ศรัทธา วิถีชาวพุทธปกาเกอะญอ แห่ง "บ้านห้วยต้ม" ลำพูน

ศรัทธา วิถีชาวพุทธปกาเกอะญอแห่ง “บ้านห้วยต้ม” ลำพูน

ปัจจุบันการเดินทางท่องเที่ยวไม่ใช่เรื่องยากเย็นอีกต่อไป เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นนักท่องเที่ยวพากันหลั่งไหลไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลกันอย่างหนาแน่น จนทำให้เราไม่สามารถใช้เวลาซึมซับบรรยากาศในสถานที่นั้นๆได้อย่างเต็มที่ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เดินทางท่องเที่ยวเพื่อพบปะผู้คนและซึมซับ เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปจากชีวิตประจำวัน ขอให้ลางาน เก็บกระเป๋าแล้วตามเรามา จะพาคุณไปเรียนรู้วัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยที่มีชื่อว่า “ปกากะญอ” ที่ชุมชนพระบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน ซึ่งขอบอกว่าที่นี่ไม่ใช่แค่สถานที่ท่องเที่ยว แต่จะเป็นที่ที่คุณได้ใช้ชีวิตแบบ “อินไซด์” กับชาวปกากะญอเชียวล่ะ

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับเมืองเล็กๆๆที่มีชื่อว่า "ลำพูน" เป็นจังหวัดเล็กๆ แห่งหนึ่งในภาคเหนือ ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของแผ่นดินล้านนามาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ครั้งอดีตในฐานะดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากว่า 600 ปี จึงทำให้ลำพูนมีศาสนสถาน วัดวาอารามจำนวนมาก รวมถึงมีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่น่าสนใจ หนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือ “ชุมชนวัดพระบาทห้วยต้ม” ตั้งอยู่ที่ ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน เป็นชุมชนเก่าแก่ ที่มีชาวปกาเกอะญอ อาศัยอยู่ โดยเมื่อปีพ.ศ. 2514 ชาวปกาเกอะญอได้อพยพมาจากแม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก พากันอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ใกล้วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม จำนวน 13 ครอบครัวซึ่งการอพยพในครั้งนี้ทุกคนมีความตั้งใจที่อยากจะมาอยู่ใกล้ชิดกับหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์) เพื่อจะได้ทำบุญถือศีลปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ และหลังจากนั้นเป็นต้นมาชาวปกาเกอะญอก็ได้อพยพเข้ามาอยู่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่มาจากตาก เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน

บ้านห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีชาวปกาเกอะญออาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่และตากที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ใกล้วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ด้วยความตั้งใจที่อยากจะมาอยู่ใกล้ชิดกับหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาหรือครูบาวงศ์(มรณภาพเมื่อปี2543)พระเกจิที่เป็นดังศูนย์รวมจิตใจของชาวปกาเกอะญอที่บ้านห้วยต้ม

ชุมชนพระบาทห้วยต้ม ชุมชนปกาเกอะญอเล็ก ๆ ในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ที่ไม่ได้โดดเด่นเรื่องของธรรมชาติที่เขียวขจี แต่เป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นในเรื่องของประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ และความสวยงดงามของวัดวาอารามที่คุณไม่ควรพลาด ชุมชนแหล่งนี้มีเส้นทางการท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนกับที่อื่นๆที่ท่านเคยได้สัมผัส เพราะที่นี่คือ “เส้นทางสายบุญ” ชาวบ้านถือศีลกินเจ ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ทั้งหมู่บ้าน อาหารที่จำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวเป็นมังสวิรัติทั้งหมด ในอดีตชุมชนสายบุญแห่งนี้ ชาวปกาเกอะญอนับถือบูชาผีสางนางไม้ จนกระทั่งหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา หรือ ครูบาวงศ์ พระนักพัฒนาที่ชาวล้านนาเคารพศรัทธา ได้มาจำพรรษาอยู่ที่อำเภอลี้ ท่านนำหลักธรรมคำสั่งสอนของพุทธศาสนามาเผยแพร่ให้ชาวบ้านสำนึกในกฎแห่งกรรม และมีเมตตาต่อสัตว์โลก เมื่อชาวปกาเกอะญอได้ฟังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้า เปลี่ยนมารักษาศีล ฟังเทศน์ ตั้งมั่นเลิกกินเนื้อสัตว์ หันมากินอาหารมังสวิรัติแทน ครูบาวงศ์ จึงเป็นบุคคลสำคัญในฐานะที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน โดยเชื่อว่าหากปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูบาวงศ์จะทำให้ ชุมชมมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้ามีชื่อเสียง ส่วนผู้ที่ไม่เชื่อฟังมักอยู่อย่างไม่เป็นสุข มีเรื่องทุกข์ร้อนใจและเจ็บป่วย ถึงแม้ว่าครูบาวงศ์จะมรณภาพไปแล้ว แต่ชาวปกาเกอะญอยังคงนับถือและยึดมั่นปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงามที่ ครูบาวงศ์สั่งสอนไว้เสมอ

หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา เป็นชาวอำเภอลี้ จังหวัดลำพูนโดยกำเนิด เมื่อท่านบวชเป็นพระได้ธุดงค์ไปตามป่าเขา พบกับชาวเขาที่แต่ก่อนยังนับถือผี ไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ท่านจึงได้ถือปฏิบัติกรรมฐานในสถานที่แห่งนั้นเพื่อหาโอกาสสอนพุทธธรรมให้กับพวกชาวเขา สอนอย่างมีเมตตาและค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะเรื่องของศีล 5 และการไม่เบียดเบียนผู้อื่น ชาวเขาจึงเคารพนับถือและเชื่อฟังในคำสั่งสอนของครูบาวงศ์เป็นอย่างยิ่ง และเมื่อท่านมาพัฒนาวัดพระบาทห้วยต้ม ชาวปกาเกอะญอก็ได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยเป็นชุมชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นชุมชนใหญ่


ชาวบ้านเข้าไปยัง “วิหารเมืองแก้ว” ก่อนจะไปตักบาตร

สิ่งหนึ่งที่หลวงปู่ครูบาวงศ์ได้สั่งสอนและชาวบ้านยังคงยึดถือปฏิบัติตามกันสืบมาก็คือการสอนให้ชาวบ้านกินมังสวิรัต โดยหลวงปู่เคยสอนไว้ว่าถ้าเราเบียดเบียนสัตว์ สัตว์ก็จะมาเบียดเบียนเรา โรคภัยไข้เจ็บก็จะตามมาอีก ถ้ากินมังสวิรัติเราก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร ชาวบ้านห้วยต้มจึงกินมังสวิรัติกันทั้งหมู่บ้านและปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ และนอกจากการกินมังสวิรัติจนเป็นวิถีชีวิตแล้ว การทำบุญตักบาตรก็ยังเป็นการ“ตักบาตรผัก” หรือทำบุญใส่บาตรด้วยอาหารมังสวิรัติเช่นเดียวกัน

ชาวบ้านห้วยต้มจะทำบุญตักบาตรเป็นประจำทุกวัน ในวันพระ ทั้งวันพระเล็กพระใหญ่ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะหยุดทำงานและพากันมาทำบุญที่วัดมากกว่าปกติ ดังนั้นหากใครอยากมาร่วมใส่บาตรพร้อมทั้งชมบรรยากาศของการตักบาตรผักอย่างคึกคักก็ควรมาในวันพระ อีกทั้งในวันพระช่วงสายๆ ก็จะมีการถวายสังฆทานผักอีกด้วย

ตั้งแต่เช้าตรู่ราว 6 โมงเช้า ชาวบ้านจะทยอยมาที่วัดพระบาทห้วยต้ม แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองคือชุดปกาเกอะญอที่ทอเองด้วยกี่เอว มีลวดลายและสีสันต่างกัน ตกแต่งด้วยพู่เพื่อความสวยงาม ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงหรือสาวๆ จะใส่ชุดยาวสีขาวตกแต่งด้วยพู่สีแดง ถ้าผู้หญิงแต่งงานแล้วจะใส่เสื้อทอกับผ้าถุง ส่วนผู้ชายจะใส่เสื้อสีแดงครึ่งท่อนกับกางเกง

