การฉีดวัคซีน

ป้องกันโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness Vaccine)

ทำไมถึงต้องให้ม้าอยู่ในมุ้ง 30 วันหลังฉีดวัคซีน ตัวเลข 30 วันมาจากไหน ทำไมถึงไม่เป็น 7 วัน หรือ 45 วัน?

Answer: วัคซีน AHS ที่ใช้ในครั้งนี้ ใช้เวลาในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันประมาณ 2-3 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย จึงจะทำให้ม้ามีภูมิคุ้มกันต่อโรคได้

  • วันที่ทำวัคซีน (วันที่ 0) - วันที่13 หลังการทำวัคซีน จะเป็นช่วงที่ร่างกายม้ายังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรค หากม้าออกจากมุ้งในช่วงเวลานี้และโดนแมลงพาหะกัด จะทำให้เกิดโรคและป่วยตายจากโรคได้ ไม่ต่างจากม้าที่ยังไม่ได้ทำวัคซีน

  • วันที่ 14 - 21 วันหลังการทำวัคซีน จากข้อมูลทางสถิติจะพบว่ามีการสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว แต่จะอยู่ในระดับที่แตกต่างกันไปในสัตว์แต่ละตัว หากม้าออกจากมุ้งในช่วงเวลานี้และโดนแมลงพาหะกัด จะทำให้เกิดโรคและป่วยได้ ในอัตราเสี่ยง 50%

  • วันที่ 22 หลังการทำวัคซีนเป็นต้นไป จากข้อมูลทางสถิติจะพบว่าประชากรที่ได้รับวัคซีนส่วนใหญ่ มีการสร้างภูมิคุ้มกันอย่างสมบูรณ์แล้ว หากม้าออกจากมุ้งในช่วงเวลานี้และโดนแมลงพาหะกัด โอกาสการเกิดโรคและป่วยจะใกล้ 0%

ด้วยเหตุนี้จึงมีการกำหนดการป้องกันแมลงพาหะระยะที่ 1 (ระยะควบคุม) ที่ม้าต้องอยู่ในมุ้ง 30 วันขึ้นมา เพื่อให้มั่นใจได้ว่าประชากรเกือบทั้งหมดที่ได้รับวัคซีนไปมีภูมิคุ้มกันอย่างเหมาะสมแล้ว จึงจะเข้าสู่การป้องกันแมลงพาหะระยะที่ 2 (ระยะผ่อนปรน) ของการอยู่ในมุ้งต่อไป

ทำไมยังมีม้าป่วยและตายอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าทำวัคซีนไปแล้ว ม้าตายจากวัคซีนใช่หรือไม่?

Answer: วัคซีน AHS ที่ใช้ในครั้งนี้ ใช้เวลาในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันประมาณ 2-3 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย จึงจะทำให้ม้ามีภูมิคุ้มกันต่อโรคได้

  • ม้าที่ป่วยตายในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากการทำวัคซีน มักจะตายจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ และม้าอยู่ในระยะฟักตัวของโรค

  • ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญที่ประเทศแอฟริกาใต้ ระบุว่าการตายจากวัคซีนนี้น้อยมาก มี 1 – 10 ตัว ใน 1,000 ตัว และการตายจากวัคซีนจะเกิดหลังจากทำวัคซีนไปแล้วมากกว่า 2 สัปดาห์ (ในช่วงที่ร่างกายม้ากำลังสร้างภูมิคุ้มกัน)

วัคซีนฉีดแล้วมีภูมิกี่ปี? ต้องฉีดซ้ำทุกกี่ปี?

Answer: เนื่องจากม้าเมืองไทยเป็นกลุ่มประชากรของม้าที่ไม่เคยพบโรค AHS มาก่อน (naive population) เราจึงไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนในตอนนี้ว่าจะมีการตอบสนองวัคซีนเป็นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลการตอบสนองต่อการฉีดวัคซีนที่มีในอดีตจากประเทศอื่นๆ บ่งชี้ว่าวัคซีนที่เรานำมาใช้ในครั้งนี้ให้ภูมิคุ้มกันต่อโรคได้เป็นอย่างดี

การจะตอบคำถามในข้อนี้ให้ได้อย่างชัดเจน จึงต้องรอการเก็บตัวอย่างเลือดหลังฉีดวัคซีน (Post vaccination sampling) ภายหลังจากการฉีดวัคซีนไปแล้ว 30 วัน เพื่อติดตามการสร้างภูมิคุ้มกันในลำดับต่อไป

มีการเจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกันภายหลังการฉีดวัคซีนหรือไม่

Answer: มีการเจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกัน ตามโครงการประเมินระดับภูมิคุ้มกันโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าภายหลังฉีดวัคซีน โดยกรมปศุสัตว์ มีรายละเอียดดังนี้

สําหรับมาตรการดําเนินการตามแผนงานในระยะที่ 1 การฉีดวัคซีนป้องกันโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าเป็นมาตรการที่สําคัญให้กับม้าทุกตัวในพื้นที่รัศมี 50 กิโลเมตรรอบจุดเกิดโรคและพื้นที่ม้าที่มีความเสี่ยงสูงโดยตั้งแต่เริ่มดําเนินการฉีดวัคซีนรอบจุดเกิดโรคจนถึงปัจจุบัน ได้ดําเนินการแล้วทั้งสิ้น 3888 ตัว (ข้อมูลวันที่ 20 พฤษภาคม 2563)

