หน่วยการเรียนที่ 13

หน่วยที่ 13 หลักการจัดการกับเศรษฐกิจ


ความหมายของ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและการบริหารประเทศ โดยยึดหลักทางสายกลาง คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบและคุณธรรมประกอบการตัดสินใจและการกระทำเพื่อตนเอง สังคมและประเทศรอดพ้นวิกฤตที่เกิดขึ้นและยังสามารถนำทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มีความสมดุลภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

หลักสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

    1. เป็นแนวทางและแนวปฏิบัติในการดำรงชีวิตของประชาชนในทุกระดับ

    2. เป็นแนวทางในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง

    3. จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวทันโลกยุคโลกาภิวัตน์

    4. ความพอเพียงหมายถึงความพอประมาณ

    5. จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวัง

    6. จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ

“ความพอประมาณ” ในหลักเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่

    1. ความพอประมาณในระดับบุคคล

    2. ความพอประมาณในระดับครอบครัว

    3. ความพอประมาณในระดับชุมชนหรือสังคม

    4. ความพอประมาณในระดับประชาชาติ

“ความมีภูมิคุ้มกันที่ดี” ในหลักเศรษฐกิจพอเพียง ความมีภูมิคุ้มกันที่ดีเปรียบเสมือนการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นให้น้อยลง ความเสี่ยงในที่นี้มีความหมายครอบคลุมกว้างขวาง ทั้งในแง่ของการดำเนินชีวิตของบุคคล การปฏิบัติงาน การประกอบธุรกิจ การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของประเทศชาติ จะต้องปกป้องคุ้มครองไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่ไม่ควรจะเป็น เช่น เกิดความเสี่ยงเพราะมีความโลภมากเกินไป หรือเสี่ยงเพราะปล่อยกู้มากเกินไป หรือกักตุนสินค้าเพื่อเก็งกำไรมากเกินไปจนก่อให้เกิดความเสี่ยง

แนวทางในการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน

    1. รู้จักใช้เงิน

    2. รู้จักเลือกให้เหมาะสม

    3. รู้จักบริโภคให้เหมาะสม

    4. งดอบายมุข

    5. รู้จักลงทุนในสิ่งที่เป็นประโยชน์

รัฐสามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการจัดการระบบเศรษฐกิจ ดังนี้

    1. การจัดการด้านเสถียรภาพและการจัดการความเสี่ยง

    2. การใช้ระบบธรรมาภิบาล

    3. การลงทุนและการก่อหนี้ของรัฐต้องไม่เกินตัว

การจัดการด้านเสถียรภาพและการจัดการความเสี่ยง มีประโยชน์คือจะทำให้ระบบเศรษฐกิจของชาติมีความยืดหยุ่น สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เนื่องจากสภาวะของโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก หาก ระบบเศรษฐกิจของประเทศเราไปพึ่งพาอาศัยประเทศอื่นย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของประเทศอย่างแน่นอน

ธรรมาภิบาล หมายถึง การบริหารของภาครัฐที่มุ่งความดีงาม และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐและประชาชนอย่างทั่วถึงและ ยุติธรรม ธรรมาภิบาล จึงประกอบด้วย การบริหารที่ดีและมีความยุติธรรมทั้งเพื่อรัฐและเพื่อประชาชน ควรมีลักษณะที่สำคัญ ๆ 4 อย่าง คือ

1. การบริหารอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คือ การบริหารจัดการที่รัฐและประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์สูงสุดที่ควรจะได้

2. การบริหารด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐไม่มีการคอร์รัปชั่นหรือการสร้างผลประโยชน์ให้กลุ่มของตนเอง ตลอดจนการสร้างประโยชน์แบบทับซ้อน

3. มีความยุติธรรมอย่างทั่วถึง การบริหารราชการที่ดีจะต้องให้ความยุติธรรมอย่างทั่วถึง

4. ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง ในการบริหารราชการที่ดีรัฐจะต้องให้ประชาชนทุกชั้นมีส่วนร่วมในการบริหาร

แนวทางในการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในภาคธุรกิจ

1. การปฏิบัติต่อผู้เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม ผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจประกอบด้วย เจ้าของธุรกิจ หุ้นส่วนของธุรกิจ และประชาชนในฐานะผู้บริโภค ทุกคนที่เกี่ยวข้องควรได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินธุรกิจ

2. มีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน และดำเนินการตามนโยบายที่กำหนดไว้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัท

3. ดำเนินงานอย่างโปร่งใส เพราะความโปร่งใสต้องมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง

4. ดำเนินธุรกิจแบบมีวิสัยทัศน์ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาวมากกว่าหวังผลกำไรชั่วครั้งชั่วคราว

ระบบบรรษัทภิบาล คือ วิธีการภายในของบริษัทในการปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จ โดยมีผลในทางที่ดีต่อระบบ เศรษฐกิจของประเทศ มีผลมีต่อพนักงานและผู้ถือหุ้นของบริษัท ในการดำเนินการของบริษัทสามารถตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส