กัญชงกับกัญชา

กัญชง vs กัญชา

เรื่องของ “กัญชา” กลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้ง เมื่อมีกฎหมายปลดล็อกกัญชา โดยตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป กัญชา-กัญชง ถูกถอดออกจากรายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 หรือเข้าใจง่ายๆ ว่า พืชกัญชาจะไม่จัดเป็นยาเสพติดอีกต่อไป แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีข้อกฎหมายที่ระบุชัดเจนว่า กัญชา-กัญชง จะต้องมีปริมาณสาร THC ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนักเท่านั้น โดยหากมีสาร THC เกินกว่า 0.2% จะยังถูกจัดว่าเป็นยาเสพติดอยู่

ซึ่งการออกกฎหมายฉบับนี้มา ก็เพื่อการนำกัญชา-กัญชง มาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การดูแลสุขภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยไม่มีการสนับสนุนให้ใช้กัญชา-กัญชงในทางที่ไม่เหมาะสม

เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะรู้จัก “กัญชา” กันบ้างแล้ว แต่ “กัญชง” อาจจะเป็นที่รู้จักน้อยกว่า หรือบางคนอาจจะเพิ่งเคยได้ยินชื่อนี้

กัญชา-กัญชง ที่มีชื่อคล้ายๆ กันนี้มีความเหมือนความต่างกันอย่างไรบ้าง ลองมาดูข้อมูลกัน

กัญชา-กัญชง เป็นญาติกัน

กัญชง (เฮมพ์) ใบมีขนาดใหญ่ ใบและช่อดอกตัวเมียมีกลิ่นหอมและดอกจะมียางเหนียวน้อยกว่ากัญชา

กัญชา ใบมีลักษณะแคบยาว ใบและช่อดอกตัวเมียมีกลิ่นหอมและมียางเหนียวมาก

กัญชา (Marijuana) และกัญชง (Hemp) พืชทั้งสองชนิดเป็นพืชล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดเดียวกันในวงศ์ Cannabaceae ที่อยู่ในตระกูล Cannabis เหมือนกัน ต่างกันที่สายพันธุ์ย่อย (กัญชา : Cannabis sativa L.subsp. indica / กัญชง : Cannabis sativa L.subsp. Sativa) จึงทำให้กัญชงและกัญชามีลักษณะที่คล้ายกัน โดยจะแตกต่างกันในด้านลักษณะทางกายภาพ และปริมาณสาระสำคัญ

ลักษณะทางกายภาพของกัญชา-กัญชง

กัญชา : ใบสีเขียวเข้ม ใบหนากว้าง เรียงตัวชิดกัน มีแฉกประมาณ 5-7 แฉก ลำต้นเตี้ยเป็นพุ่มสูงไม่เกิน 2 เมตร แตกกิ่งก้านมาก เมล็ดมีขนาดเล็กกว่ากัญชง ผิวมีลักษณะมันวาว

กัญชง : ใบสีเขียวอ่อน ใบเรียว เรียงตัวห่างกว่าใบกัญชามีแฉกประมาณ 7-11 แฉก ลำต้นสูงเรียวมากกว่า 2 เมตร แตกกิ่งก้านน้อย เส้นใยให้ปริมาณมากกว่ากัญชาและมีคุณภาพสูง เมล็ดกัญชงมีขนาดใหญ่ ผิวเมล็ดเรียบ มีลายบ้าง

สารสำคัญในกัญชา-กัญชง

องค์การเภสัชกรรม ได้ให้ข้อมูลว่า กัญชา และกัญชง ต่างมีสารสำคัญ คือ THC (Tetrahydrocannabinol) และ CBD (Cannabidiol) เหมือนกัน แต่มีสัดส่วนปริมาณสารสำคัญแตกต่างกัน สำหรับประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับกัญชงโดยเฉพาะ และกำหนดว่า ต้องเป็นกัญชงสายพันธุ์ที่มีสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทหรือสารเดลต้า 9 เตทตระไฮโดรแคนนาบินอยด์ (delta-9-tetrahydrocannabinoid) เรียกสั้นๆ ว่า สารทีเอชซี (THC) ต่ำกว่า 1% และต้องปลูกในพื้นที่ที่กำหนด แต่กัญชาจะมีสารทีเอชีสูงกว่า ดังนั้น ปริมาณสารทีเอชซี จึงใช้แยกระหว่างกัญชาและกัญชงนั่นเอง

*สาร THC (Tetrahydrocannabinol) : มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ส่งผลต่ออารมณ์ ความจำ ความรู้สึก ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม อยากอาหาร และลดอาการคลื่นไส้

สาร CBD (Cannabidiol) : ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มีฤทธิ์ระงับอาการปวด ลดการอักเสบ ลดอาการ

ชักเกร็ง และลดความกังวล

ปัจจุบัน การปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ก็เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากสาร CBD ทางองค์การเภสัชกรรมจึงมีแนวทางพัฒนาสายพันธุ์กัญชาให้ได้สาร CBD สูงและ THC ต่ำ



ประโยชน์จากกัญชา-กัญชง

กัญชา : นิยมนำมาสกัดเป็นยารักษาโรคและใช้ในทางการแพทย์


กัญชง : นิยมแปรรูปในงานสิ่งทอ , ทำกระดาษ , เมล็ดกัญชงนำมาสกัดสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอาง


ถึงแม้ว่าจะมีการปลดล็อกกัญชา-กัญชงออกจากรายชื่อยาเสพติดแล้ว แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่างอยู่ด้วย ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกกัญชาไว้เองเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพ แต่ต้องมีการจดแจ้งผ่านเว็บไซต์หรือแอพลิเคชัน “ปลูกกัญ” ของ อย. ส่วนการบริโภคหรือใช้กัญชาในรูปแบบต่างๆ ต้องศึกษาข้อมูลเรื่องข้อจำกัดในการใช้ หรือบุคลลใดที่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค