ก่องข้าว..ใบตาล

อำเภอบ้านธิเป็นอำเภอขนาดเล็กตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของจังหวัดลำพูนประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร เช่น ทำนา ปลูกผัก  ทำสวนลำไย เป็นต้น บริเวณทุ่งนามีการปลูกต้นตาลกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีการปลูกมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าส่วนใหญ่นิยมปลูกตามคันนาเป็นแนวยาวเรียงกันเพื่อแสดงอาณาเขตที่ดิน

จากใบตาลบนยอดสูง...สู่อาชีพการทำก่องข้าว

ต้นตาลเป็นปาล์มต้นเดี่ยวที่มีความสูงชะลูด มีลำต้นใหญ่และเนื้อแข็งแรงมาก เป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืน ลำต้น เดี่ยวไม่แตกกิ่งก้านสาขา ลักษณะเป็นสีน้ำตาลเข้ม  ซึ่งจะมีกาบขอบใบติดอยู่ประมาณ 5 เมตร ลักษณะของเนื้อไม้เป็นไม้เนื้อแข็ง มีเสี้ยนสีดำอัดกันแน่นด้านในสูงประมาณ 15 เมตร และจะมีใบออกที่ยอด 

ลักษณะ ใบ คล้ายพัดปลายใบแหลมสีเขียว ระหว่างใบจะมีก้านใบแข็งและเชื่อมติดกันคล้ายรูปตัววี ลักษณะก้านใบสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้ม เช่นเดียวกับใบขอบก้านใบคล้ายฟันเลื่อย แต่จะป้านกว่า ความยาวประมาณ 1.5 – 2 เมตร การเรียงตัวของใบอัดกันแน่นเป็นเกลียว เมื่อใบแก่เต็มที่จะร่วงหล่นทั้งก้านและใบ ด้วยลักษณะของต้นที่สูงมากนั้นเมื่อต้องการเอาลูกตาลลงจากต้น ชาวบ้านจึงต้นปีนขึ้นไปบนยอดต้นตาล เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บลูกตาลชาวบ้านจะตัดเอาใบตาลลงมาด้วย

ใบตาลที่ถูกตัดลงมาชาวบ้านไม่ทิ้งให้เปล่าประโยชน์ นำมาแปรรูปจากใบที่ไร้ค่าเป็นก่องข้าวที่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว

 ก่องข้าวใบตาล..สร้างรายได้

 “ก่องข้าว” คือภาชนะใส่ข้าวเหนียวนึ่งของชาวภาคเหนือ ซึ่งในภาคอีสานจะเรียกว่ากระติ๊บข้าว ส่วนภาคกลางจะเรียกว่ากล่องใส่ข้าวเหนียว ก่องข้าว ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตาล ใบลาน ใบจาก และไม้ไผ่ เป็นของใช้ประจำบ้านที่นิยมตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากราคาไม่แพง น้ำหนักเบา ระบายอากาศและไอน้ำได้ดี ทำให้ข้าวเหนียวไม่แฉะ มีกลิ่นหอมจากใบตาล และมีอายุการใช้งานที่คุ้มค่ากับราคา นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้เก็บเมล็ดพันธ์พืช เก็บของชิ้นเล็ก ๆ หรือนำมาประดับตกแต่งบ้านได้ ซึ่งจากเดิมมีการสานเป็นลักษณะที่ทรง 4 เหลี่ยมเท่านั้น ปัจจุบันมีการออกแบบเป็นลักษณะ 6 เหลี่ยม ราคาขายจะต่างกันไปตามขนาดและรูปทรงและความยากง่าย เช่น ทรง 4 เหลี่ยมขนาดเล็ก ราคากล่องละ 10 บาท กล่องใหญ่ ราคา 30 บาทขึ้นไป  ทรง 6 เหลี่ยม ขนาดเล็กราคา กล่องละ 30 บาท กล่องใหญ่ราคา 60 บาทขึ้นไป เป็นต้น

บุคคลผู้สืบทอดอาชีพการทำก่องข้าวใบตาล

นางจุ่ม วงค์คม หรืออุ้ยจุ่ม อาศัยอยู่บ้านห้วยม่วง เลขที่ 7/1 หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยยาบ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ปัจจุบันอายุ 78 ปี ประกอบอาชีพสานก่องข้าวใบตาลมานานกว่า 20 ปีเล่าว่า...เมื่อตอนอุ้ยจุ่มยังเด็กหลังวางเว้นจากการทำนา พ่อแม่จะเรียกให้มาสานก่องข้าวเพื่อใช้ใส่ข้าวนึ่งไว้กินและขายให้กับคนอื่นๆที่ในหมู่บ้านเดียวกันและใกล้เคียง ปัจจุบันใบตาลจะได้จากชาวบ้านที่ขึ้นเอาผลตาลไปขายจะ เอาใบตาลมาส่งให้ เมื่อได้ใบตาลมาจะนำไปตากแดดก่อนจากนั้นนำใบตาลมาเรียงทับซ้อนกันแล้วมัดด้วยเชือกเพื่อให้ดัดให้ใบตาลตรง ทิ้งไว้ประมาณ 1 – 2 วัน จากนั้นนำใบตาลมากลางแล้วดึงใบตาลให้เป็นริ้วเส้นเล็ก ๆ บนแท่นตัดใบตาลตามขนาดที่ต้องการ (เดิมใช้กรรไกรในการตัดให้เป็นเส้นปัจจุบันได้ออกแบบและสร้างแท่นตัดใบตาลขึ้นมาเพื่อให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น) ก่อนจะนำใบตาลที่จักเป็นริ้วมาสานเป็นก่องข้าว จะต้องนำไปแช่น้ำเพื่อให้ใบตาลมีความอ่อนตัวและยืดหยุ่นเหมาะกับการสาน 

วัสดุ/อุปกรณ์การทำก่องข้าวจากใบตาล


แท่นพิมพ์ตัดใบตาล

ช่องตัดบนแท่นพิมพ์ตัดใบตาล

ขั้นตอนสานก่องข้าวสี่เหลี่ยม

           จากใบตาลที่ดูเหมือนไร้ค่า เป็นอาชีพที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นสามารถเลี้ยงครอบครัวมาได้จนถึงปัจจุบัน อีกทั้งมีการรวมตัวกันผู้สูงอายุในหมู่บ้านตั้งเป็นกลุ่มอาชีพการทำก่องข้าวใบตาล จึงนับว่าเป็นอาชีพหนึ่งในชุมชนบ้านห้วยม่วงที่สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ 

แผนที่เดินทาง

ข้อมูลการติดต่อ นางจุ่ม  วงค์คม (อุ้ยจุ่ม)

โทรศัพท์ :  087-6605208

ที่อยู่ บ้านห้วยม่วง เลขที่ 7/1 หมู่ที่ 3  ตำบลห้วยยาบ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน 51180 

ข้อมูลเนื้อหา โดย นางจุ่ม  วงค์คม

เรียบเรียงเนื้อหา โดย นางสาวคนึงขวัญ  ปันศิริ

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวกานต์ชนก แก้วทิพย์