อนุสาวรีย์เจ้าแม่จามรี

เจ้าพ่อปันมะหาด

ประวัติเจ้าแม่จามรีกับอำเภอทุ่งหัวช้าง

พระนางจามรี ทรงเป็นกษัตริย์หญิงในตำนานอีกพระองค์หนึ่ง ที่ครองราชย์อยู่ในพื้นที่ที่เป็นเขตจังหวัดลำพูนทุกวันนี้ เช่นเดียวกับพระนางจามเทวีและพระนามก็คล้ายกันมาก จนเป็นเหตุให้มีผู้สับสนบ่อยๆ ทั้งที่จริงแล้ว เป็นกษัตรีย์คนละพระองค์ และอยู่ในคนละยุคสมัยกันกล่าวคือ ยุคสมัยของพระนางจามรีนั้น เชื่อกันว่าคงอยู่ในราวๆ สมัยหริภุญไชยตอนปลาย หรือล้านนาตอนต้น

เรื่องราวของพระนางจามรี มีบันทึกไว้ในประวัติ วัดพระธาตุดวงเดียว หรือ วัดพระธาตุกลางเวียง อ.ลี้ จ.ลำพูน กล่าวว่ามีเวียงอยู่เวียงหนึ่ง อยู่ทางตอนใต้ของจีน เป็นเวียงที่เก่าแก่นานมาก เคยมีเจ้าผู้ครองสืบสายต่อกันมาหลายองค์ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเวียงนี้ เรียกว่า ชาวโยนก

ลุมาถึงปีพุทธศักราช ๕๐๐-๗๗๐ เจ้าเมืองวิเทหะ และพวกจีนฮ่อในแคว้นยูนนาน ได้แผ่อาณาเขตมาถึงโยนก กดขี่ข่มเหงกระทำทารุณกรรมบังคับขู่เข็ญชาวโยนกให้เป็นทาส

ปรากฏว่าชาวโยนกผู้รักอิสระเสรี รักความเป็นไทไม่ยอมรับใช้เผ่าจีนฮ่อ ได้อพยพผู้คนถอยหนีลงมาตามลำดับและมาตั้งอยู่ ณ บริเวณที่ในปัจจุบันนี้เรียกกันว่า สิบสองปันนา หรือ สิบสองจุไท และต่อมาพอมีกำลังเข้มแข็งขึ้น ก็พากันไปตั้งเมืองหลวงพระบาง ในประเทศลาวทุกวันนี้ ชาวโยนกที่เป็นผู้สถาปนาเมืองหลวงพระบางนี้ มี เจ้าคำภีระ เป็นผู้นำ

เจ้าคำภีระมีธิดาองค์หนึ่ง ชื่อว่า พระนางจามรี กล่าวกันว่าทรงมีพระรูปเลอโฉมยิ่งนัก และโปรดการทรงม้ามาก มักทรงม้าเสด็จไปเที่ยวดูภูมิสถานต่างๆ ด้วยพระองค์เองโดยมีมหาดเล็กคอยติดตาม เป็นภาพที่คุ้นตาชาวเมืองหลวงพระบางอยู่เสมอปรากฏว่า ภายหลังจากสถาปนาเมืองหลวงพระบางขึ้นแล้ว เมืองดังกล่าวมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก จนเป็นที่สนใจของพวกจีนฮ่ออีก

ในตำนานนั้นว่าพระนางทรงมีนายทหารคนสนิทคนหนี่งชื่อว่า เจ้าพันมหาด ได้ติดตามอารักขาเป็นองครักษ์คู่พระทัย และเป็นคนนำทางด้วย จนกระทั่งไปถึง เมืองจำปี หรือ เมืองคามีระนคร ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอฝาง จ.เชียงใหม่ในปัจจุบัน

ที่นั่นพระนางจามรีทรงได้พญาช้างเชือกหนึ่ง มีลักษณะดีถูกต้องตามตำรา คือ พลายสุวรรณมงคล เป็นช้างคู่บุญบารมีของพระนางและปรากฏว่า เจ้าพันมหาดรู้วิชาบังคับช้างยิ่งกว่าผู้ใดในขบวนเสด็จ จึงโปรดฯ ให้เป็น หัตถาจารย์ หรือควาญช้าง และพระนางเองก็โปรดฯ ให้ใช้ช้างนั้นเป็นช้างทรง หรือช้างพระที่นั่งตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

