การพูดเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตมนุษย์ เพราะเป็นการสื่อสารให้บุคคลอื่นเกิดความเข้าใจในความต้องการ ความคิดเห็น หรืออารมณ์ความรู้สึกจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง นอกจากนี้การพูดที่ดียังสามารถ จูงใจสร้างความพึงพอใจ รักใคร่ เคารพนับถือครองใจคนได้เป็นอย่างดี การพูดจึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีแก่ทุกคนโดยผลนำไปสู่ความสุขความสำเร็จ ซึ่งทุกคนสามารถฝึกฝนให้เกิดความชำนาญแล้วนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมส่งผลให้บุคคลนั้นเป็นที่รักและศรัทธาแก่บุคคลทั่วไป

เรื่องที่ 1.1 การพูดสนทนา

การพูดสนทนา เป็นการพูดเพื่อติดต่อสื่อสารกันระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ในการพูดสนทนาโต้ตอบ อาจมีทั้งการพูดตอบรับหรือพูดปฏิเสธพูดแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมทั้งประเด็นที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม คู่สนทนาควรใช้คำพูดที่สุภาพ ไม่ห้วนหรือไม่เป็นคำหยาบคาย เลือกใช้คำพูดที่เหมาะสมกับคู่สนทนา

1) องค์ประกอบของการพูดสนทนา

(1) คู่สนทนา ซึ่งหมายถึงผู้พูดและผู้ฟังควรเป็นผู้มีความพร้อมและให้ความสนใจต่อการสนทนาระหว่างกัน ด้วยท่าทีที่เป็นมิตร วางใจ ให้เกียรติ ในขณะที่คนหนึ่งพูดอีกคนหนึ่งควรเป็นผู้ฟังอย่างตั้งใจ จับประเด็นได้ หรือสาระสำคัญของผู้พูดโต้ตอบและเปลี่ยนสถานะมาเป็นผู้ฟังที่ดี จึงจะทำให้การสนทนาราบรื่น

(2) ประเด็นการสนทนาและวัตถุประสงค์ของการสนทนาในการพูดสนทนาเราสามารถกำหนดประเภทของการสนทนาเป็น 2 ประเภท คือ

- การสนทนาทั่วไปซึ่งมักจะเป็นการพูดคุยในชีวิตประจำวันการไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ การแสดงความเอื้ออาทร

- การสนทนาที่มีประเด็นเนื้อหาเฉพาะโดยมีการกำหนดวัตถุประสงค์สาระกรอบเนื้อหาการสนทนาที่ชัดเจน เช่น การสนทนาเพื่อแก้ปัญหาชุมชนเรื่องการระบาดของยาเสพติด การสนทนาเรื่องการแต่งตัวตามแฟชั่นยุคใหม่

(3) บรรยากาศการพูดสนทนา ซึ่งหมายถึงสิ่งต่างๆ ที่เอื้อหรือเป็นอุปสรรคของการพูดสนทนา เช่น สถานที่ เวลา สถานการณ์ มลภาวะทางเสียง อื่น ๆ ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการพูดสนทนาด้วย

2) การพูดสนทนาระหว่างบุคคล

การพูดสนทนาระหว่างบุคคล ส่วนใหญ่จะเป็นการทักทายปราศรัยเพื่อสร้างสัมพันธ์ภาพที่ดีต่อกัน มีขั้นตอนที่พึงปฏิบัติดังนี้

ขั้นที่ 1 การแสดงความเป็นมิตร โดยการยิ้มแย้มแจ่มใส แสดงอาการยินดีที่ได้พบหรือได้รู้จักผู้ที่เราทักทาย กล่าวคำทักทายเป็นที่ ยอมรับกันในสังคม เช่น สวัสดีครับ/สวัสดีค่ะ ยินดีที่ได้รู้จักครับ/ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ

ขั้นที่ 2 การแนะนำตนเอง การแนะนำตัวนับว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นการแสดงความจริงใจเปิดเผย ซึ่งมีหลักปฏิบัติดังนี้ บอกชื่อ นามสกุล บอกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเราพอสังเขป และบอกวัตถุประสงค์ในการแนะนาตัว

ขั้นที่ 3 การสนทนา คือการพูดคุยกันเพื่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ความคิด ความรู้สึก ประสบการณ์ ด้วยความเป็นมิตร จริงใจ ใช้ถ้อยคำสำนวนภาษาที่เข้าใจง่าย สุภาพ ใช้คำพูดและน้ำเสียงที่น่าฟังและเป็นกันเอง

