เที่ยวอินเดีย-ถ้ำอาจันต้า

ถ้ำอาจันต้า (Ajanta Cave)

ถ้ำอาจันต้า เป็นถ้ำทางพุทธศาสนาจำนวน 31 คูหา ตั้งอยู่ในหุบผาหินบะซอล์ที่สวยงามรูปเกือกม้า ที่มีแม่น้ำวาฆูร (Waghur River) ไหลผ่าน เป็นช่องเขาทุรกันดารที่เกิดชั้นหินทางธรณีวิทยาที่มีลักษณะเฉพาะ เกิดจากลาวาหลากหลายแบบไหลมาเย็นตัวลงและกลายเป็นหุบผาโค้ง และถูกล้อมรอบด้วยป่าอชันต้าติดกับเขารักษาพันธุ์สัตว์ป่าเกาทละ ออทรัมขาต (Gautla Outramghat Wildlife Sanctuary) โดยถ้ำตั้งอยู่ใกล้เมืองออรังคบาด ในรัฐมหาราษฏระ ภายในหมู่ถ้ำประกอบไปด้วยประติมากรรมหินสลักและภาพจิตรกรรมบนผนังที่มีอายุย้อนไปราว 1,500 ปี ซึ่งเป็นผลงานชิ้นเอกในโบราณที่ได้รับการอนุรักษ์อย่างดี 

ประวัติเกี่ยวกับถ้ำอาจันต้า

ถ้ำอาจันต้าเป็นหมู่คูหาถ้ำที่เป็นที่รู้จักในระดับโลก ในฐานะผลงานชิ้นเอกของงานพุทธศิลป์ทั่วโลก ซึ่งเป็นมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี ค.ศ. 1983 โดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) โดยถ้ำทั้งหมดเป็นคูหาที่เกิดจากการเจาะสกัดหินเข้าไป มีอายุเก่าแก่ถึง 2,000 ปี ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าโบราณซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมในดินแดนชมพูทวีป

ถ้ำอาจันต้าถูกสร้างขึ้นบนทางลาดชันรูปเกือกม้า ที่สามารถมองเห็นแม่น้ำวาฆุร ภายในหมู่ถ้ำอาจันต้าเต็มไปด้วยคูหาถ้ำที่ถูกแกะสลักและวาดรูปได้อย่างสวยงามน่าทึ่ง นักวิชาการได้แบ่งออกเป็นสองระยะ โดยระยะแรกเริ่มต้นในราวสองร้อยปีก่อนคริสตกาล เป็นการขุดเจาะเพื่อสร้างเป็นอารามที่พำนักสงฆ์ ภายใต้ความศรัทธาของเหล่าพุทธศาสนิกชนที่นับถือนิกายเถรวาทหรือหินยาน และระยะที่สองเป็นการขุดเจาะขยายเพื่อสร้าง หอสวดมนต์ หรือ ชัยติยะ (Chaitya), วิหาร (Vihara ห้องโถงประกอบศาสนพิธี)

ภายในคูหาถ้ำยังมีการเขียนภาพจิตรกรรมบรรยายเหตุการณ์เกี่ยวกับ พุทธประวัติ อดีตชาติ และเหล่าทวยเทพต่าง ๆ โดยภาพจิตรกรรมฝาผนังมีการตกแต่งภาพประกอบ ที่แสดงถึงธรรมชาติและลวดลายเรขาคณิต ไว้ในคูหาถ้ำต่าง ๆ ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า ภาพเขียนสีเฟรสโก้แบบแห้ง (Dry Fresco) หรือ เฟรสโก้-เซ็คโค่ (Fresco-secco) มักเรียกสั้น ๆ ว่า เซ็คโค่ (secco) เป็นการผสมสีลงไปในปูนสีขาวที่ยังเปียกอยู่ วาดหรือทาลงบนพื้นหรือผนังที่ฉาบด้วยปูนปลาสเตอร์ที่แห้งแล้ว ซึ่งแตกต่างจากภาพเขียนทางยุโรปโดยเฉพาะงานเขียนของมิเกลันเจโล่ (Michelangelo) ศิลปินเอกของโลกชาวอิตาลี ที่ใช้เทคนิคการเขียนแบบเปียก (Wet Fresco) ที่รู้จักทั่วไปว่า เฟรสโก้ (Fresco)

คูหาถ้ำที่ 1, 2, 16, 17 เป็นที่รู้จักจากภาพวาดเกี่ยวกับนิทานชาดก (Jataka tales) ซึ่งเป็นเรื่องราวอดีตชาติของพระพุทธเจ้า และนิทานอวทาน (Avadana) เป็นเรื่องราวการกระทำเกี่ยวข้องกับการให้หรือการบริจาคทานของผู้เลื่อมใสในพระพุทธองค์ 

คูหาถ้ำที่ 9 และ 10 เป็น วัดหรือวิหารถ้ำ ที่เรียกว่า ชัยติยคฤหะ (Chaitya-griha ยังหมายถึง อุโบสถหรือ อนุสรณ์สถานศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาเชนและฮินดู) ของนิกายเถรวาท ซึ่งประกอบด้วยสถูปที่แทนองค์พระพุทธเจ้า

คูหาถ้ำที่ 19 และ 26 เป็น ชัยติยคฤหะ ของนิกายมหายานที่รุ่งเรืองในยุคต่อมา โดยมีสถูปและพระพุทธรูป คำจารึกหลายคำในคูหาถ้ำจะกล่าวถึงผู้อุปถัมภ์ในการสร้างคูหาถ้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหล่ากษัตริย์ อำมาตย์ พ่อค้าวาณิช และพระสงฆ์

