ฮวงจุ้ยและชัยภูมิ

คำว่า "ชัยภูมิ" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต ได้ให้ความหมายว่า "ทำเลที่เหมาะ "

ซึ่ง คำว่า "ทำเล" แปลว่า "ถิ่นที่ตั้ง" และ คำว่า "เหมาะ" มีความหมายว่า "ดี" (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต)

ดังนั้น "ศาสตร์ด้านชัยภูมินั้น คือ วิชาที่ใช้ในการหาถิ่นที่ตั้งที่ดี" จึงทำให้หลายท่านหลายคนที่ประสงค์จะซื้อที่ดินปลูกบ้านก็ดี สร้างธุรกิจก็ดี

จึงให้ความสนใจวิชาศาสตร์เกี่ยวกับชัยภูมิ อาทิ ฮวงจุ้ยซึ่งเป็นวิชาของประเทศจีน และวิชาชัยภูมิไทยที่อาจรู้จักกันน้อยกว่าในวงกว้าง

นอกจากนี้ในประเทศทางตะวันตกนั้นก็มีการนำวิชาโหราศาสตร์สากล และแผนที่ดาวมาใช้ในการกำหนดชัยภูมิ หรือบริหารจัดการพื้นที่

(space management) ด้วยเช่นกัน แต่มักพบว่าในต่างประเทศจะนิยมนำวิชาฮวงจุ้ยของจีนมาใช้ในการจัดการพื้นที่ร่วมกับวิชาการบริหาร

สำนักงานสมัยใหม่มากกว่า

ชัยภูมิไทย

ชัยภูมิไทย เป็นวิชาที่มีมานานคู่กับประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยมีพื้นฐานมาจากวิชาทักษา สันนิษฐานว่ามีต้นวิชามาจากประเทศอินเดีย ซึ่งการจัดบ้านให้ความสำคัญกับทิศทางลม ความสะดวกในการเคลื่อนไหว ความสะอาดสบาย และหลักการตามวิชาทักษา รวมทั้งท่านผู้รู้หลาย ๆ ท่านยังมีการนำวิชาโหราศาสตร์ไทย และวิชาทักษามหายุคมาใช้ในการกำหนดชัยภูมิอีกด้วย

การกำหนดชัยภูมิตามวิชาชัยภูมิไทยอย่างง่าย

การจัดวาง หรือกำหนดชัยภูมิไทยอย่างง่ายนั้น จำเป็นต้องมีความเข้าใจในวิชาทักษา และความหมายดาวพื้นฐาน ซึ่งเป็นพื้นฐานก่อนในลำดับแรก โดยวิชาทักษาเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับพื้นที่นั้น เปรียบได้กับการขีดตารางเก้าช่อง โดยแต่ละช่องประจำด้วยดาวต่าง ๆ นับไล่เรียงตั้งแต่ซ้ายมือด้านบนสุดเวียนขวาตามเข็มนาฬิกาไปจนครบแปดช่อง คือ ดาวอาทิตย์ (๑ หรือ 1) ดาวจันทร์ (๒ หรือ 2) ดาวอังคาร (๓ หรือ 3)ดาวพุธ (๔ หรือ 4) ดาวเสาร์ (๗ หรือ 7) ดาวพฤหัสบดี (๕ หรือ 5) ดาวราหู (๘ หรือ 8) ดาวศุกร์ (๖ หรือ 6)และพื้นที่ตรงกลางคือช่องที่เก้า ประจำด้วยดาวเกตุ (๙ หรือ 9) แสดงได้ดังภาพทางด้านล่างนี้

เมื่อลงตัวเลขในตารางแล้ว ให้กำหนดทิศลงในตารางตามดาวต่าง ๆ โดยวนทางขวาตามเข็มนาฬิกาโดยเริ่มจากดาวอาทิตย์ หรือช่องด้านซ้ายบนสุดคือ

ดาวอาทิตย์ (๑ หรือ 1) คือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ช่องด้านซ้ายบน)

ดาวจันทร์ (๒ หรือ 2) คือ ทิศตะวันออก (ช่องด้านบนตรงกลาง)

ดาวอังคาร (๓ หรือ 3) คือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ (ช่องด้านขวาบน)

ดาวพุธ (๔ หรือ 4) คือ ทิศใต้ (ช่องด้านขวาตรงกลาง)

ดาวเสาร์ (๗ หรือ 7) คือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ (ช่องด้านขวาล่าง)

ดาวพฤหัสบดี (๕ หรือ 5) คือ ทิศตะวันตก (ช่องด้านล่างตรงกลาง)

ดาวราหู (๘ หรือ 8) คือ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ช่องด้านซ้ายล่าง)

ดาวศุกร์ (๖ หรือ 6) คือ ทิศเหนือ (ช่องด้านซ้ายตรงกลาง)

