ยาสมุนไพร ป.ล.ย.สะแล่งโอสถ อาชีพจากรุ่นสู่รุ่น

เมื่อกล่าวถึงอาชีพของคนในชุมชนส่วนใหญ่จะต้องประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ แต่สมัยอดีตกาลก็ยังมีอาชีพที่หลายหลาย เช่น ค้าขาย รวมถึงอาชีพคนผลิตยาสมุนไพร ยาแผนโบราณ เนื่องจากยาเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ สมุนไพรและการแพทย์แผนไทยเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไทยมาเป็นเวลาช้านาน โดยยาแผนโบราณ ยาสมุนไพร หรือยาหอม มีประวัติการใช้คู่กับคนไทยมานานมากกว่า 100 ปี ในองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทย นั้นยาหอมตั้งขึ้นเพื่อรักษาโรคที่เกี่ยวกับลมที่มีความแตกต่างกัน ประกอบด้วยสมุนไพรตัวยาหลากหลายชนิด ที่มีสรรพคุณ แก้ลมวิงเวียน อาเจียนจุกเสียด เป็นลมในท้อง บ้านสะแล่ง หมู่ที่ 2 ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายยาสมุนไพรในชุมชน ของดีเมืองลำพูนที่สืบทอดกันมายาวนาน

ภาพป้ายหน้าร้าน ป.ล.ย สะแล่งโอสถ

ภาพโดย ณิชาพร ใจพรมมา

ประวัติกิจการร้าน ป.ล.ย. สะแล่งโอสถ ทำการผลิตและปรุงยาสมุนไพร ยาแผนโบราณ จำหน่ายซึ่งในการผลิตยาแผนโบราณนั้นได้ทำกิจการเป็นแบบครัวเรือน ซึ่งมีนายบุญทวี กันทาแจ่ม เป็นเจ้าของ

ยุคแรกของกิจการ การเริ่มต้นของกิจการมาจากคุณปู่ชื่อ นายยอด กันทาแจ่ม ซึ่งเกิดในหมู่บ้านสะแล่ง ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ในสมัยนั้นครอบครัวมีอาชีพเกษตรกรรม โดยการทำนา ทำสวน และได้ทำการค้าอีกอย่างหนึ่งคือ ขายคันไถ (ที่ใช้ไถนาโดยใช้ควายลาก) ในสมัยก่อนการเดินทางนำไถไปขายค่อนข้างลำบาก ไปต่างหมู่บ้าน ทั้งในจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ จึงต้องใช้เวลาเดินทางหลายวัน การเตรียมสัมภาระ อาหาร และยารักษาโรค สิ่งเหล่านี้ติดตัวไปด้วย เพราะหากเจ็บป่วยในระหว่างทางก็จะได้ใช้ยารับประทานเพื่อรักษาหรือบรรเทาอาการได้ ยา ที่ว่านี้คือยาที่ได้มาจากพืชสมุนไพร ที่ทำการปลูกเองและหาได้จากป่าแล้วนำมาปรุงเป็นยาเพื่อรักษาโรค การนำยาติดตัวไประหว่างการเดินทาง ทำให้พ่อค้าที่ร่วมเดินทางไปด้วยมีโอกาสได้ใช้ยาสมุนไพรรักษาเมื่อมีอาการเจ็บป่วย และเมื่อพ่อค้าเหล่านั้นลองใช้ดูแล้วมีอาการดีขึ้น ครั้งต่อไปก็ทำการสั่งซื้อมาไว้ใช้เอง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตยาสมุนไพรและยาแผนโบราณ ป.ล.ย. ซึ่งในการผลิตแต่ละครั้งก็จะทำการผลิตเท่ากับจำนวนผู้สั่งซื้อ