งานศิลปะของในหมู่ถ้ำอาจันต้า มีอิทธิพลต่องานศิลปะและอนุสรณ์สถานของสายสกุลช่างต่าง ๆ ในที่ราบสูงเคคาน และมรดกทางศิลปะการวาดภาพที่เด่นชัดที่ปรากฏอยู่ที่อื่น ๆ เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สิกิริยา (Sigiriya) ในศรีลังกา และถ้ำพระพันองค์ฆิซิล (Kizil caves of the Thousand Buddhas) ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ประเทศจีน


คูหาถ้ำต่าง ๆ ภายในหมู่ถ้ำอาจันต้า

คูหาถ้ำที่ 1 ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกสุดของโค้งผารูปเกือกม้า เป็นถ้ำแรกที่นักท่องเที่ยวได้ชม เป็นวิหารในพุทธศาสนาที่งดงามที่สุดในอินเดีย และเป็นหนึ่งในคูหาถ้ำอชันต้าที่ “ห้ามพลาด” เชื่อกันว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระเจ้าหริเสนา (King Herishena) อารามภายในถ้ำประกอบด้วยห้องโถงด้านละ 14 คูหา โถงรับรองด้านหน้าห้องบูชาศักดิ์สิทธิ์ส่วนพระองค์ของกษัตริย์

ด้านหน้าของถ้ำประดับด้วยงานแกะสลักภาพพุทธประวัติที่ประณีตและงดงาม เฉลียงมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเหลือไม่กี่ภาพ ในขณะที่อดีตเคยครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของระเบียงคด ซึ่งโด่ดเด่นด้วยภาพพระโพธิสัตว์สององค์ ด้านขวาที่ถือสายฟ้าคือพระอวโลกิเตศวร (หรือพระวัชรปาณี) ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์องค์สำคัญของนิกายมหายาน ขณะองค์ด้านซ้ายที่ถือดอกบัวเป็นพระโพธิสัตว์ปัทมปาณี

ภาพจิตรกรรมภายในคูหาถ้ำที่ 1 เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของศิลปะอินเดียโบราณ ซึ่งยังคงอยู่ในสภาพดีและได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี ภาพจิตรกรรมส่วนใหญ่เป็นการให้ข้อคิดทางวิญญาณและการตกแต่ง ผนังด้านข้างของซุ้มประตูเป็นพุทธประวัติ 2 ภาพ โดยภาพแรก เป็นภาพมารผจญก่อนการตรัสรู้ และอีกภาพเป็นภาพปาฏิหาริย์แห่งกรุงสาวัตถี เหนือมุขด้านซ้ายของถ้ำ นอกจากนี้ยังมีภาพสลักของทุกข์ในอริยสัจ 3 อย่าง ได้แก่ การป่วย การแก่ และการตาย ที่พระพุทธเจ้าทรงเห็นก่อนเสด็จออกจากพระราชวังและได้ออกผนวช

คูหาถ้ำที่ 2 เป็นที่รู้จักจากภาพจิตรกรรมบนผนัง เพดาน และเสา ที่ยังคงอยู่และได้รับการอนุรักษ์อย่างดี เป็นหนึ่งในคูหาถ้ำที่ “ห้ามพลาด” ในโปรแกรมทัวร์อาจันต้า ผังทางสถาปัตยกรรมค่อนข้างคล้ายกับคูหาถ้ำที่ 1 ภายให้คูหาถ้ำประกอบไปด้วยห้องเล็ก ห้องบูชาศักดิ์สิทธิ์ส่วนพระองค์ (Sanctum Sanctorum) และห้องพระย่อยที่เสาสองต้น มีอายุราวคริสต์ศตวรรษที่ 6 ด้านหน้าอารามถ้ำมหายานมีพยานาคและบริวารประดับอยู่

เฉลียงของคูหาถ้ำที่ 2 ค่อนข้างแตกต่างจากคูหาถ้ำที่ 1 โดยมีเสาค้ำที่แข็งแรงประดับด้วยลวดลาย ภาพจิตรกรรมบนเพดานและผนังมุขเป็นนิทานชาดกที่เป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้าในปางก่อนเป็นพระโพธิสัตว์ ห้องโถงของคูหาถ้ำที่ 2 มีเสาระเบียงขนาดใหญ่สี่ต้นรองรับเพดานและล้อมรอบลานตรงกลางโถง ที่ได้รับการตกแต่งด้วยการแกะสลักและลงสีด้วยรูปคน สัตว์ และเทวดา มีพระพุทธรูปปางธัมมจักกัปปวัตนมุทราประดิษฐานในวิหารถ้ำ ห้องพระย่อยด้านด้านข้างมีรูปสลักของยักษ์สังขนิธิและยักษ์ปัทมนิธิทางตะวันออก และยักขินีหาริตีและยักษ์ปัญจิกะผู้เป็นสามีอยู่ทางด้านขวา

ลักษณะเด่นของคูหาถ้ำที่ 2 คือรูปสลักพระอวโลกิเตศวรที่มีพระกรและพระเพลาหนักแต่ยังโยกไปมาได้ มีแส้ปัดแมลงขนาบข้างพระพุทธรูป ซึ่งเป็นสิ่งพัฒนาขึ้นทีหลังที่ถ้ำเอเลเฟนต้าเกาะในมุมไบ

คูหาถ้ำที่ 3 อยู่ติดกับคูหาถ้ำที่ 4 เป็นอารามที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ มีเพียงแค่การขุดเสาเฉลียงเบื้องต้นเท่านั้น