ดาวเกตุ (๙ หรือ 9) คือ กลาง (ผู้รู้บางท่านเรียกทิศท่ามกลาง)

โดยทิศที่กล่าวมาให้เรานำบ้านที่ต้องการศึกษามาวัดทิศทาง (ใช้เข็มทิศ) เพื่อให้เราทราบในเบื้องต้นว่าบ้านที่ต้องการทราบนั้นหันหน้าทิศทางใด และส่วนใดของบ้านอยู่ในทิศใด เพื่อใช้ศึกษาในลำดับต่อไป

เมื่อทราบแล้วว่าบ้านอยู่ในทิศทางใดให้นำมาเทียบกับภาพเพื่อดูว่า แต่ละส่วนของบ้านตรงกับทิศใดละมีธาตุใดเป็นหลักดังแสดงในภาพ

ดาวอาทิตย์ (๑ หรือ 1) คือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ช่องด้านซ้ายบน) ธาตุไฟ

ดาวจันทร์ (๒ หรือ 2) คือ ทิศตะวันออก (ช่องด้านบนตรงกลาง) ธาตุดิน

ดาวอังคาร (๓ หรือ 3) คือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ (ช่องด้านขวาบน) ธาตุลม

ดาวพุธ (๔ หรือ 4) คือ ทิศใต้ (ช่องด้านขวาตรงกลาง) ธาตุน้ำ

ดาวเสาร์ (๗ หรือ 7) คือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ (ช่องด้านขวาล่าง) ธาตุไฟ

ดาวพฤหัสบดี (๕ หรือ 5) คือ ทิศตะวันตก (ช่องด้านล่างตรงกลาง) ธาตุดิน

ดาวราหู (๘ หรือ 8) คือ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ช่องด้านซ้ายล่าง) ธาตุลม

ดาวศุกร์ (๖ หรือ 6) คือ ทิศเหนือ (ช่องด้านซ้ายตรงกลาง) ธาตุน้ำ

ดาวเกตุ (๙ หรือ 9) คือ กลาง (ทิศท่ามกลาง) ในวิชาโหราศาสตร์และเลขเจ็ดตัวให้เป็นวิญญาณธาตุ (ให้พระมฤตยูเป็นอากาศธาตุ) ในที่นี้กำหนดพื้นที่ตรงกลางเป็นอากาศ หรือที่ว่าง

โดยการที่จะพิจารณาบ้าน หรืออาคารต่าง ๆ นั้นต้องพิจารณาจากวันเกิดเจ้าของบ้านเป็นสำคัญ เช่น ถ้าเจ้าของบ้านเกิดวันอาทิตย์ให้นับตามตารางที่ได้เขียนมาโดยเวียนขวาตามเข็มนาฬิกาไล่ตั้งแต่ดาวอาทิตย์ คือ บริวาร เป็นต้นไปจนถึงดาวศุกร์จนบรรจบครบรอบ และเขียนตำแหน่งตามวิชาทักษา คือ บริวาร อายุ เดช ศรี มูละ อุตสาหะ มนตรี และกาลกิณี (กาลี) ดังนี้

ดาวอาทิตย์ (๑) เป็นบริวาร

ดาวจันทร์ (๒) เป็นอายุ

ดาวอังคาร (๓) เป็น เดช

ดาวพุธ (๔) เป็นศรี

ดาวเสาร์ (๗) เป็นมูละ

ดาวพฤหัสบดี (๕) เป็นอุตสาหะ

ดาวราหู (๘) เป็นมนตรี

ดาวศุกร์ (๖) เป็นกาลกินี หรือกาลี

โดยคำต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในวิชาทักษาในการกำกับช่องต่าง ๆ มีความหมายดังนี้

บริวาร คือ บุคคล สิ่งของต่าง ๆ ที่อยู่ในความครอบครอง หรือดูแลของเจ้าบ้าน หรือเจ้าชะตา เช่น ลูกหลาน ลูกจ้าง รถยนต์ เป็นต้น พวกพ้อง หมู่คณะ ผู้มีฐานะต่ำกว่า

อายุ คือ วิถีชีวิต สุขภาพ สิ่งที่ทำเป็นประจำ อายุ

เดช คือ พลังอำนาจ เกียรติยศ ชื่อเสียง ความโด่งดัง ความน่าเชื่อถือ

ศรี คือ ความสำเร็จ เงิน ความสมบูรณ์ มงคล

มูละ คือ ความมั่นคง ความหนักแน่น ถิ่นที่อยู่ มรดก

อุตสาหะ คือ อาชีพ การศึกษา ความขยัน ความเหนื่อย ความลำบาก อุปสรรคไม่รุนแรง

มนตรี คือ การสนับสนุน การช่วยเหลือ การส่งเสริม ผู้ใหญ่

กาลกิณี หรือ กาลี คือ ความเสียหาย ความชั่วร้าย ปัญหาหนัก ความบกพร่อง



ตัวอย่างภาพทางด้านล่าง คือ บุคคลที่เกิดวันอาทิตย์ ให้เริ่มนับจากวันอาทิตย์ คือ ๑ (ช่องซ้ายมือบน) เป็น บริวาร ไล่ตามไปทางขวามือไปตามเข็มนาฬิกา จนจบที่ดาวศุกร์ตามภาพทางด้านล่างนี้

