ประวัติพุทธอุทยานชัยยะสุขังปางประทีป โดยครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา บันทึกโดย พระอาจารย์ป่านิกร ชัยยะเสโน  

            ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดพวกชาวละว้าในเขตแคว้นของโยนก และได้เสด็จมา ณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้มในปัจจุบัน พวกละว้าได้ยินแต่นามพระพุทธองค์และยังไม่เคยเห็นองค์จริง พอรู้ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดก็มีความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ขณะนั้นได้มีนายพราน ๘ คนไปล่าสัตว์มาพอดี พอรู้ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดจึงได้ชวนพรรคพวกนำเนื้อสัตว์ที่ไปล่ามาถวายพระพุทธองค์ พระพุทธองค์รับแต่ไม่ฉันพวกละว้าจึงต้มข้าวมาถวายพอพระพุทธองค์ฉันแล้วก็เทศน์โปรดพวกละว้าเมื่อพวกละว้าได้ฟังเทศน์ของพระพระพุทธองค์เกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงทูลขอพระเกศาธาตุ 

             พระพุทธองค์ก็เลยตรัสว่า “ตรงนี้ไม่มีถ้ำ” พวกละว้าก็เลยทูลขอรอยพระพุทธบาท ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงเหยียบรอยพระพุทธบาท พวกละว้าได้นำแผ่นทองคำมาปูบนก้อนหิน พระพุทธองค์ทรงเหยียบแผ่นทองคำ รอยพระพุทธบาทก็ติดอยู่บนก้อนหินนั้น จากนั้นพวกละว้าก็ได้นำรอยพระพุทธบาททองคำ พร้อมกับก้อนเส้าที่ใช้ในการต้มข้าวถวายพระพุทธองค์ไปเก็บไว้ที่ถ้ำที่ชื่อว่า ถ้ำอืด (ตอนเข้าไปน้ำไม่มากนัก แต่พอตอนออกมามีน้ำอืดขึ้นเต็มปากถ้ำ) ปัจจุบันถ้ำนี้อยู่ที่บ้านผาต้ายเหนือ หมู่ที่ ๖ ตำบลแม่ลาน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน กล่าวถึงปางประทีป มีพระฤษีองค์หนึ่งมาบำเพ็ญพรตอยู่ระหว่างวัดพระพุทธบาทห้วยต้มกับถ้ำอืด แต่ท่านชราภาพมากแล้วจึงไม่สามารถไปกราบรอยพระพุทธบาทได้จึงได้แกะสลักลานให้เป็นรูแล้วนำน้ำมันหยอดลงไปเพื่อจุดถวายบูชารอยพระพุทธบาท และเอาก้อนหินมาก่อเป็นแท่นเพื่อวางดอกไม้ สถานที่แห่งนี้จึงมีชื่อว่า ผางประติ๊บ (ปางประทีป) และมีแท่นเพื่อวางดอกไม้  จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า แท่นดอกไม้  

             ผู้คนที่เดินผ่านไปมาเห็นก้อนหินมากมายและดอกไม้อยู่ พวกเขาก็เลยเก็บก้อนหินพร้อมกับดอกไม้มาวางเพื่อเป็นพุทธบูชาทุกครั้งที่เดินผ่าน ครูบาเจ้าชัยยะวงศาก็ไปก่อไว้เหมือนกัน และท่านยังได้บอกกับคณะศรัทธาที่ไปด้วยว่า “สถานที่แห่งนี้บ่ดีละเว้นเพราะเป๋นสถานที่สำคัญตี้หนึ่งเหมือนกั๋น”  (บันทึกโดยพระอาจารย์ป่านิกร ชัยยะเสโน)

            ซึ่งต่อมาพระอาจารย์ป่านิกร ชัยยะเสโน  เจ้าอาวาส วัดพระธาตุแก่งสร้อย ซึ่งเป็นลูกศิษย์พระครูบาเจ้าชัยยะวงศา เมื่อครั้งยังอยู่ปฏิบัติพระครูบาเจ้าที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ได้เล็งเห็นความสำคัญของปางประทีป ที่ครูบาเจ้าได้เมตตาเล่าให้ฟัง และเป็นที่อยู่ของครูบาอาจารย์มาก่อน จึงคิดจะอัญเชิญพระพุทธรูปมาตั้งประดิษฐานในสถานที่แห่งนี้เพื่อเป็นที่กราบสักการบูชา  

             จึงปรึกษากับคณะศรัทธาและลูกศิษย์ เลยตกลงกันว่าถ้านำพระพุทธรูปองค์เล็กมาตั้งก็อาจจะสูญหายได้ จึงคิดว่าน่าจะสร้างเป็นพุทธอุทยานและสร้างพระนอนองค์ใหญ่ปางนิพพาน ยาว ๔๖ ศอกขึ้น เพื่อสืบสานต่อเจตนารมณ์ของครูบาอาจารย์และทำนุบำรุงรักษาผืนป่าบริเวณนี้ เผยแพร่ประวัติสถานที่สำคัญให้กับประชาชนรุ่นหลังได้ศึกษามรดกทางวัฒนธรรมได้นอบน้อมเคารพบูชาสืบต่อไปและสถานที่แห่งนี้น้อมเกล้าถวายเป็นราชสักการะแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงมีพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา  

      (แหล่งที่มา : หนังสือที่ระลึกในงานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุยอดวิหารสัมพุทเธ ในวันอาทิตย์ที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๖ หน้า ๑-๓.)


เรียบเรียงเนื้อหา โดย นางสาวอัจฉราพรรณ  ใจกลางดุก ครูกศน.ตำบลนาทราย

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย  นางสาวอัจฉราพรรณ  ใจกลางดุก ครูกศน.ตำบลนาทราย