การคุ้มครองผู้เสียหายในคดีอาญา

การคุ้มครองผู้เสียหายในคดีอาญา

โดยเฉลิมวุฒิ สาระกิจ

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา


เหยื่ออาชญากรรมคือใคร

คำว่า เหยื่ออาชญากรรมอาจมีชื่อเรียกได้หลายคำ เช่น เหยื่อ ผู้เสียหาย เหยื่ออาชญากรรม ในภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า Victim ซึ่งใน Black law Dictionary ให้ความหมายไว้ว่า The person who is the object of crime or tort ส่วนตามกฎหมายไทย ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ได้ให้ความหมายของ "ผู้เสียหาย" หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 4 มาตรา 5 และ มาตรา 6

ส่วนตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ได้ให้ความหมายของผู้เสียหาย ไว้ว่าหมายถึง บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกายหรือจิตใจเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น

วิเคราะห์ความหมายของผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ นั้นมีความแตกต่างกัน เพราะผู้เสียหายตาม ป.วิอาญา นั้นเป็นการให้ความหมายผู้เสียหายซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิในการดำเนินคดี ซึ่งยังหมายความรวมถึงบุคคลที่มีอำนาจจัดการแทนด้วย แต่ความหมายผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายเป็นการกำหนดความหมายสำหรับบุคคลผู้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนที่รัฐจ่ายให้เพื่อเยียวยาความเสียหาย ดังนั้น ความหมายจึงแคบกว่า ป.วิอาญา เพราะผู้เสียหายที่จะได้รับการค่าตอบแทนต้องเป็นผู้เสียหายถึงชีวิต ร่างกายหรือจิตใจ


แนวความคิดในการคุ้มครองผู้เสียหายในคดีอาญา


ในอดีตที่ผ่านมาเมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นรัฐจะให้ความสำคัญกับกระบวนยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิด ทั้งการนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี และคุ้มครองสิทธิของผู้กระทำความผิดเป็นหลัก โดยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้เสียหาย เช่น ผู้เสียหายต้องฟ้องร้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเอากับจำเลยเอง ซึ่งถือเป็นภาระให้กับผู้เสียหายมาก และในบางคดีจับตัวผู้กระทำความผิดไม่ได้ หรือจับผู้กระทำความผิดได้แต่บางรายไม่สามารถเยียวยาได้ ดังนั้นจึงเกิดแนวความคิดที่จะให้การคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญาเกิดขึ้น โดยองค์การสหประชาชาติปฏิญญาว่าด้วยหลักพื้นฐานเกี่ยวกับการอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ได้รับความเสียหาย จากอาชญากรรมและการใช้อำนาจโดยมิชอบ ค.ศ. 1985 ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ 4 ประการ คือ

1) ผู้เสียหายต้องสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม (Access to justice and fair treatment)

2) การได้รับการชดเชยความเสียหายโดยผู้กระทำความผิด (Restitution)

3) การได้รับการชดเชยความเสียหายโดยรัฐ (Compensation)

4) การให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อ (Assistance)



การคุ้มครองผู้เสียหายตามกฎหมายไทย


ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559


มาตรา 29 บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพหรือจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่น ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ

ตามมาตรา 29 ของร่างรัฐธรรมนูญได้คุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายไว้ 2 ประการ คือ สิทธิที่จะได้รับการเยียวยาและสิทธิได้รับการช่วยเหลือ


ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา


1. สิทธิในการร้องทุกข์

การร้องทุกข์ ถือเป็นสิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญาที่จะไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งการร้องทุกข์เปรียบเสมือนการไปแจ้งความประสงค์ว่าตนต้องการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิด ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินคดีอาญา โดยเฉพาะคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว ที่ต้องรอให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์เสียก่อน ตำรวจจึงจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ และในขณะเดียวกันผู้เสียหายอาจจะไม่ใช้สิทธินั้นก็ได้ ซึ่งการไม่ไปร้องทุกข์ของผู้เสียหายจะส่งผลต่อการดำเนินคดีอาญาต่อส่วนตัวเท่านั้น ส่วนคดีอาญาแผ่นดินจะไม่มีผลต่อการดำเนินคดีอาญาของตำรวจ

(7) "คำร้องทุกข์" หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อ เจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความ ผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความ เสียหายแก่ผู้เสียหายและการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนา จะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ

