บทความทางกฎหมาย

คุณมีสิทธิที่จะไม่ให้การ

You have the right to remain silent


หลักการสำคัญในการดำเนินคดีอาญา

ในการดำเนินคดีอาญานั้นนอกจากรัฐจะดำเนินการนำตัวผู้กระทำผิดกฎหมายมาลงโทษแล้ว รัฐยังต้องให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้กระทำผิดด้วยควบคู่กันไป เพื่อไม่ให้มีการละเมิดสิทธิของผู้กระทำผิดมากเกินไป (การดำเนินคดีอาญากับผู้ใดย่อมส่งผลกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของประชาชน) จึงต้องมีการคุ้มครองสิทธิดังกล่าวโดยการบัญญัติเป็นกฎหมายไว้ เพื่อเป็นหลักประกันเสรีภาพของประชาชน เช่น การจับ การค้น ต้องมีหมายจับหมายค้นเป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตามแม้จะมีการบัญญัติไว้ในกฎหมายแล้ว เพื่อให้มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการเคารพและถูกนำไปปฏิบัติ จึงมีความจำเป็นจะต้องกำหนดผลในทางกฎหมายของการไม่ปฏิบัติตามหลักการดังกล่าว เช่น มีผลทำให้ศาลไม่รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

กระบวนยุติธรรมที่ดีจึงต้องเป็นกระบวนยุติธรรมที่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Crime control และในขณะเดียวกันก็ต้องคุ้มครองสิทธิของผู้กระทำผิด (Due process) ไปพร้อมๆ กัน

ที่มาของสิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง

ก่อนที่ตำรวจจะจับกุมผู้ต้องหา ต้องแจ้งให้ผู้ต้องทราบเสียก่อนว่า ผู้ต้องหามีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้นั้น เป็นหลักที่ศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกาได้วินิจไว้ในคดี Miranda v. Arizona (1966) ซึ่งศาลวินิจฉัยวางหลักไว้ว่า เจ้าหน้าที่ต้องทำการแจ้งให้ผู้ถูกจับ ผู้ถูกควบคุม หรือก่อนทำการสอบสวนว่า "เขามีสิทธิจะไม่ให้การใดๆ เลยก็ได้ ถ้อยคำที่เขากล่าวออกมาอาจใช้เป็นพยานยันแก่เขาได้ในชั้นศาลได้ เขามีสิทธิที่จะมีทนายความอยู่ร่วมด้วยในระหว่างการสอบสวน หากเขาไม่สามารถจัดหาทนายความได้เอง จะมีการแต่งตั้งทนายความให้แก่เขาก่อนเริ่มการสอบสวน ถ้าเขามีความประสงค์เช่นนั้น (You have the right to remain silent. Anything you say can and will be used against you in a court of law. You have the right to an attorney present during questioning. If you cannot afford an attorney, one will be appointed for you. Do you understand these right?)

จากคดี Miranda v. Arizona ศาลฎีกาของสหรัฐได้วินิจอันเป็นที่มาของหลักการทางอาญา 2 ประการ (เรียกว่า Miranda Rule) คือ

1) สิทธิที่จะไม่ให้การ

2) สิทธิในการมีทนายความ


สิทธิทั้ง 2 ประการ เป็นหลักการทั่วไปที่ประเทศต่างๆ นำไปบัญญัติไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความของตัวเอง เพื่อเป็นหลักประกันเสรีภาพของผู้ที่ถูกดำเนินคดีอาญา

แต่อย่างที่บอกไปแล้วว่า แม้แต่ละประเทศจะบัญญัติไว้ว่า ให้เจ้าหน้าที่ ที่ทำการจับกุม ควบคุมตัว หรือสอบสวนต่องแจ้งสิทธิดังกล่าวเสียก่อน แต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงอาจทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหลงลืมหรือไม่ได้ให้ความสำคัญ จึงไม่แจ้งสิทธิดังกล่าวให้ผู้ถูกจับ ถูกควบคุมตัว หรือสอบสวนทราบ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องกำหนดผลของการไม่ปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวไว้ เช่น

หากไม่แจ้งสิทธิดังกล่าวก่อนมีการจับกุม ถ้อยคำที่ผู้ถูกจับให้ไว้ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ เมื่อกำหนดผลไว้อย่างนี้ก็จะทำให้เจ้าหน้าผู้ที่ทำการจับหรือสอบสวนได้ตระหนักถึงหลักการดังกล่าวมากขึ้น เพราะหากฝ่าฝืน เมื่อมาถึงชั้นศาล ถ้อยคำของจำเลยที่เคยให้ไว้ก่อนหน้านั้น ไม่อาจจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้เลย

สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง (Privilege against self - incrimination)

เป็นสิทธิอันสำคัญของผู้ต้องหาที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ โดยหมายถึง "บุคคลไม่อาจถูกบังคับให้ปรักปรำตนเอง" ซึ่งหลักการนี้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5) ที่บัญญัติว่า "บุคคลไม่อาจที่จะถูกบังคับให้เป็นพยานอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองในคดีอาญา" (no person ... shall be compelled to be a witness against himself)


สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง นี้ใช้กับพยานหลักฐานที่เป็นถ้อยคำ (Testimony) เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าจะบังคับให้บุคคลใดกล่าวถ้อยคำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองอันอาจทำให้ถูกฟ้องคดีอาญาไม่ได้

แต่ถ้าหากว่าไม่ใช่การกล่าวถ้อยคำแล้ว เช่น บังคับให้เจาะเลือด หรือตรวจปัสสาวะ เซ็นชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือ จะไม่อยู่ภายใต้หลักการนี้

สิทธิดังกล่าวนี้แม้จะได้เป็นสิทธิที่ผู้ต้องหามีตามกฎหมาย แต่สิทธิดังกล่าวนั้นจะไม่มีประโยชน์เลย หากว่าผู้ต้องหาไม่ทราบถึงการมีสิทธิดังกล่าว ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดให้เจ้าหน้าที่ ผู้ที่ทำการจับกุมหรือสอบสวนจะต้องเป็นผู้แจ้งสิทธิ์นั้นให้ผู้ต้องหาทราบก่อนจับหรือสอบสวนว่า "เขามีสิทธิจะไม่ให้การก็ได้ ถ้อยคำที่เขากล่าวออกมาอาจใช้เป็นพยานยันแก่เขาได้ในชั้นศาลได้ " เพื่อให้ผู้ที่ถูกจับกุมทราบและเข้าใจถึงสิทธิ์ดังกล่าว เมื่อผู้ต้องทราบแล้วหากผู้ต้องหาให้การก็ถือว่าเป็นการให้การโดยสมัครใจ (voluntary)

และในการสอบสวนซึ่งเป็นการกระทบถึงสิทธิของผู้ต้องหาอย่างมาก กฎหมายยังกำหนดให้มีทนายความ ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์สิทธิของผู้ต้องหาเข้าฟังการสอบสวนได้อีกด้วย ซึ่งในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่มีทนายความรัฐก็ต้องจัดหาทนายความให้ตามความประสงค์ของผู้ต้องหา

สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองในกฎหมายไทย

ในประเทศไทยมีการนำหลักการดังกล่าวมาบัญญัติไว้ในกฎหมายทั้งในรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

เช่น ป.วิ.อาญา

มาตรา 83 วรรคสอง "ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้น อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ ถ้าผู้ถูกจับประสงค์จะแจ้งให้ญาติหรือ ผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุมที่สามารถดำเนินการได้ โดยสะดวกและไม่เป็นการขัดขวางการจับหรือการควบคุมผู้ถูกจับ หรือทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ให้เจ้าพนักงานอนุญาตให้ผู้ถูกจับดำเนินการได้ตามสมควรแก่กรณี ในการนี้ให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นบันทึกการจับดังกล่าวไว้ด้วย

มาตรา 134/4 "ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า

(1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้

(2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้

เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคำให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้

ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตาม มาตรา 134/1 มาตรา 134/2 และ มาตรา 134/3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้"

ซึ่งจะเห็นได้ว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยนั้นได้รับหลักการดังกล่าวมาบัญญัติไว้ ซึ่งหมายความว่า ก่อนที่จะมีการจับหรือสอบสวน พนักงานที่ทำการจับหรือสอบสวนจะต้องแจ้งสิทธิดังกล่าวให้ผู้ต้องหาทราบและเข้าใจถึงสิทธิดังกล่าว พร้อมต้องจัดให้มีผู้พิทักษ์สิทธิ (ทนายความ) เข้าฟังการสอบสวนด้วยได้

หากไม่มีการปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวกฎหมายก็ยังมีบท Sanction เอาไว้ว่าถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ก่อนมีการแจ้งสิทธิ ไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิด

ผู้เขียนเห็นว่า การไม่ให้ถ้อยคำของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหานั้นเป็นสิทธิที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ ดังนั้น การจะให้หรือไม่ให้ถ้อยคำย่อมสามารถกระทำได้โดยอาศัยความสมัครใจของผู้ถูกจับหรือผู้ต้อง เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องพยายามแสวงหาหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดและบริสุทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา มิใช่การบังคับหรือล่อลวงให้เขาให้การใด ๆ ที่เขาไม่ได้สมัครใจ เพราะแม้เขาจะได้กระทำความผิดจริง แต่เขาก็มีสิทธิปฏิเสธและต่อสู้ตามกระบวนการของกฎหมาย

ดังนั้น การที่รัฐมองการปฏิเสธที่จะให้ถ้อยคำของผู้ต้องหา ว่าเป็นการกระทำที่มีพิรุธและส่อว่าได้กระทำความผิดจริง จึงขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์จะให้ความคุ้มครองประชาชนที่ถูกดำเนินคดี

สายตาที่มองผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา แม้กระทำจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจริง ทั้งที่การพิสูจน์ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ ย่อมขัดกับหลักการ "ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยบริสุทธิ์จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด"


สำนักงาน 12 เมษา ทนายความ

เลขที่ 410 หมู่ 13 ตำบลวังชะโอน

อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร

โทรศัพท์ 088-553-0722

สิทธิในการมีทนายความ

ในคดีอาญาทนายความมีความสำคัญอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นผู้พิทักษ์สิทธิของผู้ต้องหาและจำเลย หลังจากกฎหมายได้รับอิทธิพลของแนวความคิดในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทำให้มีการแก้ไขกฎหมายทั้งเนื้อหาของกฎหมายและกระบวนพิจารณาคดีโดยมีการคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา

แต่เดิมนั้นการพิจารณาของศาลใช้ระบบการพิจารณาแบบไต่สวนโดยที่ผู้ทำการไต่สวนใช้วิธีการไต่สวนคดีโดยใช้การทรมาเพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นรับสารภาพ ซึ่งไม่เป็นธรรมเพราะไม่ให้จำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

แต่ในปัจจุบันผู้ต้องหาและจำเลยมีสิทธิในการต่อสู้คดีอาญาอย่างเต็มที่ เช่น มีสิทธิไม่ให้ถ้อยคำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง การจับการค้นต้องกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีสิทธิในการมีทนายความ ซึ่งสิทธิเหล่านี้กฎหมายยังกำหนดหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าพนักงานที่ทำการจับกุมหรือรับมอบตัว พนักงานสอบสวน มีหน้าที่ต้องแจ้งสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายให้ผู้ต้องหาและจำเลยทราบอีกด้วย

วัตถุประสงค์ที่ต้องมีการแจ้งสิทธิต่างๆ ให้ผู้ต้องหาและจำเลยทราบก็เพื่อให้เขารับรู้ถึงสิทธิของเขาในการต่อสู้คดี หากเขาจะรับสารภาพก็ต้องเกิดขึ้นจากความสมัครใจ

