องค์ความรู้โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า

องค์ความรู้โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า

African Horse Sickness General Information

ผลจากการสอบสวนโรคที่ สพ.ญ. ณัฐวดี ภมรานนท์ ตัวแทนกรมปศุสัตว์นำเสนอต่อองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563

  • ระบุว่าจากการสอบสวนย้อนกลับพบเคสแรกที่ป่วยตายผิดปกติเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 จากนั้นไม่พบการป่วยด้วยอาการลักษณะเดียวกันทิ้งระยะห่างจนถึงช่วงวันที่ 14 มีนาคม จึงพบการตายของฟาร์มที่ 2

  • ต่อมาช่วงวันที่ 15-16 มีนาคม 2563 มีพายุพัดกระหน่ำที่จังหวัดนครราชสีมา ทำให้มีแมลงพาหะเป็นจำนวนมากในพื้นที่ จากนั้นจึงเริ่มพบการป่วยตายมากขึ้นจนผิดสังเกตุ

  • ระหว่างนั้นได้มีการตรวจวินิจฉัยโดยสัตวแพทย์ที่เข้าทำการรักษา และมีการประสานงานผ่าซากม้าที่ตายโดยผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิวิทยาเพื่อหาสาเหตุการตายจนได้ข้อสรุปว่าน่าจะเป็นโรคติดต่อชนิดใหม่ที่ไม่เคยมีการระบาดในประเทศไทยมาก่อน

  • ทางสัตวแพทย์ที่ทำการวินิจฉัยจึงได้ประสานงานไปยังกรมปศุสัตว์ในวันที่ 25 มีนาคม 2563 และนำไปสู่การพบโรคกาฬโรคแอฟริกาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ที่โรคนี้ออกจากทวีปแอฟริกาอีกครั้ง

ที่มา: OIE AHS-related Webinars

สถานการณ์ในประเทศไทย

วันที่ 25 มีนาคม 2563

  • ช่วงเย็นทางกรมปศุสัตว์ได้รับการแจ้งว่ามีม้าล้มตายอย่างกะทันหันเป็นจำนวนมาก ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

วันที่ 26 มีนาคม 2563

  • กรมปศุสัตว์ประกอบไปด้วย สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กองสารวัตรกรมปศุสัตว์ ปศุสัตว์เขต 3 ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา และสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ได้ลงพื้นที่ตรวจ พบว่ามีม้าจำนวน 11 คอก มีอาการป่วย มีไข้สูงมากกว่า 39 องศา ซึม ไม่กินอาหาร มีน้ำมูก น้ำลายไหล หายใจลำบาก หอบ มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ มีจุดเลือดออกบริเวณเยื่อบุตา ร่างกายอ่อนเพลีย และตายโดยฉับพลัน

27 มีนาคม 2563เวลา 15:30น.

  • อธิบดีกรมปศุสัตว์ แถลงผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ยืนยันว่าพบ

โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า

(African Horse Sickness; AHS)


  • กรมปศุสัตว์ จึงได้มีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ รวมทั้งศึกษามาตรการการควบคุมโรคในกรณีที่มีการระบาดของโรคนี้ในต่างประเทศ เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการกำจัดกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness ) สำหรับคืนสถานภาพปลอดโรคจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health หรือ Office International des Epizooties; OIE)

เมื่อมีการสืบสวนย้อนประวัติการตายของม้า พบว่าม้าตัวแรกมีการตายช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 โดยมีการตายเพียงตัวเดียว และไม่สามารถสรุปได้ว่าตายจากโรคอะไร ต่อมาอีก 2-3 สัปดาห์มีม้าป่วยตายเพิ่มอีก 4-5 ตัว พร้อมกับเริ่มมีม้าในพื้นที่ทยอยตาย

อ่านเพิ่มเติม >> สรุปสถานการณ์การระบาดในประเทศไทย

การระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาทั่วโลก

ประเทศแอฟริกาใต้ มีการระบาดเป็นโรคประจำถิ่น (endemic) ตั้งแต่ ศตวรรษที่17 อยู่บริเวณทิศใต้ของทะเลทราย Sahara จาก Mauritania ถึง Somalia ซึ่งมี ซีโรไทป์ 1 และ 7 (Grewar, J.D. et al., 2013) และยังคงมีการระบาดตามฤดูกาลอยู่ในปัจจุบัน

Persian Gulf of Iran มีระบาดจากการมีการเคลื่อนที่ของชนเผ่าเร่ร่อน รวมถึงม้าและปศุสัตว์ไป ตามแม่น้ำ และเส้นทางการค้า ในช่วง พ.ศ. 2502 – 2504 โดยระบาดไปทางตะวันออก จาก Iran ถึง Afghanistan, Pakistan และ India และระบาดไปทางตะวันตกถึง Iraq, Syria, Lebanon, Turkey, Cyprus และ Jordan ม้าตายประมาณ 300,000 ตัว

ประเทศสเปน มีการระบาดครั้งแรกในพ.ศ. 2509 – 2510 ซึ่งเป็นการระบาดซีโรไทป์ 9 และมีการระบาดครั้งที่ 2 พ.ศ. 2530 เป็นซีโรไทป์ 4 มีสาเหตุจากการนำเข้าม้าลาย 10 ตัว จาก Namibia การระบาดครั้งนี้ ได้แพร่กระจายไปยังประเทศโปรตุเกส และ โมรอคโค ในพ.ศ. 2532 มีระยะเวลาการระบาดนาน 3 ปี โดยผ่านช่วงฤดูหนาวมาแล้ว 3 ครั้ง (long “silent” interepizootic period of up to 11 months duration) โดยมาตรการฉีดวัคซีน กำจัดม้า และและการควบคุมเคลื่อนย้าย สามารถกำจัดโรคได้ในพ.ศ. 2533

ประเทศโปรตุเกส มีการระบาดในพ.ศ. 2531 มีมาตรการในการจัดการโรคดังนี้

  1. แบ่งพื้นที่ในประเทศออกเป็น

    • พื้นที่เกิดโรค: พื้นที่ที่พบและยืนยันการเกิดโรค

    • พื้นที่เสี่ยง: พื้นที่ล้อมรอบ พื้นที่เกิดโรค

    • พื้นที่ปลอดภัย: พื้นที่ด้านนอก พื้นที่เสี่ยง

  2. รณรงค์ฉีดวัคซีนในม้า ลา ล่อ ทุกตัวที่มีอายุมากกว่า 2 สัปดาห์ โดยฉีด 1 โดส (1 ml/ตัว) เข้าที่ใต้ผิวหนังบริเวณอกหรือคอ และฉีดเพียง 1 เข็มเท่านั้น ไม่มีการฉีดซ้ำ โดยการฉีดวัคซีนแบ่งเป็น 3 ส่วนพร้อมกัน คือเริ่มต้นจากบริเวณพื้นที่เกิดโรคออกไปพื้นที่เสี่ยง พร้อมกับการฉีดจากพื้นที่เสี่ยงจากจุดกึ่งกลางพื้นที่เข้าหาพื้นที่จุดเกิดโรค และขณะเดียวกันฉีดวัคซีนที่พื้นที่เสี่ยงออกด้านนอก หลังจากนั้นไปประมาณ 10 วันจึงเริ่มต้นฉีดวัคซีนในพื้นที่ปลอดภัยโดยในพื้นที่นี้ไม่กำหนดทิศทางในการฉีดวัคซีน

  3. ทำสัญลักษณ์แบบถาวรบนตัวสัตว์ในวันที่ฉีดวัคซีนบริเวณคอช่วงบนด้านซ้าย หรือสะโพกซ้ายบริเวณใต้หาง โดยตั้งโค้ดตามระดับจังหวัด และระบุลงใน สมุดประจำตัวม้าที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายม้าด้วย

  4. ประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนตระหนักและให้ความร่วมมือ

  5. ทำลายม้าที่แสดงอาการตามนิยามของโรคโดยเพิ่มความไวนิยามทางอาการ ในพื้นที่เกิดโรคและพื้นที่เสี่ยง และไม่ต้องรอผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการ โดยในการดำเนินการจะมีการชดใช้ค่าทำลายสัตว์ให้เจ้าของ

  6. ควบคุมการเคลื่อนย้ายโดย ยกเว้นขนส่งเพื่อการส่งไปยังโรงฆ่า ส่วนในพื้นที่ safety zone ให้ควบคุมเคลื่อนย้ายได้ โดยต้องมีการทำเครื่องหมายประจำตัวม้า และม้าทุกตัวพื้นที่เกิดโรคและพื้นที่เสี่ยง ให้เลี้ยงภายในคอกเท่านั้น โดยเฉพาะในเวลาก่อนค่ำและเช้าตรู่

  7. ระงับกิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับม้า

  8. ควบคุมแมลงพาหะ โดยบังคับดำเนินการในม้าที่มีการเกิดโรค โดยการพ่นยาฆ่าแมลงกลุ่ม Permethrin รอบ ๆ ฟาร์ม โรงเรือน คอก และบริเวณที่มีแมลงพาหะมากเช่นบริเวณใกล้บึง หนองน้ำ ฯลฯ ซึ่งดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชน

  9. การดำเนินการต่อเนื่อง ภายหลังมีการระบาด

  10. เฝ้าระวังในแมลง

    • กำจัดแมลง

    • ห้ามการเคลื่อนย้ายม้าออกนอกประเทศ 12 เดือนนับจากวันที่ฉีดวัคซีนวันสุดท้าย

    • ควบคุมเคลื่อนย้ายม้า

    • เฝ้าระวังโรคโดย serological monitoring of sentinel horses (ใช้ม้าที่มาจากพื้นที่ปลอดโรคและไม่ได้รับการฉีดวัคซีน) และการตรวจหาเชื้อหรือสารพันธุกรรมจากม้าที่สงสัยว่าป่วยด้วยโรคนี้)