โดยให้วงตำแหน่งดาว "บริวาร" ด้วยสัญลักษณ์ในที่นี้คือดาวอาทิตย์ "วงกลม" และ เขียนสัญลักษณ์ "สามเหลี่ยม" ที่ตำแหน่ง "กาลกิณี หรือกาลี" ในที่นี้คือ ดาวศุกร์ แสดงได้ดังภาพทางด้านล่างนี้

ตัวอย่างที่สอง กรณีเจ้าบ้าน หรือเจ้าชะตาเกิดวันพฤหัสบดี

ให้เริ่มนับจากดาวพฤหัสบดี (๕) ตรงช่องกลางด้านล่าง เป็นตำแหน่งบริวาร วนขวาตามเข็มนาฬิกา ดาวราหู (๘) เป็นตำแหน่งอายุ ดาวศุกร์ (๖) เป็น ตำแหน่งเดช ดาวอาทิตย์ (๑) เป็นตำแหน่งศรี ดาวจันทร์ (๒) เป็นตำแหน่งมูละ ดาวอังคาร (๓) เป็นตำแหน่งอุตสาหะ ดาวพุธ (๔) เป็นตำแหน่งมนตรี และดาวเสาร์ (๗) เป็นตำแหน่งกาลกิณี ซึ่งท่านผู้อ่านจะพบว่าแตกต่างกับตัวอย่างของบุคคลที่เกิดวันอาทิตย์ แสดงดังภาพทั้งสองภพทางด้านล่างนี้

เมื่อเราทราบตำแหน่งต่าง ๆ ตามวิชาทักษาแล้ว รวมถึงเรื่องธาตุและดาวที่รักษาตามทิศแล้ว หลังจากนั้นให้นำมาพิจารณากับบ้านที่ต้องการนำมาศึกษา

การนำตำแหน่งทักษาตามวันเกิด ทิศ และธาตุมาใช้ในการพิจารณาและจัดบ้าน

ที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นการประยุกต์นำมาใช้โดยง่ายเพื่อให้ท่านผุ้อ่านสามารถนำไปใช้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งแนวคิดจะแตกต่างกับวิชาฮวงจุ้ยของจีน รวมถึงอาจจะยังไม่ได้ลงรายละเอียดในเบื้องลึก อย่างไรก็ตามในส่วนของบ้านถ้าไม่เป็นสี่เหลี่ยม เช่น เป็นตัวแอล หรือสี่เหลี่ยมคางหมูก็ถือว่ามุมนั้นขาดไปไม่สมบูรณ์เช่นเดียวกับวิชาฮวงจุ้ย

  1. พิจารณาตำแหน่งที่บ้านหันหน้าว่าบ้านหันหน้าไปทางทิศใด
  2. การนำธาตุมาใช้ในการพิจารณาบ้าน ถ้าจะจัดวางครัวให้จัดวางที่ตำแหน่งดาวอาทิตย์ (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) หรือดาวเสาร์ (ทิศตะวันตกเฉียงใต้) ที่เป็นธาตุไฟ การจัดวางบริเวณน้ำใช้ (เช่น ห้องน้ำ หรือซักล้าง) วางไว้ตำแหน่งดาวพุธ (ทิศใต้) ถ้าเป็นน้ำดื่มน้ำสะอาดให้ใช้ในตำแหน่งดาวศุกร์ (หรือไม่สะดวกก็ให้ใช้ในตำแหน่งที่ไม่ใช่ธาตุไฟ)
  3. หลักจากนั้นให้พิจารณาตามตำแหน่งทักษา เช่น ท่านที่เกิดวันอาทิตย์

ตำแหน่งของเจ้าบ้าน (ที่เจ้าบ้านใช้เวลาอยู่มากที่สุด) เช่น ห้องนอน ควรวางไว้ตำแหน่งเดช (ดาวอังคาร)

ที่เก็บของ หรือห้องนอนบุตรหลาน ห้องนอนสมาชิกท่านอื่น ให้วางไว้ตำแหน่งบริวาร (ดาวอาทิตย์)

ที่เก็บทรัพย์สินมีค่า รวมไปถึงห้องทำงาน ให้วางไว้ตำแหน่งศรี (ดาวพุธ) หรืออาจใช้ไว้ตำแหน่งเดชแทนได้ถ้าไม่สะดวก