ดังนั้นนอกจากมีการแจ้งสิทธิต่างๆ ที่เขามีตามกฎหมายแล้ว ยังต้องมีผู้พิทักษ์สิทธิของเขาด้วย กฎหมายจึงกำหนดให้ขั้นตอนการสอบสวนและในชั้นศาลผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องมีทนายความเพื่อต่อสู้คดี

ในชั้นสอบสวน

มาตรา 134/1 ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้

ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้

การจัดหาทนายความตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้ทนายความที่รัฐจัดหาให้ได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

เมื่อได้จัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหาตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสามแล้ว ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน หากทนายความไม่อาจมาพบผู้ต้องหาได้ โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้พนักงานสอบสวนทราบหรือแจ้งแต่ไม่มาพบผู้ต้องหาภายในเวลาอันสมควร ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนผู้ต้องหาไปได้โดยไม่ต้องรอทนายความ แต่พนักงานสอบสวนต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย

ในชั้นพิจารณาของศาล

มาตรา 173 ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

ให้ศาลจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งตามมาตรานี้ โดยคำนึงถึงสภาพแห่งคดีและสภาวะทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

จะเห็นได้ว่ากฎหมายประสงค์จะให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีผู้พิทักษ์สิทธิในการต่อสู้คดี โดนเฉพาะคดีที่มีอัตราโทษสูงหรือคดีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยอายุไม่เกิน 18 ปี ถ้าไม่มีทนายความรัฐต้องจัดหาทนายความให้เสมอไม่ต้องถามความต้องการ

ถ้ารัฐไม่จัดหาทนายความให้ จะมีผลอย่างไร จะทำให้การสอบสวนหรือพิจารณาคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือจะมีผลทำให้ไม่อาจรับฟังถ้อยคำที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยให้ไว้ได้เท่านั้น

ในเรื่องนี้ศาลได้ตัดสินไว้เป็นแนวดังนี้

คำพิพากษาฎีกา 1130/2553

คดีมีโทษถึงประหารชีวิต การสอบสวนคำให้การของผู้ต้องหาจึงอยู่ในบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นสิทธิเด็ดขาดของผู้ต้องหาที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในการจัดหาทนายความให้ เมื่อพนักงานสอบสวนถามแล้วผู้ต้องหาไม่มีทนายความ เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานสอบสวนต้องหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหา ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิให้จำเลยทราบแล้ว และสอบถามเรื่องทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธไม่ต้องการทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนโดยไม่ได้จัดหาทนายความให้จำเลยตามคำให้การดังกล่าวจำเลยไม่ขอให้การโดยจะไปให้การในชั้นศาล การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง แต่ในบทบัญญัติมาตรา 134/4 วรรคท้าย บัญญัติไว้เพียงว่า ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้ ฉะนั้นแม้พนักงานสอบสวนจะไม่ได้จัดหาทนายความให้จำเลยก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบแต่อย่างใด เมื่อมีการสอบสวนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


ขับรถชนคนตายควรทำอย่างไรดีไม่ให้ติดคุก


ขับรถชนเขาแล้วไม่ควรหนี เพราะจะทำให้ยิ่งต้องรับโทษตามกฎหมายหนักขึ้นกว่าเดิมนะครับ การขับรถชนคนอื่นจะมีความผิดตามกฎหมายที่เราต้องพิจารณาอยู่ 2 ฉบับคือ ความรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และความรับผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522

ความรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หากเป็นการกระทำโดยประมาท ความรับผิดของคนที่ขับรถชนนั้นพิจารณาจากผลของการชน หากคนที่ถูกชนตาย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291

มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท

แต่หากผลของการชนเป็นเหตุให้เขาได้รับอันตรายสาหัส เช่น พิการ แขนขาด ขาขาด หรือต้องรักษาตัวนานเป็นเดือน มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300

มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่หากผลของการชนเป็นเหตุให้เขาได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เช่น หัวแตก เลือดออก สลบไป เช่นนี้ผู้กระทำมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390

มาตรา 390 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน หนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จะเห็นได้ว่าความรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา กรณีขับรถโดยประมาทชนผู้อื่นนั้น จะถูกลงโทษหนักหรือเบาขึ้นอยู่กับผลของการกระทำที่เกิดขึ้น หากเขาถึงตายก็มีโทษถึงขั้นจำคุกไม่เกินสิบปี แต่หากเขาได้รับอันตรายแก่กายก็จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน แต่หากเขาไม่ได้รับอันตายแก่กายหรือจิตใจเลยก็ไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

ทีนี้มาพิจารณาความรับผิดตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522

มาตรา 43 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถ (4) โดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน

ซึ่งหากกระทำความผิดตาม มาตรา 43 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท

และหากชนเขาแล้วไม่ลงไปช่วยเขา จะมีความผิดตาม มาตรา 78

มาตรา 78 ผู้ใดขับรถหรือควบคุมสัตว์ในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ว่าจะ เป็นความผิดของผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถ หรือสัตว์ และให้ความช่วยเหลือตามสมควร และพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของตนและหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย

หากไม่ลงไปช่วยเหลือต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึง หนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ถ้าการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือตาย ผู้ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ที่กล่าวทั้งหมดเป็นโทษที่อาจจะได้รับในกรณีการขับรถโดยประมาทแล้วไปชนคนอื่น แต่โทษของการขับรถจะหนักขึ้นทันทีหากเป็นการขับขี่รถด้วยความมึนเมาหรือเสพสารเสพติด