คูหาถ้ำที่ 4 เป็นวิหารที่ใหญ่ที่สุดในการวางแผนก่อสร้าง แม้จะยังสร้างไม่เสร็จแต่ก็เป็นคูหาถ้ำที่ “ห้ามพลาด” คำจารึกที่ฐานพระพุทธรูปภายในศาลกล่าวว่าเป็นของกำนัลจากคนชื่อมธุรา คูหาถ้ำประกอบไปด้วยห้องโถงหลัก ห้องบูชาศักดิ์สิทธิ์ (Sanctum Sanctorum) ระเบียงเสาแปดต้น มีฐานรองรับ มีซุ้มจระนำด้านท้ายคูหาถ้ำ ผนังด้านหลังระเบียงคดมีกรุพระอวโลกิเตศวร

ห้องโถงมีทางเข้าหลักหนึ่งทางและประตูด้านข้างสองบาน พร้อมหน้าต่างบานกว้างอยู่ระหว่างกลาง มีรูปสลักเหล่าคนธรรพ์และเทวดาต่าง ๆ รูปพระพิฆเนศและพระพุทธเจ้า สาวพรหมจรรย์เกาะจับต้นไม้และคนแคระพร้อมมาลัยประดับประตูกลาง และพบภาพของผู้ชายที่ต่อต้านการล่อลวงจากผู้หญิงและชายหญิงกำลังวิ่งหนีช้างตกมัน

ส่วนศักดิ์สิทธิ์ของคูหาถ้ำที่ 4 เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปองค์มหึมา ในปางเทศนาขนาบข้างด้วยพระโพธิสัตว์และเหล่าเทพธิดาบนท้องฟ้าที่ลอยอยู่ด้านบน ด้านหน้าพระประธานเป็นที่รวมเหล่าศิษยานุศิษย์รวมทั้งพระสงฆ์ วงกบประตูและทับหลังประดับด้วยพระพุทธรูปปางประทับยืนขนาดใหญ่ 6 องค์ ซึ่งสององค์ยังสร้างไม่เสร็จ พระหัตถ์ขวาอยู่ในปางประทานอภัย (อภัยมุทรา) พระหัตถ์ซ้ายถือชายฉลองพระองค์ ครั้งหนึ่งคูหาถ้ำแห่งนี้เคยถูกทาสี ซึ่งสามารถเห็นร่องรอยได้ เพดานห้องโถงยังคงรักษาลักษณะทางธรณีวิทยาที่เป็นเอกลักษณ์ของการไหลของลาวา

คูหาถ้ำที่ 5 เป็นวิหารที่อยู่ในกลุ่มคูหาถ้ำอาจันต้าที่สร้างไม่เสร็จ ทางเข้ามีการแกะสลักอย่างงดงามและรูปสลักสตรียืนบนตัวมกร ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวที่โดดเด่นของคูหาถ้ำนี้ การออกแบบจิตรกรรมฝาผนังนั้นสร้างอย่างประณีตและแสดงถึงการออกแบบที่ดีที่สุดในหมู่ถ้ำอชันต้า

คูหาถ้ำที่ 6 เป็นวิหารสองชั้น ชั้นล่างประกอบด้วย โถง ห้องพระพุทธรูป และโถงเสา และชั้นบนเป็นห้องที่มีกุฏิ กุฏิย่อย และห้องบูชาศักดิ์สิทธิ์ มีภาพการแสดงธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าในทั้งสองคูหา ภาพการทำปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี และภาพมารผจญเป็นภาพสำคัญของคูหาด้านล่าง คูหาชั้นบนมีประติมากรรมส่วนตัวมากมาย และห้องพระพุทธรูปที่ยังสร้างไม่เสร็จ นอกจากคูหาบูชาหลักแล้วยังมีห้องบูชาย่อยอีกสองคูหาที่มีพระพุทธรูป ภายในคูหาถ้ำมีพระพุทธรูปแกะสลักปางต่าง ๆ มากมายตามผนังของโถงกลาง โถงทางเดิน และคูหาบูชา มีพระพุทธรูปนูนต่ำสลักหินขนาดเล็กองค์หนึ่ง ที่ผนังด้านซ้ายของห้องใต้หลังคาถูกเคลือบด้วยปูนขาวอย่างประณีตราวกับหินอ่อน บนผนังด้านเดียวกันใกล้กับพระบาทของพระพุทธรูปนูนต่ำ มีภาพวาดของคนนั่งคุกเข่าถือดอกบัวตูมสามดอกและวัตถุทรงกระบอกมีฝาปิด ซึ่งเป็นภาพที่โดดเด่นมากของคูหาถ้ำแห่งนี้

คูหาถ้ำที่ 7 เป็นความตั้งใจสร้างให้เป็นวิหารขนาดใหญ่แต่สร้างไม่เสร็จ มีเพียงเฉลียงที่สร้างอย่างประณีตมากและมีรายละเอียดเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย อารามแห่งนี้ประกอบไปด้วย ห้องบูชาศักดิ์สิทธิ์ โถงเปิดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีมุขเล็ก ๆ รองรับด้วยเสาแปดเหลี่ยมหนักสองต้น และกุฏิแปดห้อง ภายในห้องบูชาศักดิ์สิทธิ์มีภาพพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนา และแผงประติมากรรมสลักหินอื่น ๆ ได้แก่ ภาพการแสดงปาฏิหาริย์แห่งสาวัตถี ภาพพระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งภายใต้การคุ้มครองของพยานาคมุจลินทร์ ฯลฯ

