คุณูปการณ์พ่อเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต

(เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย)

อนุสาวรีย์ด้านหน้าร.ร.บุญวาทย์วิทยาลัย


ชีวิตและครอบครัว
พ่อเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต นามเดิม บุญทวงศ์ ณ ลำปาง สมภพ 6 พฤศจิกายน 2400 (จ.ศ. 1219) ณ ต.หัวเวียง อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นบุตรเจ้านรนันทไชยชวลิต ผู้ครองนครลำปาง มารดา เจ้าแม่ฟองแก้ว มีภรรยาและบุตรธิดา ดังนี้

บุตรีเจ้าแม่เมืองชื่น ณ ลำปาง ๑. เจ้าหญิงสะเปาแก้ว ๒. เจ้าหญิงสะเปาคำ (เจ้าหญิงศรีนวล) ๓. เจ้าหญิงฝนแสนห่า ๔. เจ้าหญิงดาวบิน ๕. เจ้าหญิงอ้ม บุตรีหม่อมจิ๋น ณ ลำปาง เจ้าหญิงจ๋อม บุตรีหม่อมช้อย ณ ลำปาง เจ้าหญิงเนียม บุตรหม่อมเมฆ ณ ลำปาง เจ้าบุญสารเศวต บุตรีหม่อมเล็ก ณ ลำปาง ๑. เจ้าหญิงบุตรมาลี ๒. เจ้าหญิงบุษบง ณ ลำปาง บุตรีหม่อมน้อย ณ ลำปาง เจ้าหญิงอัมพร บุตรีหม่อมลำเจียก ณ ลำปาง เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง บุตรีหม่อมวาด เจ้าหญิงบุษบา

เจ้านรนันทไชยชวลิต (บิดา)


เจ้าบุญวาทย์แสดงโขน


การศึกษา ศึกษาหนังสือไทยเหนือ ในสำนักอภิไชย วัดเชียงมั่น นครลำปาง ศึกษาหนังสือไทยกลาง ที่บ้าน (คุ้ม) เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีโรงเรียน

อุปสมบท สำนักพระปัญญา วัดสวนดอก นครลำปาง

ชีวิตและงานราชการ

การรับราชการ (พ.ศ.๒๔๒๘) ตำแหน่งพนักงานในกองมหาดไทย (พ.ศ.๒๔๓๖) ตำแหน่งเสนามหาดไทยและคลัง (๔ มกราคม ๒๔๓๓) เป็น “เจ้าราชสัมพันธ์วงษ์” (๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๓๘) ตำแหน่ง เจ้าอุปราชเมืองลำปาง ( ๒ ตุลาคม ๒๔๔๐) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปางสืบแทนบิดา มีนามจารึกในสุพรรณบัตร ว่า “เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต สามันตวิชิตประเทศราช บริษัษย์นารถทิพจักราธิวงษ์ ดำรงโยนวิไสย อภัยรัษฎารักษ์ อุดมศักดิสัตยาธิวรางค์ ลำปางมหานัคราธิปไตย เจ้าผู้ครองนครลำปาง” (๒๔๕๔) จากการถวายงานอย่างต่อเนื่องมาด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ในราชการทหารและการปกครอง เป็นที่พอพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๖ ชั้น ๒ เมื่อ (พ.ศ. ๒๔๕๔) และโปรดเล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนขั้นเป็นนายพลตรี มหาอำมาตย์โท เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต

นายพลตรี มหาอำมาตย์โท เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต


คุณูปการณ์พ่อเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต

ในฐานะเจ้าครองนครลำปาง พลตรี มหาอำมาตย์โท เจ้าบุญวาทย์ฯ ได้บำเพ็ญกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ต่อนครลำปางและเป็นคุณต่อประเทศชาติเป็นอเนกประการ อาทิ ด้านการทหารและการป้องกันนคร ระดมชาวเมืองต่อสู้ป้องกันนครจากเงี้ยวที่ก่อจลาจล สร้างโรงทหาร โรงพยาบาลทหาร ด้านการศึกษา ย้าย ร.ร.จากวัดแสงเมืองมา มาอยู่หน้าคุ้ม มีนักเรียนเพิ่มมากขึ้น จึงได้ซื้อที่ดินบริเวณห้างกิมเซ่งหลี (โรงแรมอรุณศักดิ์ปัจจุบัน) แล้วย้ายโรงเรียนหน้าคุ้มมา ณ ที่ดินแห่งใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จต่างประเทศพระเนตร พระกรรณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ ได้เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้เสด็จทรงเปิดโรงเรียน เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๔๘ พระราชทานนามโรงเรียนว่า “บุญวาทย์วิทยาลัย” ตามราชทินนามของเจ้าบุญวาทย์ เจ้าผู้ครองนคร ด้านศาสนา สละทรัพย์ส่วนตนอุปถัมภ์วัดต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ส่งพระสงฆ์ไปศึกษา ณ วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ ด้านอุตสาหกรรม จัดตั้งโรงงานทอผ้าและโรงงานฟอกหนังของจังหวัดลำปาง นับเป็นเป็นโรงงานฟอกหนังแห่งแรกในประเทศไทย ด้านคมนาคม ดำเนินการให้มีการติดต่อสื่อสารด้วยโทรเลข ระหว่างนครลำปางกับกรุงเทพฯ ด้านสาธารณกุศล อุทิศที่ดิน เพื่อสร้างสถานที่ราชการหลายแห่ง อาทิ ที่ตั้งศาลากลางจังหวัดลำปาง (หลังเก่า) ที่ทำการไปรษณีย์ ศาลจังหวัด เรือนจำจังหวัด วัดบุญวาทย์วิหาร (หนังสือ ๑๐๐ ปี บุญวาทย์วิทยาลัย พ.ศ.๒๕๔๑)

พลตรีมหาอำมาตย์โท เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๕ สิริชนมายุได้ ๖๕ ปี คงไว้ซึ่ง เกียรติคุณให้ชาวนครลำปางรำลึกถึงด้วยความเคารพรักบูชา กิจการทั้งหลายที่ท่านบำเพ็ญเพื่อประโยชน์ต่อบ้านเมือง และเพื่อความเจริญก้าวหน้าผาสุกของอาณาราษฎรนครลำปาง ยังคงยั่งยืนสถาพรตราบเท่าทุกวันนี้