วัดดอยขะม้อ

ดอยขะม้อ บ่อน้ำทิพย์

    ดอยขะม้อตั้งอยู่ในเขตตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ 16 กิโลเมตร คนสมัยก่อนมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับดอยขะม้อว่า มีภูเขาอยู่ลูกหนึ่งลักษณะสูงชันมาก รูปร่างเหมือนหม้อคว่ำ ชาวเมืองเรียกกันมาแต่โบราณว่า “ดอยคว่ำหม้อ” ต่อมาเพี้ยนมาเป็น “ดอยขะม้อ บ่อน้ำทิพย์” สาเหตุที่เรียกเช่นนั้นก็เพราะว่าบนยอดดอยมีบ่อน้ำที่เกิดกลางแผ่นดิน ถือกันมาแต่โบราณว่าเป็นบ่อน้ำทิพย์ ที่บริเวณปากบ่อจะมีป้ายปักไว้ว่า “บริเวณบ่อน้ำทิพย์ห้ามผู้หญิงเข้า” เพราะเมื่อผู้หญิงเข้าไปแล้วน้ำในบ่อจะแห้งทันที

   บนยอดดอยขะม้อมีความกว้างประมาณ 12 เมตร ยาว 30 เมตรล้อมรอบดอยนี้มีเขาสูงสลับซับซ้อนกันหลายลูกและมีพันธุ์ไม้นานาชนิดขึ้นอย่างหนาแน่น ปัจจุบันป่าไม้ในบริเวณนี้ถูกทำลายและโค่นเกือบไม่มีให้เห็นแล้ว บนดอยขะม้อมีพระวิหารตั้งอยู่หลังหนึ่งกับรอยพระพุทธบาทจำลองอยู่หน้าวิหารมีแผ่นศิลาจารึกเป็นภาษาไทยล้านนาว่า “ได้สร้างพระวิหารและรอยพระพุทธบาทจำลองเมื่อ พ.ศ.2470 โดยครูบาสิงห์ชัย วัดสะแล่ง พระครูชัยลังกา วัดศรีชุม ขุนจันทนุปาน กำนันตำบลมะเขือแจ้และนายชัย กำนันตำบลบ้านกลางได้ชักชวนประชาชนสร้างสิ้นค่าก่อสร้าง 3,000 รูปี ทำบุญฉลองเมื่อ พ.ศ.2472”

   บ่อน้ำทิพย์เป็นลักษณะบ่อที่เกิดกลางแผ่นดิน ไม่ใช่บ่อที่มีคนขุด ถึงขุดก็คงขุดไม่ได้เพราะเป็นหินขนาดใหญ่และแข็งมากปากบ่อกว้างประมาณ 3 เมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเรียว ลึกลงไปเป็นรูปกรวย กล่าวกันว่าความลึกของบ่อน้ำทิพย์ดอยขะม้อนั้นไม่สามารถลงไปวัดได้

   น้ำทิพย์จากดอยขะม้อ ยังถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ 1 ใน 7 แห่งที่ได้มาจากแม่น้ำและแหล่งน้ำสำคัญและเป็นสิริมงคลของประเทศ เพื่อนำมาทำน้ำพุทธมนต์ ณ มหาเจดีย์สถานอันเป็นมหานครโบราณ 7 แห่ง ได้แก่ น้ำจากแม่น้ำป่าสัก ตำบลท่าราบ น้ำจากทะเลแก้ว พิษณุโลก น้ำโชคชมภู บ่อแก้ว บ่อทอง สวรรคโลก น้ำจากแม่น้ำนครไชยศรี นครปฐม น้ำจากบ่อวัดหน้าพระลาน บ่อวัดเสมาชัย บ่อวัดเสมาเมือง นครศรีธรรมราช น้ำจากบ่อวัดพระธาตุพนม นครพนม และน้ำทิพย์จากดอยขะม้อ ลำพูน


ข้อมูลเนื้อหา : เทศบาลตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

เรียบเรียงข้อมูล/เนื้อหา : นางสาวกชชญา  วิชญะปรียา  ครู กศน.ตำบล

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ :เทศบาลตำบลมะเขือแจ้