กู่ขาว บ้านเวียงหนองล่อง

ประวัติความเป็นมา

หมู่บ้านเวียงหนองล่อง อดีตเคยเป็นเมืองเก่าหน้าด่านสมัยต่อสู้กับพม่ายุค 315 ปีก่อน จากนั้นเป็น เมืองร้างร่วมกว่า 200 ปี มีเจ้าจันทราชานำราษฎรมาบุกเบิกสร้างหมู่บ้านขึ้น ให้ชื่อว่า “บ้านเวียงจันทรบุรี” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านเวียงหนองล่อง” ร่วม 115 ปี ผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ พ่อหนานดวงคำ ครองรัตน์ ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า ในอดีตเวียงหนองล่อง เป็นเมืองหน้าด่านในสมัยที่รบกับม่าน (พม่า) ลักษณะเวียง จะมีกำแพงและคูน้ำล้อมรอบ เพื่อใช้เป็นด่านป้องกันข้าศึกโจมตี ในหมู่บ้านมีโบราณสถานที่หลงเหลืออยู่ คือ กู่ขาว เล่ากันว่าใช้เก็บกระดูกของแม่ทัพในอดีต 

ที่มากู่ขาว

กู่ขาว สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยล้านนาตอนปลาย เสากู่มีลักษณะงอน (เสาบัวงอน) คล้ายศิลปะลาวล้านช้าง ขอมปากแล มีช่างลาวมาสร้างแบบผสมผสานในสมัยพระไชยเชษฐา กู่ขาวเป็นส่วนหนึ่งของวิหาร ซึ่งกู่ขาวเป็นมณฑปโขงพระเจ้าต้องมีหลังคาคลุม ในอดีตมีพระเจ้าทองทิพย์ประดิษฐานอยู่ ไม่มีการจารึกที่ฐานพระพุทธรูป สมัยนั้นเวียงหนองล่องเป็นเมืองร้าง ขุนบ่อง (ตำแหน่งสูงสุดของแขวงปากบ่อง) จึงทำพิธีอัญเชิญ พระเจ้าทองทิพย์ซึ่งมีเนื้อผิวสองสีมาประดิษฐานที่วัดพาณิชสิทธิการาม ซึ่งเป็นวัดของพ่อค้า วัดอยู่ระหว่าง บ้านฉางข้าวน้อยกับป่าซาง สะท้อนให้เห็นว่ายุคนั้นเวียงหนองล่องมีความเจริญมากถึงมีทองมาหล่อพระเจ้าทองทิพย์ และสีของปูนน่าจะเป็นสีขาวชาวบ้านจึงเรียกว่า “กู่ขาว” พระเจ้าทองทิพย์สันนิษฐานว่ามีอายุเก่าแก่กว่ายุคพระไชยเชษฐา เพราะการปั้นไม่มีลักษณะการบิดบัวงอน น่าจะสร้างในยุคของพระเจ้าติโลกราช พระเจ้าเมืองแก้ว พระเจ้าเมืองเกตุเกล้า พระนางจิระประภา มีลักษณะคล้ายพระเจ้าทอง ทิพย์ในวัดพระธาตุหริภุญชัย ซึ่งจารึกที่ฐานพระเจ้าทองทิพย์ในปี พ.ศ. 2042

ที่มา : บทสัมภาษณ์ ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ นักวิชาการด้านหริภุญไชยศึกษา (เล่าขานตำนานเวียงหนองล่อง เทศบาลตำบลวังผาง)

“กู่ขาว” มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมโดยการเรียงอิฐที่ส่วนโค้งของซุ้มประตูแบบพุกาม มีลักษณะไม่เหมือนเจดีย์แบบทวารวดี ต่อมาสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ ได้มาสำรวจและรายงานการสำรวจไว้ว่าสิ่งที่สามารถกำหนดอายุสมัยได้อย่างหนึ่ง คือ “กู่ขาว” เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม และเทคนิคการก่อสร้าง พบว่า ในส่วนวงโค้งซุ้มประตูมีการเรียงอิฐแบบพุกาม อายุสมัยของเจดีย์องค์นี้ น่าจะมีอายุสมัยหลังจากพม่ายึดครองล้านนา คือ หลัง พ.ศ.ที่ 22 ลงมา (พ.ศ. 2200) และชุมชนโบราณแห่งนี้น่าจะมีอายุสมัยไล่เลี่ยกับเจดีย์องค์นี้

ที่มา : แผนพัฒนาอำเภอ 5 ปี (พ.ศ. 2561 – 2565) ฉบับทบทวน ปี พ.ศ. 2564อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน


คลิปวีดีโอ"ขุดราก สืบเหง้า เล่าขานตำนานเวียงหนองล่อง"

โดย เยาวชนพลเมือง โรงเรียนน้ำดิบวิทยาคม จ.ลำพูน


เรียบเรียงข้อมูล นายนราวิชญ์ คำมะเข

รูปถ่าย เทศบาลตำบลวังผาง

คลิปวิดีโอ เยาวชนพลเมือง โรงเรียนน้ำดิบวิทยาคม จ.ลำพูน 

แผนพัฒนาอำเภอ 5 ปี (พ.ศ. 2561 – 2565) ฉบับทบทวน ปี พ.ศ. 2564อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน