การเมืองการปกครอง

1) เมืองหลวง - ไนล์

ไนล์แบ่งเขตการปกครองออกเป็นห้าเขต คือ ลักซอร์ กีซา ซัคคารา ฟิเล และคาร์นัค ตัวเมืองหลวง ไนล์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำธีบส์ในเขตลักซอร์ บนที่ราบตอนกลางของประเทศ 

แผนที่จากหนังสือ หัวขโมยแห่งบารามอส The Perfect Guidebook,  digital edit โดย rparinFYZ

เขตการปกครองของไนล์ และที่ตั้งของเมืองสำคัญต่างๆที่มักอยู่ตามริมลำน้ำ 

เขตปกครองต่างๆ มีผู้ว่าการ (Nomarch) เป็นคนดูแลระบบงานต่างๆภายในอาณาเขต รองลงมาเป็นหน้าที่ของเจ้าเมืองต่างๆ และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น 

เมืองหลวงของแต่ละเขตปกครองมักจะเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ที่สุดที่อยู่ริมแม่น้ำสายหลัก จะยกเว้นก็แต่เขตปกครองซัคคาราที่มีเมืองหลักสองเมือง เนื่องจากมีเทือกเขาสูงทอดผ่านตรงกลางอาณาเขตขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ

2) ระบบการปกครอง - สมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีกษัตริย์เป็นประมุข 


ในสมัยก่อนไนล์เรียกผู้ปกครองของตนว่า ‘ฟาโรห์’ ไม่ใช่กษัตริย์ เป็นที่มาของชื่อวิชาหน้ากากฟาโรห์ในโรงเรียนเอดินเบิร์ก เมื่อมีการประกาศให้ใช้ภาษากลางเป็นภาษาหลักในการสื่อสารทั่วเอเดน จึงมีการเปลี่ยนคำเรียกในเอกสารราชการจาก ‘ฟาโรห์’ มาเป็น ‘กษัตริย์’ กระทั่งปัจจุบัน


มีเรื่องเล่าว่าในยุคสมัยหนึ่ง ยังมีฟาโรห์องค์หนึ่ง พระองค์เป็นคนเปิดเผยจริงใจดังเช่นชาวไนล์ทั่วไป นั่นทำให้ไม่ว่ามีเหตุอันใดก็แสดงออกทางสีหน้าเสียหมด จึงทำให้เสียผลประโยชน์ทางการเมืองหลายครั้ง ฟาโรห์องค์นั้นจึงสั่งช่างทำหน้ากากสีทองขึ้นมาสวมใส่เวลาออกว่าราชการ และต่อมาหน้ากากนั้นก็ได้ชื่อว่าหน้ากากฟาโรห์

ไม่มีใครทราบว่าเรื่องเล่าดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่ แต่หน้ากากนั้นมีจริง และเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์กษัตริย์ สิ่งสืบทอดซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของราชาแห่งไนล์



ในปัจจุบัน การบริหารราชการแผ่นดินของไนล์นั้น กษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดเหนือฝ่ายทหารและพลเรือน ซึ่งทำให้เกิดการแบ่งหน้าที่แก่เสนาบดีฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในการบริหารราชกิจ 

เสนาบดีฝ่ายซ้ายดูแลด้านการเกษตร เศรษฐกิจ การสาธารณสุข การพัฒนาฝีมือแรงงาน 

เสนาบดีฝ่ายขวาดูแลความมั่นคง การทหาร ตุลาการ การปกครองเขตต่างๆและการจัดเก็บภาษี 

คณะเสนาบดีฝ่ายขวาฝ่ายซ้ายจะช่วยกันพิจารณาแก้ไขกฏหมาย และช่วยเหลือกษัตริย์ในการบริหารราชการแผ่นดิน


นอกจากนี้ยังมีอีกองค์กรที่ทำงานเป็นอิสระไม่ขึ้นกับใคร นั่นก็คือวิหารเทพีแห่งสายน้ำ มีหน้าที่ดูแลการชลประทานซึ่งเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนประเทศ คณะนักบวชแห่งเทพีแห่งสายน้ำนั้นปกครองโดยอัครมุขนายกแห่งมหาวิหารเทพีแห่งสายน้ำ ซึ่งขึ้นตรงต่อพระราชอำนาจของกษัตริย์เพียงพระองค์เดียว มีอิทธิพลมากในทางการเมือง มีคณะผู้ไต่สวนเป็นกองกำลังทางการบังคับใช้กฏหมายเป็นของตนเอง




แนวทางสำหรับการพัฒนาประเทศของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน

มีการคัดเลือกชาวไนล์ที่มีความรู้ หรือจบการศึกษาจากโรงเรียนพระราชาเข้ารับราชการ มีการมอบทุนให้เด็กที่เรียนดีแต่ยากจนเพื่อศึกษาต่อที่โรงเรียนพระราชา



3) วิธีการคัดเลือกพระราชา - เจ้าชายองค์โตเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์


ก่อนการเปลี่ยนผ่านรัชกาลของกษัตริย์แต่ละพระองค์ มักจะมีการให้เจ้าชายรัชทายาทเข้ามาร่วมบริหารประเทศในฐานะ ‘ผู้สำเร็จราชการร่วม’ เพื่อเป็นการฝึกฝนและส่งต่อพระราชอำนาจ เป็นวิธีที่จะสามารถธำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของราชบัลลังก์และมีความต่อเนื่องในการบริหารปกครอง การเปลี่ยนรัชกาลของกษัตริย์ไนล์นั้นโดยมากจะเกิดขึ้นจากการสละราชบัลลังก์ส่งต่อให้เจ้าชายรัชทายาทมากกว่าที่กษัตริย์จะครองพระราชอำนาจไปจนวันสวรรคต


พิธีขึ้นครองราชย์จัดเป็นพิธีที่ใหญ่ที่สุดของไนล์ โดยรัชทายาทไนล์ต้องสวมหน้ากากฟาโรห์ที่ถูกสืบทอดต่อมาชิ้นนั้นขณะนั่งบนบัลลังก์ และมีนักบวชสูงสุดเป็นผู้ประกอบพิธี โดยมีขุนนางและพระญาติเป็นสักขีพยาน ในกรณีที่รัชทายาทยังไม่พร้อมขึ้นครองราชย์ สามารถมีผู้แทนพระองค์เป็นผู้บริหารงานแทนชั่วคราวได้


ในอดีต ตำแหน่งผู้นำของชนเผ่าแม่น้ำร้อยสายนั้นมักถูกมอบมายให้ลูกคนโตของผู้นำคนก่อนรับตำแหน่งสืบทอดต่อๆกันมา แม้กระทั่งแรกก่อตั้งประเทศไนล์นั้นก็ยังมีบันทึกถึงการบริหารประเทศภายใต้การปกครองของฟาโรห์หญิง

ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อติดต่อค้าขายสานสัมพันธ์กับประเทศข้างเคียงแล้วไนล์กลับพบว่าหลายครั้งที่พวกเขาเสียเปรียบ กระทั่งเสียโอกาสในการเจรจาทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศมีผู้นำประเทศเป็นหญิง ทำให้ประเทศซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญๆในขณะนั้นไม่ใส่ใจที่จะเจรจาทำการค้าด้วยเท่าใดนัก

ในที่สุด จากแรงกดดันทางการเมือง การสานสัมพันธ์ทางการทูต ไนล์ก็จำต้องเปลี่ยนธรรมเนียมปฏิบัติมาเป็นการที่ให้ผู้นำประเทศและผู้สืบราชบัลลังก์ต้องเป็นชาย เป็นเจ้าชายองค์โตของกษัตริย์มานับแต่นั้น


ปัจจุบันในไนล์มีการเปิดกว้างในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ดังนั้นจึงมีการหารือหลายครั้งถึงเรื่องการจะเปลี่ยนรูปแบบการสืบทอดตำแหน่งรัชทายาทเป็น ‘เจ้าชาย หรือเจ้าหญิงพระองค์โต เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งรัชทายาท’ แทนที่จะเป็นเจ้าชายเพียงอย่างเดียวเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แนวความคิดนี้เริ่มได้รับการสนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังอยู่ในขั้นตอนการหารือเพื่อแก้กฏหมาย แต่การหารือการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดปลีกย่อยอาจส่งผลประทบกับกฏหมายต่างๆอยู่มาก ในขณะนี้จึงเป็นประเด็นถกเถียงขนานใหญ่ในไนล์มาหลายปี



4) กองกำลังคุ้มกันประเทศ - กองบินสฟิงซ์


กองกำลังที่แข็งแกร่งของชาวไนล์เป็นมรดกมาจากยุคชนเผ่าแม่น้ำร้อยสาย พวกเขามีกองเรือที่เข้มแข็งและแล่นฝ่าผิวหน้าทะเลสาบที่เป็นน้ำแข็งในฤดูหนาวได้ พวกเขามีรถศึก เกวียนรบและม้าลากรถ แต่จากสภาพภูมิประเทศทำให้ชาวไนล์เชี่ยวชาญการรบบนพื้นดินด้วยเท้าเปล่ามากกว่าควบขี่พาหนะ อาวุธที่พวกเขาใช้ได้แก่หอก ดาบยาวปลายโค้งคล้ายเคียวที่เรียกว่าเคเพช หรือโคเพช และธนูยาวที่ยิงได้หนักหน่วง เน้นการเคลื่อนพลบุกรวดเร็ว


