ด้านศิลปกรรม

ดนตรีมังคละ ตำบลท่าโพธิ์ เมืองพิษณุโลก

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

“ดนตรีมังคละ”

 

ประเภทภูมิปัญญาท้องถิ่น : ด้านศิลปกรรม การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะสาขาต่างๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ทัศนศิลป์ คีตศิลป์ การละเล่นพื้นบ้านและนันทนาการ การขับร้องเพลง ลำตัด ลิเก หมอลำ โนรา

ข้อมูล : ดนตรีมังคละ ตั้งอยู่ หมู่ 6 บ้านยางเอน ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

ประวัติความเป็นมา : ดนตรีเป็นสิ่งที่ถือกำเนิดมาพร้อมกับมนุษย์ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ในยุคแรก ๆ มนุษย์มีชีวิตอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ สิ่งบันเทิงใจที่มนุษย์คิดขึ้นจึงเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำตก ภูเขา ป่าไม้ สัตว์ป่า เป็นต้น มนุษย์รู้จักใช้ใบไม้มาเป่าเป็นเสียงเพลง ใช้ปล้องไม้ไผ่มาทำเครื่องดนตรี ใช้เขาสัตว์มาเป็นกระบอกเสียงส่งสัญญาณซึ่งกันและกันเมื่อสังคม เจริญขึ้น ความสนุกสนาน ในยามว่างก็คือการรวมกลุ่มกันร้องรำทำเพลง เกี้ยวพาราสีกัน และเป็นการพักผ่อนหย่อนใจควบคู่กันไปด้วย

