วัฒนธรรม 3วัด 3ศาสนา

ขุมชนศรีชุม เป็นชุมชนลำดับที่ ๔๓ ของเทศบาลนครลำปาง เป็นสถานที่ตั้งของศาสนสถานถึง ๓ ศาสนาคือ ๑) วัดพุธแบบพม่า ๒ วัด ๒) วัดซิกข์ ศาสนาซิกข์ของชาวอินเดีย ๓) มัสยิด ศาสนาอิสลาม ของชาวมุสลิม ที่ตั้งของศาสนาสถาน ทั้ง ๓ ศาสนา มีระยะทางห่างกันไม่ถึง ๑ กิโลเมตร เดินทางไปมาหาสู่กันและพบปะกันทุกเมื่อเชื่อวัน

วัดไชยมงคล (จองคา) (๒๔๒๐) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก วัดศรีชุม (๒๔๓๓) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของชุมชน เป็นศาสนสถานของชาวพุทธแบบพม่า จากในอดีต พระเจ้าอาวาสและลูกวัดเป็นพระพม่า มีวัตรปฏิบัติแบบวัดพม่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ของประเทศไทยนั้น เจ้าอาวาสจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และได้รับการอุปสมบทโดยคณะพระสงฆ์ไทย ปัจจุบันวัดพม่าในประเทศไทย มีเจ้าอาวาสและพระลูกวัดเป็นคนไทยหมดแล้ว ประเพณีที่พบเห็นได้จากวัดพม่า คือ ประเพณี “ต่างซอมต่อโหลง” (ต่างข้าวพระเจ้าหลวง) (หรือประเพณีถวายข้าวมธุปายาส) และประเพณีตักบาตรพระอุปคุต (ตักบาตรเที่ยงคืน)

วัดซิกข์ (๒๔๘๖) ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของชุมชน เป็นศาสนาสถานของผู้นับถือศาสนาซิกข์ของชาวอินเดีย เป็นศูนย์รวมของชาวไทยซิกข์ มีสมาคม ศิริ คุรุ สิงห์ สภา เป็นผู้อุปถัมภ์ ภารกิจของวัดซิกข์มีมากมาย แต่กิจวัตรประจำวันของผู้สอนศาสนา จะต้องตื่นตี ๔ จะต้องนำ ศิริ คุรุ ครันฑ์ ซาเฮ็บ ซึ่งเป็นศาสดาตลอดกาล มาที่ ธรรมาสน์ และจะต้องอ่านหนังสือธรรม ประมาณ ๒ ชั่วโมง หลังจากนั้น สวดพระธรรมต่ออีก ๑ ชั่วโมง ในวันอาทิตย์จะมีเลี้ยงอาหารเช้าแก่ผู้ศรัทธาทั้งหลายที่มาวัด ศาสดาแห่งศาสนาซิกข์ และหลักธรรมของพระศาสดาได้สอนไว้ว่า “มนุษย์คือ มวลมิตรของฉัน ไม่ใช่ศัตรู ไม่ใช่ผู้แปลกหน้า”

มัสยิดอัลฟาละฮุ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของชุมชน ตรงกันข้ามกับวัดศรีชุม (วัดพุทธแบบพม่า) ในช่วงแรกมีชาวมุสลิม อยู่เพียง ๑๕๐ ครัวเรือน มีสถานที่ทำศาสนกิจที่วัดเชตวัน ในปี ๒๔๙๗ ได้ย้ายมาสร้างมัสยิดตรงข้ามวัดศรีชุม เพื่อรองรับชาวมุสลิมที่มีจำนวนมากขึ้นชาวมุสลิมจะมีการละหมาดทุกวัน วันละ ๕ เวลา โดยเฉพาะวันศุกร์ ถือว่าเป็นวันสำคัญของชาวมุสลิมจะต้องมาละหมาด สำหรับชาวมุสลิมที่เป็นผู้หญิงให้ผู้หญิงละหมาดที่บ้าน

จากการเป็นที่ตั้งของศาสนสถานถึง ๓ ศาสนา มีประเพณีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดอุปสรรคในความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนแต่อย่างใด ต่างเรียนรู้และเข้าใจในประเพณีวัฒนธรรมและความเชื่อของกันและกัน ไม่ล่วงล้ำและสร้างปัญหาในการอยู่ร่วมกันในชุมชน