“วัฒนธรรมเก่าเลือนหายไป...วัฒนธรรมใหม่เข้ามาแทนที่” ผู้เฒ่าผู้แก่รู้สึกใจหายทุกครั้ง

ที่ได้ยินประโยคนี้ ลูกหลานในยุคสมัยปัจจุบันต่างรับอิทธิพลของชาติตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย ภาษา วัฒนธรรม ซึ่งหารู้ไม่ว่าวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวล้านนากำลังจะเลือนหายไปตามกาลเวลา ตามยุคสมัยของโลกปัจจุบัน

อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ยังมีผู้ซึ่งมีใจรักในวัฒนธรรมล้านนาและต้องการที่จะสืบสานไปยังรุ่นลูก รุ่นหลาน เพื่อให้เห็นความงดงามอันล้ำค่าอย่างตุ๊กตาปั้นดินเผาชุดผู้หญิงล้านนาในสมัยก่อน ซึ่งเกิดจากแนวคิดและความรู้สึกของผู้ที่มีใจรักและมีศิลปะในการปั้นดินเผา คือนายอดุลย์ เชื้อจิต ชาวบ้านดงหลวง ตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมและความงดงามของผู้หญิงล้านนาในอดีต ทั้งด้านการแต่งกาย การนุ่งซิ่น การห่มผ้าสไบ การมวยผม และกิริยาที่อ่อนน้อมถ่อมตน ตุ๊กตาปั้นดินเผาชุดผู้หญิงล้านนาของนายอดุลย์ มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว ๔ ประการ คือ

 ๑. การนุ่งซิ่น

       อดุลย์ เชื้อจิต (2565) เล่าว่า เมื่อครั้งสมัยเป็นเด็ก จะเห็นการนุ่งซิ่นในเมืองลำพูนเป็นเรื่องปกติ ยิ่งในช่วงเทศกาลประเพณีต่าง ๆ เช่น สรงน้ำพระธาตุ ประเพณีตานก๋วยสลาก ผู้คนมักจะนุ่งซิ่นไปร่วมประเพณีและชื่นชมความงามแก่กัน หากกล่าวถึงผ้าซิ่นแล้วในอดีตผู้คนส่วนใหญ่จะนุ่งซิ่นผ้าอยู่ ๒ อย่าง คือ ผ้าฝ้ายยกดอก ซึ่งจะใช้กับชาวบ้าน และผ้าไหมยกดอก จะใช้ในพระราชสำนัก สำหรับเจ้านายฝ่ายเหนือ ส่วนใหญ่จะตกแต่งเป็นลายดอกพิกุล ลายกุลกลมและลายพิกุลสมเด็จ ล้วนเป็นลายดอกที่สวยและงดงามมาก ผ้าฝ้ายทุกชิ้นที่ชาวล้านนานำมานุ่งนั้นเกิดขึ้นจากหยาดเหงื่อ แรงกาย พลังใจที่ใช้ในการปลูกฝ้ายจนกระทั่งถักทอออกมาเป็นผืน นายอดุลย์ เชื้อจิต ลูกหลานของชาวล้านนาโดยแท้ จึงเกิดแนวคิดที่จะนำการนุ่งซิ่นมาใส่ในงานดินปั้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์การนุ่งผ้าซิ่น เห็นคุณค่า ความอดทน ความเอาใจใส่และสนใจที่จะใส่ผ้าซิ่นเพื่อจะเกิดความภาคภูมิใจ ที่เกิดเป็นผู้หญิงล้านนา

ฝ้ายลายไหมยกดอกลำพูน

ภาพโดย : board.postjung.com


ตุ๊กตาดินเผา ชุดแม่ญิงล้านนา

ภาพโดย : นายนราวิชญ์ คำมะเข

๒. เสื้อพื้นเมือง 

       ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สืบทอดต่อ ๆ กันมาอย่างยาวนานอย่างการใส่ชุดเสื้อผ้าพื้นเมืองประจำพื้นถิ่น ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องที่ประจำท้องถิ่น รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม ด้วยความต้องการให้ชุดพื้นเมืองล้านนาเป็นที่รู้จักและให้ผู้คนทั่วไปทั้งในท้องถิ่นและต่างถิ่นได้ชื่นชมในความงามของวัฒนธรรมอันดีงามของวัฒนธรรมการแต่งกายเสื้อพื้นเมืองภาคเหนือ ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าสีพื้นเมือง มีลายที่งดงาม นายอดุลย์ เชื้อจิต จึงได้นำแนวคิดการใส่เสื้อพื้นเมืองล้านนามาผสมผสานในงานปั้นในชุดแม่หญิงล้านนาเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สืบทอดต่อ ๆ กันมาอย่างยาวนาน