ดังนั้น หากเราไม่อยากติดคุกเราต้องทำอย่างไร

1. อันดับแรกเมื่อรู้ว่าชนแล้ว ต้องลงจากรถเพื่อช่วยเหลือ การขับรถหนีไปนอกจากจะไม่ใช่หนทางที่ทำให้เราพ้นจากความรับผิดแล้ว ยังทำให้โทษหนักขึ้นอีกด้วย แต่การลงไปช่วยเหลือ เช่น ปฐมพยาบาล พาไปส่งโรงพยาบาล แม้สุดท้ายคนถูกชนจะตายหรือสาหัส ก็สามารถขอให้ศาลลดโทษให้ได้ เพราะถือเป็นเหตุบรรเทาโทษ (พยายามบรรเทาผลร้าย)

2. หากเราผิดจริงคือ ประมาทจริง ต้องเยียวยาผู้เสียหาย เช่น ในกรณีที่เขาตายต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จัดงานศพ ไปร่วมงานศพ ถ้าเขาบาดเจ็บต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นความรับผิดชอบของเราอยู่แล้ว หากเราไม่จ่ายก็จะถูกฟ้องละเมิดให้จ่ายอยู่ดี เมื่อเยียวยาแล้วก็เป็นเหตุให้ศาลลดโทษให้ได้ เพราะเป็นเหตุบรรเทาโทษ

3. เมื่อมีการพิจารณาคดีอาญาในศาลแล้วศาลพิเคราะห์เห็นว่าเราผิดจริง แต่ก็ได้ลดโทษให้เพราะเราได้พยายามบรรเทาผลร้ายแล้ว สุดท้ายศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ศาลก็สามารถรอลงอาญาไว้ ไม่ต้องติดคุกจริง ๆ

คำแนะนำดังกล่าวเป็นเรื่องที่กฎหมายให้สามารถทำได้ และเมื่อทำแล้วก็จะมีผลดีตามมา ไม่ใช่เรื่องช่องว่าของกฎหมายทำให้ไม่ติดคุก


รถยังผ่อนอยู่นำไปจำนำแจ้งความก็ไม่ได้ แจ้งไฟแนนซ์ก็กลัวติดคุก

ไปเช่าซื้อรถกับไฟแนนซ์ยังผ่อนชำระไม่ครบตามสัญญา กรรมสิทธิ์ยังเป็นของไฟแนนซ์ ผู้เช่าซื้อมีแต่เพียงสิทธิครอบครองตามสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถ เพราะยังผ่อนไม่หมด

ในระหว่างที่ยังผ่อนไม่หมด หากนำรถไปขายต่อหรือนำไปจำนำ ถือเป็นการเบียดเบียนทรัพย์ของผู้อื่น มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความผิดฐานยักยอก เป็นความผิดอาญาที่ยอมความได้ ดังนั้นตราบใดที่เรายังผ่อนค่างวดอยู่ ไฟแนนซ์คงไม่แจ้งความดำเนินคดีกับเรา แต่เมื่อใดก็ตามหากเราไม่ผ่อนชำระค่างวด เราจะถูกดำเนินคดีในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ พร้อมเรียกค่าเสียหายอีกด้วย

แต่ในปัจบัน มีหลายๆ กรณีเกิดขึ้น คือ นำรถที่ยังผ่อนไปหมด ไปจำนำเพื่อนำเงินมาหมุน ซึ่งพอจำแล้วจะไถ่รถคืน ปรากฎว่ารถหาย หรือไม่ยอมคืนรถ เราจะมีสิทธิดำเนินคดีเพื่อจะเอารถคืนได้หรือไม่

เกิดภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก คือ ไม่กล้าแจ้งไฟแนนซ์ ไปแจ้งความดำเนินคดีตำรวจก็ไม่รับแจ้ง บอกเป็นคดีทางแพ่งบ้าง อะไรบ้าง

อ่านต่อตอนไปนะครับ


สำนักงาน 12 เมษา ทนายความ

เลขที่ 410 หมู่ 13 ตำบลวังชะโอน

อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร

โทรศัพท์ 088-553-0722

ผู้เสียหายในคดีจำนำรถ


จากข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ค่อนข้างมาก คือ มีพวกแกงค์รับจำรถ โดยออกประกาศกับคนทั่วไปว่า หากใครต้องการเงินด่วน เงินสด สามารถนำรถมาจำนำได้โดยที่รถคันดังกล่าวแม้ยังผ่อนไม่หมดก็สามารถนำมาจำนำได้ และก็มีผู้คนที่หลงเชื่อแกงค์พวกนี้ นำรถไปจำ ทั้งที่รถยังติดสัญญากับไฟแนนซ์อยู่ กล่าวคือ ยังผ่อนไม่หมด

เมื่อนำรถไปจำนำแล้ว ในกรณีที่จ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญาแล้ว ปรากฎว่าพวกแกงค์จำนำรถพวกนี้ไม่ยอมคืนรถ แรกก็พลัดผ่อนไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายก็เงียบหาย ติดต่อไม่ได้

ดังนั้น ผู้เช่าซื้อที่นำรถไปจำนำจึงเกิดความทุกข์ เพราะรถหายไป อีกทั้งยังต้องผ่อนรถต่อ

ในเรื่องดังกล่าวมีปัญหาในทางกฎหมายที่น่าสนใจหลายประเด็น

เมื่อผู้เช่าซื้อรู้ตัวว่าถูกโกงรถไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนมักจะไม่รับแจ้งความ โดยอ้างว่า ผู้เช่าซื้อไม่ใช่ผู้เสียหาย เพราะไม่ใช่เจ้าของ ซึ่งในประเด็นนี้ ศาลได้ตัดสินไว้หลายคดี ว่าผู้เช่าซื้อเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิร้องทุกข์ได้

เช่น ฎีกาที่ 7832/2556 จำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ ขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ เมื่อในขณะกระทำความผิดผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อดังกล่าว การกระทำของจำเลยกับพวกย่อมทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายที่ 1 แต่ก็ถือว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะที่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายด้วยเช่นกัน ผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ และย่อมมีอำนาจในการถอนคำร้องทุกข์ เมื่อความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัวและคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา ผู้เสียหายที่ 2 ถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

ฎีกาที่ 8980/2555 แม้โจทก์ร่วมเป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถ แต่ผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อและมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องส่งคืน เมื่อมีผู้ยักยอกรถนั้นไป โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหาย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์และขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อ และการที่ผู้ให้เช่าซื้อมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ก็ถือได้ว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหายด้วย ดังนั้น ไม่ว่าผู้ลงชื่อในฐานะผู้ให้เช่าซื้อในหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์จะเป็นผู้มีอำนาจลงชื่อหรือเป็นเจ้าของรถที่แท้จริงหรือไม่ และหนังสือมอบอำนาจมีข้อความถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่มีผลลบล้างการที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหาย แม้โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นำบันทึกและหลักฐานการรับคำร้องทุกข์มานำสืบ แต่จำเลยก็เบิกความยอมรับว่าโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์จริง กรณีจึงถือได้ว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์โดยชอบ พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ฎีกาที่ 3254/2552 จำเลยยักยอกรถที่เช่าซื้อขณะอยู่ในความครอบครองใช้ประโยชน์ของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยโดยตรง ดังนั้น แม้ผู้เช่าซื้อจะแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานยักยอกในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อก็ตาม ก็ถือได้ว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะเป็นผู้เสียหายเองด้วยเช่นกัน ผู้เช่าซื้อย่อมมีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ในฐานะที่เป็นผู้เสียหายด้วยคนหนึ่งได้

ฎีกาที่ 7960/2551 แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะมีข้อสัญญาห้ามมิให้ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่นก็ตาม ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เสียหายซึ่งจะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่ง ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายแจ้งให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อทราบแล้วว่าจะทำสัญญาเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อเป็นจำเลย เมื่อจำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายให้ขายดาวน์รถยนต์แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายโดยตรง โดยผู้เสียหายไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงด้วย อีกทั้งขณะเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์จากรถยนต์คันดังกล่าวในฐานะผู้เช่าซื้อ จึงเป็นผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ผู้เสียหายจึงมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้


ประเด็นที่ 2 คือ การตั้งข้อกล่าวหาผู้ที่มารับจำนำรถ

ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำคดีรับนำรถมีความผิดที่เข้ามาเกี่ยวข้อง คือ ความผิดฐานฉ้อโกง และยักยอก แต่พนักงานสอบสวนมักจะตั้งข้อหายักยอก โดยมองว่าผู้กระทำความผิดครอบครองรถอยู่แล้วเบียดบังเอาไป

แต่ถ้าหากพิจารณาดีดีแล้วจะเห็นว่า พวกแกงค์รับจำนำรถ มีพฤติการณ์ คือ ใช้กลอุบายทำทีว่ารับจำนำรถ ทั้งที่ความจริง คือการหลอกลวงให้มีคนเอารถไปจำนำ เมื่อได้รถแล้วก็เอารถไปขายต่อไม่ยอมคืนรถ การกระทำในลักษณะนี้เป็นความผิดฐานฉ้อโกง เพราะมีเจตนาโดยทุจริตมาตั้งแต่ต้น และแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เอาทรัพย์ไป


สำนักงาน 12 เมษา ทนายความ

เลขที่ 410 หมู่ 13 ตำบลวังชะโอน

อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร

โทรศัพท์ 088-553-0722

ขั้นตอนการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550


คดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัวเป็นคดีที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนกว่าคดีอาญาทั่วไป เพราะคดีความรุนแรงในครอบครัวเป็นการทำร้ายกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว แตกต่างจากการทำร้ายร่างกายในคดีอาญาปรกติ การใช้มาตรการทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาทั่วไปที่มุ่งการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเดียว อาจไม่เหมาะสมกับคดีความรุนแรงในครอบครัว เหตุผลดังกล่าวที่เป็นที่มาของการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ซึ่งมีวิธีการในการดำเนินคดีต่างหาก โดยหวังให้ผู้กระทำผิดกลับตัวและยับยั้งการกระทำผิดซ้ำ รวมถึงเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลในครอบครัว


1. ความหมายของคดีความรุนแรงในครอบครัว


ความรุนแรงในครอบครัว หมายความว่า การกระทำใด ๆ โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดอันตรายอันเกิดอันตรายแก่ จิตใจ หรือสุขภาพ หรือกระทำโดยเจตนาในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ หรือสุขภาพในครอบครัว หรือบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดธรรมนองคลองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำการ ไม่กระทำการ หรือยอมรับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบ แต่ไม่รวมถึงการกระทำโดยประมาท [2]

จากความหมายของบทนิยามความรุนแรงในครอบครัวสามารถแยกออกได้ 2ส่วน คือ ส่วนที่เป็นการกระทำความรุนแรงโดยตรงกับส่วนที่เป็นการใช้อำนาจครอบงำผิดธรรมนองคลองธรรม


1. ส่วนที่เป็นการกระทำความรุนแรงโดยตรง ซึ่งมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

1.1 การกระทำโดๆ

1.2 กระทำต่อบุคคลในครอบครัว

1.3 โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดอันตรายอันเกิดอันตรายแก่ จิตใจ หรือสุขภาพ หรือกระทำโดยเจตนาในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ หรือสุขภาพ


2. ส่วนที่เป็นการใช้อำนาจครอบงำผิดธรรมนองคลองธรรม

2.1 ใช้อำนาจครอบงำผิดธรรมนองคลองธรรม

2.2 กระทำต่อบุคคลในครอบครัว

2.3 ต้องกระทำการ ไม่กระทำการ หรือยอมรับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบ


จากความหมายและองค์ประกอบข้างต้น เป็นบทนิยามของความรุนแรงในครอบครัว ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ซึ่งจะเห็นว่าเป็นการบัญญัติไว้อย่างกว้างๆ ไม่ได้จำกัดว่าการกระทำนั้นต้องเป็นการกระทำในลักษณะใด เช่น เป็นการใช้กำลังทำร้าย หรือใช้วาจา แต่หมายความรวมไว้ทุกๆ การกระทำที่ได้กระทำออกมา ซึ่งต้องเป็นการกระทำต่อบุคคลในครอบครัวเท่านั้น หากเป็นการกระทำความรุนแรงแต่ไม่ได้กระทำต่อบุคคลในครอบครัว ก็จะไม่ตกอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้

ซึ่งความหมายของบุคคลในครอบครัว มีความหมายว่า คู่สมรส คู่สมรสเดิม ผู้ที่อยู่กินหรือเคยอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส บุตร บุตรบุญธรรม สมาชิกในครอบครัว รวมทั้งบุคคลใด ๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน[3]


จากบทนิยาม บุคคลในครอบครัวย่อมหมายถึง

1. คู่สมรส

2. คู่สมรสเดิม

3. ผู้ที่อยู่กินหรือเคยอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส

4. บุตร

5. บุตรบุญธรรม

6. สมาชิกในครอบครัว

7. บุคคลใด ๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน


2. ความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว


ในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัว ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นความผิดอันยอมความได้ แต่ไม่ลบล้างความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอื่น หากการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ด้วย ให้ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้”


องค์ประกอบความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว

1. ผู้ใด

2. กระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัว

3. ต่อบุคคลในครอบครัว

4. โดยเจตนา


ผลในทางกฎหมายเมื่อผู้กระทำผิดได้กระทำความรุนแรงในครอบครัว ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนด แต่ความผิดตามมาตรานี้ก็เป็นความผิดอันยอมความได้ และหากการกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นการทำร้ายร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ซึ่งโดยปรกติเป็นคดีอาญาแผ่นดินยอมความไม่ได้ กฎหมายฉบับนี้ก็บัญญัติให้ความผิดฐานดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมได้ได้ แต่ถ้าเป็นความผิดอื่นนอกเหนือจากความผิดฐานทำร้ายร่างกาย มาตรา 295 ก็จะไม่มีผลแต่ประการใด ยังคงต้องใช้การดำเนินคดีอาญาปรกติ


3. ขั้นตอนการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550

3.1 การแจ้งต่อพนักงามเจ้าหน้าที่

มาตรา 5 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทำ มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้


ผู้ที่มีมีหน้าที่แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบถึงความรุนแรงดังกล่าวได้แก่

1. ผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว

2. ผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทำ

โดยกฎหมายมาตรานี้กำหนดให้เป็นหน้าที่ว่าผู้ถูกกระทำความรุนแรงหรือผู้ที่พบเห็นหรือทราบแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่กฎหมายก็ไม่ได้มีมาตรการบังคับถึงการไม่แจ้งดังกล่าวแต่อย่างใด และวิธีการแจ้งต่อพนักงาน ผู้ที่ทำการแจ้งจะแจ้งโดยวาจา เป็นหนังสือ หรือทางโทรศัพท์ ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีอื่นใดก็ได้ [4] สุดแล้วแต่ความสะดวกของผู้แจ้ง อีกทั้งเมื่อเป็นการแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัวโดยสุจริต ก็ได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง [5] แม้ภายหลังจะปรากฏว่าเรื่องที่แจ้งนั้นไม่ใช่ความรุนแรงก็ตาม


3.2 ขั้นตอนการดำเนินการระงับเหตุความรุนแรง


มาตรา 6 วรรค 2 “เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้พบเห็นการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวหรือได้รับแจ้งตา มาตรา 5 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่เกิดเหตุเพื่อสอบถามผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว ผู้ถูกระทำความรุนแรงในครอบครัว หรือบุคคลอื่นที่อยู่ในสถานที่นั้นเกี่ยวกับการกระทำที่ได้รับแจ้ง รวมทั้งให้มีอำนาจจัดให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ และขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ ในกรณีผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวประสงค์จะดำเนินคดี ให้จัดให้นั้นร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ถ้าผู้นั้นไม่อยู่ในวิสัยหรือโอกาสที่จะร้องทุกข์ได้ด้วยตนเองให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ร้องทุกข์แทนได้”


การดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวนั้น เมื่อเจ้าพนักงานได้รับแจ้ง หรือพนักงานเจ้าที่ได้พบการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเอง เช่น ไม่มีผู้ใดแจ้งเหตุความรุนแรงแต่พนักงานเจ้าหน้าที่สืบทราบมาเอง หรือพบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยความบังเอิญ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ที่จะเข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่เกิดเหตุได้


การเข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่เกิดเหตุตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่จำต้องมีหมายที่ออกโดยศาล เหมือนกับกรณีการค้นหรือจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะการเข้าไปตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ได้เข้าไปค้นหรือจับแต่อย่างใด แต่เข้าไปสอบถามและระงับเหตุ จัดการให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงได้รับการรักษาหรือพบแพทย์เท่านั้น


3.3 ขั้นตอนการสอบสวนและฟ้องคดีความรุนแรงในครอบครัว


เมื่อผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวประสงค์จะดำเนินคดีและได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดสามเดือนแล้ว ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยเร็ว และเมื่อสอบสวนเสร็จให้ส่งตัวผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวและสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นไปยังพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดี ภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่ได้ตัวผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว


แต่ถ้าหากมีความจำเป็นไม่อาจยื่นฟ้องได้ภายในกำหนดดังกล่าว ให้ขอพลัดฟ้องได้คราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสามคราว [6]

และในการสอบปากคำผู้กระทำความด้วยความรุนแรงในครอบครัว พนักงานสอบสวนจะต้องจัดให้มีการจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวร้องขอร่วมอยู่ด้วยขณะสอบปากคำ