คูหาถ้ำที่ 8 เป็นอารามที่สร้างยังไม่เสร็จ เป็นคูหาถ้ำที่ตั้งอยู่ในระดับต่ำที่สุด และอาจเป็นอารามที่สร้างขึ้นในช่วงแรกสุดในบรรดาอารามทั้งหมดของหมู่ถ้ำอาจันต้า พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกดินพัดถล่ม มีเศษซากของถ้ำบางส่วนที่ยังคงอยู่ และเป็นเครื่องยืนยันถึงความงดงามทางสถาปัตยกรรมของคูหาถ้ำแห่งนี้

คูหาถ้ำที่ 9 เป็นถ้ำ ชัยติยคฤหะ (Chaitya-griha) หรือ อาราม (Monastery) ที่มีข้อมูลย้อนไปได้ถึง 200 ปีก่อนคริสต์กาล ซึ่งเป็นช่วงเวลาของศาสนาพุทธนิกายหินยาน ซึ่งชัยติยคฤหะประกอบด้วยประตูทางเข้า หน้าต่างสองด้าน โถงกลาง โถงทางเดินประทักษิณด้านข้างซ้ายขวา ซึ่งทั้งสองด้านคั่นด้วยระเบียงเสา 23 ต้น และสถูปหินกลางโถงที่ไม่ได้สลักลวดลายใดประดับที่ตัวสถูปเช่นเดียวกับคูหาถ้ำที่ 10, 19 และ 26 ภายในคูหาถ้ำมีภาพเขียนสองภาพ โดยภาพแรกมีอายุย้อนไปถึงช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล และอีกภาพมีอายุย้อนไปในคริสต์ศตวรรษที่ 5-6

คูหาถ้ำที่ 10 เป็นถ้ำ ชัยติยคฤหะ (Chaitya-griha) หรือ อาราม (Monastery) ของนิกายหินยาน ที่มีข้อมูลย้อนไปได้ถึง 200 ปีก่อนคริสตกาล โดยเป็นถ้ำชัยติยคฤหะยุคแรกสุดและน่าจะเป็นการขุดพบครั้งแรกที่หมู่ถ้ำอชันต้า ซึ่งเป็นถ้ำที่กัปตันสมิธค้นพบในปี ค.ศ. 1819 และมีคำจารึกของเขาด้วยดินสอ

คูหาถ้ำประกอบด้วย โถงกลางขนาดใหญ่ โถงทางเดินประทักษิณด้านข้างซ้าย-ขวา คั่นด้วยเสาแปดเหลี่ยม 39 แถว และสถูปหินที่ยอดเป็นแท่นบูชาแทนที่จะเป็นยอดฉัตร ภาพจิตรกรรมภายในคูหาถ้ำประกอบด้วยภาพวาดสองยุค คือ ช่วง 200 ปีก่อนคริสตกาลและช่วงหลังคริสต์ศตวรรษที่ 4-6 ชาดกในยุคนี้มีสองเรื่อง คือ สุวรรณสามชาดก (เป็นหนึ่งในทศชาติชาดกของพระพุทธเจ้า) และฉัททันตชาดก (เรื่อง พญาช้างฉัททันต์) ภาพจิตรกรรมสมัยต่อมาประกอบด้วยพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ส่วนใหญ่อยู่เหนือเสา

คูหาถ้ำที่ 11 เป็นวิหาร (Vihara) ที่มีข้อมูลย้อนไปถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 5 ประกอบด้วยห้องโถงที่มีกุฏิ 6 ห้องและม้านั่งยาว เฉลียงประดับเสาหน้าห้องบูชาศักดิ์สิทธิ์ 4 ห้อง มีภาพพระพุทธเจ้าเทศนาธรรมประดับอยู่ที่องค์สถูปภายในคูหาถ้ำแห่งนี้ เป็นภาพจิตรกรรมชุดแรกสุดของหมู่ถ้ำอาจันต้า เชื่อกันว่าเป็นการยอมรับระหว่างการบูชาสถูปซึ่งเป็นความเชื่อเดิมและการบูชารูปเคารพซึ่งเป็นความเชื่อใหม่ที่เข้ามาทีหลัง และคูหาถ้ำแห่งนี้ยังแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากนิกายหินยานในยุคก่อนหน้าสู่การบูชาในแบบพุทธนิกายมหายานในภายหลัง โดยสถูปหินทรงกลมมีรูปสลักของพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัยประดับอยู่

คูหาถ้ำที่ 12 เป็นวิหาร (Vihara) ในนิกายมหายานที่ขุดสร้างในศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล เชื่อว่าเป็นหนึ่งในคูหาถ้ำเก่าแก่ที่สุดที่ขุดค้นพบในหมู่ถ้ำอาจันต้า ด้านหน้าคูหาถ้ำพังทลายลงและเผยให้เห็นห้องโถงสี่เหลี่ยมเรียบ ๆ ภายใน มีกุฎิ 12 ห้อง แต่ละห้องมีเตียงหินสองเตียง ที่แกะสลักอย่างชำนาญ มีคำจารึกบนผนังด้านหลังของอารามได้บันทึกเกี่ยวกับ คณามฎาฎา (Ghanamadada) พ่อค้าผู้ซึ่งอุปถัมภ์ในการสร้างคูหาถ้ำแห่งนี้ ในช่วงศตวรรษที่ 2 - 1 ก่อนคริสตกาล บางทีคูหาถ้ำแห่งนี้อาจสร้างเสร็จช้ากว่าคูหาถ้ำที่ 10 เล็กน้อย คิ้วประตูกุฏิภายในห้องโถงประดับด้วยหินสลักลายชัยติยะ (จั่วทรงโค้งมียอดแหลม)

