งานปอยหลวง     งานบุญที่ยิ่งใหญ่ของคนภาคเหนือ ซึ่งจัดเป็นประจำของทุกๆปี เพื่อเป็นการจัดฉลองที่ยิ่งใหญ่ของวัด คำว่า “ปอย” มาจากคำว่า “ประเพณี “หมายถึง งานฉลองรื่นเริง ส่วนคำว่า “หลวง” หมายถึง “ยิ่งใหญ่” ดังนั้นคำว่า “ปอยหลวง” จึงเป็นงานฉลองที่ยิ่งใหญ่หรืองานฉลองที่ใหญ่โต ซึ่งเป็นการฉลองถาวรวัตถุ ของวัดหรือฉลองสิ่งก่อสร้างของวัด ที่ประชาชนช่วยกันทำขึ้น เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ และประเพณีงานปอยหลวง มักจะจัดขึ้นในช่วงเดือน 5 ไปจนถึงเดือน7 เหนือ ซึ่งก็ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงเดือนเมษายน หรือบางแห่งอาจไปถึงเดือนพฤษภาคม ของทุกปี ส่วนระยะเวลาการจัดงานจะมี ประมาณ 3-7 วัน ประเพณีงานปอยหลวงเป็นงานทำบุญเพื่อเฉลิมฉลองศาสนสมบัติต่าง ๆ เพื่อให้เกิดอานิสงส์แก่ตนและครอบครัว ถือว่าได้ บุญกุศลแรงมาก นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องแสดงถึงความสามัคคีกลมเกลียวของคณะสงฆ์ และชาวบ้านด้วยเพราะเป็นงานใหญ่ การทำบุญปอยหลวงที่นิยมทำกันคือทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วก็ได้ สิ่งสำคัญที่ได้จากการทำบุญงานปอยหลวงอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการแสดงความชื่นชม ยินดีร่วมกันเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินให้แก่คนในท้องถิ่น โดยการจัดมหรสพสมโภชเพราะหนึ่งปีถึง จะได้มีโอกาสได้เฉลิมฉลองถาวรวัตถุต่างๆ ได้ หรือบางแห่งอาจใช้เวลาหลายปี เพราะสิ่งปลูกสร้างบางอย่างใช้เวลาสร้างนานมาก สิ้นเปลืองเงินทองมหาศาล จะต้องรอให้สร้างเสร็จ และมีเงิน จึงจะจัดงานเฉลิมฉลองเป็นงานปอยหลวงขึ้นมาได้การที่เรียกว่า ปอยหลวง เพราะเป็นงานใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลเป็นจำนวนมาก มีกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งทาง ศาสนาและด้านมหรสพเพื่อความบันเทิง ทั้งยังต้องจัดการอำนวยความสะดวกด้านบริการแก่แขกต่างหมู่บ้าน ซึ่งจะมีทั้งสมณะและฆราวาสทุกเพศทุกวัย ทางวัดและศรัทธาเจ้าภาพต้องดูแลให้ทั่วถึง ในการเตรียมงานอันดับแรกต้องมีการประชุม ปรึกษาหารือระหว่างทางวัดและคณะกรรมการหมู่บ้านฝ่ายต่าง ๆ เพื่อแบ่งสรร หน้าที่กัน นับตั้งแต่เรื่องการพิมพ์ฎีกาแผ่กุศล งานส่วนใหญ่จะจัดเป็นหมวดหรือกลุ่มเพื่อให้ดำเนินการได้โดยสะดวก เช่น กลุ่มพ่อบ้านมีหน้าที่ทางด้านจัดสถานที่ ติดต่อประสานงานกับชุมชนอื่น กลุ่มแม่บ้านมีหน้าที่ด้านอาหารการกินที่จะใช้เลี้ยงพระสงฆ์ ตลอดจนแขกเหรื่อที่จะมาร่วมงานในแต่ละวัน กลุ่มหนุ่มสาวอาจมีหน้าที่บริการยกข้าวน้ำมาเลี้ยงแขก และอาจรวมถึงการติดต่อมหรสพที่จะมาเล่นในงานครั้งนั้น ฝ่ายกลุ่มผู้เฒ่า ชายส่วนใหญ่ก็จะได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ด้านศาสนพิธีและการต้อนรับแขกเหรื่อที่จะมาทำบุญร่วมกัน และกลุ่มผู้เฒ่าหญิงก็มีหน้าที่แต่งดาเครื่องไทยทาน ของใช้ที่จะใช้ในพิธีทางศาสนาสำหรับหญิงสาว จะได้รับการฝึกหัดให้เป็นช่างฟ้อน เพื่อฟ้อนรับครัวทานหรือไทยทานที่จะแห่เข้าสู่วัดในวันงาน ก่อนที่จะมีงานปอยหลวงนั้น จะมีการตาน(ทาน)ตุง และช่อ (ธงสามเหลี่ยม) เสียก่อน ตุงนี้จะเป็นผืนผ้าที่ถักทอด้วยด้าย ซึ่งอาจมีการประดับด้วยดิ้นสีเงิน สีทอง หรือสีอื่นๆ ที่สวยงาม บางผืนอาจทอเป็นรูป ปีนักษัตรที่ตนเกิด ความยาวของตุงประมาณ3-4วา และมีความกว้างประมาณ 1 ใน 16 ของความยาวตุง แล้วจะนำตุงไปปักเรียงรายกันไว้ตามถนนหนทางเข้าหมู่บ้าน ส่วนช่อหรือธงสามเหลี่ยม ซึ่งหากใช้เป็นการชั่วคราวก็จะตัดด้วยกระดาษ มีความยาวขนาดประมาณ 1 ศอก กว้างประมาณ 1 คืบ ก็ถวายทานพร้อมกับการตุงการถวายทานจะทำกันในพระวิหาร พร้อมกับการตักบาตรทำบุญโดยปกติในวันศีล หรือวันธรรมสวนะ ก่อนที่จะถึงวันงานปอยหลวง ดังนั้นตุงที่ เรียงรายสลับกันอย่างสวยงามสองข้างทา จะเป็นสัญลักษณ์ให้คนที่สัญจรผ่านไปมาได้ทราบว่า วัดแห่งนั้นกำลังจะมีปอยหลวง นอกจากจ’ะมีการทานตุงผ้าแล้ว ทางวัดอาจจะจัดทำธงชาติ และธงธรรมจักรอันเป็นสัญลักษณ์ของชาติและพระพุทธศาสนา ปักตลอดแนวตามบริเวณ

หน้าวัด หรือทางเข้าวัดทุกด้าน ก่อนงานปอยหลวง 1 วันเรียกว่า วันดา ชาวบ้านจะนำสิ่งของที่ซื้อไว้ไปรวมกันที่วัด เรียกว่า รวมครัว โดยตกแต่งประดิษฐ์ประดอยให้สวยงาม ตามแต่จะคิดขึ้น เรียกสิ่งที่ตกแต่งนี้ว่า ครัวทาน หรือ คัวตาน เพื่อแห่ไปยังวัดที่จะจัดงานปอยหลวง ในตอนเย็นวันเดียวกันก็จะนิมนต์พระอุปคุต (ก้อนหิน) จากท่าน้ำใกล้วัด โดยอัญเชิญมาไว้ที่หออุปคุต ซึ่งมีลักษณะเหมือนศาลเพียงตาพร้อมเสื่อหมอน น้ำต้น (คนโท) ขันดอกไม้ ธูปเทียน การนำก้อนหินซึ่งสมมติเป็นพระอุปคุตมาจากแม่น้ำ เพราะมีความเชื่อว่า พระอุปคุตสามารถปกป้องคุ้มครองให้งานสำเร็จราบรื่น ปลอดภัยจากเหตุร้ายต่างๆ พระอุปคุตนี้ เมื่อเสร็จงานแล้วต้องนิมนต์ท่านกลับไปอยู่ที่กลางน้ำเหมือน เดิมเมื่อถึงวันงานบุญปอยหลวง ในวันแรก จะเป็นครัวทานหรือเครื่องไทยทานของชาวบ้านที่เป็นศรัทธาของวัดที่มี งานแห่ปอยหลวงเข้าวัดก่อน ส่วนวันต่อไปก็จะมีคณะศรัทธาหัววัดต่างๆ จัดขบวนแห่เครื่องไทยทานมาจากวัดของตนเองไปร่วมทำบุญงานปอยหลวงด้วย ขบวนแห่ครัวทานมักจะมีสาวงามฟ้อนเล็บนำขบวนด้วย ชาวเหนือถือว่าหากใครได้ฟ้อนนำครัวทานเข้าวัดแล้วจะได้อานิสงส์มาก เกิดไปในภายหน้าจะมีรูปร่างหน้าตางดงามยิ่งขึ้น 

เมื่อขบวนแห่ครัวทานเข้ามาในวัดแล้ว จะมีการเลี้ยงดูแขกที่มาจากต่างบ้าน การเลี้ยงอาหารชาวบ้านจะทำหลังเวลาถวายเพลพระภิกษุสามเณร ส่วนครัวทานที่แห่มาถึงวัดในช่วงบ่ายเจ้าภาพก็จะมีการเลี้ยงของว่าง และน้ำดื่ม มีหมาก เมี่ยง บุหรี่ เจ้าภาพจะจัดเตรียมไว้ทุกๆ วันจนกว่าจะเสร็จงานส่วนคณะสงฆ์ที่เดินทางมายังวัดของเจ้าภาพ ทางวัดจะเตรียมการต้อนรับให้เป็นพิเศษ เรียกว่า “เกณฑ์รับหัววัด” เมื่อบอกบุญไปกี่วัดก็เตรียมของไว้ต้อนรับเท่านั้น รวมทั้งพระสงฆ์ที่นิมนต์มาทำพิธีสวดเบิกในวันสุดท้ายด้วย เมื่อคณะศรัทธาหัววัดต่างๆมาถวายเครื่องไทยทาน พระสงฆ์ที่คอยต้อนรับจะให้ศีลให้พรตามธรรมเนียม พระที่จะให้ศีลนั้นควรเป็นพระที่อาวุโสที่สุด หรือพระที่ชาวบ้านเคารพเลื่อมใสวันสุดท้ายของงานจะมีความ สนุกสนานเป็นพิเศษ บางแห่งคณะศรัทธาของแต่ละบ้านนำครัวทานของตนที่จัดขึ้นหรือรวมกลุ่มกัน จัดเครื่องครัวทานแล้วนำไปถวายวัด คณะสงฆ์จะมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์และมีการสวด อบรมสมโภช หรือสวดเบิก ซึ่งเป็นการสวดที่ไพเราะน่าฟังมาก ยังมีการเทศน์บอกกล่าวถึงอานิสงส์ของการก่อสร้างอีกด้วย ในวันรุ่งขึ้นก็มีการทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุ สามเณร มีอาจารย์วัด (มัคนายก) กล่าวถวายสิ่งปลูกสร้างที่ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างมา เสร็จแล้วก็ถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ที่มาร่วมพิธี พระสงฆ์ให้ศีลให้พรแด่คณะศรัทธาที่มาร่วมงาน ก็เป็นอันเสร็จพิธีทำบุญปอยหลวง งานบุญปอยหลวงเป็นเอกลักษณ์ของชาวล้านนาซึ่งเป็น ผลดีต่อสภาพทางสังคมหลายประการ นับตั้งแต่ชาวบ้านได้มาทำบุญร่วมกัน ร่วมกันจัดงานทำให้เกิดความสามัคคีในการทำงาน งานทำบุญปอยหลวง ยังเป็นการรวมญาติพี่น้องที่อยู่ต่างถิ่นได้มีโอกาสทำบุญร่วมกัน และมีการสืบทอดประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาครั้งแต่บรรพชน ไม่ให้สูญหายไปจากสังคม 

ข้อมูลเนื้อหา

หนังสือพิมพ์รายวัน เชียงใหม่นิวส์    สืบค้นจาก   https://rakthaitradition.wordpress.com

เรียบเรียงข้อมูลเนื้อหาโดย

นางสาววาสนา  กันปันสืบ

แก้ไข 17 มกราคม 2567