ประเพณีตานก๋วยสลาก หรือสลากภัต คือ การถวายเครื่องไทยทานแก่พระภิกษุสามเณร โดยไม่เจาะจงผู้รับเป็นประเพณีนิยมที่สืบทอดกันมาช้านานของชาวล้านนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยทั่วไปจะเริ่มราววันเพ็ญเดือน ๑๒ เหนือ หรือประมาณเดือนกันยายน และสิ้นสุดในเดือนเกี๋ยงดับหรือประมาณเดือนตุลาคมของทุกปี

 

  โดยมีประวัติความเป็นมาดังนี้ ในสมัยพุทธกาล ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหารนั้น วันหนึ่งนางกุมารีผู้หนึ่งได้อุ้มลูกชายวิ่งหนีนางยักขินีผู้มีเวรต่อกันหลายชาติแล้ว ติดตามมาจะทำร้ายลูกของนาง นางเห็นจวนตัวจะวิ่งหนีไปที่อื่นไม่ได้ จึงพาลูกวิ่งเข้าไปในวัดพระเชตวัน ในพระวิหารขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่นางเอาลูกน้อยวางแทบพระบาทแล้วกราบทูลว่า "ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ ขอทรงโปรดเป็นที่พึ่งแก่ลูกชายของหม่อมฉันเถิดพระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้าหยุดพฤติกรรมที่จองเวรของนางกุมาริกา และนางยักษ์ขินีด้วยการตรัสคำสอนว่า "เวรย่อมไม่ระงับด้วยเวร” แล้วทรงให้นางทั้งสองเห็นผิดชอบชั่วดี นางยักษ์ขินีรับศีล ๕ แล้วนางก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น กราบทูลพระพุทธเจ้าว่านางไม่รู้จะไปทำมาหากินอย่างไรเพราะรักษาศีลเสียแล้ว นางกุมาริกาจึงรับอาสาจะพานางไปอยู่ด้วย นางได้รับอุปการะจากนางกุมาริกาหลายประการ นึกถึงอุปการะอยากจะตอบแทนบุญคุณ จึงเป็นผู้พยากรณ์บอกกล่าวเรื่อง ลมฟ้าอากาศ คือ บอกให้นางกุมาริกาทำนาในที่ดอนในปีฝนมาก ทำนาในที่ลุ่มในเวลาฝนแล้ง นางกุมาริกาได้ปฏิบัติตามทำให้ฐานะร่ำรวยขึ้น คนทั้งหลายมีความสงสัยจึงมาถามหาสาเหตุ นางจึงบอกว่า นางยักษ์ขินีเป็นผู้บอกกล่าวให้ คนทั้งหลายจึงพากันไปหานางยักษ์ขินีขอให้พยากรณ์ให้ตนบ้าง คนทั้งหลายได้รับอุปการะจากนางยักษ์ขินีจนมีฐานะร่ำรวยไปตามๆ กัน ด้วยความสำนึกในบุญคุณ จึงพากันนำเอาเครื่องอุปโภคบริโภคอาหารการกินเครื่องใช้สังเวยเป็นอันมาก นางจึงนำมาทำเป็นสลากภัต โดยให้พระสงฆ์กระทำการจับตามเบอร์ด้วยหลักของอุปโลกนกรรม คือ ของที่ถวายมีทั้งของมีราคามาก ราคาน้อย พระสงฆ์องค์ใดได้ของมีค่าน้อยก็อย่าเสียใจ ให้ถือว่าเป็นโชคของตนดีหรือไม่ดี การถวายแบบจับสลากของนางยักษ์ขินีนี้นับเป็นครั้งแรกแห่งประเพณีทำบุญสลากภัต หรือทานสลากในสมัยพุทธกาลนั้นเอง


