การทำอาหารเจและอาหารมังสวิรัติ

ชาวบ้านพร้อมใจกันมาทำบุญที่วัดพระบาทห้วยต้มท่องเที่ยวชุมชนวิถีไทยใน จ.ลำพูน อ.ลี้ มีหมู่บ้านที่น่าสนใจคือ “หมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม” ที่บอกว่าน่าสนใจเพราะชาวบ้านที่นี่กว่า 20,000 คน บริโภคอาหารมังสวิรัติทั้งหมู่บ้าน คนในพื้นที่เล่าให้ฟังว่า แต่เดิม “ชุมชนพระบาทห้วยต้ม” เป็นพื้นที่แห้งแล้งมาก กระทั่ง "หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา" ได้มาจำพรรษาอยู่ที่นี่ เมื่อชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ทราบข่าวว่าท่านมาอยู่ที่นี่จึงได้ติดตามมาตั้งรกรากอยู่ด้วยจนกลายเป็นหมู่บ้าน และใช้ดำเนินชีวิตอยู่ในหลักธรรม โดยชาวบ้านถือมั่นตามคำสอนของ “หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา” ซึ่งเป็นพระที่ชาวล้านนาให้เคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงปกาเกอะญอ จึงมีวิถีตามรอยหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา เช่น ใช้ชีวิตพอเพียง กินอาหารมังสวิรัติ เพราะว่าหลวงปู่สอนเอาไว้ว่า “ถ้าเราเบียดเบียนสัตว์อีก สัตว์ก็จะมาเบียดเบียนเราอีก โรคภัยไข้เจ็บก็จะตามมาอีก” ถ้าเรากินมังสวิรัติเราก็ไม่ได้เบียดเบียนใครก็เลยกินกันมาจนถึงทุกวันนี้ ด้านประเพณีของหมู่บ้านนั้นก็มีหลากหลายประเพณีด้วย แต่ประเพณีที่เด่นคือ “การเปลี่ยนผ้าครูบา” ถือเป็นงานใหญ่ทำที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม โดยจะมีพิธีระหว่างวันที่ 15-17 พฤกษภาคม ของทุกปี นอกจากนี้ยังพิธีทรงน้ำรอยพระพุทธบาท ที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้มทำในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์

“วัดพระบาทห้วยต้ม” เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดของ อ.ลี้ เป็นวัดประจำหมู่บ้านชาวกะเหรียง ปกาเกอะญอ ศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ตามตำนานเล่าว่า พระพุทธบาทแห่งนี้มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลในสมัยพระพุทธองค์เสด็จผ่านบริเวณแห่งนี้ ได้มีชาวลัวะ 2 คน มีศักดิ์เป็นพระยาชื่อ แก้วมาเมือง อีกคนหนึ่งเดินทางมาจากเมืองเถิน พร้อมกับพรานหาเนื้ออีก 8 คน ได้นำเนื้อสดมาถวายเป็นภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้า แต่ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสดเหล่านั้น พวกพรานเนื้อจึงได้จัดการต้มข้าวถวาย ซึ่งพระยาลัวะ 2 คน ก็ได้ร่วมถวายข้าวต้มนั้นด้วย เมื่อถวายและพระพุทธองค์ฉันเสร็จแล้ว ได้เทศนาธรรมให้แก่พรานเนื้อและพระยาลัวะฟัง ซึ่งนำความปีติและศรัทธาในพระพุทธองค์ จึงขอพระธาตุและรอยพระบาทไว้เพื่อสักการะ พระพุทธองค์จึงประทับรอยพระบาทบนแผ่นหินไว้ให้ชาวลัวะและพรานเนื้อเหล่านั้น ได้สักการบูชา และสถานที่แห่งนี้เรียกว่า “ห้วยต้มข้าว” ปัจจุบันเรียก “ห้วยต้ม”

ชาวบ้านนำผักและผลไม้มาทำบุญใส่บาตรและถวายเป็นสังฆทานผักในทุกวันพระที่วัดพระบาทห้วยต้ม ตอนเช้าจะมีชาวบ้านแต่งกายด้วยชุดประจำถิ่น จูงลูกหลานมาพร้อมผักและผลไม้มาทำบุญใส่บาตรและถวายเป็นสังฆทานผัก เพราะชาวบ้านแถวนี้จะรับประทานแต่อาหารมังสวิรัติเป็นหลัก งดเว้นเนื้อสัตว์ทุกชนิด โดยชาวบ้านที่เข้ามาในวัดจะถอดรองเท้าตั้งแต่เข้าประตูหน้าวัด แล้วเดินด้วยเท้าเปล่าเข้ามาในบริเวณวัด การใส่บาตรผักเริ่มจากการใส่ขันดอกไม้ธูปเทียน ตามด้วยผักผลไม้ น้ำ และขนม การใส่บาตรของหมู่บ้านนี้จะเรียงจากผู้ชายที่มีอาวุโสสูงสุดใส่ก่อนแล้วเรียงตามกันมาเมื่อผู้ชายหมดแล้วก็จะตามด้วยผู้หญิงที่แต่งงานแล้วตามอาวุโสเช่นกัน แล้วตามด้วยหญิงสาวและเด็กๆ ตามลำดับ เมื่อเสร็จพิธีพระให้ศีลให้พรแล้วชาวบ้านก็จะช่วยกันทำความสะอาดบริเวณวัดและในช่วงเย็นก็จะมีพิธีเวียนเทียนที่วัด สิ่งที่น่าสนใจคือบริเวณชุมชนมีการทอผ้า การทำเครื่องเงิน

เมื่อปี 2521 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรบ้านพระบาทห้วยต้ม ทรงเห็นว่าชาวบ้านขาดแคลนพื้นที่ทำกินและมีข้าวไม่พอบริโภค เป็นโรคขาดสารอาหาร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้รับ “หมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม” อยู่ภายใต้การดูแลของโครงการหลวง

ที่มาของแหล่งข้อมูล http://www.komchadluek.net/news/lifestyle