ขั้นที่ 4 การลาเมื่อจบการสนทนา ขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นขั้นที่สำคัญ ที่จะสร้างความประทับใจให้กับคู่สนทนาและเป็นการแสดงความมีมารยาทโดยการกล่าวชื่นชมคู่สนทนากล่าวขอบคุณและกล่าวลาอย่างสุภาพ

3) การพูดสนทนาในกลุ่ม

การพูดสนทนาในกลุ่มเป็นกิจกรรมที่สำคัญในยุคปัจจุบันทั้งในชีวิตประจำวันและในการศึกษา การอบรม ประชุม สัมมนา เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วนำมาเล่าให้กันฟังมีขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1 ขออนุญาตพูดสนทนากับกลุ่ม

ขั้นที่ 2 การพูดสนทนาไม่ควรใช้เวลานานเกินไปควรเปิดโอกาสให้ผู้อื่นพูดบ้าง เล่าถึงประเด็นเนื้อหาที่สำคัญ ๆ ว่ามีอะไรบ้าง

ขั้นที่ 3 ระหว่างพูดสนทนาใช้น้ำเสียงให้ชัดเจนน่าฟังได้ยินทั่วถึง

ขั้นที่ 4 ตอบข้อซักถามผู้ที่ยังมีข้อสงสัยด้วยวาจาสุภาพไม่ใช้อารมณ์ฉุนเฉียว หรือคำที่ไม่สุภาพ

ขั้นที่ 5 สรุปประเด็นสำคัญและขอบคุณทุกคนที่รับฟัง

4) มารยาทในการพูดสนทนา

- เตรียมตัวให้พร้อมในการปรากฏกายต่อหน้าผู้อื่น แต่งกายให้เหมาะสมกับกาลเทศะ ดูแลความสะอาดของร่างกายโดยเฉพาะกลิ่นตัวและกลิ่นปาก เพื่อป้องกันไม่ให้คู่สนทนารังเกียจหรือรำคาญ

- สร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง มีความกล้าพูดกล้าคุยไม่เก้อเขินต่อหน้าผู้อื่น คู่สนทนาหรือที่สาธารณะ

- หากมีการนัดหมาย กับคู่สนทนาต้องเป็นคนตรงต่อเวลาซึ่งถือว่าเป็นการให้เกียรติคู่พูดสนทนา

- ไม่พูดมากเกินไปจนคู่สนทนาไม่มีช่องว่างที่จะพูดหรือแสดงความคิดเห็นตอบโต้ ไม่ผูกขาดการพูดอยู่ฝ่ายเดียว

- ไม่ขัดจังหวะการพูดของคู่สนทนา แม้ว่าเขาจะพูดนานเกินไปจนเกิดความเบื่อหน่าย อย่าพูดแทรกกลางคันเพราะถือว่าเป็นการไม่สุภาพควรหาวิธีที่ละมุนละม่อม

- ไม่พูดจาโอ้อวดแต่เรื่องตนเอง เช่นความมีเสน่ห์ ความร่ำรวย ความฉลาด ความเก่ง ความยิ่งใหญ่ ซึ่งจะทำให้คู่สนทนาหรือกลุ่มสนทนารู้สึกไม่ดีต่อผู้พูดได้

- ไม่พูดในเรื่องที่ทำให้คู่สนทนาดูด้อยค่าหรือเกิดความเศร้าหมองอาจเป็นการทำร้ายจิตใจคู่สนทนาโดยผู้พูดไม่รู้ตัว ควรตระหนักคิดก่อนพูด

- ไม่นินทาว่าร้ายผู้อื่นเพราะจะทำให้คู่สนทนาเอือมระอาและไม่ต้องการร่วมเป็นคู่สนทนาด้วย

- ไม่ควรนำเรื่องส่วนตัวและเรื่องในที่ทางานไปพูดโดยเฉพาะการติเตียนผู้ร่วมงาน ผู้บริหาร หรือนายจ้าง หรือบ่นถึงเคราะห์กรรมโชคชะตาของตน

- อย่าปฏิเสธความหวังดีของคู่สนทนา หากเขาชี้ข้อบกพร่องหรือสิ่งที่เราควรปรับปรุง แม้เราอาจไม่พอใจแต่โดยมารยาทที่ดีแล้วควรยอมรับ คิดเสียว่าเขามีความปรารถนาดี