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัส RNA ชนิดไม่มีเปลือกหุ้ม family Reoviridae genus Orbivirus เชื้อนี้ถูกยับยั้งได้ด้วยความร้อนมากกว่า 60 องศาเซลเซียส สารละลายฟอร์มาลิน ß-propriolactone อนุพันธ์ของ acetylethyleneimine หรือการฉายรังสี และถูกทำลายได้ด้วยความเป็นกรดด่างที่ pH น้อยกว่า 6 หรือมากกว่า 12 นอกจากนี้สามารถใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น 2% กรดอะซิติก หรือ กรดซิตริก ในการฆ่าเชื้อโรคได้

สัตว์ที่ไวต่อการเกิดโรค

ม้า ลา ล่อ ม้าลาย อูฐ โดยมักทำให้ม้าและล่อแสดงอาการป่วยรุนแรงและตาย ส่วนในลาและม้าลายจะแสดงอาการแบบไม่รุนแรง ทั้งนี้ยังไม่พบรายงานการติดต่อจากสัตว์สู่คน

การติดต่อ

จากการถูกแมลงกัด เช่น ตัวริ้น (genus Culicoides ได้แก่ Culicoides imicola และ Culicoides bolitinos) ยุง และแมลงวันดูดเลือดใน genus Stomoxys และ Tabanus

การสัมผัสโดยตรงระหว่างม้าไม่ได้ทำให้เกิดการส่งต่อโรคแต่อย่างใด

ระยะฟักตัวของโรค

ประมาณ 2-21 วัน


อาการ

สัตว์ที่ติดเชื้อโรคกาฬโรคแอฟริกา จะแสดงอาการได้ 4 รูปแบบ คือ

  1. แบบเฉียบพลันรุนแรง (peracute หรือ pulmonary form) สัตว์จะมีไข้สูง และแสดงอาการทางระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง รูจมูกขยาย ยืดคอไปข้างหน้า หายใจล าบาก ไอ มีน้ำมูกเป็นฟองสีเหลืองขุ่น (frothy serofibrinous) สัตว์จะตายภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังจากแสดงอาการ

  2. แบบกึ่งเฉียบพลัน (subacute edematous หรือ cardiac form) สัตว์จะมีไข้สูงประมาณ 3-6 วัน หลังจากนั้นไข้จะลดลง และมีอาการบวมน้ำบริเวณขมับ (supraorbital fossae) เปลือกตา แก้ม ริมฝีปาก ลิ้น บริเวณขากรรไกร คอ ไหล่ และหน้าอก แต่ไม่พบการบวมน้ำที่ส่วนล่างของลำตัว เช่น ขา นอกจากนี้จะมีอาการซึม เสียดท้อง มีจุดเลือดออกบริเวณลิ้น และ เยื่อบุตา สัตว์จะตายจากภาวะหัวใจล้มเหลว หากสัตว์หายป่วย อาการบวมน้ำจะลดลงใน 3-8 วัน

  3. แบบเฉียบพลัน (acute หรือ mixed form) สัตว์จะแสดงอาการทั้งทางระบบทางเดินหายใจ และมีภาวะบวมน้ำ

  4. แบบไม่รุนแรง (horse sickness fever) สัตว์จะมีไข้ประมาณ 3-8 วัน โดยไข้จะลดในตอนเช้า และมีไข้สูงในตอนบ่าย อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ คือ ซึม เบื่ออาหาร บวมน้ าบริเวณขมับ เยื่อเมือกมีจุดเลือดออก และหัวใจเต้นเร็ว สัตว์ที่ป่วยแบบไม่รุนแรงมักหายจากอาการป่วย

รอยโรคจากการผ่าซาก

ในกรณีการเกิดโรคแบบเฉียบพลันรุนแรง (peracute หรือ pulmonary form) พบการบวมน้ำของปอด และมีน้ำในช่องอก ส่วนการเกิดโรคแบบเฉียบพลัน มักพบของเหลวเป็นฟองตั้งแต่โพรงจมูกจนถึงปอด ต่อมน้ำเหลืองบริเวณช่องอกและช่องท้องขยายใหญ่และบวมน้ำ ในกรณีการเกิดโรคแบบกึ่งเฉียบพลัน (subacute edematous หรือ cardiac form) พบการบวมน้ำแบบวุ้น (yellow gelatineous) แทรกในชั้นใต้ผิวหนัง และในกล้ามเนื้อบริเวณหัว คอ และไหล่ พบน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ (hydropericardium) และกล้ามเนื้อหัวใจมีจุดเลือดออก

การตรวจวินิจฉัยแยกแยะ (Differential diagnosis)

  • Equine encephalitis

  • Equine viral arteritis

  • Equine infectious anemia

  • Hendra virus infection

  • Purpura hemorrhagica

  • Equine piroplasmosis

  • Anthrax

  • Toxin

การเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

เก็บตัวอย่างเลือดใส่หลอดเลือดชนิด EDTA พร้อมระบุตัวสัตว์ให้ชัดเจน

การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ

  • ตรวจหาการติดเชื้อด้วยวิธี Real-Time RT-PCR

  • ตรวจระดับภูมิคุ้มกันด้วยวิธ๊ ELISA

ที่มา: แผนปฏิบัติการกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness; AHS) เพื่อคืนสถานภาพปลอดโรคจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศของประเทศไทย โดยกรมปศุสัตว์