คูหาถ้ำที่ 13 เป็นวิหาร (Vihara) ของนิกายหินยานที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เป็นอารามขนาดเล็ก ประกอบด้วยห้องโถงที่มีกุฏิเจ็ดห้องในสามด้าน ภายในกุฏิมีเตียงหินตัด

คูหาถ้ำที่ 14 เป็นอารามที่ยังขุดสร้างไม่เสร็จ ตั้งอยู่เหนือคูหาที่ถ้ำ 13 เดิมมีการวางแผนขุดสร้างเป็นอารามขนาดใหญ่ ระเบียงประดับเสานำไปสู่ห้องโถงที่ขุดขึ้นบางส่วน โดยมีรูป“สลาภัณชิกา (Salabhanjika)” ซึ่งเป็นรูปสตรีหรือยักษ์ที่อยู่ข้างต้นสาละที่ให้กำเนิดเจ้าสิทธัตถะ ประดับอยู่มุมบนของช่องประตูเป็นภาพที่สวยงาม

คูหาถ้ำที่ 15 เป็นวิหาร (Vihara) ที่ประกอบด้วย โถงเสาประดับ (Astylar hall) 8 ห้อง ห้องโถง ห้องบูชาศักดิ์สิทธิ์ และเฉลียงมีเสา ภายในมีประติมากรรมมากมาย เช่น พระพุทธรูปในอิริยาบถต่าง ๆ ประทับบนบัลลังก์ หรือ สิงห์อาสนะ (Simhasana) ร่องรอยภาพจิตรกรรมบ่งบอกว่ามีการวาดไว้แต่เดิม ทับหลังของช่องประตูสลักหินเป็นรูปศิขระ (Shikhara) สองชั้น ตรงกลางของชั้นล่างเป็นสถูปภายใต้เศียรพญานาค ส่วนชั้นบนตรงกลางมีหินสลักลายชัยติยะที่คิ้วหน้าต่าง ขนาบข้างด้วยนกพิราบคู่ซึ่งแกะสลักได้เหมือนจริงที่สุด

คูหาถ้ำที่ 15 A เป็นคูหาถ้ำที่เล็กที่สุดในหมู่ถ้ำอาจันต้า ภายในคูหาถ้ำนี้ประกอบไปด้วยห้องโถงเสาประดับเล็ก ๆ ตรงกลาง ที่มีกุฏิสามด้าน ผนังด้านหน้ามีอักษรจารึก โถงมีหน้าต่างลายชัยติยะลดรูปมาจากลายพระเวท

คูหาถ้ำที่ 16 เรียกว่า “ประตูต้อนรับสู่อชันต้า เป็นคูหาถ้ำที่ “ห้ามพลาด” โดยมีช้างสลักหินสองตัวอยู่ที่ประตูเพื่อต้อนรับผู้มาเยือน นอกจากนี้ยังมีภาพวาดที่มีชื่อเสียงใน คูหาถ้ำที่ 1, 2 และ 17 จากจารึกที่พบในคูหาถ้ำแห่งนี้ระบุว่า ถ้ำนี้ขุดเจาะโดย วราเทวะ (Varahadeva) ซึ่งเป็นมหาอำมาตย์ของกษัตริย์หริเสนะแห่งราชวงศ์วกาฏกะ ที่โดยพระองค์ปกครองระหว่างปี ค.ศ. 475-500 (ครอบคลุมรัฐมหาราษฏระ มัธยประเทศ บางส่วนของรัฐอนธรประเทศและฉัตตีสครห์ในปัจจุบัน)

คูหาถ้ำที่ 16 ประกอบไปด้วยโถงกลางที่ล้อมรอบทั้งสามด้านด้วยห้องเล็ก 14 คูหา มุขด้านหน้าและห้องบูชา มีรูปปั้นช้างสองตัวที่ฐานบันไดทางขึ้นสู่คูหาถ้ำ ภายในห้องบูชามีพระพุทธรูปขนาดมหึมาประทับบนบัลลังก์ในปางอภัยมุทราหรือปางแสดงธรรมเทศนา โดยมีราชสีห์และสัตว์อื่น ๆ ที่คล่องแคล่วหนุนบัลลังก์ มีรูปพระโพธิสัตว์ยืนอยู่ข้างหลัง คูหาถ้ำนี้มองเห็นหุบเขาได้ชัดเจน

ภายในคูหาถ้ำประดับด้วยภาพวาดที่สวยงาม ภาพของเจ้าหญิงที่กำลังจะสิ้นพระชนม์ในถ้ำนี้ เป็นหนึ่งในภาพวาดที่มีชื่อเสียงของหมู่ถ้ำอาจันต้า ภาพพระนางสุนทรี พระภรรยาของเจ้าชายนันทะ พระเชษฐาต่างพระมารดาของพระพุทธเจ้าได้สิ้นชีพิตักษัยเมื่อได้ข่าวร้ายพระสวามีของพระนางได้สละชีวิตทางโลกแล้วออกบวช นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของสุชาดาที่ได้ถวายข้าวมธุปรายาสแด่พระสิทธัตถะ (พระพุทธเจ้า) เป็นอาหารมื้อแรกของพระองค์ หลังที่ได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ภายในคูหาถ้ำยังมีชาดกอีกหลายเรื่อง เช่น หัสติชาดกเป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์เป็นช้าง ที่สละชีวิตตนเองเพื่อให้เป็นอาหารให้ผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากความอดอยาก และในมหาอุมมังคชาดก พระโพธิสัตว์ได้ยุติข้อพิพาทระหว่างมารดาสองคนที่อ้างสิทธิ์ในบุตรคนเดียวกัน หรือภาพพุทธประวัติและการทำปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี เป็นต้น

คูหาถ้ำที่ 17 เป็นอารามนิกายมหายานที่เป็นไปด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี เป็นคูหาถ้ำที่ “ห้ามพลาด” โดยจารึกของพราหมณ์ที่พบที่นี่ กล่าวว่าเป็นคูหาถ้ำที่ขุดเจาะโดยเจ้าชายพระองค์หนึ่งภายใต้พระราชดำริของพระเจ้าหริเสนะแห่งราชวงศ์วกาฏกะ ภายในประกอบไปด้วยโถงกลางที่กว้างขวางล้อมรอบด้วยกุฏิ 17 คูหาทั้งสามด้าน โถงกหน้าห้องเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ประตูระเบียงของคูหาถ้ำที่ 17 คล้ายกับของคูหาถ้ำที่ 16 ผนังเหนือช่องประตูเป็นภาพพระพุทธเจ้าในรูปแบบมนุษย์ หรือ มนุษี (Manushi Buddhas) เจ็ดองค์ พร้อมด้วยพระศรีอาริยเมตไตย์หรือพระพุทธเจ้าในอนาคตประทับใต้ต้นโพธิ์

พระพุทธรูปที่ประดิษฐานภายในคูหาถ้ำเป็นปางเทศนา หรือ ธรรมจักรมุทรา (Dharmachakra mudra) รวมทั้งพระโพธิสัตว์ถือแส้ปัดแมลง ผนังทางเดินโดยรอบประดับด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีความสัมพันธ์กับถ้ำก่อนหน้านี้ คูหาถ้ำนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนจากนิกายหินยานเป็นมหายาน ดังนั้นจึงเห็นภาพดอกไม้ที่ฟื้นจากการเหี่ยวเฉาและลายเรขาคณิตบนเสาในคูหาถ้ำได้

ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่โดดเด่นในยุควกาฏกะ ได้แก่ เรื่องราวมหาเวสสันดรชาดก วงล้อแห่งชีวิตขนาดมหึมา นางอัปสราเหาะ การปราบช้างป่านาฬิคีรี โดยพระพุทธเจ้า ณ กรุงราชคฤห์ พระพุทธเจ้าแสดงธรรมแก่สาธุชน และชาดกอื่น ๆ ที่แสดงภายในคูหาถ้ำ ได้แก่ ฉัททันตชาดก (เรื่องพญาช้างฉัททันต์) มหากปิชาดก (เรื่องคุณธรรมของหัวหน้า) หังสชาดก (เรื่อง โลภมากลาภหาย) มหาสุตโสมชาดก (เรื่องพระเจ้าสุตโสมทรงทรมานพระยาโปริสารท) สรภชาดก (เรื่อง ละมั่งทำคุณแก่พระราชา) มัจฉชาดก (เรื่อง ความลุ่มหลงคือตัวนำไปสู่ความตาย) นิโครธมิคชาดก (เรื่อง การเลือกคบ) มหิสชาดก (เรื่องลิงกับพญากระบือ) เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีภาพวาดที่บอกเล่าการเดินทางของเจ้าชายสิงหลเดินทางไปยังศรีลังกา ซึ่งเป็นรายละเอียดของซากเรืออัปปางและการหลบหนีจากการโจมตีด้วยม้าบิน ภาพราชาแห่งทวยเทพบินอยู่ท่ามกลางหมู่เมฆพร้อมด้วยเหล่านางอัปสราบนท้องฟ้าและคนธรรพ์ และภาพวาดที่โดดเด่นอื่น ๆ ได้แก่ ภาพเจ้าหญิงแต่งหน้าและเจ้ายั่วยวนคนรักด้วยไวน์

คูหาถ้ำที่ 18 เป็นเพียงการขุดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่น้ำไปสู่กุฎิอื่น ห้องโถงมีเสาสองต้นพร้อมฐานหล่อและเพลาแปดเหลี่ยม แต่ภายในคูหาถ้ำกลับมีภาพวาดที่งดงามที่สุด คือ ภาพเจ้าหญิงที่กำลังส่องกระจกหลังจากร่ายรำ “สิ่งการ์ (Sringara)” ซึ่งเป็นศิลปะหนึ่งในเก้าแขนง ของ “รสา Rasa” ที่มีความหมายว่า รส ซึ่งเป็นศิลปะคลาสสิกของอินเดีย  ข้ารับใช้หญิงคนหนึ่งของพระองค์ได้ถือถาดใส่เครื่องใช้ในห้องน้ำ ขณะที่อีกคนถือแส้ปัดแมลงไว้ในมือ และมีเด็กน้อยมองขึ้นไปจากด้านล่าง

คูหาถ้ำที่ 19 เป็น ชัยติยคฤหะ (Chaitya-griha) หรือ อาราม (Monastery) ที่มีข้อมูลว่าขุดสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 5 และอาจเป็นคันธกุฎี โดยมีเจ้าชายในพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้าหริเสนะแห่งราชวงศ์วกาฏกะเป็นผู้อุปถัมภ์พระองค์เดียวกับคูหาถ้ำที่ 17 คูหาถ้ำแห่งนี้เป็นถ้ำเล็ก ๆ แต่ภายในมีสัดส่วนที่ดีอย่างน่าอัศจรรย์ และเป็นหนึ่งในตัวอย่างสถาปัตยกรรมหินสลักของศาสนาพุทธที่สมบูรณ์แบบที่สุดของหมู่ถ้ำอชันตา ซึ่งหนึ่งในคูหาถ้ำที่ “ห้ามพลาด”