5) การพูดสนทนาที่ดีมีมนุษยสัมพันธ์

- พูดในเรื่องที่ควรพูด พูดด้วยความจริงใจ

- พูดด้วยน้ำเสียงที่เป็นธรรมชาติ

- พูดด้วยถ้อยคำที่สุภาพ

- เปิดโอกาสให้คู่สนทนาได้พูด

- ฟังคู่สนทนาพูดอย่างตั้งใจ เป็นผู้ฟังที่ดี

- ไม่พูดสอดแทรกในขณะที่คู่สนทนากำลังพูด

- พูดสนับสนุนคำพูดคู่สนทนาตามความเหมาะสม

- แสดงมารยาทในการพูด เช่น สวัสดี ขอโทษ ขอบคุณ

- สนใจคู่สนทนาตลอดระยะเวลาที่มีการสนทนานั้น

สรุปหลักการพูดสนทนา

1. วิเคราะห์ ผู้พูด ผู้ฟัง กาลเทศะ วัตถุประสงค์ โอกาส และเรื่องที่จะพูดหรือสนทนา

2. เตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมวางอารมณ์กิริยา สีหน้าท่าทางตลอดจนน้ำเสียง และภาษาที่ใช้สอดคล้องกัน

3. พูดเรื่องที่ทำให้คู่สนทนาสนใจ

เรื่องที่ 1.2 การพูดสัมภาษณ์

1) ความหมายการพูดสัมภาษณ์

หมายถึงการสนทนากันอย่างมีเป้าหมาย ระหว่างผู้สัมภาษณ์และผู้ให้สัมภาษณ์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องเที่ยงตรง

2) วัตถุประสงค์ของการพูดสัมภาษณ์

1. เพื่อให้ได้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เป็นบุคคล ทำให้ได้ข้อมูลที่มีคุณค่าน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น สมบูรณ์ขึ้น เป็นการเติมสาระสำคัญในเรื่องต่างๆ และเกิดรสชาติทางความรู้สึก

2. เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ไปเขียนเป็นบทความหรือนาไปใช้ประกอบสื่อต่างๆ

3. เพื่อกระตุ้นให้เกิดการกระทำจากข้อคิด หรือการนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์

3) องค์ประกอบสำคัญของการสัมภาษณ์

1. ผู้สัมภาษณ์

2. ผู้ให้สัมภาษณ์

3. เรื่องที่สัมภาษณ์

4. เป้าหมายการสัมภาษณ์

5. วิธีการสัมภาษณ์

4) ประเภทของการสัมภาษณ์

- การสัมภาษณ์เพื่อหาข้อเท็จจริง ผู้ให้สัมภาษณ์จะต้องเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นผู้รู้เรื่องที่แท้จริง มีความเชี่ยวชาญหรือมีส่วนรู้เห็นในเรื่องต่างๆ

- การสัมภาษณ์เพื่อให้แสดงความคิดเห็น ผู้ให้สัมภาษณ์ควรเป็นบุคคลสำคัญที่ประชาชนอยากทราบความคิดเห็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องที่ประชาชนสนใจ หรือเป็นการสัมภาษณ์เพื่อขอความคิดเห็นจากบุคคลที่หลากหลายในเรื่องเดียวกัน

- การสัมภาษณ์เรื่องส่วนตัว เป็นการสัมภาษณ์ในภาพรวมเกี่ยวกับชีวิตของผู้ให้สัมภาษณ์หรือดึงเพียงประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจก็ได้

5) คุณสมบัติของผู้สัมภาษณ์

1. มีการเตรียมตัวพร้อมสำหรับการสัมภาษณ์

2. มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในการสัมภาษณ์

3. มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่จะสัมภาษณ์เป็นอย่างดี

4. มีความเชื่อมั่นในตนเอง

5. มีความเป็นคนช่างสังเกต

6. มีมนุษยสัมพันธ์และบุคลิกที่น่าเชื่อถือ

7. มีความรู้และมีไหวพริบในการตอบโต้

8. มีลักษณะของการเป็นผู้ฟังที่ดี

9. มีความสามารถในการจดบันทึกได้อย่างรวดเร็ว

6) การเตรียมคำถามเพื่อการพูดสัมภาษณ์

1. สั้น รัดกุม เหมาะสม ชัดเจน

2. มีใจความและแนวทางไปสู่จุดมุ่งหมายที่ต้องการ

3.ใช้คำถามปลายเปิดเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ตอบคำถามได้ยาวๆ

