Bee Journey Life
(Travel)

หมู่เทวสถานแห่งบาโรลี Baroli Temples Complex  

หมู่เทวสถานแห่งบาโรลี หรือ หมู่วัดบาโรลี ตั้งอยู่ในเมืองราวัตภตะ ในอำเภอจิตตอรการห์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย เป็นกลุ่มเทวสถานที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในรัฐราชสถาน โดดเด่นด้วยงานหินแกะสลักที่สวยงามวิจิตรด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมฮินดูยุคราชวงศ์คุชระ-ปราติหาระ ที่รุ่งเรืองระหว่างศตวรรษที่ 8–10 โดยหมู่วัดแห่งนี้ประกอบด้วยเทวสถานเจ็ดแห่ง ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมือง และอีกหนึ่งอยู่นอกกำแพงเมืองห่างออกไปประมาณ 1 กม.

หมู่เทวสถานบาโรลีสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 10-11 และถูกทำลายลงโดยกองทัพของจักรพรรดิออรังเซปแห่งราชวงศ์มุสลิมมุฆัล ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานสำรวจทางโบราณคดีของอินเดียเพื่อการอนุรักษ์และคุ้มครอง ภายในสวนได้รับการพัฒนาให้เป็นสถานที่พักผ่อนของชาวเมือง ซึ่งห่างจากแม่น้ำจัมบาลราว 2 กม. ซึ่งในปีค.ศ. 1998 รูปสลักหินศิวนาฏราชของหมู่วัดแห่งนี้ถูกขโมยไป และมีการสีบทราบว่าได้ตกอยู่ในมือของนักสะสมในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ซึ่งวัดที่สำคัญของหมู่เทวสถานทั้งแปดแห่ง ได้แก่

วัดฆเตศวร มหาเทพ Ghateshwara Mahadeva Temple เป็นเทวสถานที่ใหญ่ที่สุดและโดดเด่นที่สุดในหมู่วัดแห่งนี้ ซึ่งภายในจะประกอบไปด้วย ครภาคฤหะหรือซุ้มแท่นบูชา และมุขมณฑป (ระเบียงหน้า) ในก่อสร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 ที่มีรูปสลักหินที่สวยงามและยังคงสมบูรณ์ของพระอิศวรปรากฏในรูปของห้าลึงค์ และหนึ่งในห้าลึงค์นี้มีลักษณะคล้ายบาตรของฤาษี ที่เรียกว่า ฆตะ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัดแห่งนี้ และต่อท้ายด้วยคำว่ามหาเทพ เพื่อสรรเสริญแด่องค์พระอิศวร ขณะที่บนเพดานเทวสถานมีการสลักหินเป็นรูปดอกบัวบานขนาดใหญ่ และมุขมณฑปก็มีรูปสลักของเหล่านางอัปสรากึ่งเปลือยกายปรากฏหลายจุด

วัดพระพิฆเนศ Ganesha Temple ซึ่งสร้างถวายแต่องค์พระพิฆเนศ โดยเทวสถานแห่งนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยมนเทียร (ตัวเทวสถาน) ก่อด้วยหินและฐานของศิขระ(ยอดของหอมนเทียร) เป็นอิฐก่อที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 10 ภายในมีซุ้มบูชาอติรถา ประตูทางเช้าไม่มีการตกแต่งใด ๆ พระกรและพระบาทของพระพิฆเนศถูกตัดหายไปโดยกองทัพมุสลิมที่เข้ามารุกราน

วัดวมนวตาร Vamanavatar Temple ซึ่งสร้างถวายแด่ วมนะสี่กร องค์อวตารที่ห้าของพระวิษณุ

วัดตรีมูรติ Trimurti Temple สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 10 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่วัด ซึ่งโชคร้ายเทวสถานได้ทลายลงไปบางส่วน ที่หลงเหลืออยู่จะเป็นงานแกะสลักหินในยุคราชวงศ์คุชระ-ปราติหาระ ซึ่งประกอบด้วยซุ้มบูชาสไตล์ปัญจรถะที่ประดับประดาด้วยงานสถาปัตยกรรมแบบนครา โดยมุขมณฑปพังเสียหายไปแล้ว ทับหลังชองประตูทางเข้าซุ้มบูชาเป็นรูปศิวนาฎราชบนวงกบประตูทางเข้า ภายในซุ้มรูปสลักหินพระตรีมูรติ (พระอิศวรสามเศียร) หรือเรียกอีกชื่อว่า พระมเหศมูรติ

วัดอัศตมตะ Ashtamata Temple หรือ วัดมหิศมารทินี Mahishamardini Temple สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 10 ตัวมนเทียรสร้างด้วยหินสไตล์ปัญจรถะ มีศิขระสิบชั้นในสไตล์นครา ภายในห้องบูชาประกอบไปด้วยห้องโถงรองและมุขมณฑปด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมปราติหาระ ทางเข้ามนเทียรมีแผ่นหินตรีสาขะ มีหินสลักลวดลายการฟ้อนรำของมเหศวรีบนทับหลังเป็นวงกบประตู มีการแกะสลักเป็นรูปพระนางปารวตีบริเวณช่องกลางห้องบริเวรสุกณสาหรือส่วนยอดที่อยู่เหนือระเบียง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่เจ้าแม่ทุรคา หรือ พระนางมหิศมรินี

วัดเศศัษยาน Sheshashyan Temple สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 10 ด้วยสถาปัตยกรรมแบบปราติหาระเป็นเทวสถานที่เสียหายมาก ห้องบูชาศักดิ์สิทธิ์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทางเข้ามนเทียรไม่มีการตกแต่งใด ๆ มีสระน้ำที่แห้งและร้างแล้วอยู่ติดกับวัดซึ่งมีบันไดนำไปสู่ริมน้ำ

หมู่เทวสถานแห่งนี้เป็นหนึ่งในร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองทางสถาปัตยกรรมของอาณาจักรคุชระ-ปราติหาระ ซึ่งมีอาณาเขตอยู่บริเวณทางทิศตะวันตกของอินเดียเหนือ และเป็นปราการแรก ๆ ของเหล่าอาณาจักรฮินดูในดินแดนชมพูทวีปที่ต้องปะทะ ต่อต้านการรุกรานของกองทัพมุสลิมจากดินแดนตะวันตกเฉียงเหนือที่เข้ามาพิชิตอินเดียหลายระรอก 

สนใจเข้าชมโปรแกรมทัวร์ต่างๆ ของบีเจอร์นีไลฟ์ทราเวล คลิ๊กเลย www.beejourneylife.com

#เที่ยวอินเดีย #ท่องราชาสถาน #ดินแดนมหาราชา #ป้อมชิทอร์การ์ท #บีเจอร์นีไลฟ์ทราเวล #รู้ก่อนเที่ยว