จากนั้น พระนางได้นำขบวนออกจากเมืองคามีระนคร เพื่อหนีให้พ้นจากเขตอิทธิพลของพวกจีนฮ่อ พระนางได้ตั้งสัจจาธิษฐานว่า ขอให้ผู้คนทั้งหมดของพระนางสามารถหนีพ้นภยันตรายไป จนกระทั่งถึงที่ที่จะตั้งบ้านตั้งเมืองใหม่ได้โดยสวัสดิภาพ ขอให้พญาช้างมงคลนี้ นำทางไปตลอดรอดฝั่ง

ต่อมา ขบวนเสด็จก็พากันไปถึง ดอยเพียงดาว หรือ ดอยเชียงดาว ในปัจจุบัน พระนางจามรีโปรดฯ ให้พักพลบริวารอยู่ที่นั่นระยะหนึ่ง ก่อนจะเดินทางกันต่อไปเรื่อยๆจนลุมาถึงดอยลูกหนึ่ง หรือภูเขาสูงใกล้แม่น้ำแม่ระมิงค์ พญาช้างได้ไหลลื่นลงจากดอยทั้งลูกนั้น ที่นั่นจึงมีนามว่า ดอยหล่อ เดี๋ยวนี้อยู่ใน อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ในปัจจุบัน

ตามตำนานว่า ขบวนของพระนางจามรีได้พากันลงจากดอยหล่อ เดินทางต่อไปถึงริมแม่น้ำระมิงค์ หรือแม่น้ำปิง แล้วหันหน้าไปอีกฟากหนึ่ง พอพ้นแม่น้ำ ทั้งช้างและคนก็เดินลัดเลาะป่าดงพงไพรไปตามริมฝั่ง โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก จนกระทั่งลัดเลาะออกจากป่าแล้วหยุดพักตรงนั้น เรียกว่า แม่ลอบ ในปัจจุบันหลังจากแวะพักที่แม่ลอบแล้ว จึงพากันขึ้นดอยที่ยาวออกไปเรื่อยๆ แล้วพากันหยุด ถึงตอนนี้ ตำนานพื้นบ้านเล่ากันเป็นทำนองว่า พวกผู้หญิงที่หาบสัมภาระเดินตามกันขึ้นดอยยาวต่างก็พากันอ่อนระโหยโรยแรง บางคนก็หายใจถี่เร็วเปล่งเสียงออกมา หุย หุย ดอยยาวลูกนั้นจึงมีนามว่า ดอยอีฮุ้ย

การเดินทางของขบวนผู้ลี้ภัยชาวหลวงพระบางอย่างลำบาก และระยะทางก็ไกลแสนไกลเช่นนี้ ทำให้เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ชำรุดเสียหายเป็นอันมาก แม้กระทั่งเครื่องทรงพญาช้างพระที่นั่งของพระนางจามรี เมื่อไปหยุดพักยังบริเวณที่ปัจจุบันนี้เป็น บ้านแม่แสม เจ้าพันมหาดจึงปลดเครื่องทรงพญาช้างลงซ่อมแซมตรงนั้น จากนั้นก็พากันเคลื่อนขบวนต่อไปจนพากันไปถึงที่แห่งหนึ่ง เจ้าพันมหาดก็อยากจะพักช้าง จึงกดหัวช้าง แต่ช้างไม่ยอมน้อมหัวลง ที่บริเวณนั้นเรียกกันต่อมาว่า ทุ่งหัวช้าง จนทุกวันนี้ และพอไปถึงที่อีกแห่งหนึ่ง พญาช้างพระที่นั่งของพระนางจามรีจึงได้หยุด เจ้าพันมหาดจึงได้กดหัวช้างให้หมอบลงลงตรงนั้น ที่นั้นจึงเรียกชื่อกันต่อมาว่า แม่ปลง เดี๋ยวนี้เรียกว่า บ้านปวง เมื่อขบวนเสด็จออกนอกเมือง ชาวบ้านที่อยู่ในเส้นทางที่ขบวนเสด็จผ่านก็ขอติดตาม จึงเดินทางไปด้วยกันเป็นขบวนใหญ่ อพยพหนีภัยจากเมืองหลวงพระบางอย่างเร่งรีบ