4. คำถามต้องมีลักษณะในการเสาะแสวงหาข้อเท็จจริง

5. หลีกเลี่ยงคำถามที่มีลักษณะตอบโต้หรือเกิดข้อพิพาทกับผู้ให้สัมภาษณ์เอง

7) วิธีการพูดสัมภาษณ์ที่ดี

- แนะนำตนเองแก่ผู้ให้สัมภาษณ์ด้วยความสุภาพ

- เริ่มต้นการสัมภาษณ์ด้วยคำถามง่ายๆ และเป็นกันเอง

- สร้างความคุ้นเคยกับผู้ให้สัมภาษณ์สร้างบรรยากาศที่ดี

- ไม่พูดอวดดีหรือแสดงท่าทีว่ารู้มากกว่าผู้ให้สัมภาษณ์

- ขออนุญาตก่อนใช้เครื่องมืออัดเสียง

- พูดถึงเป้าหมายการสัมภาษณ์ให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น

- ระมัดระวังการพูดโดยใช้ภาษาให้เหมาะสมกับตำแหน่ง หน้าที่ หรือฐานันดร

- เรียงลำดับคาถามให้เหมาะสมเพื่อผู้ให้สัมภาษณ์ตอบได้อย่างราบรื่น

- อย่าเร่งเวลาหรือรีบรวบรัดให้จบ

- ควรบอกผู้ให้สัมภาษณ์ทราบเมื่อถึงคำถามสุดท้าย

- กล่าวคำขอบคุณและขออนุญาตลากลับด้วยความสุภาพ

- ไม่ควรพูดชี้นำหรือชักจูงให้ผู้สัมภาษณ์ตอบตามที่ตนคาดหวัง

8) การวางตัวเพื่อเข้ารับการสัมภาษณ์

- ไปถึงก่อนเวลานัดอย่างน้อย 10 นาที เพื่อดูแลความเรียบร้อยของตนเอง เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ใบหน้า ทรงผม และทำสมาธิก่อนเข้ารับการสัมภาษณ์

- นั่งรอด้วยความเรียบร้อย ไม่ควรแสดงอาการหงุดหงิดเมื่อต้องรอนาน ไม่เดินไปเดินมา มีความอดทนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

- เคาะประตูก่อนเข้าห้อง เพื่อเป็นการขออนุญาต เมื่อเข้าห้องแล้วปิดประตูไม่ให้มีเสียงดังและนั่งลงเมื่อได้รับอนุญาต

- ขณะถูกสัมภาษณ์ไม่ควรหลบตาหรือมองไปทางอื่น

9) การพูดขณะให้สัมภาษณ์

- พูดเสียงดังฟังชัด ไม่อู้อี้อยู่ในลำคอ แต่ก็ไม่ควรดังเกินไป

- น้ำเสียงเป็นกันเองไม่ใช้เสียงห้วนและเสียงแข็ง

- จังหวะการพูด ไม่ช้าหรือเร็วเกินไปแบ่งคำให้ถูกต้องเหมาะสม

- ระวังคำซ้ำคำเกินที่มากเกินควร เช่น เอ้อ อ้า แบบว่า ฯ

- ไม่ใช้คำสแลงเพราะเป็นคำที่รับรู้กับเฉพาะกลุ่มและบางคำถือเป็นคำไม่สุภาพ

- ไม่พูดมากเกินไปหรือน้อยเกินไป จนน่ารำคาญและไม่น่าประทับใจ

- ไม่พูดโกหก เพราะอาจเจอผู้มีประสบการณ์มากกว่าจับโกหกได้ จึงไม่เกิดผลดีมีแต่ผลเสีย

- เว้นการพูดจาโอ้อวดเกินความจริง

- ตั้งใจฟังคำถามและตอบไปอย่างปกติไม่ต้องรีบร้อนหรือนั่งคิดนานเกินไป ข้อที่ตอบไม่ได้ควรบอกโดยตรง อย่าพูดจาอวดรู้อวดดี

- เมื่อเสร็จการสัมภาษณ์ควรแสดงความเคารพและกล่าวคำขอบคุณ

สรุปการพูดสัมภาษณ์

คือ การสนทนาที่มีจุดมุ่งหมายโดยเฉพาะ ประกอบด้วยบุคคลสองฝ่ายคือผู้ถามและผู้ตอบแต่ละฝ่ายจะต้องมีการเตรียมการที่ดีจึงจะทำให้การพูดสัมภาษณ์บรรลุจุดมุ่งหมาย เพราะสิ่งที่ได้จากการพูดสัมภาษณ์มักจะเป็นเรื่องที่จะนำไปเผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจได้รับทราบ ดังนั้นผู้ที่สัมภาษณ์และผู้ให้สัมภาษณ์จะต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ เป็นอย่างดี มีทักษะในการฟัง เป็นคนช่างสังเกต มีปฏิภาณ ไหวพริบ และรู้จักสร้างบรรยากาศระหว่างการพูดสัมภาษณ์ให้เกิดความราบรื่น