ห้องพระ และห้องนอนผู้ใหญ่ในบ้าน สามารถตั้งไว้ในตำแหน่งมนตรีได้

ห้องน้ำ หรือที่สกปรก สภาพเก่า เช่นห้องเก็บของ ให้วางไว้ตำแหน่งกาลกิณี หรือกาลี โดยตำแหน่งกาลกิณี หรือกาลีห้ามจัดเป็นห้องนอน ห้องพระ หรือห้องเก็บทรัพย์สิน


ฮวงจุ้ย (Feng shui)

ฮวงจุ้ย (Feng shui) หรืออาจออกเสียงได้ว่า เฟิงสุ่ย 风水 (Traditional Chinese 風水) เป็นวิชาในของจีนที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิเต๋า ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเลือกที่ดิน จัดบ้านและสภาพแวดล้อม โดยพิจารณา ลม (ฮวง) และ น้ำ (จุ้ย) อาศัยหลักการเคลื่อนของพลังชี่ หรือพลังงานชีวิต (Qi หรือ Ch'i ในญี่ปุ่นเรียก Ki) ที่มีอิทธิพลต่อผู้อยู่อาศัยในบ้าน โดยประวัติความเป็นมาของวิชาฮวงจุ้ยนั้นเชื่อกันว่ามีกำเนิดมาก่อนยุคประวัติศาสตร์ เริ่มจากการสร้างแผนที่ดาวของจีนตั้งแต่ประมาณ 4,000 ปีก่อนคริสตกาล และมีการสร้างวิชาโหราศาสตร์จีนตั้งแต่ในยุคนั้น หลังจากนั้นประมาณ 3,500 ปีก่อนคริสตกาลจึงมีการสร้างเข็มทิศแบบจีน หรือ ที่เรียกกันว่า หล่อแก (Luopan / 罗盘 ) ขึ้น หลังจากนั้นจึงมีการดูสถานที่เพื่อสร้างสุสาน (บ้านเราเรียกฮวงซุ้ย) ขึ้น โดยมีความเชื่อพื้นฐานว่าถ้าสามารถจัดตำแหน่งที่ตั้งให้กับสุสานบรรพบุรุษได้ดี พลังงานทางบวกจะส่งจากบรรพบุรุษมาสู่บุตรหลานเพื่อสร้างความสำเร็จในชีวิตและกิจการต่าง ๆ ได้ ซึ่่งเป็นที่มาของวิชาฮวงจุ้ย ในปัจจุบัน

การดูฮวงจุ้ย ในต้องประกอบไปด้วย

1. การดูสถานที่ ซึ่งอาจเรียกว่าชัยภูมิ รวมถึงทิศทางต่าง ๆ

2. การดูคน ดวงชะตา (ตั้งดวงจีนตามวันเดือนปีเกิด) +โหงวเฮ้ง (ลักษณะหน้า)

3. ฤกษ์ในการดำเนินการ

การดูฮวงจุ้ยให้สมบูรณ์ผู้รู้วิชาฮวงจุ้ยจึงต้องลงไปที่พื้นที่จริง ต้องมีการตั้งดวงจีน เพื่อดูธาตุที่แข็งและอ่อน พิจารณาโหงวเฮ้ง และดูฤกษ์ที่เหมาะสม (ซึ่งแตกต่างจากการวางฤกษ์ในวิชาโหราศาสตร์ไทย)

ดังนั้น การที่จะดูฮวงจุ้ยกับครูอาจารย์ หรือซินแสที่มีวิชาความรู้ จึงมีความสำคัญจำเป็น เนื่องจากเป็นวิชาที่ละเอียดและต้องใช้ความรู้ และประสบการณ์ และต้องมีการใช้เข็มทิศจีน (หล่อแก) ในการวัดทิศทางด้วย การดูเผิน ๆ ด้วยตา และแก้ไขจึงอาจแก้ได้ในบางจุดเท่านั้น

หลักการวิชาฮวงจุ้ยเบื้องต้น

การเลือกพื้นที่

1. การซื้อที่ดินเปล่าต้องเป็นพื้นที่ที่เป็นสี่เหลี่ยม (ถ้าไม่ใช่สี่เหลี่ยมควรหลีกเลี่ยงถ้ามีอยู่แล้วต้องหาวิธีแก้ ซึ่งไม่สามารถแก้ได้ทั้งหมด บรรเทาได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น

2. ที่ดินต้องตั้งอยู่ห่างจากวัด (ในทุกศาสนา) สุสาน โรงพยาบาล โรงไฟฟ้า ร้านขายของเก่า สถานที่เก็บของเก่า ทางสามแพร่ง โรงฆ่าสัตว์ เรือนจำสถานีตำรวจ รวมถึงควรอยู่ห่างจากโรงงานอุตสาหกรรม

