หน่วยการเรียนที่ 9

หน่วยที่ 9 การควบคุม


ความหมายของ “การควบคุม” หมายถึง การตรวจสอบการปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดเอาไว้หรือไม่ และการปฏิบัติงานนั้นมีมาตรฐานในการทำงานหรือไม่

วัตถุประสงค์ของการควบคุมงาน การควบคุมงานช่วยสร้างมาตรฐานของงานในองค์กร ช่วยสร้างมาตรฐานในการควบคุม การควบคุมมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบวิธีการทำงานของพนักงานให้สามารถรักษาคุณภาพของผลผลิตให้ได้มาตรฐาน เป็นการตรวจสอบความก้าวหน้าของงาน และยังสามารถใช้ใน การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานด้วย

มาตรฐานการควบคุมงาน มี 2 ประเภท คือ

1. มาตรฐานในเชิงคุณภาพ กำหนดเอาไว้โดยพิจารณาจากความยุ่งยากซับซ้อน ความรับผิดชอบ การตัดสินใจ ผลกระทบของงาน ถือเป็นมาตรฐานในเชิงคุณภาพ

2. มาตรฐานในเชิงปริมาณ กำหนดโดยพิจารณาจากจำนวนผลงานที่ทำได้ สามารถนับจำนวนชิ้น งานออกมาได้ เช่น พิมพ์ดีด 8 หน้าต่อ 1 วัน เป็นต้น

การควบคุม มี 4 ประเภท ได้แก่ การควบคุมคุณภาพของงาน การควบคุมปริมาณของงาน การควบคุมด้านเวลา และการควบคุมด้านค่าใช้จ่าย

หลักในการควบคุม

    1. มีความเหมาะสมกับงาน

    2. มีความสอดคล้องกับความต้องการของงาน

    3. มีความยืดหยุ่น

    4. บ่งบอกข้อบกพร่องหรือปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นได้

    5. สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างถูกต้อง

ประโยชน์ของการควบคุมต่อองค์กร เป็นเครื่องชี้วัดความก้าวหน้าขององค์กร ทำให้องค์กรมีเกณฑ์มาตรฐานในการปฏิบัติงานของบุคลากร ทำให้องค์กรเป็นที่ยอมรับ

ประโยชน์ของการควบคุมต่องาน ทำให้รู้ว่างานที่ทำเป็นไปตามแผนงานหรือโครงการหรือนโยบายที่กำหนดเอาไว้หรือไม่ ทำให้รู้ความก้าวหน้าของงานที่ทำ ทำให้รู้ว่าวิธีการที่ใช้ในการปฏิบัติงานนั้น ๆ เป็นวิธีการที่ถูกต้องหรือไม่ และทำให้รู้ว่างานที่ทำมีอุปสรรคอะไร

ประโยชน์ของการควบคุมต่อบุคคล เป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐาน ส่วนในด้านผู้ปฏิบัติการควบคุมทำให้ผู้ปฏิบัติตระหนักถึงความรู้ความสามารถของตนเอง

กระบวนการในการควบคุม

    1. ศึกษานโยบายและแนวทางขององค์กรเกี่ยวกับการควบคุม

    2. ศึกษาแผนงานและโครงการที่องค์กรจะจัดทำ

    3. ศึกษาขั้นตอนและรายละเอียดของงาน

    4. กำหนดมาตรฐานของงาน

    5. การดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงาน

    6. การรายงานผลการประเมินผล

เทคนิคและวิธีการควบคุมงาน

    1. การควบคุมโดยกำหนดมาตรฐานของงาน เป็นวิธีการควบคุมที่มีรูปแบบกำหนดเอาไว้อย่างมีขั้นตอนสามารถตรวจสอบได้

    2. การควบคุมโดยงบประมาณ เป็นการควบคุมโดยพิจารณาจากการใช้งบประมาณเพื่อดำเนินตามแผนงานหรือโครงการ

    3. การควบคุมโดยวิธีตรวจเยี่ยม เป็นวิธีการควบคุมงานที่ไม่เป็นทางการ ไม่มีรูปแบบตายตัว ดำเนินการโดยผู้บริหารอาจเดินดูหรือทักทายผู้ปฏิบัติงาน

    4. การควบคุมโดยเรียงลำดับผลงาน วิธีการควบคุมงานวิธีนี้จะใช้หลักการในการพิจารณาปริมาณและคุณภาพของงานจัดเรียงลำดับตั้งแต่ระดับสูงจนถึงระดับต่ำสุด

    5. การควบคุมโดยบุคลากรที่เกี่ยวข้องในองค์กร การประเมินวิธีนี้จะต้องประเมินโดยใช้เพื่อนร่วมงานเพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานกันเอง