วัดไชยมงคล (จองคา)

เมื่อ ๓๐๐ กว่าปี สถานที่แห่งนี้เป็นที่ประหารนักโทษ เป็นที่รวมพลนักรบไทยโบราณ ทั้งพวกพม่า ไทยใหญ่ และนักรบพื้นเมืองของคนล้านนา (ในสมัยพ่อเจ้าทิพย์ช้าง) ต่อมาพื้นที่วัดแห่งนี้ได้อยู่ในความดูแลของพระชายาองค์หนึ่งของเจ้านรนันทไชยชวลิต (เจ้าเมืองนครลำปาง) ได้ยกที่ดิน ๙ ไร่เศษ ให้เป็นที่สร้างสำนักสงฆ์ จากทั้งหมด ๓๑ ไร่ คงเหลือไว้ ๒๒ ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่ทำเกษตร ทำนา ปลูกพืชผลเลี้ยงวัด พ่อค้าชาวล้านนาไทย ชาวพม่ารวมตัวกันหลายสิบคน สร้างสำนักสงฆ์จองคา ที่ปรากฏคือ พ่อเลี้ยงอ้าย หรือยศ พ่อเลี้ยง อู โง่ยสิ่น สุวรรณอัตถ์ พ่อเลี้ยงยาติ๋น พ่อเลี้ยงหม่องเมี๊ยว ฯลฯ โดยได้แรงสนับสนุนจากเจ้าแม่ผาง เจ้าแม่ทอง เจ้าแม่จันท์หอม ตลอดจนชาวพุทธ ฤๅษีที่ปฏิบัติธรรม มีกุฏิมุงด้วยหญ้าคาเป็นจำนวนมาก สำนักสงฆ์นี้จึงได้ชื่อว่า จอมใจจองคา (จอง แปลว่า วัด, คา คือ หญ้าคา)

ในปี พ.ศ. ๒๔๒๐-๒๔๕๐ พ่อค้าคหบดี ประชาชน ได้รวมตัวสร้างวิหารหลังหนึ่ง ก่ออิฐถือปูน ด้วยศิลปะพม่าล้านนา ตัววิหารสูง ๑๕ เมตร เป็นวิหารสองชั้น หันบันไดไปทางทิศเหนือ เสาวิหารติดเพชร พลอย อัญมณี สวยงามมาก

ชั้นบนประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่อง เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ นำมาจากประเทศพม่า

ชั้นล่างเป็นที่เรียนหนังสือบาลี มคธ และภาษาพื้นเมือง สมัยนั้นมีการสอบนักธรรมเป็นวัดแรกและวัดเดียวที่มีการสอบบาลี มคธ ต่อมาเจ้าหลวงบุญวาทย์วงษ์มานิต ได้ตั้งชื่อสำนักสงฆ์จองคาเป็นวัดไชยมงคล (จองคา)

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เศรษฐีเชื้อสายพม่า ชาวนครลำปาง ชาวเชียงใหม่ โดยการนำของรองอำมาตย์เอก หลวงโยนะการพิจิตร (ต้นตระกูลอุปะโยธิน) ได้สร้างพระบรมธาตุขึ้นทางทิศใต้ ฐานกว้าง ๙ x ๙ เมตร สูง ๑๘ เมตร ความสูงเป็น ๓ ระดับลดหลั่นกัน แต่ละมุมของฐานชุกชี ชั้นแรกมีเจดีย์ย่อ ๔ มุม ทั้งสี่ด้าน และฐานชั้นที่ ๒ รูปนรสิงห์ทั้ง ๔ ด้าน ฐานที่ ๓ เป็นเจดีย์ทรงคว่ำ สูงขึ้นไปเป็นยอดเงิน-ทอง เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ ประดับด้วยอัญมณีต่างๆ ภายในบรรจุพระบรมเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า ๓ เส้น ซึ่งอัญเชิญมาจากพระบรมเจดีย์ชะเวดากอง เมืองพม่า (พระอาจารย์ณรงค์ เขมินโท (อูเข่เมงดะ)

พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๔๘๕ วัดไชยมงคล (จองคา) ถูกใช้เป็นสถานที่ตั้งของกองทัพญี่ปุ่นและกองทัพไทยระยะหนึ่ง พ.ศ. ๒๔๙๘ เจ้าอาวาส องค์ที่ ๔ (พระอาจารย์ณรงค์ เขมินโท (อูเข่เมงดะ)) พาพระ เณร อุบาสก อุบาสิกา พัฒนาวัดมาเป็นลำดับ ในช่วง พ.ศ.๒๕๑๗-๒๕๓๖ เป็นการพัฒนาทั้งด้าน เสนาสนะวัตถุ และการปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานเจริญถึงขีดสุด โดยมอบให้ศิษย์เอกชื่อโยคาวจรจินดามณีรัฏฐกา เป็นประธานนำการพัฒนา จัดระเบียบวัด ทั้งฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสี เขตพุทธวาส สังฆาวาส และเขตปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานจินดามณี มีศาลาพัก ศาลอเนกประสงค์และเขตอภัยทาน พ.ศ. ๒๕๓๗- ๒๕๔๖ พระครูสถิตาเขมคุณ (เพชร) อดีตรองเจ้าคณะอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม มาเป็นเจ้าอาวาส โดยการอาราธนานิมนต์ของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเวลานั้น เพื่อสืบสานการอบรมกัมมัฏฐาน สมถะวิปัสสนา ต่อจากพระอาจารย์ณรงค์ เขมินโท ที่ได้มรณภาพไป เพื่อให้วัดไชยมงคล (จองคา) ยังคงเป็นวัดที่มีเอกลักษณ์ของการปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน

สถิตศรีมงคลนาม งดงามศิลปะสถาปัตยกรรมโดยแท้ นับเป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าของศรีชุม บัดนี้ วัดไชยมงคล (จองคา) ได้ผ่านกาลเวลามาถึง ๑๔๔ ปีแล้ว ความงดงามของประวัติ และสถาปัตยกรรม ยังรอการมาเยือนของผู้คน และร่วมกันอนุรักษ์ พัฒนาให้ยั่งยืนต่อไปตราบนานเท่านาน

(กราบนมัสการพระอธิการสมศักดิ์ กิตฺติธโร เจ้าอาวาส (๒๕๕๑) ที่เมตตาให้ข้อมูล)