่งศรี

การจัดการขยะของบ้านทุ่งศรี ตำบลทุ่งศรี อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่นั้น มีรูปแบบการจัดการขยะชุมชน เพื่อลดปริมาณขยะด้วยการคัดแยกขยะทุกครัวเรือน โดยใช้แนวคิด “ขยะก้นครัว…สู่ปุ๋ยหมักชีวภาพ” ด้วยการจัดการขยะอินทรีย์นำมาแปรรูปเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยน้ำชีวภาพ กิ่งไม้ใบไม้นำมาทำเป็นปุ๋ยหมัก และส่งเสริมครัวเรือนให้มีการจัดการขยะเพื่อสภาพแวดล้อม และสุขภาวะที่ดี รวมไปถึงได้ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมี เพราะได้ปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากการจัดการขยะของชุมชนอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกองทุนขยะหมู่บ้านขึ้น มีการบริหารจัดการกองทุนขยะในหมู่บ้าน และแนวทางในการดำเนินกิจกรรมโครงการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เป็นการสร้างระเบียบวินัยให้กับประชาชนในการบริหารจัดการขยะของครัวเรือน สามารถสร้างให้เกิดรายจากขยะได้อีกทางหนึ่ง จนได้รับรางวัลด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและด้านอื่นๆ จากหลายหน่วยงาน อาทิ

– ศูนย์เรียนรู้ชุมชนปลอดขยะภาคเหนือ

– หมู่บ้านปลอดการเผา

– ศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านต้นแบบปลอดการเผา

– รองชนะเลิศอันดับ 1 โครงการลดเมืองร้อน ปี พ.ศ. 2557

– หมู่บ้านต้องแอ่ว ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ด้านศาสนาศิลปวัฒนธรรมและสุขภาพ

– ชุมชนผู้นำเข้มแข็ง

และหนึ่งในรางวัลแห่งความภาคภูมิใจที่สุดของชาวทุ่งศรีนั่นก็ รางวัลชนะเลิศการประกวดโครงการชุมชนปลอดขยะ ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ. 2555 ชุมชนขนาดกลาง และได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ที่สำคัญหมู่บ้านแห่งนี้ผู้สูงอายุที่อยู่กับบ้านได้มีการเรียนรู้เรื่องของการเลี้ยงไส้เดือน โดยจะเลี้ยงไส้เดือนสายพันธุ์ไทเกอร์ เอาไว้ขายให้กับชุมชนเพื่อนำไส้เดือนมากำจัดขยะ โดยราคาไส้เดือนกิโลกรัมละ 700 บาท ทำให้ผู้สูงอายุมีรายได้ นอกจากขายไส้เดือนแล้วยังขายน้ำไส้เดือนได้อีกด้วย และในปัจจุบัน ชาวชุมชนได้นำไส้เดือนพันธุ์ไทเกอร์มาเปิดให้บริการสปาเท้าเป็นครั้งแรก

โดยขั้นตอนจะนำไส้เดือนจากบ่อเลี้ยงมาล้างเพื่อชำระโคลนออก แล้วนำมาผสมกับฉี่ไส้เดือนที่ได้จากการเพาะ เพื่อที่จะได้มีเมือกของไส้เดือนออกมา จากนั้นให้ผู้ใช้บริการ ล้างเท้าให้สะอาด แล้วนำไส้เดือนปล่อยให้เลื้อยไปตามเท้าของผู้รับบริการ ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที จากนั้นนำไส้เดือนออกแล้วนำเท้าไปล้างให้สะอาดด้วยน้ำเปล่าล้างเมือกของไส้เดือนออก แล้วล้างด้วยน้ำมะกรูดเพื่อเพิ่มความนุ่มของเท้าและลดกลิ่นคาวของไส้เดือน แล้วล้างน้ำสะอาดอีกรอบ พอเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่บริการจะนวดเท้าให้เพื่อผ่อนคลาย เพื่อคลายจุดตรงบริเวณเท้า แรกๆ อาจรู้สึกกลัว แต่เมื่อปล่อยให้ไส้เดือนได้เลื้อยแล้ว ปรากฏว่าอาการหายจากอาการปวดเมื่อย ส่วนบางคนที่มีปัญหากลิ่นเท้าหายไปด้วยเช่นกัน โดยคิดค่าบริการครั้งละ 399 บาท

ชุมชนบ้านทุ่งศรี ยังได้จัดเตรียมโฮมสเตย์ไว้สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการพักผ่อนท่ามกลางท้องทุ่งนาและได้สัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวชุมชน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ ถือเป็นการสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านให้เกิดความอยู่ดีมีสุข สามารถดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภุมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 และยังสามารถเป็นชุมชนต้นแบบในการขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ ให้เกิดการเรียนรู้ และสามารถปฏิบัติตามให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืนต่อไป


https://www.cem-onep.com/location/

ผู้นำชุมชน 2552 – ปัจจุบัน : นายธีรวัฒน์ ต๊ะวิกา

เบอร์มือถือ 084-040 1050

ข้อมูลจาก : 1. กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

2. สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแพร่

3. Facebook : หมู่3 บ้านทุ่งศรี อ.ร้องกวาง จ.แพร่