การนำยาสมุนไพรติดตัวไปด้วยนั้น ทำให้พ่อค้าที่ร่วมเดินทางไปด้วยกันมีโอกาสได้ใช้ยาสมุนไพรเมื่อยามเจ็บไข้รวมทั้งยังมีโอกาสใช้ยารักษาให้กับชาวบ้านที่เจ็บป่วยในหมู่บ้านที่เดินทางเข้าไปค้าขายด้วย เมื่อพ่อค้าที่ร่วมเดินทางและชาวบ้านที่เคยรับการรักษามีอาการดีขึ้นก็ทำการสั่งซื้อไว้ใช้เอง ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตและจำหน่ายต่อมา การผลิตยาสมุนไพร ป.ล.ย. มาจากการสืบทอดตำรับยาจากคุณปู่ยอด กันทาแจ่ม ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้เขียนตำรับยาขึ้นเพื่อป้องกันการสูบหายของตำรับยาเป็นคนแรก จึงได้ตั้งชื่อร้านยาและยาที่ปรุงได้จากสมุนไพรขึ้นว่า ยาแผนโบราณ ป.ล.ย. ซึ่งคำว่า ป.ล.ย. ย่อมาจากคำว่า “ป้อเลี้ยงยอด” หรือ “พ่อเลี้ยงยอด” ซึ่งเป็นชื่อของคุณปู่ของคุณบุญทวี คนทางเหนือในสมัยก่อนนิยมเรียกคนผลิตยาว่า “ป้อเลี้ยง” หรือ “พ่อเลี้ยง” และเรียกคนที่มารับยาว่า “ลูกเลี้ยง” คุณบุญทวี จึงได้ตั้งชื่อยาขึ้นมาว่า “ยาแผนโบราณ ปอเลี้ยงยอด สะแล่งโอสถ” แต่ชื่อนี้เมื่อนำไปพิมพ์ลงบนฉลากยาที่ต้องจดทะเบียนตำรับยาแผนโบราณแล้ว มีความยาวเกินไปจึงได้ทำการย่อมาเป็น “ยาแผนโบราณ ป.ล.ย. สะแล่งโอสถ” เพื่อให้คนทั่วไปสามารถจดจำชื่อยาสมุนไพรและยาแผนโบราณนี้ได้ส่วนคำว่า “สะแล่ง” คือชื่อของหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านที่ประกอบการอยู่

ภาพคุณบุญทวี กันทาแจ่ม เจ้าของร้านป.ล.ย. สะแล่งโอสถ

ภาพโดย ณิชาพร ใจพรมมา

คุณบุญทวี กันทาแจ่ม

ในยุคปัจจุบันคือยุคของ คุณบุญทวี กันทาแจ่ม ซึ่งเป็นบุตรคนที่ 6 ของคุณพ่อเอกสีลา แม่ผา กันทาแจ่ม เกิดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2512 ปัจจุบันอายุ 53 ปีมีภรรยาชื่อ คุณแก้วลูน กันทาแจ่ม มีบุตรชายด้วยกัน 1 คน ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 24 หมู่ 2 บ้านสะแล่ง ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

ปัจจุบันคุณบุญทวี เป็นแพทย์ประจำตำบลมะเขือแจ้ การดำเนินกิจการเริ่มจากโรงงานอุตสาหกรรมนิคมลำพูนได้ก่อตั้งขึ้น พนักงานส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด ในช่วงวันหยุดเทศกาลที่ต้องเดินทางกลับบ้านจึงมีการซื้อยาป.ล.ย. ไปเป็นของฝาก ผลตอบรับคือคนที่ได้รับของฝากสนใจสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก

  • ปี พ.ศ.2538 คุณบุญทวีได้ตัดสินใจศึกษาสาขาเวชกรรม เกี่ยวกับสมุนไพร รวมทั้งการพยาบาลแผนโบราณและ

  • ปี พ.ศ.2540 ได้รับใบประกอบโรคศิลปะและแผนโบราณ สาขาเภสัชกรรม เลขที่ บ.ภ.14786

  • ปี พ.ศ.2541 ทำการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานผลิตยา โดยมีห้องผลิตอยู่ 4 ห้อง ห้องแรกเป็นห้องเก็บวัตถุดิบ ห้องที่สองคือห้องผลิตยา บดยา ห้องที่สามห้องบรรจุยา ห้องที่สี่ห้องเก็บยาสำเร็จรูป ในการบรรจุยาจะใช้แรงงานคนในการบรรจุยาโดยคนในครอบครัวและการจ้างชาวบ้านมาช่วยบรรจุ เมื่อธุรกิจขยายตัวจึงทำให้เกิดอาชีพใหม่ในชุมชนคืออาชีพขายยาแผนโบราณ ป.ล.ย. ภายในชุมชน