เมื่อมาถึงที่วัดส่วนใหญ่แล้วแทบทุกคนจะเข้าไปยัง “วิหารเมืองแก้ว” เพื่อเข้าไปกราบพระประธานและกราบสรีระสังขารของหลวงปู่ครูบาวงในโลงแก้วเพื่อเป็นแสดงความเคารพศรัทธาและระลึกถึงท่าน ก่อนจะมารวมตัวกันที่ศาลาใส่บาตรที่ตั้งอยู่ข้างกัน ภายในศาลาใส่บาตร หลังจากวางข้าวของจับจองที่นั่งแล้วแต่ละคนจะกราบพระพุทธเพื่อขอขมาลาโทษต่อสิ่งไม่ดีที่ได้กระทำ จากนั้นจะถวายดอกไม้และอาหารทั้งคาวหวานที่เตรียมมาวางไว้ใส่ถาดเพื่อเตรียมถวายพระพุทธและพระสงฆ์ โดยปกติแล้วจะนำโดยผู้ชายที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้วางก่อน จากนั้นในตอนสายจึงจะมีการทำ “สังฆทานผัก” (เฉพาะในวันพระ) โดยชาวบ้านก็จะเริ่มนำ ผัก ผลไม้สดมาถวายที่วัด เริ่มจากการใส่ขันดอกไม้ธูปเทียนก่อน แล้วจึงตามด้วยผัก ผลไม้ ทั้งนี้สามารถนำน้ำและขนมมาถวายได้ มีการใส่ขันเงิน คือการนำเหรียญบาท ห้าบาท สิบบาท หรือธนบัตร ใส่ในบาตรหรือขันพาน และเมื่อได้เวลาอันสมควร ชาวบ้านนำโดยผู้ชายจะนำผักผลไม้ที่ชาวบ้านใส่ไว้ในภารชนะนำมาวางเรียงไว้หน้าพระสงฆ์ จากนั้นพระสงฆ์จะสวดมนต์และเทศนาธรรม ส่วนในช่วงเย็นจะมีการเวียนเทียนกันที่วัดพระบาทห้วยต้มและที่พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยด้วยที่วัดพระบาทห้วยต้มยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น “วิหารครอบรอยพระพุทธบาทห้วยต้ม” และ “พระเจดีย์ 84,000 พระธรรมขันธ์” โดยหลวงปู่ครูบาวงศ์ได้สร้างรอยพระบาทจำลองครอบของจริงไว้ และเจดีย์สีทองตั้งอยู่ด้านหลัง “วิหารพระเมืองแก้ว” ที่ประดิษฐานพระสรีระของหลวงปู่ครูบาวงศ์และพระพุทธรูปปางเปิดโลก “พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย” ที่อยู่ห่างจากตัววัดไปประมาณ 1 ก.ม. เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่สีทองงามอร่าม หลวงปู่ครูบาวงศ์สร้างขึ้นเพราะเชื่อว่าสถานที่ตรงนี้มีการขุดค้นพบมูลและเขาของพระโคอุศุภราช (พระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า) ซึ่งกลายสภาพเป็นหินท่านก็เลยอธิษฐานสร้างครอบมูลและเขาของพระโคไว้ นอกจากนั้นยังมี “ศูนย์หัตถกรรมบ้านห้วยต้ม” ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ ไม่ว่าจะเป็นผ้าทอมือ ชุดปกาเกอะญอ ผ้าพันคอ เสื่อ ผ้าปูโต๊ะ เครื่องเงิน สร้อยคอ เครื่องประดับต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม และอุดหนุนเป็นที่ระลึกเมื่อได้มาเยี่ยมเยียนที่ชุมชนพระบาทห้วยต้ม และยังสามารถไปเที่ยวชมความเป็นอยู่ของชาวปกาเกอะญอที่ “ชุมชนน้ำบ่อน้อย” ที่มีชาวบ้านชาวปกาเกอะญออาศัยอยู่ 50 หลังคาเรือน ที่อยู่อาศัยกันอย่างเรียบง่ายตามแบบโบราณที่ไม่พึ่งไฟฟ้าและน้ำประปา บ้านมุงด้วยหญ้าคาและใบตองตึง ยกพื้นสูงเพราะยังคงใช้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็นการทอผ้า จักสาน เก็บของ หรือทำกิจกรรมต่างๆ กันที่ใต้ถุนบ้าน นอกจากนั้นยังมีอาชีพทำนาและปลูกพืชผักด้วย

ถึงแม้ว่าหลวงปู่ครูบาวงศ์จะมรณภาพไปแล้ว แต่ว่าทุกวันนี้ชาวปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้มทุกคนก็ยังนับถือและยึดถือปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงามที่หลวงปู่ฯ สั่งสอน จึงทำให้ที่นี่ยังคงเป็นชุมชนแห่งพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง โดยมีคำสอนหนึ่งที่ชุมชนที่นี่ยึดถือและปฏิบัติต่อมานั่นคือ การกินมังสวิรัติ เพราะว่าหลวงปู่เคยสอนไว้ว่าถ้าเราเบียดเบียนสัตว์อีก สัตว์ก็จะมาเบียดเบียนเราอีก โรคภัยไข้เจ็บก็จะตามมาอีก ถ้าเรากินมังสวิรัติเราก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร ทุกวันนี้ชาวบ้านเลยกินมังสวิรัติปฏิบัติต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

เสน่ห์เฉพาะตัวอีกอย่างหนึ่งของชุมชนพระบาทห้วยต้มก็คือ เป็นชุมชนมังสวิรัติ ซึ่งชาวบ้านทุกคนจะ ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด และไม่อนุญาตให้นำเนื้อสัตว์เข้ามาในชุมชน โดยชาวบ้านจะปลูกผักเพื่อรับประทานเองซึ่งนอกจากจะประหยัดแล้วยังมั่นใจได้ว่าปลอดสารพิษแน่นอน

