วัดศรีชุม

ในอดีต วัดศรีชุมจะมีสมภารวัดและภิกษุที่จำพรรษาเป็นชาวพม่า และเป็นที่พักอาศัยของชาวพม่าที่เข้ามาพำนักอยู่ในไทย ประชาชนคนพื้นเมืองในละแวกนี้ จะไม่นิยมเข้าไปทำศาสนกิจในวัดพม่าเลย เช่น งานศพ งานบุญต่างๆ จะพากันไปทำที่วัดน้ำล้อม วัดเมืองศาสน์ วัดคะตึก เป็นต้น ปัจจุบันวัดศรีชุมอยู่ในความดูแลของพระภิกษุไทย ทั้งเจ้าอาวาสและพระลูกวัดจะเป็นคนไทยตามระเบียบของการปกครองคณะสงฆ์ของประเทศไทย

วัดศรีชุม นครลำปาง เป็นวัดพม่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างโดย จองตะก่าอูโย และแม่เลี้ยงป้อม ในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ เดิมพื้นที่วัดแห่งนี้เคยเป็นวัดมาก่อน แต่เป็นวัดเล็กๆ มีศาลาและบ่อน้ำ จองตะก่าอุโย จึงได้ทูลขออนุญาตเจ้าผู้ครองนครลำปาง (เจ้าหลวงนรนันทไชยชวลิต) สร้างวัดศรีชุม โดยตั้งชื่อเป็นภาษาพม่าว่า “หญ่องไวง์จอง”

บ่อน้ำ จองตะก่าอุโย



วัดศรีชุมเป็นวัดพม่าที่มีลักษณะมณฑปทรงพญาธาตุซ้อนลดหลั่นกัน ๕-๗ ชั้น ทุกชั้นของหลังคาประดับด้วยโลหะฉลุลวดลาย และประดับฉัตรเสาของวิหารสลักลวดลาย ปิดทอง ประกอบด้วยลายเครือเถาและพรรณพฤกษา ภายในอาคารด้วยเทคนิคปูนปั้นแปะกับส่วนประกอบที่เป็นไม้ ลงรักปิดทองสลับด้วยการประดับกระจกสี

นอกจากนั้นแล้วยังมีอุโบสถที่สร้างคล้ายกับวิหาร ประดิษฐานพระพุทธรูปแบบพม่า พุทธลักษณะแบบนั่งสมาธิงามปางมารวิชัย หรือที่เรียกภาษาพม่าว่า “เตงเพลงเขว่” ส่วนสำคัญของวัดศรีชุมอีกประการหนึ่ง คือ มีเจดีย์ทรงพม่า ลักษณะของเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยมจัตุรัส

วัดศรีชุมได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศแวะเวียนเข้ามาชมและบันทึกภาพมิได้ขาด

วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๓๕ วิหารวัดศรีชุมถูกไฟไหม้ครั้งใหญ่และรุนแรง วิหารวัดที่ได้ชื่อว่าเป็นศิลปกรรมพม่าที่สวยงามที่สุดและเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ได้อันตรธานไปพร้อมกับเปลวเพลิง แม้ว่าหลังจากนั้นกรมศิลปากรจะได้มีการบูรณะขึ้นใหม่ตามแบบของเดิมทุกอย่าง ทว่าคุณค่าแห่งกาลเวลาไม่สามารถลบเลือนความเศร้าสะเทือนใจต่อการสูญเสียครั้งนี้ของชาวบ้านวัดศรีชุมไปได้

บัดนี้ วัดศรีชุมได้ผ่านกาลเวลามาถึง ๑๓๑ ปี แล้วจนไม่เป็นเพียงวัดที่ได้รับมรดกทางสถาปัตยกรรมแบบพม่า ให้เราได้ชื่นชมแต่เพียงอย่างเดียว พุทธศาสนิกชนทั้งหลายโดยเฉพาะชุมชนจะร่วมกันอนุรักษ์พัฒนาให้เกิดความงดงาม เกิดความศรัทธาที่ยั่งยืนต่อไป