ซึ่งจะเห็นว่าการสอบปากคำผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวนั้น มีความแตกต่างจากการดำเนินคดีอาญาทั่วไป ซึ่งในคดีอาญาปรกติหากผู้กระทำผิดเป็นเด็กหรือเยาวชนอายุยังไม่เกิน 18 ปีบริบูริบูรณ์ ก่อนสอบปากคำพนักงานสอบสวนจะต้องจัดให้มีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่ร้องขอร่วมอยู่ด้วยขณะสอบปากคำ แต่ในคดีความรุนแรงในครอบครัวนั้น ไม่ได้จำกัดว่าผู้กระทำความรุนแรงจะต้องเป็นเด็กหรือเยาวชนเท่านั้น แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้กระทำความรุนแรง พนักงานสอบสวนก็ต้องจัดให้มีบุคคลตามที่กฎหมายกำหนดเข้าฟังการสอบสวนด้วย


4. มาตรพิเศษที่นำมาใช้กับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550


4.1 เมื่อที่ได้มีการแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา 5 แล้ว หรือมีการร้องทุกข์ตามมาตรา 6 แล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดลงพิมพ์โฆษณา หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วยวิธีการใดๆ ซึ่งภาพ เรื่องราว หรือข้อมูลใดๆ อันน่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวหรือผู้ถูกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวตามพระราชบัญญัตินี้ [7]


4.2 การออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อการบรรเทาทุกข์ให้แก่บุคคลผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นการชั่วคราว ไม่ว่าการกำหนดมาตรการหรือคำสั่งนั้น ผู้ถูกกระทำความรุนแรงจะได้ร้องขอหรือไม่ก็ตาม รวมถึงการให้ผู้กระทำความรุนแรงเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์ การให้ผู้กระทำความรุนแรงใช้เงินค่าช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ตามสมควร รวมถึงการออกคำสั่งห้ามให้ผู้กระทำความรุนแรงเข้าไปในที่พำนักของครอบครัวหรือเข้าใกล้บุคคลในครอบครับ ตลอดจนวิธีการดูแลบุตร [8]


[1] เฉลิมวุฒิ สาระกิจ, อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา, 2556

[2] พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550, มาตรา 3

[3] พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550,มาตรา 3

[4] พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550,มาตรา 6

[5] พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550,มาตรา 5 วรรค 2

[6] พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550,มาตรา 8

[7] พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550, มาตรา 9

[8] พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550, มาตรา 10


ปากพาติดคุก


คนเราเมื่อไม่พูดย่อมไม่ผิด ไม่ต้องรับผิดชอบกับคำพูดของตนเอง เพราะเราไม่ได้พูดอะไรออกมา แต่เมื่อได้ก็ตามหากเราได้พูดออกมาเราก็ต้องรับผิดชอบกับคำพูดของเรา ดังที่เขาเรียกกันว่า "คำพูดเป็นนายเรา" ในเรื่องการพูดนี้มีธรรมของหลวงปู่ทวดสอนเอาไว้ว่า "พูดมาก เสียมาก พูดน้อย เสียน้อย ไม่พูด ไม่เสีย นิ่งเสีย โพธิสัตว์"

ในทางอาญา การกระทำความผิดอาญาบางฐานเกิดขึ้นได้จากการใช้คำพูด แม้คำพูดนั้นไม่ได้หยาบคาย หรือรุนแรง แต่หากทำให้ผู้เสียหายหรือเป็นการพูดโกหก ซึ่งวันนี้จะขอพูดถึงความผิดทางอาญาที่เกี่ยวข้องกับการพูด

1. ความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ความผิดฐานนี้หากเราไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่เขามีหน้าที่ซึ่งข้อความที่เราไปแจ้งนั้นเป็นเรื่องเท็จ เป็นการโกหก เช่น ไปแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจว่า กระเป๋าสตางค์หายทั้งที่จริงไม่ได้หาย แจ้งว่าน้ำท่วมบ้านเพื่อขอรับเงินเยียวยาจากทางรัฐทั้งที่ความจริงบ้านไม่ถูกน้ำท่วม การโกหกเจ้าพนักงานอาจเกิดขึ้นโดยที่เราไปแจ้งเจ้าพนักงาน หรือเกิดจากการที่ตอบคำถามเจ้าพนักงานก็ได้ ซึ่งผู้ที่กระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ดังนั้น ต้องคิดให้ดีว่าจะทำอะไร เพราะอาจได้ไม่คุ้มเสีย

นอกจากนี้ความผิดฐานแจ้งความเท็จผู้กระทำจะมีความผิดที่มีโทษหนักขึ้น หากการแจ้งความเท็จนั้นเป็นการแจ้งเพื่อให้ผู้อื่นได้รับโทษทางอาญา เช่น ต้องการแกล้งลูกจ้างไปแจ้งความต่อตำรวจว่า ลูกจ้างขโมยเงินทั้ง ๆ ที่ความจริงลูกจ้างไม่ได้ทำ การแจ้งความเท็จดังกล่าวมีโทษหนักกว่าแจ้งความเท็จธรรมดา

2. ความผิดฐานเบิกความเท็จ เป็นความผิดที่กฎหมายลงโทษบุคคลที่ไปเป็นพยานในศาล เพราะการพิจารณาคดีในศาลนั้นพยานต้องเบิกความด้วยความสัตย์จริง หากพยานคนใดเบิกความเท็จย่อมมีความผิด ในศาลนั้นคนที่สามารถโกหกได้โดยที่ไม่มีความผิด มีแต่จำเลยที่ถูกฟ้องคดีเท่านั้น เพราะจำเลยได้รับการคุ้มครองจาก "สิทธิจะไม่ให้การอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง" แต่พยานคนอื่นไม่ได้รับการคุ้มครองด้วย สำหรับโทษของคนที่เบิกความเท็จในศาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี

3. ความผิดฐานหมิ่นประมาท ความผิดฐานนี้คือการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม (นินทาเขาให้คนอื่นฟังในทางเสียหาย) กฎหมายให้ความคุ้มครองชื่อเสียงเกียรติยศของบุคคล หากใครก็ตามเอาเราไปพูดในทางที่เสียหาย ย่อมมีความผิดฐานหมิ่นประมาท แม้เรื่องดังกล่าวจะเป็นเรื่องจริงก็ตาม เรื่องของเขา เราไม่ควรนำมาพูด หากพูดแล้วเรื่องดังกล่าวไปถึงหูเขากลายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาก็จะมานั่งทุกข์ใจตอนถูกเข้าแจ้งความหรือฟ้องคดี

แต่ใช่ว่าเราจะไม่สามารถพูดเรื่องคนอื่นได้เลย หากเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริตย่อมทำได้โดยที่ไม่มีความผิด

4. ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ความผิดฐานนี้คือความผิดที่เป็นการด่าทอกันต่อหน้า มีความผิดลหุโทษมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน กฎหมายลงโทษเพราะการดูหมิ่นการซึ่งหน้าจะนำไปสู่การทะเลาะวิวาทกันได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทะเลาะวิวาทกัน หากมีการหมิ่นประมาทกันย่อมมีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า

ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นความผิดที่เกิดขึ้นจากคำพูด หากเราพูดอะไรออกไปต้องคิดไตร่ตรองให้ดี นอกจากจะไม่ต้องมาเสียใจกับคำพูดของเราแล้ว เรายังไม่ต้องกังวลว่าเราจะมีความผิดตามกฎหมายด้วย


สำนักงาน 12 เมษา ทนายความ

เลขที่ 410 หมู่ 13 ตำบลวังชะโอน

อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร

โทรศัพท์ 088-553-0722

การปล่อยชั่วคราวคืออะไร และมีกี่ประเภท


ในการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวหรือขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี เช่น การสอบสวน หรือการพิจารณาคดีในชั้นศาล แต่ตราบใดที่ผู้นั้นยังไม่ถูกตัดสินถึงที่สุดว่ามีความผิด ยังถือว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังนั้น ในระหว่างการดำเนินคดี เขาย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวออกไปเพื่อต่อสู้คดี การปล่อยไปในระหว่างนี้ เรียกว่าปล่อยชั่วคราว

การปล่อยชั่วคราวนั้น มาตรา 106 บัญญัติว่า "คำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีประกันหรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกัน ไม่ว่าผู้นั้นต้องควบคุมหรือขังตามหมายศาล ย่อมยื่นได้โดยผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องดังนี้"

จะเห็นได้ว่าการขอปล่อยชั่วคราวนั้นจะมีประกันหรือไม่มีประกันก็ได้ คำว่ามีประกัน หมายถึงมีสัญญาประกัน ซึ่งเป็นสัญญาทางแพ่ง และถ้าหากว่าศาลให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน จะมีหลักประกันหรือไม่ก็ได้เช่นเดียวกัน

หลักประกันตามสัญญาประกันในการปล่อยชั่วคราวมีอะไรบ้าง

ในกรณีที่ศาลจะปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันและเรียกหลักประกัน มาตรา 114 ได้กำหนดหลักประกันที่จะนำมาใช้เพื่อขอปล่อยชั่วคราวดังนี้

มาตรา 114 เมื่อจะปล่อยชั่วคราวโดยให้มีประกันและหลักประกันด้วยก่อนปล่อยตัวไป ให้ผู้ร้องขอประกันจัดหาหลักประกันมาดั่งต้องการ

หลักประกันมี 3 ชนิด คือ

(1) มีเงินสดมาวาง

(2) มีหลักทรัพย์อื่นมาวาง

(3) มีบุคคลมาเป็นหลักประกัน โดยแสดงหลักทรัพย์

หลักประกันที่จะมีปัญหาให้ต้องพิจารณาคือ ตาม (2) มีหลักทรัพย์อื่นมาวาง และตาม (3) มีบุคคลมาเป็นหลักประกัน

ในส่วนของหลักทรัพย์อื่น หมายถึง ทรัพย์อื่นนอกจากเงินสด เช่น ที่ดิน (โฉนดที่ดิน ที่ดินที่มี น.ส.3.ก) พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน เช็คเงินสด เป็นต้น

ศาลจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงใดในการที่จะสั่งให้ปล่อยหรือไม่ปล่อยชั่วคราว

เมื่อมีคำร้องขอปล่อยชั่วคราวยื่นต่อศาลเพื่อขอให้ปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลย เมื่อศาลได้รับคำร้องแล้วศาลจะต้องสั่งคำร้องนั้น ซึ่งการที่ศาลจะสั่งให้ปล่อยหรือไม่ปล่อย ศาลต้องพิจารณา ตามมาตรา 108

มาตรา 108 ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ต้องพิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบ

(1) ความหนักเบาแห่งข้อหา

(2) พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด

(3) พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร

(4) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด

(5) ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่

(6) ภัยอันตรายหรือความเสียหาย ที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่

(7) ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี ศาลพึงรับประกอบการวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3594/2557 คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาที่ 1 เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าผู้ต้องหาที่ 1 ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและไม่มีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักร พฤติการณ์ของผู้ต้องหาที่ 1 อาจหลบหนีได้ ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่พิจารณาโดยอาศัยหลักเกณฑ์แห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 108

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 107/2537 คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า การปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 อาจก่อให้เกิดภัยอันตรายแก่พยานและเกิดความเสียหายแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่พิจารณาโดยอาศัยหลักเกณฑ์แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108

ในกรณีที่ศาลใช้ดุลพินิจจะสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวต้องปรากฏข้อเท็จจริงดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 108/1

มาตรา 108/1 การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี

(2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

(3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

(4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ

(5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็น อุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน หรือการดำเนินคดีในศาล

คำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต้องแสดงเหตุผล และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบ เป็นหนังสือโดยเร็ว