ศรีชุมวันวาน

ด้านหน้าวัดศรัชุมในอดีต


ชุมชนศรีชุมในอดีต มีสภาพเป็นเช่นไร มิได้ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ แต่ขอเล่าขานให้เห็นถึงสภาพของชุมชนชน จากบันทึกอันทรงคุณค่า ซึ่งทำให้เราได้รู้ว่า ชุมชนศรีชุมเมื่อครั้งอยู่ในเขตตำบลพระบาท มีสภาพภูมิประเทศ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เป็นอย่างไร มีปรากฏการณ์สถานที่สำคัญ เกิดขึ้นที่ใดบ้าง แต่เดิมนั้นชุมชนศรีชุมอยู่ในเขตตำบลพระบาทซึ่งเป็นนามที่มีความเป็นสิริมงคลอันเนื่องจากพบรอยพระบาท ณ บริเวณนั้น (ปัจจุบันคือวัดพระบาท) ความเป็นสิริมงคลได้เพิ่มพูนเป็นทวีคูณ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (พระราชอิสริยยศ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ในขณะนั้น เสด็จต่างพระเนตรพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชชนกนาถ ประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๔๔๘

ดังความตอนหนึ่งจากจดหมายเหตุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสมณฑลพายัพ



จดหมายเหตุ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ

สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสมณฑลพายัพ วันที่ ๔ กุมภาพันธ์รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔

ขอเดชะฝ่ายละอองธุลีพระบาทปกเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบบังคมทูลเรื่องมณฑลพายัพ ตามกระแสพระบรมราชโองการต่อไป ถ้าพลาดพลั้งประการใด พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ

ออกจากแพร่เดินทางตัดไปนครลำปาง ตามทางเป็นป่าดงโดยมากมีหมู่บ้านผู้คนห่าง ๆ แต่มีป่าไม้อยู่มาก บริบูรณ์ด้วยไม้สักไม้ตะเคียน ครั้นใกล้เมืองนครลำปางเองแล้ว จึงมีบ้านเรือนหนาแน่นขึ้นบ้าง ตามเหล่านี้ ไร่นาไม่ใคร่มี เพราะฉะนั้นที่นครลำปางอยู่ข้างขัดสน เข้าตัวเมืองนครลำปางเองก็ติดแน่นหนาอยู่ภายในกำแพง ด้านใต้แห่งลำน้ำ ด้านเหนือมีบ้านเรือนมากก็จริง แต่ยังมีเป็นป่าปนอยู่ ด้านใต้นั้นดูคึกคัก มีห้างและร้านอยู่มาก คณะเงี้ยวที่นี่ก็ใหญ่ และทำการค้าขาย มีร้านเล็ก ๆ ขายผ้าผ่อนแพรพรันสั่งจากมรแมง ที่เป็นห้างใหญ่ ๆ มีห้างพม่าบ้างจีนบ้าง ราษฎรในเมืองนี้ดีกว่าเมืองแพร่หลายส่วน คือมีหน้าตาเป็นผู้ลากมากดีกว่าทางโน้น ส่วนเจ้านครลำปางสังเกตดูว่า เป็นคนฉลาดคิดการงานลึกซึ้งรอบคอบ และในเวลานี้เอาใจใส่ในราชการมาก ส่วนตัวข้าพระพุทธเจ้าเองนั้น จะเป็นด้วยเกรงใจมากหรืออย่างไรไม่ทราบ ดูไม่ใคร่จะสนทนาด้วยยืดยาว เป็นแต่ถามอะไรไปก็ตอบมาเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นก็ดี พอจะสังเกตเห็นได้ว่า คำที่ตอบมานั้นเฉียบแหลม เป็นคำของผู้มี่ความคิดอันดี เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าเจ้านครลำปางผู้นี้ คงจะไม่เดินทางผิดเช่นน้อยเทพวงษ์เป็นต้น เพราะเป็นคนฉลาดพอที่จะแลเห็นได้ว่า การที่จะถือมั่นในทางสัจจะเป็นประโยชน์แก่คนยิ่งกว่าทางอื่น

ตามที่ได้กราบบังคมทูลมาแล้วนี้ ได้ทราบเกล้าฯ โดยทางสังเกตเองบ้าง ทรงสืบถาม ผู้ที่ควรรู้บ้าง

เพราะฉะนั้น ถ้าพลาดพลั้งประการใด พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า

วชิราวุธ

จากพระราชหัตถเลขา ทำให้เราได้ทราบว่าสภาพภูมิประเทศก่อนจะถึงตัวเมืองนครลำปาง ณ เวลานั้น มีความเป็นธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ ส่วนตำบลพระบาทนั้น ถนนหนทางยังเป็นดินลูกรัง มีบ้านเรือนอาศัยอยู่บางตา เมื่อเข้ามาในเมืองพบว่ามีร้านเล็ก ๆ มีการค้าขายกับชาวต่างชาติ เช่น อังกฤษ พม่า จีน เงี้ยว แขก จึงกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ของนครลำปาง