วัดพระธาตุดอยห้างบาตร

"ไหว้สาพระธาตุ ดอยห้างบาตรเป็นศรี ของดีลำไย 

ผ้าไทยถักทอ ยกยอจักรสาน กล่าวขานงานโคนม ชื่นชมวัฒนธรรม เลิศล้ำภาษายอง" 

จตุรมุขศรีขาว  ฉัตรทองทอดยาวยอดเจดีย์

         วัดพระธาตุดอยห้างบาตรเป็นโบราณสถานเก่าแก่และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูนอยู่บนเนินเขาสูงห่างจากหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในพื้นที่  บ้านห้วยไซใต้ หมู่ที่ 8 ตำบลห้วยยาบ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ลักษณะสถาปัตยกรรมของพระธาตุดอยห้างบาตรเป็นเจดีย์รูปทรงจตุรมุขสีขาว มีฉัตรทองอยู่ยอดเจดีย์สวยงาม ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด

รอยห้างบาตร

ตามตำนานเล่าขาลความเป็นมาของวัดพระธาตุดอยห้างบาตร ว่าเมื่อครั้งพุทธกาลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระองค์ได้เสด็จจาริกมายังแคว้นสุวรรณภูมิ ประเทศไทยปัจจุบันนี้ พระองค์ทราบว่าต่อไปภายภาคหน้า แคว้นสุวรรณภูมินี้จะเป็นที่เผยแพร่พุทธศาสนาของพระองค์ต่อไป พระองค์กับพระอรหันต์จำนวน 55 รูป ได้เสด็จมาโปรดพวกฤๅษีที่บำเพ็ญตนอยู่ตามถ้ำ เริ่มตั้งแต่วัดเกตุ ซึ่งอยู่ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ แล้วไปโปรดฤๅษีในป่า อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.สันทราย อ.สันกำแพง แล้วเข้ามาลำพูนที่บนยอดเขา ดอยน้อย คือดอยห้างฉัตรปัจจุบันนี้ ได้มีฤๅษีและพญานาคจำศีลบำเพ็ญอยู่ พระองค์พร้อมสาวกได้เสด็จมาโปรดและพักอยู่บนยอดเขานี้ 3 วัน 3 คืน ก่อนที่พระองค์จะไปโปรดที่อื่นต่อไปฤๅษีและพญานาคจึงทูลขอเกศาของพระองค์ พระองค์ก็ประทานให้ แล้วพระองค์ก็อธิษฐานเอาบาตรวางลงบนก้อนหิน ภาษาพื้นเมืองทางเหนือเรียกว่า “ห้างบาตร” ซึ่งปัจจุบันยังมีร่องรอยที่ทรงห้างบาตรอยู่ลักษณะเป็นหลุมลึกลงในหินดาลและมีการสร้างมนฑบครอบไว้เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมาสักระบูชา

หลังจากพระองค์ทรงประทานพระเกศาให้แล้ว ฤๅษีและพญานาคได้นำเกศาของพระองค์มาไว้ที่พระองค์เคยประทับอยู่ แล้วจึงทำเจดีย์ครอบเกศาไว้ต่อมาได้มีชาวบ้านได้ช่วยกันทำเจดีย์ครอบองค์เดิมไว้และได้บูรณะสืบต่อ ๆ กันมา จากนั้นได้ถือเอาวันเพ็ญเดือน 9 เหนือ หรือวันเพ็ญเดือน 7 ใต้ เป็นประเพณีสรงน้ำพระธาตุต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ 

ต่อมาในปี พ.ศ.2466 ได้มีขุนคำแสนได้ไปกราบนิมนต์ท่านครูเจ้าศรีวิชัย มาบูรณะขึ้นมาใหม่ และครูบาท่านได้ปั้นพระประธานไว้ในพระวิหาร ซึ่งปั้นเสร็จในวันเดียวกัน ชาวบ้านจึงเรียกว่า "พระเจ้าทันใจ"  ภายในพระวิหารประกอบไปด้วยพระพุทธรูปเล็กๆมากมาย รวมไปถึงจิตรกรรมฝาผนังที่เล่าถึงวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ตำบลห้วยยาบ

      การเดินทางขึ้นสู่พระธาตุดอยห้างบาตรสามารถขึ้นมาได้ 2 เส้นทาง  เส้นทางแรกเป็นเส้นทางที่นักแสวงบุญนิยมใช้กัน คือ บันไดทางขึ้นที่เรียกว่าบันไดนาค ซึ่งนาค หรือ พญานาค งูใหญ่มีหงอน เป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา และยังเป็นสัญลักษณ์ของบันไดสายรุ้งสู่จักรวาล นักแสวงบุญจึงมักเดินขึ้นบันไดที่ถอดยาวเป็นทางลงกลางเนินเขาในระหว่างการเดินนั้นก็ถือเป็นการบำเพ็ญสมาธิไปด้วยและอีกหนึ่งเส้นทาง สำหรับผู้ที่เดินเท้าไม่สะดวกสามารถใช้ทางลาดได้แต่เส้นทางค่อนข้างสูงชัน 

นอกจากนั้นอาณาบริเวณรอบพระธาตุดอยห้างบาตร ยังเต็มไปด้วยศาสนวัตถุอันเป็นที่ยืดเหนี่ยวจิตใจของผู้มาปฎิบัติธรรมและมาเยือน

“วัดพระธาตุดอยห้างบาตรไม่เพียงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศาสนาแต่เป็นสถานที่บำบัดจิตใจ  ทำให้รู้สึกอิ่มเอ็มใจทุกครั้งที่มาเยือน ณ ที่แห่งนี้”

แผนที่การเดินทางมายังวัดพระธาตุดอยห้างบาตร  ตำบลห้วยยาบ  อำเภอบ้านธิ

ข้อมูลเนื้อหา โดย  พระครูวิเชียรปัญญา 

เรียบเรียงเนื้อหา โดย นางสาวคนึงขวัญ  ปันศิริ

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวคนึงขวัญ  ปันศิริและนางสาวกานต์ชนก แก้วทิพย์