3. ถ้าเป็นบ้านพักอาศัย (ไม่ใช่สถานประกอบการ) ไม่ควรอยู่ติดถนนไฮเวย์ (Highway) นักต้องห่างในระดับหนึ่ง

ภาพทางซ้ายมือเป็นการเลือกพื้นที่

-ควรเลือกพื้นที่ที่เป็นสี่เหลี่ยม ภาพสีเขียว

-ไม่ควรเลือกพื้นที่มีรูปร่างไม่เป็นสี่เหลี่ยม

ภาพสีเทา เพราะจะทำให้เกิดมุมขาด

การจัดพื้นที่บ้าน รูปแบบอาคาร หรือรูปแบบบ้านพื้นฐาน

1. บ้านอายุยืน

2. บ้านอายุสั้น

ภาพสีเขียว เป็นบ้านรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าทรงลึก บ้านลักษณะนี้เรียกว่า "บ้านอายุยืน"

ถ้าถามว่าบ้านอายุยืนดีอย่างไร?

เบื้องต้น คือ ดีตามชื่อครับ อยู่แล้วอายุยืน นั่นคือเชื่อว่าอยู่แล้วผู้อยู่อาศัยจะมีสุขภาพดี เริ่มจากสุขภาพจิตดี มีความสุข สงบ สบาย นำมาซึ่งสุขภาพ

กายที่ดีตามมาด้วย แต่ที่จริงแล้วบ้านอายุยืนแสดงถึงเมื่อผู้อยู่อาศัยเมื่อพักอาศัยในบ้านลักษณะนี้จะอยู่นาน เช่นเดียวกับคำว่าอายุยืน นั่นคือ ผู้อาศัย

จะมีความสุขที่ได้อยู่บ้านมากกว่าการออกไปอยู่สถานที่อื่นนอกบ้าน (แต่บางครั้งก็ทำให้เป็นคนติดบ้านด้วยเช่นกัน)

ภาพสีส้ม 2 ภาพ เป็นบ้านทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส และ บ้านทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวกว้าง ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า "บ้านอายุสั้น"

แต่อย่าเพิ่งตกใจว่า ถ้าพักอาศัยในบ้านลักษณะนี้แล้วจะอายุสั้น ไม่ใช่เช่นนั้นครับกรณีอายุสั้นนั้นต้องใช้หลายปัจจัยประกอบกัน

สำหรับบ้านอายุสั้นส่งผล คือ ผู้อาศัยจะอยู่ไม่ติดบ้าน ชอบออกไปข้างนอกมากกว่าอยู่บ้าน กล่าวคือมีความสุขที่ได้ออกไปข้างนอกมากกว่าอยู่บ้าน

ท่านใดซื้อหาบ้านลักษณะนี้ไว้ก็ลองสังเกตดูครับว่าตรงหรือไม่ หรือคอนโดมิเนียมสัยใหม่จะสังเกตได้ง่ายครับ


คำถามคือ แล้วเช่นนั้นบ้านอายุสั้นไม่มีข้อดีเลยหรือ

คำตอบ คือ ทั้งบ้านอายุสั้นและบ้านอายุยืน ทั้งสองประเภทมีทั้งข้อเด่นและข้อด้อย

ข้อดีของบ้านอายุสั้น คือ เหมาะกับการทำธุรกิจ และการทำการค้าต่าง ๆ ในธุรกิจใดที่ต้องการให้ลูกค้าเข้าออกเร็ว คือ มาติดต่องานแล้วกลับ

มาซื้อของแล้วกลับ เช่น ธนาคาร ศูนย์บริการรถยนต์ และ Counter Service ต่าง ๆ จะนิยมใช้รูปแบบนี้ซึ่งสะดวกต่อการเข้ามาติดต่องานและ

เดินทางกลับอย่างคล่องตัวรวดเร็ว

ในทางกลับกันถ้าเราใช้บ้านอายุยืนเป็น Counter Service คราวนี้ลูกค้าก็ตกค้าง ติดต่องานไม่สะดวก และพนักงานก็อาจไม่อยากกลับบ้าน

ซึ่งเหมือนจะเป็นข้อดีว่าพนักงานทำงานเกินเวลา แต่จริง ๆ แล้วอาจจะไม่อยู่เพื่อทำงานเกินเวลาแต่อาจจะอยู่พักผ่อนที่ทำงานจนเหมือนบ้านก็ได้

เช่น อยู่ฆ่าเวลารถติด อยู่สังสรรค์กับเพื่อน ซึ่งจะส่งผลต่อการบริหารจัดการภายในได้เช่นกัน


