ประเพณีปอยหลวง

ประวัติและความเป็นมา

 คำว่า "ปอยหลวง" ในภาษาล้านนา หมายถึง การจัดงานเฉลิมฉลองศาสนสถาน ที่สร้างขึ้นจากศรัทธาของชาวบ้าน  เช่น โบสถ์  วิหาร  ศาลา  กุฏิ หรือ กำแพงวัด  

การที่เรียกว่า "ปอยหลวง"  เพราะเป็นงานใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือ จากชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ในงานจะมีกิจกรรมต่างๆ  ทั้งพิธีทางศาสนา และมหรสพบันเทิง

ปอยหลวง คือ งานฉลองถาวรวัตถุของวัดหรือการฉลองสิ่งก่อสร้างที่ประชาชนช่วยกันทำขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ แก่สาธารณชน มีโรงเรียน หอประชุม เป็นต้น ประชาชนในล้านนาไทย นิยมทำการฉลองครั้งใหญ่หลังจากการก่อสร้างสำเร็จแล้ว ทำเป็นการใหญ่โต เรียกว่า ปอยหลวง อุทิศสิ่งก่อสร้างเป็นของสงฆ์ และอุทิศบุญกุศลแก่บรรพชนด้วย ถ้าทำส่วนตัวเรียกอุทิศกุศลไว้ภายหน้า หากอุทิศแก่คนตายเรียกว่า อุทิศกุศลไปหา งานปอยหลวงเป็นงานใหญ่ จะต้องมีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า ซึ่งเจ้าอาวาสและคณะกรรมการวัดคณะศรัทธา จะต้องจัดเตรียมการต้อนรับเลี้ยงดูหัววัดต่าง ๆ ที่จะมาร่วมทำบุญด้วย ซึ่งทางวัดจะได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการเป็นแผนก ๆ ไป และต้องพิมพ์ใบฎีกาแผ่กุศลส่งไปตามหัววัดและคณะศรัทธา แจ้งกำหนดการ และวันทำบุญให้ทราบ ทางวัดที่จัดงานจะเตรียมต้อนรับ และเลี้ยงดูโดยพวกศรัทธาจะช่วยกันบริจาคเครื่องบริโภค เช่น ข้าวสาร อาหาร ไว้คอยเลี้ยง ดูตามสมควรแก่ฐานะ

ประเพณีปอย คืองานฉลองหรืองานรื่นเริง งานเทศกาลที่จัดขึ้น มีชาวพม่าท่านหนึ่ง บอกว่า ปอยมาจากคำว่า ปเวณี หรือ ปเวณี แต่พม่าออกเสียงเร็ว ฟังเป็นเสียงปอย ไป คำว่า ปอยนี้ เพิ่งปรากฏในเอกสารล้านนาไทยระยะ 300 ปีมานี้เอง เป็นระยะเวลาที่ชาวพม่าเข้ามาปกครองล้านนาไทย แต่เอกสารสมัยอาณาจักรล้านนาไทยไม่ปรากฏคำว่าปอยเลย แสดงว่าคำนี้ ล้านนาไทยได้มาจากคำว่า ปเวณี ของพม่า นำมาใช้โดยออกเสียงเป็นปอย

งานที่มีชื่อว่า “ปอย” นั้นมีด้วยกัน 4 ปอย คือ

1.            ปอยหลวง งานฉลอง

2.            ปอยน้อย งานบวชอุปสมบท

3.            ปอยข้าวสงฆ์ งานทำบุญอุทิศหาผู้ตาย

4.            ปอยล้อ งานศพพระสงฆ์หรือเจ้าเมือง

โดยแยกปฎิบัติเป็นประเพณีแต่ละอย่าง ประจำเดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ทำระหว่างเดือน  4-5-6 คือ ช่วงเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม ของทุกปี

ข้อมูลเนื้อหา : นางสาวกชชญา  วิชญะปรียา ครู กศน.ตำบล

เรียบเรียงข้อมูล/เนื้อหา : นางสาวกชชญา  วิชญะปรียา ครู กศน.ตำบล

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ :นางสาวกชชญา  วิชญะปรียา ครู กศน.ตำบล