แต่เนื่องจากประเทศไทยยังไม่เคยมีการระบาดของโรคในประเทศไทยมาก่อน จึงมีความจําเป็นต้องติดตามระดับภูมิคุ้มกันในม้าภายหลังฉีดวัคซีน เพื่อประเมินผลการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคตามมาตรการการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมของประเทศไทย

กรมปศุสัตว์จึงมีโครงการติดตามระดับภูมิคุ้มกันโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าภายหลังฉีดวัคซีน

เป้าหมายการดําเนินการ: ม้าในพื้นที่รัศมี 50 กิโลเมตรรอบจุดเกิดโรค

ระยะเวลาดําเนินการ: เดือน พฤษภาคม – กรกฎาคม พ.ศ.2563

วิธีดําเนินการ

1. การประเมินระดับภูมิคุ้มกันโรคก่อนและหลังฉีดวัคซีน 30 วัน และ 60 วัน โดยแบ่งการดําเนินงานเป็น 2 ระยะ

1.1 การสุ่มตัวอย่าง

1.1.1 สํานักควบคุม ป้องกันและบําบัดโรคสัตว์ คํานวณจํานวนตัวอย่างและสุ่มตัวอย่าง โดยมีจํานวนเจ้าของจํานวนทั้งสิ้น 218 ราย ม้าได้รับการฉีดวัคซีนกาฬโรคแอฟริกาในม้า ก่อนวันที่ 28 เมษายน 2563 มีการสุ่มตัวอย่าง แบบ two stage sampling จํานวน 116 ราย

  • ระดับที่ 1 รายเกษตรกร ประมาณการความชุกของฝูงที่มีระดับภูมิคุ้มกันโรค 0.8 Desired precision of estimate 0.05, confidence level 0.95 (คํานวณโดย Epitools) ได้จํานวนรายเจ้าของที่เก็บตัวอย่าง 116 ราย

  • ระดับที่ 2 จํานวนม้าภายในคอก ประมาณการความชุกของม้าภายในฝูงที่มีระดับภูมิคุ้มกันโรค 0.8 Desired precision of estimate 0.05, confidence level 0.95 (คํานวณโดย Epitools)

1.1.2 สํานักควบคุม ป้องกันและบําบัดโรคสัตว์ สุ่มรายชื่อฟาร์มที่ต้องดำเนินการส่งตัวอย่างส่งให้ปศุสัตว์เขตและปศุสัตว์จังหวัด

1.2 การเก็บตัวอย่าง

1.2.1 สํานักงานปศุสัตว์จังหวัดและสํานักงานปศุสัตว์อําเภอดําเนินเก็บเลือดม้าและประวัติม้าตามแผนการสุ่มตัวอย่างส่งสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติโดยลงข้อมูลในไฟล์ Excel และส่งข้อมูลไฟล์ให้สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติและสํานักงานปศุสัตว์เขต

  • ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 28 - 31 พฤษภาคม 2563

  • ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 28 - 30 มิถุนายน 2563

1.2.2 สํานักงานปศุสัตว์เขต ติดตามการเก็บตัวอย่างและประวัติสัตว์ให้เป็นไปตามโครงการ

1.3 การตรวจระดับภูมิคุ้มกันโรค

1.3.1 สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ตรวจระดับภูมิคุ้มกันโรคจากการฉีดวัคซีนกาฬโรคแอฟริกาในม้าด้วยวิธี ELISA จํานวน 734 ตัวอย่าง

1.3.2 เลือกตัวอย่าง จํานวน 200 ตัวอย่าง ต่อครั้ง เพื่อทะยอยตรวจ SN สําหรับประเมินการตรวจวินิจฉัยโรคทั้ง 2 วิธี

1.3.3 ส่งตัวอย่างห้องปฏิบัติการอ้างอิงระหว่างประเทศ 650 ตัวอย่าง

2. การประเมินระดับภูมิคุ้มกันโรคก่อนและหลังฉีดวัคซีน 7, 14, 21, 28 วัน

โดยเก็บตัวอย่างเลือดและซีรั่มจากม้าในฟาร์ม 5 แห่ง จํานวน 250 ตัว

3. สํานักงานปศุสัตว์จังหวัดและสํานักงานปศุสัตว์อําเภอประเมินมาตรการการป้องกันแมลงพาหะนําโรค

ดำเนินการในคอกที่เก็บตัวอย่าง โดยลงข้อมูลใน google form

4. วิเคราะห์และสรุปผล

- สํานักควบคุม ป้องกันและบําบัดโรคสัตว์ ร่วมกับสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ และคณะอนุกรรมการวิชาการแก้ไขปัญหากาฬโรคแอฟริกาในม้า วิเคราะห์และประเมินผล

ผลที่คาดว่าจะได้รับ: มีข้อมูลการประเมินผลระดับภูมิคุ้มกันโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า