เป็งปุ๊ดที่ศรีชุม


พิธีตักบาตรเที่ยงคืนหรือเป็งปุ๊ด จัดขึ้นตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ พุธแรกของเดือน หรืออาจเลื่อนถัดไปเป็นเดือนที่เหมาะสม เป็นประเพณีที่จัดขึ้นของภาคเหนือบางวัดเท่านั้น ประเพณีจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่เข้าใจว่าทางภาคเหนือของประเทศไทยคงรับอิทธิพลมาจากพม่าอีกต่อหนึ่ง พม่ามีความเชื่อว่าพระอุปคุตหรือพระบัวเข็ม เป็นพระภิกษุเมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ลงไปจำศีลภาวนาอยู่ ณ สะดือทะเล ในรอบหนึ่งปีจึงขึ้นมาโปรดชาวเมืองก่อนเวลารุ่งอรุณ

ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ กลุ่มผู้สูงอายุชุมชนศรีชุม นำโดย นางจินดา โพธิ์ทอง ประธานกลุ่มผู้สูงอายุ ได้ปรึกษาหารือกับเจ้าอาวาส (พระครูสุตชยาภรณ์ เจ้าอาวาส ขณะนั้น) กับคณะสงฆ์วัดศรีชุม มีมติควรฟื้นฟูสืบสานประเพณีเป็งปุ๊ดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อได้กำหนดวันเวลาที่แน่นอนแล้ว ศรัทธาชาวบ้านและพระสงฆ์ จึงได้ช่วยกันจัดเตรียมบริเวณตกแต่งสถานที่จัดงาน ณ ลานหน้าวัด ประสานประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ ชาวบ้านเตรียมข้าวสารอาหารแห้ง เพื่อตักบาตรพระอุปคุตตอนเที่ยงคืน



โดยเวลาประมาณ ๒๑.๓๐ น. พระสงฆ์ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ แสดงพระธรรมเทศนาเรื่องพระอุปคุต หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่พิธีห่มผ้าพระธาตุ จวบจนเวลาล่วงเข้าเที่ยงคืนวันเพ็ญ พระสงฆ์ก็จะเดินลงมาจากพระวิหาร เพื่อตั้งขบวนแห่พระอุปคุต ตั้งแต่ประตูวัดเข้ามา ได้มีสาธุชนทุกกลุ่มอายุ เด็ก เยาวชน วัยรุ่น จากทั่วสารทิศ ร่วมพิธีตักบาตรกันอย่างเนืองแน่น บรรยากาศคึกคักมาก ทยอยมามิได้ขาดสายเพื่อมาร่วมพิธีดังกล่าว ถือว่าเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวล้านนา