แม้ชัยติยคฤหะในคูหาถ้ำแห่งนี้จะถูกสร้างขึ้นทีหลัง ห่างจากชัยติยคฤหะคูหาถ้ำอื่น ๆ เป็นเวลาหลายศตวรรษก็ตาม แต่ยังคงรักษาประเพณีและแบบแผนต่าง ๆ ด้วยขนบพิธีการเดียวกัน เช่น การนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานบนสถูปที่เกี่ยวข้องกับคำปฏิญาณ การสลักหินเป็นโครงสร้างเลียนแบบคานไม้โค้งและจันทัน มีเสาสลักหินสิบสามต้นจากทั้งหมดสิบเจ็ดต้นมีลักษณะคล้ายกับคูหาถ้ำที่ 1 ทั้งด้านฝีมือและการออกแบบ และเสาที่เหลืออีกสี่ต้นในแถวหน้ามีลักษณะเหมือนเสาเฉลียงของคูหาถ้ำที่ 2 และเสาหน้าสุดสองต้นยังโดดเด่นด้วยฉากสลักหินของ “สลาภัณชิกา (Salabhanjika)” ที่สวยงาม โถงคูหาถ้ำมีพระพุทธรูปปางอภัยมุทรา (อิริยาบถยืนแสดงมุทรา) ประดิษฐานอยู่ตรงกลาง มีฉากรับที่ยื่นออกมาสลักเป็นรูปช้าง เทพธิดาคู่ ฤาษี และคนธรรพ์

คูหาถ้ำแห่งนี้ขึ้นชื่อในเรื่องความยิ่งใหญ่ทางประติมากรรม บริเวรซุ้มส่วนหน้าที่วิจิตรงดงามมีเสาที่ต่อมาถูกลอกเป็นต้นแบบในถ้ำอื่น มียักษ์ผู้พิทักษ์รูปร่างท้วมและแข็งแรงขนาบข้างด้านซ้ายและขวาของซุ้มประตูหลัก โถงกลางมีภาพจิตรกรรมของพระพุทธเจ้าในอิริยาบถต่าง ๆ มีพระพุทธรูปยืนอยู่บนสถูปสูง ตัวสถูปประดับฉัตรบนเรือนยอดที่สูงเกือบแตะหลังคา

คูหาถ้ำที่ 20 เป็นวิหาร (Vihara) ที่มีเสาน้อย ที่ขุดสร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 450 ถึง 525 ซึ่งประกอบด้วยโถง กุฏิ ห้องบูชาศักดิ์สิทธิ์ และเฉลียงมีเสา มีจารึกด้วยอักษรพราห์มีบนเฉลียงบันทึกว่ามณฑปของคูหาถ้ำแห่งนี้ได้รับการอุปถัมภ์ของอุเปนทราองค์หนึ่ง มีพระพุทธรูปปางแสดงธรรมเทศนาตั้งอยู่ในวิหาร มีรูปสลักหินของพระพุทธเจ้าเจ็ดพระองค์พร้อมด้วยเหล่าพุทธอุปฐาก ซึ่งเป็นงานประติมากรรมที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งในถ้ำแห่งนี้

คูหาถ้ำที่ 21 เป็นวิหาร (Vihara) และคูหาถ้ำแรกหลังน้ำตก ภายในประกอบไปด้วยโถงเสาประดับ (Astylar hall) ที่แกะสลักอย่างประณีต 12 ต้น มีปูนฉาบบนเพดานที่แสดงว่าเคยมีภาพจิตรกรรมประดับอยู่ กุฏิ 12 ห้องที่สี่ห้องมีมุขเสา ห้องบูชาศักดิ์สิทธิ์มีพระพุทธรูปปางแสดงธรรมเทศนา และเฉลียงมีเสา (Pillared veranda)

คูหาถ้ำที่ 22 เป็นวิหาร (Vihara) ขนาดเล็กที่มีเฉลียงแคบ ๆ และกุฏิที่ยังไม่เสร็จ 4 ห้อง ซึ่งถูกขุดเจาะไว้ในจุดที่สูงขึ้นไปมีบันไดทางขึ้น มีพระพุทธรูปแกะสลักปางนั่งประทับบนปราลัมภ-ปาฑอาสนะ (Pralamba-padasana) ประดิษฐานอยู่ด้านหลังของห้องบูชา พระพุทธรูปสลักหินในรูปแบบต่าง ๆ ภาพวาดพระพุทธเจ้าที่มีความเป็นมนุษย์ หรือ มนุษย์ (Manushi) รวมถึงภาพพระศรีอาริยเมตไตรยด้วย

คูหาถ้ำที่ 23 เป็นอารามที่ยังสร้างไม่เสร็จ ประกอบด้วยโถงมีเสา (Astylar hall) ห้องบูชาศักดิ์สิทธิ์ (Sanctum sanctorum) ห้องทางผ่าน (Antechamber) กุฏิข้าง และเฉลียงมีเสา ซึ่งเสาของเฉลียงยังคงสภาพเดิมทั้งหมด ทั้งเสาของโถงหลักและเฉลียงประดับด้วยงานแกะสลักที่มีความละเอียดประณีต เสาด้านหน้าที่ผนังด้านขวาของห้องโถง มีรูปสลักของตัวมกรอ้าปากบนแผ่นวงกลมติดผนัง โดดเด่นด้วยรูปสลักของพญานาคเฝ้าวงกบประตู และสามารถเห็นร่องรอยของปูนฉาบบนเพดานเฉลียง