ประวัติเจ้าพ่อปันมะหาดกับอำเภอทุ่งหัวช้าง

เมื่อประมาณ พ.ศ. 1800 คนไทยที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรน่านเจ้าถูกศัตรูรุกรานจึงได้พากันอพยพจากที่เดิม หนีภัย ข้าศึกลงมาสร้างบ้านแปลงเมืองลงมาทางใต้ แถบหลวงพระบางบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง กิตติศัพท์โด่งดังไปทั่ว จึงเป็นเหตุให้ข้าศึกศัตรูยกกองทัพเข้าตีชิงเอาเมือง เจ้าเมืองชื่อพระเจ้าคำภีระสิ้นพระชนม์กลางสนามรบ พระราชธิดาชื่อนางจามรี ราชธิดาจึงพาไพร่พลอพยพข้ามน้ำโขงมุ่งหน้ามาทางทิศตะวันตก ถึงเมืองฝางและล่องมาทางทิศใต้เรื่อยๆ ซึ่งมีราชองครักษ์ชื่อท้าวปันมะหาด พร้อมไพร่พลช้างและพลม้าได้อพยพถึงตำบลบ้านปวงจึงพากันปลงข้าวของลงและอาศัยอยู่บริเวณนี้ และต่อมาที่ตรงนั้นจึงได้ชื่อว่า แม่ปลงหรือบ้านปวงในปัจจุบัน

      ต่อมาท้าวปันมะหาด ได้ถูกอสรพิษกัด ฝ่ายพระนางจามรีและบริวารจึงได้มาพบ ได้พยายามเสกเป่ารักษาพยาบาลรักษาแต่ไม่หายท้าวปันมะหาดทนพิษไม่ไหว จึงถึงแก่พิราลัย ณ บ้านปวง พระนางจามรีจึงให้ข้าราชบริวารบำเพ็ญพระราชกุศลศพท้าวปันมะหาดตามขัติราชประเพณี ชาวบ้านตำบลบ้านปวงจึงได้สร้างอนุสรณ์สถานให้ประชาชนได้สักการบูชาและระลึกถึง คุณงามความดีของท่าน

      ปัจจุบันชาวตำบลบ้านปวงได้สร้างลานอนุสาวรีย์เจ้าแม่จามรี เจ้าพ่อปันมะหาด ณ บ้านดอนมูล ตำบลบ้านปวง อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน เพื่อเป็นสถานที่กราบไหว้ขอพร และสักการะบูชา

พิธีบวงสรวงเจ้าแม่จามรีและเจ้าพ่อปันมะหาด เพื่อเป็นการสักการะเจ้าแม่จามรี เจ้าพ่อปันมะหาด เพื่อสืบสานประเพณีอันดีงาม สร้างความรักความสามัคคี ตลอดจนปรับภูมิทัศน์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนในอนาคต ณ  บ้านดอนมูล หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านปวง อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน 

ที่มา.....

ชินพงษ์ ต๊ะมา . (2563).ตำบลสารสนเทศชุมชนดีเด่น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต . ลำพูน : สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอทุ่งหัวช้าง 

มติชนสุดสัปดาห์.(2559). ปริศนาโบราณคดี : ‘เจ้าแม่จามรี’ แห่งเวียงลี้ กษัตรีย์ที่ไม่มีใครรู้จัก. จาก https://www.matichonweekly.com/culture/article_14439

องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านปวง.(2564). ศาลเจ้าพ่อปันมะหาด และเจ้าแม่จามรี . จาก http://banpuang.go.th/catalog/travels/97

รวมบทความของ กิตติ วัฒนะมหาตม์ . (2561). พระนางจามรี เจ้าแม่เจนเมือง.จาก http://chamadewi.blogspot.com/2018/02/blog-post.html