เมื่อย้อนอดีตจากวันนี้ผ่านมา ๑๐๐ กว่าปีมาแล้วในจังหวัดพิษณุโลก มีเสียงดนตรีชนิดหนึ่งที่ใคร ๆ ได้ยินต้องถามว่าเสียงดนตรีอะไร มีหลักฐานบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในจดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลก พระนิพนธ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ความว่า เวลาบ่าย ๔ โมง ๔๐ นาที ไปวัดมหาธาตุ อยู่ฝั่งตะวันออกตรงข้ามกับที่ว่าการมณฑล นมัสการพระชินราชแล้วดูธรรมมาสน์เทศน์ ธรรมมาสน์สวด ดูเรือนแก้ว สิ่งทั้งปวง เหล่านี้ล้วนเป็นของดีอย่างเอก ไม่เคยพบเคยเห็น จะพรรณนาก็จะมากความนักคิดว่าจะพรรณนาเวลาอื่น เพราะจะดูอีก ดูวันนี้เป็นการรีบ ๆ ผ่าน ๆ และจดหมายเวลาจะนอนคงจะหยาบไปมากไม่สมกับของดี ดูในวิหารแล้วมาดูรูปพระชินราชจำลอง ติเตียนปฤกษากับหลวงประสิทธิ์ปฏิมาอยู่จนจวนค่ำแล้วดูบานประตูมุก ดูพระระเบียงนอก ระเบียงใน ดูวิหารพระชินศรีจำลอง ดูมณฑปด้วยได้ไม้สลักหัวนาคจำแลง ที่จะเป็นหัวบันไดธรรมมาสน์อันหนึ่ง ได้นาคปักเป็นหัวมังกรทำด้วยดินเคลือบอันหนึ่ง เวลาทุ่ม ๑ กลับมาถึงเรือพอกินข้าวแล้ว พระยาเทพามาบอกว่า มังคละมาแล้ว ลืมเล่าถึงมังคละไป คืนวันเมื่อพักอยู่ที่ไทรโรงโขน ได้ยินเสียงไกล ๆ เป็นกลองตีเป็นเพลง แต่จะสังเกตว่าเป็นอะไรไม่ได้ รุ่งขึ้นกำลังเดินเรือมาตามทาง ได้ยินอีกหนหนึ่ง ทีนี้ใกล้เขาแห่นาคกันอยู่ริมตลิ่ง แต่ไม่แลเห็นอะไรเพราะพงบังเสีย นึกเอาว่าเถิดเทิงเลวอยู่มาก ก็นึกเสียว่า เถิดเทิงบ้านนอกมันคงลักขูอยู่เอง ครั้นมาจอดที่วัดสะกัดน้ำมัน ได้ยินอีกไกล ๆ จึงได้ถามท่านสมภารว่าอะไร ท่านสมภารอธิบายว่า ปี่พาทย์ ชนิดหนึ่งเรียกว่ามังคละ พระยาเทพาอยู่ที่นั่นด้วย ก็เลยอธิบายว่า เป็นกลองคล้ายสองหน้า มีฆ้องมีปี่ ปี่พาทย์ชนิดนี้เล่นไม่ว่าการมงคลแลการอัปมงคล หากันวันกับคืนหนึ่งเป็นเงิน ๗ ตำลึง จึงได้ขอให้พระยาเทพาเขาเรียกมาตีให้ฟัง เมื่อเขาจัดมาแล้วเขาจึงมาบอก ได้ขึ้นไปดูมังคละ ทีแรกตีเพลงนมยานกทกแป้งฤาอะไรแป้ง จำไม่ได้ถนัดที่เขาบอก เครื่องมังคละนี้เป็นเครื่องเบญจดุริยางค์แท้ มีกลองเล็กรูปเหมือนเถิดเทิงแต่สั้น ขึงหนังหน้าเดียวมีไม้ตียาว ๆ (ที่หมาย ๑) ตรงกับ “วาตต” ใบหนึ่งมีกลองขึงสองหน้า เหมือนกลองมลายู เป็นตัวผู้ใบหนึ่ง ตรงกับ “วิตตํ” เป็นตัวเมียใบหนึ่งตรงกับ “อาตตวิตตํ” มีไม้ตีตรง ๆ (ที่หมาย ๒) กลองสามใบนี้ต้องหุ้มผ้าดอกเหลือไว้แต่หน้าเพราะเขาว่าฝีมือขึ้นแลฝีมือทำหุ่นดูไม่ได้ และมีปี่คันหนึ่ง ตัวเป็นทำนองปี่จีน ลิ้นเป็นปี่ชวา ตรงกับ “สุสิรํ” มีฆ้องแขวนราว ๓ ใบ เสียงต่าง ๆ กันตรงกับ “ฆนํ” เสียงเพลงนั้นเหมือนกลองมลายู เข้ากับกลองเล่าโต๊ว ไม่น่าฟังแปลว่าหนวกหูเพลงปี่ก็ไม่อ่อนหวานเป็นทำนองลูกเล่นมากกว่า เพราะลองให้ตีดู ๒ เพลงหนวกหูเต็มทีเลยให้อัฐไล่มันไปบ้านแล้วกลับลงมานอน” เสียงดนตรีที่ดั่งหนวกหู ดังที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงค์ ทรงวิจารณ์นั้น ปัจจุบัน (ปี ๒๕๔๘) ก็ยังเล่นกันอยู่ซึ่งไม่แตกต่างไปจากที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงค์ทรงบรรยายไว้ เว้นแต่กลองสองหน้าในปัจจุบันบางทีใช้ใบเดียว และมีฉิ่งฉาบด้วย แสดงให้เห็นว่า มังคละ เป็นดนตรีในท้องถิ่นของจังหวัดพิษณุโลกที่เล่นมาแต่โบราณกาล และคงมีเล่นกันเฉพาะที่เมืองพิษณุโลกเท่านั้น ทั้งนี้พิจารณาจากข้อความในจดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลก ดังกล่าวมาข้างต้น ต่อมาจึงได้มีผู้คิดท่ารำประกอบโดยจินตนาการจากสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของหนุ่มสาวชาวชนบทในยามว่างจากการทำงาน มีงานรื่นเริงหรือในเทศกาลงานบุญต่าง ๆ แต่ก่อนมังคละจะรู้จักกันเฉพาะในท้องถิ่น ปัจจุบันวงดนตรีมังคละได้รับการ พัฒนาให้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายแล้ว


มังคละ เป็นชื่อเรียกวงดนตรีพื้นบ้านที่มีลักษณะเป็นวงปี่กลองชนิดหนึ่งที่มีใช้เล่นกันอย่างแพร่หลายในจังหวัดพิษณุโลกเป็นเวลาช้านานมาแล้ว ในอดีตดนตรีมังคละเป็นวงดนตรีที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนในสังคมและมีบทบาทสำคัญทั้งในด้านการประกอบพิธีกรรม ตลอดจนด้านความบันเทิงเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ

ชื่อของดนตรีมังคละเป็นชื่อที่เรียกกันทั่วไปของคนภายนอก สำหรับศิลปินและนักดนตรีพื้นบ้านซึ่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรมแต่ดั้งเดิมมา เรียกว่า “วงปี่กลอง” วงดนตรีนี้มีบทบาทสำคัญในฐานะมหรสพของสังคม เมืองพิษณุโลกและภูมิภาคภาคเหนือตอนล่างมาก่อน มีรูปแบบและวิธีการเล่นที่เป็นแบบฉบับของตนเองมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยระบบเสียง ลักษณะจังหวะที่มีลีลา ครึกครื้น สนุกสนาน รุกเร้าใจเป็นอย่างยิ่ง ดนตรีมังคละจึงมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวภาคเหนือตอนล่างมาช้านานแล้วโดยเฉพาะชาวจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์



เครื่องดนตรีมังคละ

          เครื่องดนตรีมังคละ ประกอบด้วย ปี่ กลองโกร๊ก กลองยืน กลองหลอน ฆ้อง ๓ ใบ ฉาบกรอ ฉาบใหญ่ ฉิ่ง และกรับ

1. ปี่ เป็นเครื่องดนตรีทำหน้าที่บรรเลงทำนองปี่ที่นิยมใช้กันทั่วไปเป็นปี่พื้นเมือง มีลักษณะคล้ายปี่จีนเลาปี่มีลักษณะเป็นข้อๆ ส่วนลิ้นปี่มีลักษณะคล้ายปี่ชวา หรือปี่แน เสียงขอปี่เป็นเสียงที่เร้าใจและมีเสียงดังเจิดจ้า แจ่มใส         ส่วนทำนองเพลงของปี่ ใช้ทำนองเพลงไทยบ้างเพลงพื้นบ้านบ้าง  มีลักษณะการเป่าด้นเคล้าคลอไปให้เข้ากับเพลงแม่ไม้ต่างๆของวงมังคละ เพลงที่นิยมเล่นจะแตกต่างกันไปตามสภาพของงานที่เป็นงานมงคล หรืองานอวมงคล

2. กลองโกร๊ก เป็นเครื่องดนตรีชิ้นเอกของวงมีขนาดเล็ก หน้ากลองหุ้มด้วยหนัง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕ นิ้วยาวประมาณ ๑ ฟุต ส่วนมากทำจากไม้ขนุน หน้าตัดอีกด้านหนึ่งเจาะรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ นิ้วไว้ตรงกลาง เวลาตีใช้ตีด้วยหวาย ๒ อัน หวายแต่ละอันมีขนาดยาวประมาณ ๑๗ นิ้ว ปลายหวายพันเอาไว้ด้วยเชือกเมื่อตีจะเกิดเสียงดังโกร๊ก การบรรเลงกลองโกร๊ก ใช้นักดนตรี ๒ คน คนหนึ่งเป็นผู้ถือกลองและรำร่ายป้อไปมา อีกคนหนึ่งถือหวายข้างละมือเดินตีรัวกลอง เสียงของกลองมังคละดังชัดเจนกว่าเครื่องดนตรีชนิดอื่นในวงมังคละ คนที่ตีกลองต้องแสดงออกด้วยท่าทางและลีลาตามแบบศิลปะพื้นบ้านคล้ายกับวงกลองพื้นเมืองทั่วไป

3. กลองยืน เป็นกลองขึงขึ้นหนังหน้าทั้งสองด้านหุ่นกลองทำด้วยไม้ขนุนขุดกลึงกลวง หน้าใหญ่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐ นิ้ว ใช้ตีด้วยไม้เนื้อแข็งเหลากลึงยาวประมาณ ๗ นิ้ว หน้าเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๗ นิ้ว ตีด้วยมือ วงดนตรีมังคละแต่ละวงจะใช้กลองยืน ๑-๓  ใบ กลองยืนมีระดับเสียงต่ำทำหน้าที่ตียืนจังหวะของเพลงเป็นหลัก

4. กลองหลอน เป็นกลองขึงขึ้นหนังหน้าทั้งสองด้าน หุ่นกลองทำด้วยไม้ขนุนขุดกลึงกลวง หน้าใหญ่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๙ นิ้ว ใช้ตีด้วยไม้เนื้อแข็งเหลากลึงยาวประมาณ ๗ นิ้ว หน้าเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๖ นิ้วตีด้วยมือ วงดนตรีมังคละแต่ละวงจะใช้กลองยืน ๑ ใบ กลองหลอนมีระดับเสียงสูง ทำหน้าที่ตีขัดสอดสลับไปกับจังหวะกลองยืนตีหลอกล่อหรือล้อเลียนจังหวะทำให้ครึกครื้น สนุกยิ่งขึ้น