เมนูเด็ดที่น่าจะถูกใจนักท่องเที่ยวที่มาพักที่โฮมสเตย์ก็คือ “ขันโตกมังสวิรัติ” มีทั้งต้มยำเห็ดใส่หมูยอเจที่ทำจากเห็ดหอม เต้าหู้ทอดจิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ดเจ รสชาติคล้ายน้ำจิ้มข้าวมันไก่ ผัดผักรวมมิตรเจ และน้ำพริกดำที่เรียกว่า “มุ่ยและซู” ทำจากพริกกะเหรี่ยงตากแห้งและนำไปเผาให้ดำ

หนๆ จะลองเป็นสมาชิกในชุมชนแล้ว ก็ต้องแต่งตัวให้เนียนไปกับชุมชนเขาหน่อย ด้วย “แฟชั่นปกากะญอ” เครื่องแต่งกายที่ทำจากผ้าฝ้ายทอด้วย “กี่เอว” และตัดเย็บเป็นเสื้อหรือชุดยาวประดับด้วยพู่ ที่มีด้านหน้าและด้านหลังเหมือนกัน แสดงถึงความจริงใจต่อผู้อื่นทั้งต่อหน้าและลับหลัง โดยชุดสำหรับหญิงที่แต่งงานแล้วจะเป็นเสื้อครึ่งท่อนแล้วมีผ้าถุง ส่วนหญิงที่ยังไม่แต่งงานจะใส่ชุดยาว ส่วนผู้ชายจะสวมเสื้อ และนุ่งโสร่งอาจจะดูซับซ้อนนิดหน่อยแต่เลือกให้ถูกก็จะเนียนเหมือนเป็นทีมเดียวกันเลย

หลังจากทำงานมาเหนื่อยๆ ช่วงบ่ายแก่ๆ แดดร่มลมตก ก็ได้เวลาไปเดินเล่นชมแปลงปลูกผักอินทรีย์ในระบบโรงเรือน ซึ่งสนับสนุนโดยศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม พร้อมซื้อผักผลไม้ตามฤดูกาล หรือใครที่ตกหลุมรักหัตถกรรมท้องถิ่นเข้าแล้ว ก็สามารถไปช้อปปิ้งได้ที่ศูนย์หัตถกรรมบ้านห้วยต้ม ด้านหน้าชุมชนได้อีกด้วย

ชุมชนพระบาทห้วยต้มรอให้คุณเข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชนชาวปกากะญอใครที่หลงรักเสน่ห์ที่เรียบง่ายแต่งดงามแบบนี้ก็สามารถติดต่อขอเข้าพักในโฮมสเตย์ของชุมชนได้ที่คุณธีรนาถ น้อยแสง โทร.083-3243063 คุณวิมล สุขแดง โทร.093-1869469 หรือศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม 053-518059

ส่วนการเดินทางสามารถเดินทางโดยรถยนต์ได้ 2 เส้นทางคือ 1. จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 106 (สายเชียงใหม่-ลำพูน) เมื่อถึง อ.ลี้ให้เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1087 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 7 จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่ชุมชนอีก 1 กิโลเมตร และ 2. จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 (สายเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน) ผ่านดอยเต่า แล้วเข้ามาที่ อ.ลี้ ได้เลย

หมู่บ้านแห่งศรัทธา เส้นทางแห่งธรรม กับชุมชนมังสวิรัติ "ชุมชนพระบาทห้วยต้ม" ชาวบ้านของที่นี่เป็นชาวปกาเกอะญอหรือชาวกะเหรี่ยง ภายในชุมชนมีการจำลองวิถีชีวิต ทั้งบ้านเรือนโบราณ และสาธิตวิธีการทอผ้า ที่ยังคงทอด้วยวิธีโบราณที่เรียกว่า กี่เอว ด้วยการร้อยเรียงเส้นด้ายที่ละเส้น ด้วยความบรรจง ชาวบ้านอยู่อย่างพอเพียง ไม่มีไฟฟ้า ผู้หญิงส่วนใหญ่มีอาชีพทอผ้า ส่วนผู้ชายมีอาชีพรับจ้างทั่วไป บ้านแต่ละหลังสร้างด้วยความเรียบง่าย และมีกองฟืนสำหรับหุงต้มไว้ใต้ถุนบ้าน สิ่งที่ทำให้ชุมชนนี้มีความแตกต่างจากที่อื่นๆ คือ ผู้คนในหมู่บ้านพร้อมใจรักษาศีล ปฏิบัติธรรม และทานอาหารมังสวิรัติ ซึ่งเป็นแบบอย่างของชุมชนพระพุทธศาสนาที่แท้จริง