เมื่อทราบแล้วท่านผู้อ่านก้สามารถนำไปปรับใช้กับสถานที่ที่มีตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดครับ

การจัดสภาพแวดล้อมภายนอกบ้าน

การจัดสภาพแวดล้อมภายนอกบ้านเมื่อพิจารณาจากภาพด้านบนสามารถอธิบายได้ดังนี้

การจัดสภาพแวดล้อมภายนอกบ้านนั้นให้พิจารณาจากทั้ง 4 ทิศ โดยดูจากหน้าบ้านเป็นหลัก ซึ่งวิธีคือ ให้เจ้าบ้านยืนหันหน้าออกประตูหน้าบ้าน เมื่อหันหน้าออกประตูบ้านทางใด บริเวณหน้าบ้านนั้น คือ ลานหงส์แดง (Vermilion Bird)

ด้านซ้ายมือ คือ มังกรเขียว (Azure Dragon)

ด้านขวามือ คือ เสือขาว (White Tiger)

และด้านหลังบ้าน คือ เต่าดำ (Black Tortoise)

โดยการจัดบ้านให้มีหลักดังนี้

(เมื่อยืนที่ประตูหันหน้าออกหน้าบ้าน/นอกบ้าน)

หน้าบ้าน ลานหงส์แดง (Vermilion Bird) - ที่โล่ง ว่าง สะอาด

ต้องให้ลานหน้าบ้านมีลักษณะโล่ง มีแสงแดดส่องถึง สะอาด สามารถเคลื่อนไหวเข้าออกได้สะดวก โดยแนวคิดแบบจีนเชื่อว่าลานนี้เป็นที่รับพลังของบรรพบุรุษที่จะส่งมาให้กับลูกหลาน และสามารถจัดให้มีน้ำที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อดึงดูดพลังงานที่ดีได้ เช่น สระบัวที่มีอุปกรณ์หมุนน้ำ แ่ต้องไม่ให้น้ำหก และไม่ควรเลี้ยงปลาไว้ในสระบัวนี้ และห้ามทำสระว่ายน้ำอยู่หน้าบ้านโดยเด็ดขาด

ด้านซ้ายมือ คือ มังกรเขียว (Azure Dragon) - ที่เคลื่อนไหว คล่องตัว

เป็นที่ที่ต้องจัดให้เคลื่อนไหวง่าย เคลื่อนไหวคล่องตัวที่สุด ในพื้นที่บริเวณนี้มีการเคลื่อนไหวเสมอ ๆ ไม่หยุดนิ่ง เช่น จัดเป็นที่จอดรถ ที่ออกกำลังกาย เป็นต้น เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นที่ที่แสดงถึงการหารายได้เข้าบ้าน การเคลื่อนไหวที่ไม่หยุดนิ่ง และคล่องตัวย่อมแสดงถึงรายได้ที่ไม่หยุดนิ่งและคล่องตัวด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่ควรจัดเป็นสวนหย่อม หรือที่เก็บของ ซึ่งมีสภาพนิ่ง และควรทำความสะอาดรถยนต์ที่จอดไว้ไม่ปล่อยให้เหมือนรถจอดร้างสกปรก

ด้านขวามือ คือ เสือขาว (White Tiger) - สงบเยือกเย็น แต่ไม่ถึงกับหยุดนิ่ง

ในด้านขวามือของบ้านเป้นสถานที่ที่ต้องจัดให้มีความสงบนิ่งมีการเคลื่อนไหวน้อย แต่ไม่ใช่รกร้าง หรือหยุดนิ่ง สิ่งของที่จัดวางไว้อาจเป้นเก้าอี้ โต๊ะนั่งเล่น ของที่ใช้ในบางโอกาสเช่น บันได ไม้กวาด แต่ต้องไม่ใช่ของใหญ่ที่ไม่เคลื่อนไหวเลย หรือเคลื่อนย้ายยาก และในด้านนี้ควรจัดเป็นสวนขนาดเล็ก หรือมีการจัดวางต้นไม้ให้ร่มเย็นแต่ควรขัดตระไคร่น้ำที่เกาะตามพื้น ในกรณีที่ปลูกพืชกินได้ ควรทำรั้วเตี้ย ๆ กั้นไว้ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย

ด้านหลังบ้าน คือ เต่าดำ (Black Tortoise) - นิ่ง ไม่เคลื่อนไหว มั่นคง

ทางด้านหลังของบ้านแทนด้วยเต่าดำ เต่ามีกระดองที่แข็งสามารถอยู่นิ่ง ๆ ได้นาน ทางด้านหลังบ้านจึงเป็นพื้นที่ที่ต้องพยายามไม่ให้มีการเคลื่อนไหว ต้นไม้ใหญ่ที่มีลำต้นสูงควรไว้ด้านหลังบ้านนี้ สิ่งของขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เคลื่อนย้ายควรจัดไว้ทางด้านหลังบ้าน กรณีการสร้างห้องเก็บของควรจัดให้เลยหลังคาบ้านหลังหลักเพื่อกันการเกิดมุมงอกและมุมขาด และจะสร้างให้เป็นคุณควรปรึกษาผู้มีความรู้วิชาฮวงจุ้ยอีกครั้ง



การพิจารณาชัยภูมิบ้าน

การพิจารณาชัยภูมิบ้านตามหลักวิชาฮวงจุ้ยนั้น ให้วางบ้าน หรืออาคาร เป็นสี่เหลี่ยมดังภาพด้านล่าง โดยการพิจารณาสามารถนำไปพิจารณาดูได้ทั้งพื้นที่ทั้งหมด ตัวบ้าน หรือห้องนอน ได้ ถ้าบ้าน ห้องนอน หรือพื้นที่ไม่เป็นสี่เหลี่ยมทำให้ขาดมุมใดมุมหนึ่งไป เช่น มุมทรัพย์ขาดหายไป ตามวิชาฮวงจุ้ยอธิบายว่าทรัพย์สิน เงินทอง รายได้ ของเจ้าบ้าน หรือเจ้าของห้องจะประสบปัญหาระยะยาวเช่นเดียวกับพื้นที่

*การจะพิจารณาพื้นที่ใดได้ ต้องเป็นสถานที่ที่เจ้าชะตา หรือเจ้าบ้าน อาศัยอยู่เป็นระยะเวลานานพอสมควรไม่ใช่การไปพักเพียง 1 ถึง 2 คืน ผู้รู้บางท่านก็กล่าวว่ามีการพักอาศัยในที่แห่งนั้นในวันหนึ่งไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง

จากภาพผู้เขียนขอยกตัวอย่างจากห้องนอน ถ้าห้องนอนเป็นสี่เหลี่ยมครบ แต่มุมความรักการสมรส เป็นห้องน้ำ ลักษณะเช่นนี้ก็จะส่งผลต่อสัมพันธภาพระหว่างเจ้าของห้องกับคนรัก เช่น ทะเลาะกัน หรือระหองระแหงไม่เข้าใจ หรืออาจส่งผลให้แต่งงานช้าได้

การจัดบ้านแบบง่าย ๆ เพื่อเสริมสถานที่ (บ้าน, ห้องนอน) โดยไม่ขัดหลักฮวงจุ้ย และชัยภูมิไทย