5. ฆ้อง ในวงมังคละใช้ฆ้อง ๓ ใบ มีคานหามสำหรับแขวนฆ้อง โดยลูกฆ้องต้องคัดเลือกให้มีระดับเสียงที่แตกต่างกัน ฆ้องที่แขวนอยู่บนคานหามส่วนที่อยู่หน้าสุดมีเสียงสูงเป็นฆ้องใบเล็กสุด เรียกว่า เหม่งหน้า ใช้เป็นเครื่องดนตรีนำวงก่อนบรรเลงจะตีเหม่งหน้า ๓ ครั้ง จึงจะเริ่มรัวกลองมังคละ นอกจากนี้ยังใช้รัวจังหวะเพื่อแจ้งการเปลี่ยนแปลงเพลงและใช้ตียืนจังหวะตลอดการเล่น ส่วนฆ้องอีก ๒ ใบมีขนาดใกล้เคียงกันแต่มีระดับเสียงแตกต่างกัน เรียกว่าฆ้องโหม่ง หรือฆ้องคู่ หรือฆ้องหลัง แขวนไว้ที่คานหามคู่กันละข้างใช้ไม้ตีควบคุมจังหวะสลับกันไป คานหามที่ใช้แขวนฆ้องทั้ง ๓ ใบ มีการประดิษฐ์ตกแต่งคานหามเป็นลูกสัตว์ต่างๆ เช่น รูปพญานาค รูปพญาหงส์ รูปจระเข้ รูปปลา รูปเทวดา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการลงรักปิดทองเพื่อความสวยงาม

6. เครื่องประกอบจังหวะมีฉิ่ง ฉาบ กรอ ฉาบใหญ่ กรับ

รูปแบบการแสดง

ดนตรีมังคละมีรูปแบบเฉพาะตัวคือมีเสียงดังสร้างบรรยากาศคึกคัก สนุกสนาน จึงเหมาะที่จะใช้กับงานที่เน้นบรรยากาศ ดังกล่าว เช่น งานทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ตรุษสงกรานต์ งานบวชที่มีขบวนแห่เดินด้วยเท้า เป็นต้น งานใดต้องการบรรยากาศที่สงบ ต้องหันไปใช้ดนตรีประเภทอื่นแทน

สภาพปัจจุบัน

ดนตรีมังคละ ดนตรีพื้นบ้านซึ่งปรากฏหลักฐานบันทึกยืนยันว่า มีความเป็นมายาวนานนับร้อยปี เคยมีบทบาทสำคัญใน ฐานะมหรสพของสังคมเมืองพิษณุโลกและภูมิภาคภาคเหนือตอนล่าง แต่เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไปจากสังคมเล็กมาสู่สังคมขนาดใหญ่ จากสังคมชนบทขยายตัวมาสู่สังคมเมืองและจากสังคมเกษตรกรรม เปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมอุตสาหกรรม วิถีชีวิตของคนไทยจึงเปลี่ยนไป ทั้งกระแสวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามามีอิทธิพลเหนือความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคม ได้ทำให้ดนตรีมังคละเกือบจะยุติบทบาทของตนเองลงโดยสิ้นเชิง ชาวพิษณุโลกรุ่นใหม่ไม่รู้จักดนตรีมังคละ ทั้ง ๆ ที่ดนตรีพื้นบ้านดังกล่าว ได้รับใช้คนในสังคมอย่างใกล้ชิดมาก่อนที่ความนิยมดนตรีประเภทต่าง ๆ จะเกิดขึ้น และดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จนกระทั่งศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลกมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามได้ฟื้นฟูให้ดนตรีมังคละกลับมาแสดงฝีมือศิลปะพื้นบ้านให้ชาวเมืองพิษณุโลก และผู้สนใจตระหนักในคุณค่าอีกวาระหนึ่งเมื่อพิจารณาถึงสภาพปัจจุบันดังกล่าวพอสรุปได้ว่า มีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ดนตรีมังคละไม่สามารถดำรงบทบาทเป็นคู่แข่งขันของดนตรีประเภทอื่น เช่น ดนตรีไทย ดนตรีสากล ฯลฯ ได้