ผ้าทอยกดอก

ผ้าทอยกดอกลำพูน : "จากคุ้มเจ้าถึงชาวบ้าน”

งานศิลปะที่ชาวลำพูนมีความภูมิใจมากที่สุดก็คือ “การทอผ้าไหมยกดอก” ซึ่งเป็นผ้าไหมชนิดพิเศษที่ทำขึ้นจากใยของตัวไหม มีคุณสมบัติคือ เหนียว คงทน ต้านทานแรงดึงได้สูง เนื้อผ้าไหมมีความหนาแน่น เป็นเงามันและมีประกายสวยงาม ไม่นำความร้อนทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกสบาย

หากจะกล่าวถึงผ้าทอของไทยนั้นถือเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่สร้างขึ้นจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ผสมผสานกลมกลืนกับขนบธรรมเนียมประเพณี ยามว่างจากการทำไร่ทำนา ผู้หญิงจะทอผ้า จนมีคำกล่าวเกี่ยวกับวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนสมัยก่อนไว้ว่า “เมื่อเสร็จหน้านา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายตีเหล็ก” ดังนั้นทุกครัวเรือนจะมีการทอผ้าเพื่อการใช้สอย มีการถ่ายทอดความรู้ในการทอผ้าให้กับสมาชิกโดยเฉพาะผู้หญิง ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ

ผืนแผ่นดินในภาคเหนือที่เรียกว่า อาณาจักรล้านนา นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา กลุ่มชนชาตืไทยได้รวมตัวกันเป็นแว่นแคว้น มีศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเองมาช้านาน วิถีชีวิตส่วนใหญ่ของผู้คนมักจะมีการทอผ้าใช้กันนนานแล้ว ทั้งที่ทอขึ้นเพื่อใช้สวมใส่และทอขึ้นเพื่อเป็นสินค้าส่งไปขายยังอาณาจักรใกล้เคียง ดังมีรายชื่อผ้าทอปรากฏอยู่หลายชนิด เช่น ผ้าสีจันทน์ขาว ผ้าสีจันทน์แดง ผ้าสีดอกจำปา นอกจากนี้ยังมี ผ้ากัมพล ซึ่งเป็นผ้าทอด้วยขนสัตว์สำหรับชนชั้นสูงใช้พันเอว

ในตำนานพงศาวดารเมืองหริภุญไชย ได้มีการกล่าวถึงการใช้ผ้าทอในโอกาสต่างกัน เช่น การถวายจีวรห่มแก่พระในการทำบุญทางศาสนา การให้ผ้าเป็นทานแก่คนยากจน จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน แสดงให้เห็นการแต่งกายของหญิงชาวเหนือที่นุ่งซิ่นลายน้ำไหล ตำนานเมืองเงินยางเชียงแสน ตอนหนึ่งยังได้กล่าวถึงการที่คนสมัยก่อนนำผ้ามาตัดเย็บเป็นเสื้อสวมใส่และนำผ้าแพรมาพันโพกศรีษะ

สำหรับในล้านนานั้นมีการทอผ้าของชาวไททั้งบนพื้นราบและชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ชนเผ่าไทได้แก่ ไทยวน ไทลื้อ ไทยองและลาว ลักษณะผ้าทอของล้านนาจะนิยมทอเป็นผ้าซิ่น ซึ่งโดยทั่วไปจะประกอบด้วยผ้า 3 ส่วน คือ หัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น แต่ละชิ้นเป็นผ้าผืนสี่เหลี่ยมนำมาเย็บติดกันในลักษณะใดก็ได้ เนื่องจากกี่ทอผ้าในสมัยก่อนไม่สามารถวางด้ายขวางได้กว้างเท่านี้ แต่ในโอกาสพิเศษ เช่น งานบุญประเพณี สตรีชาวเหนือจะนิยมนุ่งซิ่นที่ทอส่วนตีนซิ่นให้งดงามเป็นพิเศษด้วยเทคนิคจก ที่เรียกกันว่า “ผ้าซิ่นตีนจก” นอกจากผ้าซิ่นแล้วตามจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือยังมีผ้าทอพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงและคุณภาพดีอีกหลายแห่ง เช่นผ้ายกดอกลำพูน ผ้าทอจอมทอง ผ้าทอสันกำแพง ผ้าทอลำปาง ผ้าทอลายน้ำไหลเมืองน่าน เป็นต้น

งานศิลปหัตถกรรมทอผ้าพื้นบ้านของจังหวัดลำพูนมีความงดงามประณีตด้วยฝีมือไม่แพ้ที่อื่น ๆ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน งานศิลปะที่ชาวลำพูนมีความภูมิใจมากที่สุดก็คือ “การทอผ้าไหมยกดอก” ซึ่งเป็นผ้าไหมชนิดพิเศษที่ทำขึ้นจากใยของตัวไหม มีคุณสมบัติคือ เหนียว คงทน ต้านทานแรงดึงได้สูง เนื้อผ้าไหมมีความหนาแน่น เป็นเงามันและมีประกายสวยงาม ไม่นำความร้อนทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกสบาย

ประวัติของการทอผ้ายกดอกในจังหวัดลำพูนนั้น ไม่มีหลักฐานปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรแน่ชัด แต่จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่กล่าวไว้ว่า การทอผ้ายกดอกมีจุดเริ่มต้นอยู่ใน “คุ้มเจ้า” ซึ่งแต่เดิมมาก็มีการทอผ้าฝ้ายยกดอกกันอยู่ก่อน แต่เป็นการทอยกดอกในผ้าฝ้ายและเป็นลวดลายธรรมดาไม่สวยงามวิจิตรมากนัก จนกระทั่งพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งเป็นพระญาติกับเจ้าเมืองลำพูน ได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการทอผ้าไหมยกดอก ที่มีลวดลายสวยงามแปลกตาและวิจิตรบรรจง ซึ่งพระองค์ได้เรียนรู้มาจากภาคกลางให้แก่ เจ้าหญิงส่วนบุญ ผู้เป็นชายาของเจ้าจักรคำจขรศักดิ์ เจ้าผู้ครองลำพูนองค์สุดท้ายและ เจ้าหญิงลำเจียก ธิดาในเจ้าจักรคำขจรศักดิ์เป็นผู้เริ่มทำ ต่อมาการทอผ้าไหมยกดอกจึงได้เริ่มแพร่หลายออกไปสู่สาธารณชนทั่วไป โดยได้มีการฝึกหัดชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง จนมีความรู้เรื่องการทำผ้าไหมยกดอกได้เป็นอย่างดี ทำให้เมืองลำพูนกลายเป็นศูนย์กลางการทอผ้าไหมยกดอกแหล่งสำคัญของประเทศไทย

แหล่งข้อมูล : chiang Mai News

ผู้เรียบเรียง : อารยา คำเผือ