มาตรา 121 พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ


2. สิทธิในการฟ้องคดีเอง

โดยหลักแล้วการดำเนินคดีอาญาในประเทศไทย เป็นการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ กลไกของรัฐที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำควารมผิด เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล ซึ่งกว่าจะมีการฟ้องร้องคดีต่อศาลได้ ต้องผ่านขั้นตอนหลายขั้นตอน มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดี จนเป็นที่เชื่อได้ว่าน่าจะกระทำความผิดจริง พนักงานอัยการจึงจะฟ้องคดีจำเลยต่อศาล แต่การดำเนินคดีอาญาของไทยก็ให้สิทธิผู้เสียหายมีสิทธิในการฟ้องตดีอาญาด้วยตนเองได้ด้วย ตามมาตรา 28 บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล

(1) พนักงานอัยการ

(2) ผู้เสียหาย


3. สิทธิในการยุติคดี

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในสิทธิของผู้เสียหายในข้อที่ 1. ผู้เสียหายมีสิทธิร้องทุกข์คดีอาญาเพื่อแสดงความประสงค์ในการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิด ในขณะเดียวกันผู้เสียหายก็มีสิทธิที่จะยุติการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ก็มีเงื่อนไขในการยุติคดีตาม มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้ (2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย


4. สิทธิเรียกร้องร้องทางแพ่งในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

มาตรา 44/1 ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยให้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้


5. สิทธิในการคัดสำเนาคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลย

มาตรา 8 นับแต่เวลาที่ยื่นฟ้องแล้ว จำเลยมีสิทธิดังต่อไปนี้ (6) ตรวจหรือคัดสำเนาคำให้การของตนในชั้นสอบสวนหรือเอกสารประกอบคำให้การของตน

เมื่อพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ให้ผู้เสียหายมีสิทธิตามวรรคหนึ่ง (6) เช่นเดียวกับจำเลยด้วย


6. สิทธิในการมีล่ามแปลภาษา

มาตรา 13 วรรค 2 ในกรณีที่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย หรือพยานไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษาไทย หรือสามารถพูดหรือเข้าใจเฉพาะภาษาไทยท้องถิ่นหรือภาษาถิ่น และไม่มีล่าม ให้พนักงานสอบสวนพนักงานอัยการหรือศาลจัดหาล่ามให้โดยมิชักช้า


7. สิทธิในการมีล่ามแปลภาษามือ

มาตรา 13 วรรค 3 ในกรณีที่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย หรือพยานไม่สามารถพูดหรือได้ยิน หรือสื่อความหมายได้ และไม่มีล่ามภาษามือให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลจัดหาล่ามภาษามือให้หรือจัดให้ถามตอบ หรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่นที่เห็นสมควร



สิทธิของผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544

บทนิยามที่สำคัญ

“ผู้เสียหาย” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกายหรือจิตใจเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น

“ค่าตอบแทน” หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับเพื่อตอบแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือเนื่องจากมีการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น


มาตรา 5 การเรียกร้องหรือการได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้เสียหายหรือจำเลยพึงได้ตามกฎหมายอื่น


มาตรา 6 ในกรณีที่ผู้เสียหายหรือจำเลยถึงแก่ความตายก่อนที่จะได้รับค่าตอบแทนค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย แล้วแต่กรณี ให้สิทธิในการเรียกร้องและการรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายตกแก่ทายาทซึ่งได้รับความ เสียหายของผู้เสียหายหรือจำเลยนั้น ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด


มาตรา 17 ความผิดที่กระทำต่อผู้เสียหาย อันอาจขอรับค่าตอบแทนได้ต้องเป็นความผิดตามรายการที่ระบุไว้ท้ายพระราชบัญญัตินี้

ความผิดที่กระทำต่อผู้เสียหายซึ่งทำให้ผู้เสียหายอาจขอรับค่าตอบแทนได้ตามมาตรา 17 ได้แก่ ความผิด

ตามประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2


ความผิด ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ มาตรา 276 ถึง มาตรา 287

ลักษณะ 10 ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย หมวด 1 ความผิดต่อชีวิต มาตรา 288 ถึง มาตรา 294 หมวด 2 ความผิดต่อร่างกาย มาตรา 295 ถึง มาตรา 300 หมวด 3 ความผิดฐานทาให้แท้งลูก มาตรา 301 ถึง มาตรา 305 หมวด 4 ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วยเจ็บ หรือชรา มาตรา 306 ถึง มาตรา 308

มาตรา 18 ค่าตอบแทนตามมาตรา 17 ได้แก่

(1) ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ

(2) ค่าตอบแทนในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย จำนวนไม่เกินที่กาหนดในกฎกระทรวง

(3) ค่าขาดประโยชน์ทามาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ

(4) ค่าตอบแทนความเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร


ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง คณะกรรมการจะกำหนดให้ผู้เสียหายได้รับค่าตอบแทนเพียงใดหรือไม่ก็ได้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำความผิด และสภาพความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ รวมทั้งโอกาสที่ผู้เสียหายจะได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่นด้วย