  1. จัดบ้าน ห้อง ทางเดินให้สะอาดเดินง่าย กำจัดหยากไย่ และขยะออกจากบ้าน
  2. ลดการใช้การตกแต่งบ้านด้วยกระจกลง เพราะจะส่งผลต่อความสิ้นเปลือง
  3. นำขยะออกจากบ้านทิ้งวันต่อวัน
  4. ล้างห้องน้ำทำความสะอาดบ่อย ๆ และปิดห้องน้ำ ปิดฝาโถส้วม ปิดฝาท่อเมื่อไม่ใช้ห้องน้ำ กำจัดเชื้อรา และตั้งเกลือใส่แก้วเล็ก ๆ ไว้ในห้องน้ำเปลี่ยนสัปดาห์ละ 1 ครั้งก็ได้ ใช้น้ำร้อนรดที่ท่อและพื้นห้องน้ำบางโอกาส
  5. กรณีใช้ห้องน้ำให้ปิดไฟทุกครั้ง และควรให้มีแสงธรรมชาติส่องเข้าห้องน้ำ
  6. ห้องนอนควรเปิดให้โดนแดด และไม่ควรให้มีเครื่องใช้ไฟฟ้าไว้ในห้องนอน หรือมีไว้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น
  7. เมื่อนอนไม่ควรชาร์ทโทรศัพท์มือถือ และไม่ควรตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าใด หรือทำปลี๊กไฟไว้ใกล้ศีรษะ (หัวนอน)
  8. โทรทัศน์ถ้าอยู่ปลายเท้า (ซึ่งตามหลักแล้วไม่ควร) เมื่อจะเข้านอนควรคลุมผ้าทึบไว้
  9. ในบ้านถ้ามีเครื่องประดับที่มีลักษณะสะท้อนแสงเป็นคมเช่นเดียวกับเพชร แต่ไม่ใช่เพชรจริง หรือคริสตัลจริง ไม่ควรมีไว้ หรือควรเก็บไว้ในที่เก็บที่ไม่สะท้อนแสง (เชื่อว่าแสงบาดตัวทำให้ไปทำลายพลังงานที่ดีในร่างกายจะเจ็บป่วยได้)
  10. โต๊ะรับประทานอาหาร ถ้าบ้านอยู่อาศัยกันหลายคนควรรับประทานพร้อม ๆ กัน (อย่างน้อยในวันหยุด) และมีจานหมุนอาหารลักษระกลมอยู่ตรงกลาง
  11. ประตูบ้าน ประตูห้องน้ำ ประตูห้องนอน ไม่ควรตรงกับบันได ถ้าตรงให้นำฉากทึบมากั้น
  12. ที่นอน โต๊ะทำงาน ที่นั่งเล่นพักผ่อนไม่ควรจัดไว้ใต้คาน
  13. ควรเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท โดยอาจใช้ประตูมุ้งลวด และควรเอาออกทางหน้าบ้านเป็นประตูหลัก
  14. อย่าติดเหล็กดัดที่เปิดไม่ได้จนมีลักษณะเหมือนคุก
  15. ประตู และรั้วหน้าบ้านไม่ควรสูงจนปิดมองไม่เห็นตัวบ้าน
  16. ด้านหลังบ้านต้องมีรั้วที่สูงทึบจนไม่สามารถมองเห็นบ้านด้านหลัง หรือพื้นที่ด้านหลังภายนอกพื้นที่บ้าน
  17. ในกรณีบ้านทาวเฮาร์สที่ด้านหลังต่อเติมจนติดกำแพงไม่ควรทำหลังบ้านให้มีแสงทะลุ
  18. บันไดบ้านไม่ควรเป็นกระจก และควรมีสภาพทึบระหว่างขั้นบันได
  19. ห้องพระ หรือหิ้งพระควรทำความสะอาด และสวดมนต์ในช่วงเย็น หรือก่อนนอน เสมอ และควรจัดห้องพระแยกจากห้องนอน
  20. การจัดบูชาพระพุทธรูป และมหาเทพ เทพ เทวดา ต้องจัดโต๊ะตั้งเพื่อสักการะแยกออกจากกันและสักการะให้เหมาะสม
  21. ห้ามปลูกต้นกระบองเพชรไว้ในบ้าน และห้ามตั้งบนโต๊ะทำงาน
  22. ควรจัดบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และสะอาดหาของง่าย โต๊ะทำงานต้องจัดให้โล่งไม่รก
  23. ไม่ควรรับประทานอาหารบนที่นอน หรือโต๊ะทำงาน
  24. โต๊ะทำงานสามารถนำหลักการจัดพื้นที่ภายนอกมาปรับใช้ได้ เช่น ด้านหน้าโต๊ะทำงาน (ลานหงส์แดง) ด้านซ้ายของโต๊ะทำงาน (มังกรเขียว) วางสิ่งของที่เคลื่อนไหวบ่อย ๆ เช่น เครื่องคิดเลข โทรศัพท์ ด้านขวาของโต๊ะทำงาน (เสือขาว) วางหนังสือวิชาการ คู่มือ หรือเอกสาร ตรงกลางวางคอมพิวเตอร์ ด้านหลังเป็นพาร์ทิชั่น หรือฉากกั้น (partition)
  25. ข้อสุดท้ายอาจไม่ตรงกับวิชาฮวงจุ้ย หรือวิชาชัยภูมิไทย แต่สำหรับท่านที่ต้องการความเจริญก้าวหน้าและความสำเร็จ ท่านควรไหว้ขอพรคุณพ่อคุณแม่ และขอขมาตามโอาส ตลอดจนทดแทนพระคุณท่านอย่างสม่ำเสมอ หรือในโอกาสที่สามารถทำได้ เช่น ทุกเงินเดือนออกพาไปรับประทานอาหาร ซื้อของให้ พาไปทำบุญ และควรหาโอกาสบีบนวด ช่วยงานท่าน และพูดคุยด้วยอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่เพียงให้เงินทุกสิ้นเดือน อีกทั้งควรตอบแทนผู้มีพระคุณที่มีศีลธรรมอันดี ซึ่งเคยส่งเสริมให้โอกาส เช่น ครูอาจารย์ และผู้ใหญ่ที่เคยสั่งสอนช่วยเหลือ ตลอดจนการทำบุญในศาสนาที่เคารพนับถือโดยเป็นการทำบุญที่มุ่งเน้นเพื่อให้ประโยชน์ไม่ใช่หวังประโยชน์ (ไม่ใช่ทำบุญเพื่ออยากได้บุญแม้แรกเริ่มอาจเป็นเช่นนั้นแต่ให้ค่อย ๆ วางค่อย ๆ ละ ทำบุญเพื่อหวังสืบทอดศาสนา ทำบุญเพราะหวังให้พระ หรือนักบวชในศาสนาได้มีความเป็นอยู่ที่เหมาะสม



-หวังว่าท่านผู้อ่านทุกท่านจะสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้ และมีความสุข ความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ของชีวิตครับ-

ด้วยความปรารถนาดี