แต่สิ่งที่ทำให้กองทัพของไนล์เป็นที่กล่าวขวัญไม่ได้มีเพียงความห้าวหาญ แต่ยังมีกำลังรบทางอากาศที่เกรียงไกรไม่น้อยหน้าประเทศอื่น นั่นคือ กองบินสฟิงซ์ อาวุธที่อันตรายที่สุดของชาวไนล์ 


เหล่าสฟิงซ์ สัตว์วิเศษที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ไวต่อสัมผัสของเวทมนตร์ ทำงานคู่กับทหารในฐานะคู่รบ พวกเขาลาดตระเวบนน่านฟ้าเหนืออาณาจักรไนล์ ป้องกันการบุกรุกของสัตว์อันตราย ปราบปรามผู้ลักลอบซื้อขายของเถื่อนตามชายแดน


5) กฏหมายและกระบวนการยุติธรรมของไนล์ 


สัญลักษณ์แห่งความยุติธรรมของไนล์คือศิลาแห่งความสัตย์ แนวทางการปราบปรามและต่อต้านอาชญกรรมของไนล์ คือการสอบสวนอย่างเปิดเผย ลงโทษอย่างหนักแน่นเที่ยงธรรม มีการลงโทษตั้งแต่ปรับ ชดใช้ค่าเสียหาย เฆี่ยนตี จองจำ ไปจนถึงลงโทษใช้แรงงานที่ชายแดน และเนรเทศ

อาชญากรรมที่มีเป้าหมายที่กษัตริย์นั้น กษัตริย์จะเป็นผู้ตัดสินโทษด้วยพระองค์เอง โดยมากเป็นโทษประหารชีวิตเนื่องจากเป็นอาชญากรรมที่ส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ 


ในไนล์นั้นมีความพิเศษตรงที่นอกจาก หน่วยงานผู้ใช้กฏหมายหลักๆคือพลตระเวนและทหารแล้ว ยังมีอีกหน่วยงานที่เป็นผู้บังคับใช้กฏหมายที่มีความสำคัญมากในไนล์ นั่นคือ ‘ผู้ไต่สวนแห่งศาสนจักร’ ซึ่งกลุ่มหลังจะเป็นนักบวชผู้ขึ้นตรงกับศาสนจักรวิหารเทพีแห่งสายน้ำ มีหน้าที่บังคับใช้กฏหมายในขอบเขตที่เกี่ยวข้องกับโครงการและหน่วยงานของศาสนจักรเป็นหลัก เนื่องจากงานของศาสนจักรเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนจำนวนมากรวมถึงงบประมาณส่วนใหญ่ในไนล์ก็ทุ่มเทให้กับการดูแแลและพัฒนาระบบการจัดการน้ำ จึงเป็นจุดที่ทำให้มีผู้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์มากเป็นพิเศษ ผู้ไต่สวนแห่งศาสนจักรจึงเป็นผู้บังคับใช้กฏหมายที่ถูกแต่งตั้งลงมาจัดการกับเหลือบไรเหล่านี้โดยตรง และถ้าเป็นคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนจักรแล้ว ผู้ไต่สวนสามารถทำสำนวนคดีเพื่อมอบให้พลตระเวนและทหารจัดการต่อแล้ว ก็สามารถเข้าร่วมกับการสืบสวนได้ในทุดขั้นตอนในฐานะตัวแทนของศาสนจักร(เจ้าทุกข์)


นอกจากนี้ไนล์ยังมีการตรากฏหมายที่เกี่ยวข้องกับแมวขึ้นมาโดยเฉพาะ มีชื่อเรียกที่คนมักเรียกกันเล่นๆว่า ‘บทบัญญัติแห่งแมว’ ซึ่งจะมีการแก้ไขปรับปรุงทุกๆ 10 ปี โดยฉบับที่แก้ไขล่าสุดในปี 1146 มีการออกส่วนขยายว่าด้วยสุขภาวะของแมว เนื่องจากจำนวนประชากรแมวในไนล์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้สัดส่วนจำนวนประชากรแมวต่อประชากรมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลง โดยมองว่าหากยังไม่มีการควบคุมประชากรแมวอย่างเป็นรูปธรรม อาจก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสาธารณะสุขได้ จึงมีการตรากฏหมายเพื่อจำกัดการขยายพันธ์ของแมว โดยสนับสนุนให้แมวได้เข้ารับการตรวจสุขภาพสม่ำเสมอและสนับสนุนการทำหมันในแมว