ชุดพื้นเมืองผู้หญิง

ภาพโดย : www.annacottonshop.com


ตุ๊กตาดินเผา ชุดแม่ญิงล้านนา

ใส่เสื้อพื้นเมืองและถือดอกไม้

 แสดงถึงความอ่อมน้อมถ่อมตน

ภาพโดย : นายอดุลย์ เชื้อจิต


๓. สไบ

       อดุลย์ เชื้อจิต (2565) เล่าว่า จากการสังเกตและฟังบรรพบุรุษเล่าต่อ ๆ กันมา พบว่าการห่มสไบในสมัยก่อน แม่หญิงล้านนานิยมใส่สไบสีขาว ซึ่งหมายถึงความบริสุทธิ์ การมีจิตใจที่สะอาด โดยมีลวดลายเน้นไปที่ลวดลาย ๑๒ นักษัตร ซึ่งนักษัตรที่นิยมมากคือ ช้าง ม้า นายอดุลย์จึงได้นำแนวคิดดังกล่าวมาผสมผสานลงในงานปั้นดิน ชุดแม่หญิงล้านนา เพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ การมีจิตใจที่สะอาด ของผู้หญิงล้านนาในอดีต  


สไบสีขาวแสดงถึงความบริสุทธิ์ จิตใจที่สะอาด

ภาพโดย : นายอดุลย์ เชื้อจิต


๔. การมวยผม

       การมวยผมของผู้หญิงชาวล้านนามีหลายแบบที่นิยมมากสุดคือการนำผมยาวไปขมวดพันกันเป็นมวยค่อนไปทางท้ายทอย โดยใช้หวีสับหรือปิ่นปักให้มวยอยู่ทรง แต่ก็มีอีกหลายทรงผมที่ชาวล้านนานิยมได้แก่ “เกล้าผมวิดว้อง” คือเกล้ามวยสูงกลางศีรษะ โดยดึงผมปอยหนึ่งมาเป็นห่วงกลางมวยผม และทัดดอกด้วยดอกไม้สีสันที่สวยงาม นายอดุลย์จึงได้นำการมวยผมมาผสมผสานและถ่ายทอดลงในการปั้นชุดแม่หญิงล้านนา


การมวยผม และทัดดอกด้วย

ดอกไม้สีสันที่สวยงาม

ภาพโดย : ชมรมฮักตั๋วเมือง


การมวยผม ในงานปั้นตุ๊กตาดินเผา

ชุดแม่ญิงล้านนา

ภาพโดย : นายนราวิชญ์ คำมะเข


ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับงานปั้นตุ๊กตาดินเผา ปั้นซะป๊ะดงหลวง เพิ่มเติมในคลิปวีดีโอ ได้ที่ 

https://www.youtube.com/watch?v=jrsaB3H9HGs&t=6s หรือสแกนคิวอาร์โค๊ด


คิวอาร์โค๊ด งานปั้นตุ๊กตาดินเผา

 ปั้นซะป๊ะดงหลวง 


ตุ๊กตาดินเผา ชุดแม่ญิงล้านนา

ภาพโดย : นายนราวิชญ์ คำมะเข

ชมคลิปวีดีโอรายการทุ่งเเสงตะวัน  

 ปั้นซะป๊ะ ความสุขของเด็กๆบ้านดงหลวง 

 อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน


อ้างอิง

ทุ่งแสงตะวัน(2558) .ปั้นซะป๊ะ" จ.ลำพูน สืบค้นจาก 

https://www.youtube.com/watch?v=jrsaB3H9HGs&t=6s 

ดุลย์ เชื้อจิต.สไบ.สัมภาษณ์,27 กรกฎาคม 2565

อดุลย์ เชื้อจิต.แหล่งเรียนรู้ปั้นซะป๊ะดงหลวง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน(2565)

สัมภาษณ์,27 กรกฎาคม 2565

เรียบเรียงเนื้อหา โดย:นายนราวิชญ์ คำมะเข

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย:นายนราวิชญ์ คำมะเข/นายอดุลย์ เชื้อจิต

/ชมรมฮักตั๋วเมือง/board.postjung.com/www.annacottonshop.com

นายนราวิชญ์ คำมะเข สัมภาษณ์

นายอดุลย์ เชื้อจิต

วันที่ 27 กรกฎาคม2565

นายอดุลย์ เชื้อจิต เจ้าของผลงาน

ภาพโดย : นายนราวิชญ์ คำมะเข


เเผนที่แหล่งเรียนรู้ปั้นซะป๊ะดงหลวง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน