การพูดแสดงความคิดเห็นเป็นการพูดเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงเหตุผลให้ทัศนะและข้อเสนอแนะตลอดจนข้อสันนิษฐานและการประเมินค่าเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยทั่วไปการพูดแสดงความคิดเห็นมักเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการดังนั้นการพูดแสดงความคิดเห็นที่ดีจะต้องมีความพร้อมทั้งในเรื่องข้อมูล แนวคิดที่มีเหตุมีผลสนับสนุนไม่พาดพิงให้ก่อเกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นหรือทำให้ผู้ใดต้องเสียหาย

เรื่องที่ 2.1 หลักการพูดแสดงความคิดเห็น

1) ประเภทการพูดแสดงความคิดเห็น สามารถแบ่งประเภทของการพูดตามลักษณะของเนื้อหาสาระออกเป็น 5 ประเภทดังนี้

- การพูดแสดงความคิดเห็นในเชิงสนับสนุน เป็นการพูดเพื่อสนับสนุนแนวคิดของผู้อื่น ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยผู้พูดพิจารณาและเห็นว่าความคิดนั้นมีประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมมีคุณมากกว่า มีโทษ มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ผู้พูดจะต้องแสดงความคิดเห็นที่สัมพันธ์กับเนื้อเรื่องด้วยเหตุผลที่น่าเชื่อถือ

- การพูดแสดงความคิดเห็นในเชิงขัดแย้ง เป็นการพูดที่ตรงกันข้ามกับการพูดแสดงความคิดเห็นในเชิงสนับสนุนโดยผู้พูดพิจารณาแล้วเห็นว่าแนวคิดของผู้อื่นหรือเรื่องที่มีคนนำเสนอนั้นแตกต่างจากความคิดของตนในทางตรงกันข้าม

- การพูดแสดงความคิดเห็นในเชิงวิจารณ์ เป็นการพูดเพื่อวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผู้วิจารณ์ต้องวางตัวเป็น กลาง ไม่อคติต่อเรื่องหรือประเด็นที่พูด ไม่อคติต่อตัวผู้แสดงความคิดเห็นอื่นการวิจารณ์ควรมีมุมมองทั้งข้อดีและข้อเสีย ประโยชน์และโทษ โดยเป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างรอบด้านและประเมินค่า

- การพูดแสดงความคิดเห็นเพื่อนำเสนอความคิดเห็นหรือสิ่งใหม่ๆ เป็นการพูดเพื่อนำเสนอสิ่งที่ตนค้นพบควรเป็นเรื่องที่แปลกใหม่แตกต่าง และสร้างสรรค์เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

- การพูดแสดงความคิดเห็นเพื่อตั้งข้อสังเกต เป็นการเล่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเพื่อกระตุ้นให้ผู้ฟังได้คิดและเกิดการวิพากษ์วิจารณ์

2) หลักการพูดแสดงความคิดเห็น

- ผู้พูดจะต้องแสดงความคิดเห็นให้ตรงกับประเด็นหรือเรื่องที่กำหนดจะต้องมีข้อมูลข้อเท็จจริงประกอบกับการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนั้นๆ อย่างมีเหตุผลและเป็นไปในทางสร้างสรรค์- ผู้พูดต้องมีความรู้และเข้าใจเรื่องที่ตนแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างดีเพื่อที่จะพูดได้อย่างลึกซึ้ง

- การพูดให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง จะต้องอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับในสังคม

- การพูดที่มาของเรื่องโดยลำดับเหตุการณ์และเน้นในตอนที่มีความสำคัญเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนของผู้ฟัง

- วิธีการพูดแสดงความคิดเห็นผู้พูดควรเลือกใช้ถ้อยคำภาษาที่กระชับ เข้าใจง่ายมีความหมายชัดเจน ไม่กำกวม ควรพูดเรียงไปตามลำดับ ตามข้อกำหนด

- มีการสรุปทิ้งท้ายก่อนจบการพูดแสดงความคิดเห็นเสมอเพื่อให้การพูดมีความสมบูรณ์

3) คุณลักษณะของผู้พูดแสดงความคิดเห็นที่ดี

- ผู้พูดจะต้องมีความรอบรู้ในเรื่องที่จะแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างดี

- ผู้พูดตระหนักรู้เจตนาที่ชัดเจนในการพูดเชิงสนับสนุน ขัดแย้ง วิจารณ์ เสนอแนวคิดใหม่ หรือ ตั้งข้อสังเกต

- ผู้พูดตั้งมั่นที่จะพูดเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ

- ผู้พูดรู้จักใช้คำที่บ่งชี้ว่าเป็นคำพูดที่แสดงความคิดเห็น เช่น อาจ อาจจะ จะเห็นได้ว่า คงจะ น่าจะพึงควร

- ผู้พูดสามารถใช้น้ำเสียงและท่าทางประกอบการพูดอย่างสอดคล้องเหมาะสมกับเนื้อหาที่พูด

- ผู้พูดรู้จักใช้ถ้อยคำที่สุภาพ

- มีมารยาทในการพูด เช่นการรักษากฎ กติกา ข้อตกลง ในการพูดแสดงความคิดเห็นอย่างเคร่งคัด ไม่พูดด้วยอารมณ์ที่เกรี้ยวกราด

สรุปการพูดแสดงความคิดเห็น

การพูดแสดงความคิดเห็นเป็นได้ทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ การพูดแสดงความคิดเห็นต้องมีความชำนาญในเรื่องการหาข้อมูล เพื่อที่จะใช้ตามเจตนาของการพูด ได้แก่ พูดสนับสนุน พูดขัดแย้งหรือคัดค้าน พูดวิพากษ์วิจารณ์ การตั้งข้อสังเกต พูดที่จะเสนอสิ่งที่แปลกใหม่โดยอยู่ภายใต้มารยาททางสังคมที่ดี

เรื่องที่ 2.2 การพูดแสดงความคิดเห็น

การพูดแสดงความคิดเห็นหมายถึง การพูดเพื่อแสดงความคิดความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องใด เรื่องหนึ่งอย่างมีเหตุผล มีความสอดคล้องกับเรื่องพูดในการพูดแสดงความคิดเห็นสามารถพูดได้หลายสถานการณ์ เช่น การให้สัมภาษณ์ การประชุม สัมมนา การอภิปราย หรือแม้แต่การพูดคุยในวงสัมมนาทั่วไป เนื้อหาสาระในการพูดแสดงความคิดเห็นอาจเป็นเรื่องวิชาการ เศรษฐกิจ สังคมหรือการบันเทิงก็ได้ โดยผู้พูดมักคาดหวังว่าผู้ฟังจะเห็นด้วยหรือคล้อยตาม ในที่นี้จะนาเสนอการพูดแสดงความคิดเห็นที่มักใช้โดยทั่วไปคือ การพูดโต้แย้ง การพูดวิพากษ์วิจารณ์ และการพูดโน้มน้าว

1) การพูดโต้แย้ง

การพูดโต้แย้งคือ การพูดที่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย โดย แต่ละฝ่ายจะใช้เหตุผลเพื่อสนับสนุนความคิดของตนเองและคัดค้านของอีกฝ่าย หัวข้อหรือเนื้อหาสาระ ในการโต้แย้งแต่ละครั้งจะต้องกำหนดว่าจะโต้แย้งในเรื่องใด มีประเด็นอะไรบ้างที่จะต้องนำมาพิจารณา

คุณสมบัติของผู้พูดโต้แย้ง

- มีความรู้ความเข้าใจดีพอเกี่ยวกับหัวข้อที่จะนำมาโต้แย้ง

- มีความสามารถในการเรียบเรียงเรื่องได้อย่างดี ไม่ทำให้ผู้ฟังสับสน

- มีความสามารถในการนำเสนอได้อย่างแจ่มชัด

- มีความสามารถในการสรุปได้อย่างคมคายและน่าเชื่อถือ

ประเด็นในการพูดโต้แย้ง หมายถึง เรื่องที่ก่อให้เกิดการพูดโต้แย้งกันแบ่งออกได้ 3 ประเภทคือ

- การพูดโต้แย้งความคิดเห็น คือการพูดเพื่อชี้ให้เห็นว่าข้อเสนอของบุคคลใดบุคคลหนึ่งยังมีข้อเสียหายหรือข้อบกพร่อง ที่ผู้พูดโต้แย้งเห็นว่าไม่อาจยอมรับได้หรือไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้โดยชี้แจงเหตุผลพร้อมมีการเสนอความคิดเห็นใหม่เสมอเพื่อพิจารณานำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

- การพูดโต้แย้งเกี่ยวกับข้อเท็จจริง เมื่อมีผู้พูดข้อเท็จจริงที่อ้างอิงถึงแหล่งข้อมูลถึงผู้พูดโต้แย้งต้องถามสิ่งที่อ้างถึงนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาอย่างไรตรวจสอบว่าจริงได้อย่างไรวิธีการตรวจสอบนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้หรือไม่ หรือมีข้อมูลพูดโต้แย้งได้ว่าได้มีการตรวจสอบแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าสิ่งที่อ้างถึงนั้นเป็นจริงเช่นที่อ้างเลย

- การพูดโต้แย้งเกี่ยวกับคุณค่า ซึ่งเป็นสิ่งละเอียดอ่อนมากและมีความรู้สึกส่วนตัวรวมอยู่ด้วย ขึ้นอยู่กับการให้คุณค่าต่อสิ่งที่กาลังพูดโต้แย้งของแต่ละบุคคล เช่นคุณค่าระหว่างอินเตอร์เน็ตกับหนังสือ คุณค่าระหว่างความเป็นไทยกับความเป็นสากล

การวินิจฉัยเพื่อตัดสินข้อโต้แย้ง ว่าควรจะยอมรับความคิดเห็นของฝ่ายใดนั้นทำได้ 2 วิธีคือ

- พิจารณาเฉพาะเนื้อหาสาระที่แต่ละฝ่ายได้นำมาพูดโต้แย้งกัน

- พิจารณาโดยใช้ดุลพินิจของตน พร้อมกับพิจารณาคำโต้แย้งของทั้งสองฝ่ายโดยละเอียด

ข้อควรระวังในการพูดโต้แย้ง

- ผู้พูดโต้แย้งควรหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์

- ผู้พูดโต้แย้งควรมีมารยาทในการใช้ภาษาพูดภาษากาย

- ผู้พูดโต้แย้งควรเลือกประเด็นในการพูดโต้แย้งกันได้อย่างสร้างสรรค์ และก่อเกิดประโยชน์ หลีกเลี่ยงการพูดโต้แย้งในลักษณะไม่สร้างสรรค์ไม่มีประโยชน์หรือประเด็นที่ไม่สมควรพูดโต้แย้งกันเลย

2) การพูดวิพากษ์วิจารณ์

การพูดแสดงความคิดเห็นโดยการพูดวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ภายใต้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยการพูดวิพากษ์วิจารณ์ที่ดีนั้นจะต้องพูดอย่างสร้างสรรค์ ประเทืองปัญญาและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

การพูดวิพากษ์วิจารณ์ผู้พูดควรมีคุณลักษณะดังนี้

- เป็นผู้มีข้อมูลรอบด้านอันเกิดมาจากการศึกษาค้นคว้า ประสบการณ์การทำงาน การวิจัย การสนทนากับผู้ทรงคุณวุฒิฯ

- ไม่มีอคติหรือฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นกลางและให้ความเป็นธรรมต่อเรื่องหรือความคิดเห็นของบุคคลที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์

- ไม่มีประเด็นซ่อนเร้นที่จะชี้นำผู้ฟังไปในทิศทางที่ตนต้องการ

- ไม่ใช้สามัญสำนึก ความรู้สึกของเผ่าพันธุ์นิยม วัฒนธรรมนิยมหรือชาตินิยมมาเกี่ยวข้องในการพูดวิพากษ์วิจารณ์

- ไม่ใช้อารมณ์ในลักษณะของการดันทุรังยืนกรานโดยไม่มีเหตุผลประกอบ

สรุป

ลักษณะของการพูดวิพากษ์วิจารณ์ต่างจากการพูดติเตียนก็คือเจตนาของผู้พูดติเตียนมักจะพูดไปในทางที่ก่อเกิดความเสียหาย เพื่อให้ผู้ฟังเกลียดชัง อันเป็นการพูดด้วยอกุศลจิต วจีทุจริต เลยเถิดไปถึงการพูดที่เป็นการส่อเสียด หยาบคาย มุสา เพ้อเจ้อ ส่วนการพูดในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นการพูดโดยอาศัย ข้อมูล ความรู้ประสบการณ์ โดยมีมุมมองอย่างรอบด้านพูดทั้งด้านบวก ด้านลบ โดยมีเจตนาที่สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

2.2.3 การพูดโน้มน้าว

การพูดโน้มน้าว หมายถึง การพูดเชิญชวน เกลี้ยกล่อม ให้ผู้ฟังเกิดความเชื่อถือศรัทธามีความคิดเห็นคล้อยตาม การพูดโน้มน้าวจึงเป็นการพูดเพื่อเชิญชวน เพื่อให้ปฏิบัติตาม เปลี่ยนแปลงทัศนคติและปลุกเร้าให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆ ซึ่งจะต้องเป็นไปโดยความสมัครใจหรือความยินยอมมิใช่การบีบบังคับหรือการใช้อุบายอย่างอื่นเช่น แจกเงินให้รางวัลหรือการข่มขู่ การพูดโน้มน้าวที่ดีและมีประสิทธิภาพ จะต้องพูดให้ผู้ฟังตระหนักถึงความเป็นจริงและเกิดความเชื่อถือที่จะกระทำตามด้วยความสมัครใจ

จุดมุ่งหมายในการพูดโน้มน้าว

- พูดเพื่อให้ผู้ฟังเห็นคล้อยตามในเรื่องที่พูด

- พูดเพื่อให้เกิดการกระทำหรือเปลี่ยนการกระทำตามที่ผู้พูดต้องการ

- พูดเพื่อกระตุ้นหรือเร้าความรู้สึกให้เกิดปฏิกิริยาต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

วิธีการพูดโน้มน้าว

- กำหนดจุดมุ่งหมายให้ชัดเจนเพื่อเตรียมเนื้อหาและวิธีการพูดให้สอดคล้องกับความต้องการ

- จัดลำดับเนื้อหาที่จะพูดให้เป็นระบบและเรียงตามลำดับขั้นตอน คือบทนำ เนื้อเรื่อง และบทสรุป

- วิธีการพูดโน้มน้าวมีความแตกต่างจากการพูดแบบอื่นคือ

  • แสดงเหตุผล

  • เร้าให้เกิดอารมณ์ให้เห็นคล้อยตามกับผู้พูด

  • ในขณะพูดต้องแสดงให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือในตัวของผู้พูดโน้มน้าว

  • เปิดโอกาสให้ผู้ฟังคิดเพื่อการตัดสินใจด้วยตนเอง