การจัดจําหน่ายมีทั้งการจําหน่ายแบบขายปลีกและขายส่ง ขายปลีกจะมีลูกค้าที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน หมู่บ้านใกล้เคียง ตําบลเดียวกัน ลูกค้าที่ทํางาน ในเขตนิคมอุตสาหกรรมหรือลูกค้าที่ตั้งใจเดินทางมาซื้อยาด้วยตนเองจะไปซื้อที่ร้าน ป.ล.ย. สะแล่ง โอสถโดยตรง ซึ่งการซื้อแต่ละครั้งจะซื้อเป็นจํานวนเท่าไรก็ได้แล้วแต่ความต้องการของผู้ซื้อ และ ราคาในการขายปลีกจะแตกต่างกับราคาขายส่ง ซึ่งยาแต่ละชนิดจะไม่มีการพิมพ์ราคาติดไว้ ขายส่งจะจัดส่งให้ลูกค้ารายใหญ่ที่มีการสั่งซื้อในจํานวนมาก ๆ และมีการขายอีกวิธีหนึ่งคือจัดส่งสินค้าทางพัสดุไปรษณีย์ การตลาดการค้าส่วนใหญ่ในเขตภาคเหนือแทบทุกจังหวัด โดยเฉพาะลูกค้าที่ร้านสังฆภัณฑ์ ในตลาดหนองดอก จังหวัดลําพูน ร้านค้าประเภทเดียวกันและร้านขายยา ในเขตจังหวัดเชียงใหม่, ลําปาง, เชียงราย, แม่ฮ่องสอน, น่าน, ตาก, สุโขทัย, กรุงเทพฯ และตลาดที่ภาคที่ไกลที่สุดคือ อําเภอสุไหงโกลก จังหวัดยะลาในการขายยาแต่ละครั้งจะขาย 100 หลอดขึ้นไป สําหรับลูกค้าที่อยู่ไกลนั้น คุณบุญทวี บอกว่า เป็นลูกค้าจากนิคมอุตสาหกรรมเสียเป็นส่วนใหญ่ ที่จะมาซื้อขากลับบ้านในช่วงเทศกาล โดยจะซื้อยาเหล่านี้ไปฝาก ทางบ้าน ทําให้ยาเป็นที่รู้จัก และ มีการบอกต่อกันไป ปัจจุบันมีการเพิ่มช่องทางการสั่งซื้อออนไลน์อีกด้วย

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ร้าน ร้าน ป.ล.ย สะแล่งโอสถ

ยาบำรุงหัวใจ ยาหอม ป.ล.ย.สะแล่งโอสถ ทะเบียนยาเลขที่ G 67/42

ภาพโดย ณิชาพร ใจพรมมา

ยาหอมผงสีแดง แก้กินผิดสาบผิด

ทะเบียนยาเลขที่ G 64/42

ภาพโดย ณิชาพร ใจพรมมา

ยาแก้จุกเสียด

ทะเบียนยาเลขที่ G 239/42

ภาพโดย ณิชาพร ใจพรมมา

ยาหอมผงสีน้ำตาล

ยาแก้ลมผิดเดือน

ทะเบียนยาเลขที่ G 69/50

ภาพโดย ณิชาพร ใจพรมมา

ยาผงสีเหลือง แก้เหน็บชา

ทะเบียนยาเลขที่ G 794/49

ภาพโดย ณิชาพร ใจพรมมา

ยาผงสีเหลือง แก้ลมมะเร็งคุด

ทะเบียนยาเลขที่ G 140/50

ภาพโดย ณิชาพร ใจพรมมา

จากยาสมุนไพรทำเองที่พกติดตัวไว้ใช้รักษารักษาโรคการเดินทางในอดีตของปู่ยอดกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ และอาชีพให้กับลูกหลานในครอบครัว อีกทั้งยังสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนบ้านสะแล่ง หมู่ที่ 2 ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน จนถึงปัจจุบัน

ที่ตั้ง ร้าน ป.ล.ย. สะแล่งโอสถ 24 หมู่ 2 ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน 51000

เบอร์โทรศัพท์ 053 527 205

ข้อมูลเนื้อหา : นายบุญทวี กันทาแจ่ม หมู่ที่ 2 ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

เรียบเรียงข้อมูล/เนื้อหา : นางณิชาพร ใจพรมมา ครู กศน.ตำบล/นางสาวสุภาณี รอดเกลี้ยง บรรณารักษ์

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ : นางณิชาพร ใจพรมมา ครู กศน.ตำบล