 สำหรับปัจจุบันประเพณีตานก๋วยสลาก หรือสลากภัต ยังคงมีการสืบทอดให้ได้เห็นอยู่บ้างทางภาคเหนือของประเทศไทยในหลายจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เป็นต้น ซึ่งนิยมจัดกัน ๒ วัน คือ วันแรกก่อนทำพิธีตานก๋วยสลาก ๑ วัน เรียกว่า "วันดา” เป็นวันจัดเตรียมเครื่องไทยทานต่างๆ ที่จะถวายพระสงฆ์ โดยผู้ชายจะช่วยกันจักตอกสานก๋วย (ตระกร้า) ไว้หลายๆ ใบ บางครอบครัวอาจจะทำหลายสิบลูก แล้วแต่ศรัทธาและกำลังทรัพย์ ฝ่ายผู้หญิงก็จะจัดเตรียมห่อของที่จะนำไปถวายลงในก๋วย เช่น ข้าวสาร พริก หอม กระเทียม เกลือ กะปิ ปลาร้าขนมข้าวต้ม และอาหาร เช่น ห่อหมก (ทางเหนือ เรียก ห่อนึ่ง) ชิ้นปิ้ง (เนื้อย่าง) เนื้อเค็ม หมก เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เทียนไข สีย้อมผ้า ผลไม้ต่างๆ เครื่องใช้สอยต่างๆ ตามแต่ศรัทธาและฐานะ สิ่งของต่างๆ เหล่านี้จะบรรจุลงในก๋วย ซึ่งกรุด้วยใบตอง หรือกระดาษสีต่างๆ เมื่อจัดการบรรจุสิ่งของต่างๆ ลงในก๋วยเรียบร้อยแล้ว ก็จะเอา "ยอด” คือ สตางค์ หรือธนบัตร ผูกติดไม้เรียวเสียบไว้ "ยอด” ที่ใส่นั้นไม่จำกัดว่าเท่าใด แล้วแต่กำลังทรัพย์และศรัทธา ส่วนสลากโชคหรือก๋วยใหญ่ สิ่งของที่นำมาบรรจุในก๋วยก็เช่นเดี๋ยวกับสลากก๋วยน้อยแต่มีความพิเศษกว่า คือ จะทำเป็นรูปเรือหลังเล็กมีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น หม่อข้าว หม้อแกง ถ้วยชาม เครื่องนอน เครื่องนุ่งห่ม อาหารสำเร็จรูปใส่ไว้ด้วย มีต้นกล้วยต้นอ้อย ผูกติดไว้ ยอด หรือธนบัตรจะใส่มากกว่าสลากน้อย และก๋วยสลากทุกอันต้องมีเส้นสลาก ที่ทำจากใบลานหรือปัจจุบันใช้กระดาษตัดเป็นแผ่นยาวๆเขียนชื่อเจ้าของไว้ และยังบอกอีกว่าอุทิศไปให้ใคร ในวันดานี้ จะมีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงจากหมู่บ้านต่างๆ ที่รู้จักมาร่วมทำบุญ โดยการนำเงินหรือผลไม้ เช่น กล้วย อ้อย ส้มเกลี้ยง ส้มโอ ฯลฯ มาร่วมด้วยและช่วยจัดเตรียมสิ่งของใส่ก๋วยสลาก เจ้าภาพ ต้องเลี้ยงข้าวปลา อาหาร เหล้ายาและขนม ส่วนวันที่ ๒ คือ "วันทานสลาก” ชาวบ้านจะช่วยกันนำสลากที่ทำไว้แล้วไปที่วัด และเอาเส้นสลากทั้งหมดไปรวมกันไว้ที่หน้าพระประธานในวิหาร นั่งฟังเทศน์อย่างน้อย ๑ กัณฑ์ จากนั้น มัคทายกนำเส้นสลากทั้งหมดที่รวมกันไว้แล้วแบ่งออกเป็น ๓ กอง ส่วนหนึ่งเป็นของพระเจ้า (ของวัด) ส่วนอีก ๒ กองนั้นเฉลี่ยไปตามจำนวนพระภิกษุสามเณรที่นิมนต์มาร่วมในงานทำบุญ หากยังมีเหลือจะนำมารวมเป็นของพระเจ้า(วัด)ทั้งหมด  เมื่อพระภิกษุสามเณรได้รับส่วนแบ่งแล้วก็จะไปยึดเอาชัยภูมิแห่งหนึ่งในวัดและจัดการออกสลาก คืออ่านชื่อในเส้นสลากดังๆ หรือให้ลูกศิษย์ (ขะโยม) ที่ไปด้วยนั้น ตะโกนตามข้อความที่เขียนไว้ในเส้นสลาก หรือเปลี่ยนเป็นคำสั้นๆ เช่น ศรัทธานายเมือง บ้านใต้วัดมีไหนเหอ” เมื่อผู้เป็นเจ้าของได้ยิน หรือมีเพื่อนบ้านใกล้เคียงได้ยินก็จะไปบอกให้เจ้าของ "ก๋วยสลาก” ซึ่งบางรายก็จะหิ้ว "ก๋วย” ไปตามหาเส้นสลากตามลานวัด การเที่ยวหาเส้นสลากนี้เป็นที่น่าสนุกสนานมาก พวกหนุ่มๆ สาวๆ เฒ่าชะแรแก่ชรา ไม่ว่าเด็กน้อยหรือหนุ่มใหญ่ก็จะหิ้ว "ก๋วยสลาก” ออกตามหาเส้นกันขวักไขว่ ทุกคนจะมีใบหน้าแช่มชื่นผ่องใสเพราะนานปีถึงจะมีการ "กิ๋นก๋วยสลาก” สักครั้งบางวัด ๓ ปี จะมีการทานสลากนี้สักครั้งหนึ่ง พวกหนุ่มๆ ก็จะถือโอกาสช่วยสาวๆ หาเส้นสลากเป็นการผูกไมตรีไปด้วย เมื่อพบเส้นสลากของตนแล้ว ก็จะเอา "ก๋วยสลาก” ไปถวายพระ พระก็จะอ่านข้อความในเส้นสลากให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง แล้วรับเอา "ก๋วยสลาก” และกล่าวอนุโมทนาให้พร แล้วก็คืนเส้นสลากนั้นให้เจ้าของสลากไป เจ้าของก็นำเอาเส้นสลากนั้นไปรวมไว้ในวิหาร จากนั้นมัคนายกก็จะเอาเส้นสลากนั้นไปเผาไฟหรือทิ้งเสีย

 

  ประเพณีตานก๋วยสลาก ที่ชาวล้านนาได้มีการสืบสานต่อๆ กันมานี้ เป็นการสร้างความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียง อีกทั้งเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่บิดา มารดา และญาติที่ล่วงลับไปแล้วเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที นอกจากนี้ผู้ถวายมักจะอุทิศกุศลนั้นให้ตนเองด้วย เพราะเชื่อว่าเมื่อจากโลกนี้ไปแล้วหากได้ไปเกิดในภพอื่นก็จะได้รับสิ่งของที่ตนเองได้อุทิศไว้เมื่อยังมีชีวิต และถือเป็นการบริจาคทานที่ได้อานิสงส์มากอีกด้วย


แหล่งที่มา 

คุณวีระศักดิ์  ภักดี


ที่มา : หนังสือประเพณีและพิธีกรรม ๔ ภาคของไทย โดย พิมุต รุจิรากูล ,

www.m-culture.go.th/lampang/ewt_news.php?nid=2248&filename=index

ภาพ : www.tidkhao.com

เรียบเรียงข้อมูลเนื้อหาโดย

นางสาววาสนา  กันปันสืบ

ปรับปรุงแก้ไขวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566