คูหาถ้ำที่ 24 เป็นวิหาร (Vihara) ที่ยังไม่สมบูรณ์ หากเสร็จสมบูรณ์จะเป็นหนึ่งในอารามที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองรองจากคูหาถ้ำที่ 4 ของหมู่ถ้ำอาจันต้า ผังคูหาถ้ำประกอบไปด้วยโถงมีเสา (Astylar hall) เฉลียง (Veranda) และห้องบูชาศักดิ์สิทธิ์ของอาราม (Sanctum sanctorum) โดยทับหลังของบานประตูมีลวดลายนางฟ้านางสวรรค์สลักหินที่สวยงาม ผนังด้านซ้ายนอกเฉลียงมีห้องสวดและมุขมีเสาถูกทุบออก ผนังด้านหลังของห้องสวดมีพระพุทธรูปปางประทับนั่งบนปราลัมภ-ปาฑอาสนะ (Pralamba-padasana) พร้อมด้วยเหล่าพุทธอุปฐากและเหล่านางฟ้า อารามแห่งนี้น่าจะเป็นหนึ่งในอารามล่าสุดที่ขุดพบในหมู่ถ้ำอาจันต้า

คูหาถ้ำที่ 25 เป็นอารามหรือวิหารที่ประกอบด้วย โถงมีเสา (Astylar hall) เฉลียงมีเสา (Pillared veranda) และลานปิด ที่ขุดเจาะสูงขึ้นมา มีกุฏิสองห้องด้านซ้ายสุดของเฉลียง และโถงที่ไม่มีกุฏิและแท่นบูชาพระ

คูหาถ้ำที่ 26 เป็นคูหาถ้ำที่ “ห้ามพลาด” โดยค่อนข้างคล้ายกับคูหาถ้ำที่ 19 แต่มีมิติที่ใหญ่กว่าและมีรูปสลักที่ประณีตและวิจิตรกว่า ตามคำจารึกที่มีอายุระหว่างปี ค.ศ. 450-525 ที่พบบนผนังระเบียงด้านหน้า บันทึกเงินบริจาคให้กับ ชัยติยคฤหะ (อาราม) แห่งนี้ โดยพระภิกษุพุทธภัทร ซึ่งเป็นพระสหายของกษัตร์และมหาอำมาตย์แห่งแคว้นอัสสกะ (ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่รัฐมหาราษฏระและรัฐเตลังคานา)

ชัยติยะคฤหะของคูหาถ้ำแห่งนี้ประกอบด้วยห้องโถงทางเดินประทักษิณด้านข้าง และสถูปสลักหินรูปพระพุทธเจ้า ซุ้มหน้า เสาด้านใน ระเบียงแนบ (ระหว่างเสาและหลังคา) หรือ ไตรฟอเรียม (Triforium) และผนังด้านข้างแกะสลักด้วยภาพและตกแต่งลวดลายทั่วบริเวร ภายในคูหาถ้ำมีสถูปที่มีพระพุทธรูปปางปาลิไลย์มุทรา (อิริยาบถนั่งบนบัลลังก์แสดงมุทรา) บนบัลลังก์สิงห์

รูปสลักหินที่โดดเด่นที่สุดภายในคูหาที่ 26  คือ ภาพสลักขนาดใหญ่ของพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่พระพุทธองค์ปรินิพพาน เบื้องล่างมีศิษยานุศิษย์ไว้อาลัยต่อการละสังขารของพระองค์ เบื้องบนเป็นเทพสวรรค์ต่างชื่นชมยินดี นอกจากนี้ยังมีภาพแกะสลักพระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ในปางภูมิสปรศมุทรา (Bhumisparsha Mudra) หรือ ปางมารวิชัยใต้ต้นโพธิ์ตรงกลาง ทางซ้ายเป็นมารบนหลังช้างพร้อมด้วยกองทัพอสูรที่มาโจมตีพระพุทธเจ้า ทางขวาเป็นภาพมารกำลังถอยหนี และเบื้องหน้าคือธิดาของมารที่พยายามล่อลวงพระพุทธเจ้าด้วยการเต้นรำและเสียงดนตรี และที่มุมขวาล่างเป็นรูปมารที่พ่ายแพ้

คูหาถ้ำที่ 27 เป็นส่วนหนึ่งของคูหาถ้ำที่ 26 ชั้นบนยุบบางส่วน เป็นอารามที่ประกอบไปด้วยกุฏิสี่ห้อง โถงกลาง และห้องพิธีกรรมซึ่งเป็นส่วนที่ใช้แสดงธรรมในวิหาร มีนาคทวารบาลอยู่ด้านนอกของคูหาถ้ำ ประตูของคูหาถ้ำที่ 27 นี้ นำมาจากประตูศาลเจ้าของถ้ำที่ 2

คูหาถ้ำที่ 28 เป็นอารามยังสร้างไม่เสร็จ แต่ขุดพบเสาระเบียง

คูหาถ้ำที่ 29 เป็น ชัยติยคฤหะ (Chaitya-griha) หรือ อาราม (Monastery) ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ซึ่งอยู่ระหว่างคูหาถ้ำที่ 20 และ 21 โดยเข้าทางน้ำตกอาจันต้าซึ่งอยู่ปีกซ้ายของหมู่คูหาถ้ำอาจันต้า