ด้านอื่นๆ (ประเพณี)

ประเพณีลอยเรือสำเภา

ณ หมู่บ้านวังส้มซ่า หมู่ 1 ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ช่วงเดือน 6 ของทุก ๆ ปีจะมีประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีนไหหลำที่สืบทอดกันมาเป็นระยะเวลากว่า 100 ปี นั่นคือ ประเพณีลอยเรือสำเภา “เมื่อประมาณ 200 ปีมาแล้ว บรรพบุรุษชาวจีนไหหลำส่วนหนึ่งอพยพมาตั้งรกรากที่นี่ โดยมีการสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมเป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นศาลเจ้าของชาวจีนไหหลำทั่วโลก เพื่อบูชาเทพธิดาแห่งท้องทะเลที่คุ้มครองผู้เดินทางทางเรือ ทำให้ย่านนี้ได้รับการเรียกขานมาจนถึงปัจจุบันว่าโรงเจ๊ก” 

นายประชา อิศราภรณ์ และนายมาโนช ประสานสมบัติ กรรมการศาลเจ้าแม่ทับทิม ที่เรียกว่ากงถ้าว ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีนไหหลำรุ่นที่ 3 เล่าถึงที่มาของบรรพบุรุษ จากการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล มาประกอบอาชีพค้าขาย โดยการบรรทุกข้าวเปลือกลงเรือเอี้ยมจุ๊น ล่องไปตามลำน้ำน่าน สู่แม่น้ำเจ้าพระยา ถึงสะพานซังฮี้ กรุงเทพมหานคร ทำให้ชาวจีนไหหลำมีวิถีชีวิตผูกพันกับสายน้ำ ประกอบกับช่วงหนึ่งมีอหิวาตกโรคระบาด จึงได้มีการสะเดาะเคราะห์โดยจัดประเพณีลอยเรือสำเภาขึ้น 

“ประเพณีลอยเรือสำเภาเริ่มจากการต่อเรือสำเภาจำลองในช่วงเช้า โดยหาไม้ไผ่สีสุกขนาด 9 ปล้อง นำมาสับให้ได้ 9 ซี่ เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยผู้สูงวัยซึ่งมีความเชี่ยวชาญนำคนรุ่นใหม่ช่วยกันต่อลำเรือแบบเรียบง่าย พร้อมตกแต่งด้วยกระดาษหลากสี”


ในปีนี้ได้หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญคือลุงมูล บำรุงไทย วัย 72 ปี และลุงโชคชัย บำรุงไทย วัย 68 ปี ลูกพี่ลูกน้องที่ทำหน้าที่นี้มากว่า 10 ปี โดยมีเด็กหนุ่มหลายคนที่ถูกหมายมั่นปั้นมือให้เป็นผู้รับช่วง เดินวนเวียนมาช่วยหยิบ จับ ผูก โยง และตกแต่ง อีกฝ่ายแบ่งไปตัดต้นกล้วยเพื่อทำแพสำหรับรองรับลำเรือ ตกเย็นออกตีผ่าง ผ่าง (ลักษณะคล้ายฆ้อง) รอบหมู่บ้าน เพื่อเป็นสัญญาณให้รับรู้ทั่วกัน พอพระอาทิตย์ตกดิน ชาวบ้านทั้งไทยและจีนนำข้าวสาร เกลือ พริกแห้ง หอม กระเทียม มาใส่ในเรือสำเภา เพื่อเป็นเสบียงอาหาร เหมือนเรือจริงที่จะออกเดินทะเล จากนั้นเป็นการเริ่มพิธีกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่การไหว้เจ้าแม่ทับทิมและเทพเจ้าองค์อื่น ไหว้บรรพบุรุษ เผากระดาษเงินกระดาษทอง การจุดประทัดเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายและโรคภัยไข้เจ็บ ตามความเชื่อ มาถึงนาทีสำคัญ การเสี่ยงทายเพื่อนำเรือสำเภาลงสู่แม่น้ำน่าน กับบรรยากาศอันลุ้นระทึก โดยผู้อาวุโสเป็นผู้ทอดเบี้ย เบี้ยที่ว่านี้ทำมาจากส่วนหนึ่งของไม้ไผ่ที่เรียกว่าตาไม้แล้วนำมาทาสีแดง การทอดเบี้ยต้องให้ออกครบ หัว (หัว-หัว) กลาง (หัว-ก้อย) และก้อย (ก้อย-ก้อย) ซึ่งบางปีต้องใช้เวลาในการเสี่ยงทายนานนับชั่วโมง บางครั้งทอดเบี้ยเพียง ๓ ครั้งเท่านั้น 

ซึ่งกงถ้าวบอกว่าเจ้าแม่ทับทิมคงพึงพอใจมาก บรรยากาศระหว่างการแห่เรือสำเภาเป็นไปอย่างเข้มขรึม มีเด็กหนุ่มช่วยกันหามเรือสำเภา กงถ้าวตีผ่าง ผ่าง เอาฤกษ์เอาชัย และจุดเทียนนำทาง จนกระทั่งปล่อยลำเรือลงสู่ลำน้ำน่าน ปิดท้ายด้วยการจุดประทัด

เมื่อเสร็จพิธี ถึงเวลาสังสรรค์ของชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนในหมู่บ้าน จากหมู ไก่ ผลไม้ ขนมที่ได้จากเครื่องเซ่นไหว้นั่นเอง ก่อนกลับไม่ลืมหยิบขัน ขวด กระป๋องที่นำมาจากบ้านเพื่อรองรับน้ำมนต์กลับไปด้วย  กงถ้าวเล่าเสริมอีกว่า “ประเพณีการลอยเรือสำเภาในปัจจุบันไม่ได้มีความสำคัญเพียงเพื่อการสะเดาะเคราะห์และความเป็นสิริมงคลเท่านั้น แต่ยังเป็นรำลึกถึงบรรพบุรุษ นอกจากนี้ยังเป็นจุดศูนย์รวมของทั้งคนไทยเชื้อสายจีนไหหลำและคนไทยในหมู่บ้านอีกด้วย”