สะพานประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ที่บ้านทาชมภู หมู่ 4 ตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน อยู่ระหว่างสถานีขุนตานกับสถานีทาชมภู เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2461 และสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2463 เพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินรถไฟจากลำปางมายังเชียงใหม่ สะพานขาวบ้านทาชมภูก่อสร้างต่อจากอุโมงค์รถไฟขุนตาน ซึ่งเป็นเส้นทางสายกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ เพื่อให้รถไฟข้ามผ่านลำน้ำแม่ทา มีลักษณะรูปทรงโค้งทาสีขาว เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก

             หลังจากถูกส่งมอบให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบ ปัจจุบันเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ สะพานบ้านทาชมภูเป็นสะพานที่สวยงามอยู่ในบริเวณภูมิทัศน์ที่โดดเด่นของอำเภอ แม่ทาจังหวัดลำพูน โดยด้านบนเป็นรางรถไฟ มีประตูระบายน้ำติดกับฝายทาชมภูซึ่งปัจจุบันฝายดังกล่าวได้ถูกปรับปรุงทัศนียภาพอย่างสวยงามที่ตัวอาคารสร้างเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทลื้อประยุกต์ ในช่วงหลังได้ถูกขนานนามว่าเป็นสะพานแห่งรัก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นคู่รักพากันมาถ่ายภาพ จนกลายเป้นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน

          โครงการก่อสร้างฝายทาชมภู เป็นฝายชั่วคราวลักษณะฝายไม้ไผ่หลักตอก ที่ราษฎรสร้างขึ้น ปิดกั้นลำน้ำแม่ทา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2547 องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ได้ปรับปรุงเป็นฝายเกเบี้ยนแกนคอนกรีต ขนาดความยาวสันฝายประมาณ 40.00 เมตร สูง 2.00 เมตร ส่งน้ำผ่านทางระบบส่งน้ำฝั่งซ้าย มีลักษณะเป็นคลองส่งน้ำดาดคอนกรีต ขนาดความกว้างก้นคลอง 0.60 เมตร สูง 1.00 เมตร ยาวประมาณ 100 เมตร ส่วนที่เหลือเป็นคลองดินอีกประมาณ 5 กิโลเมตร และระบบส่งน้ำฝั่งขวา มีลักษณะเป็นคลองส่งน้ำดาดคอนกรีต ขนาดความกว้างก้นคลอง 0.60 เมตร สูง 1.00 เมตร ยาวประมาณ 100 เมตร ส่วนที่เหลือเป็นคลองดินอีกประมาณ 900 เมตร ส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรประมาณ 1,500 ไร่

         กระทั่งทั้งตัวฝายและระบบส่งน้ำ ประสบความเสียหายเนื่องจากอุทกภัยเมื่อปี พ.ศ. 2549 ไม่สามารถทดน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตรได้ ต่อมาในปี 2558 ได้มีการก่อสร้างฝายชั่วคราว ลักษณะฝายทราย และดินถมหุ้มด้วยคอนกรีตดาด ทดแทนฝายทุ่งป่าแดงโดยใช้ชื่อว่า ฝายทาชมภู ตั้งอยู่ทางท้ายน้ำของฝายทุ่งป่าแดงประมาณ 700 เมตร เนื่องจากการก่อสร้างลักษณะฝายชั่วคราวดังกล่าว กรมชลประทานพิจารณาแล้วเห็นว่าฝายดังกล่าวมีระดับสันฝายต่ำ ไม่สามารถทดน้ำเข้าสู่ลำเหมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้อาจพังเสียหายในฤดูน้ำหลากที่จะมาถึง เห็นควรให้ก่อสร้างฝายถาวรลักษณะฝายคอนกรีตพร้อมประตูระบายน้ำทดแทนเพื่อให้ฝายทาชมภูมีความมั่นคงแข็งแรง สามารถทนต่อกระแสน้ำหลากในช่วงฤดูฝนของแม่น้ำทาที่มีปริมาณน้ำมากได้ 


ข้อมูลเนื้อหา

หนังสือพิมพ์รายวัน เชียงใหม่นิวส์    สืบค้นจาก   www.cm77.com/news/travel/detail/item/175.html

เรียบเรียงข้อมูลเนื้อหาโดย

นางสาววาสนา  กันปันสืบ

แก้ไข 29 มีนาคม 2567