ความเข้าใจเกี่ยวกับนักศึกษาพิการ

ความเข้าใจเกี่ยวกับนักศึกษาพิการ

นักศึกษาพิการที่ศึกษาอยู่ในสถาบันต่าง ๆ เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีระดับสติปัญญา สามารถเรียนรู้และเข้าร่วมกิจกรรมได้ เช่นเดียวกับนักศึกษาทั่วไป แต่เนื่องจากมีสภาวะความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือทางการรับรู้ เช่น การมองเห็น หรือการได้ยิน ทำให้จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ สนับสนุนและบริการทางการศึกษาทั้งรูปแบบการเรียน สื่อ อุปกรณ์ มีการขยายเวลาในการสอบและจัดห้องสอบเฉพาะที่เหมาะสม เพื่อจะทำให้นักศึกษาสามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ ดังนั้นอาจารย์ผู้สอนจึงควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะและประเภทของนักศึกษาพิการที่เข้าเรียนระดับอุดมศึกษามีดังนี้

1. นักศึกษาพิการด้านการเห็น

นักศึกษาพิการด้านการเห็นจะมีปัญหาด้านการรับรู้ทางสายตา ซึ่งมีทั้งมองเห็นเลือนราง และตาบอดสนิท นักศึกษากลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือด้านสื่ออุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น นักศึกษาที่มีสายตาเลือนรางจะใช้อุปกรณ์ขยายตัวหนังสือ หรือรูปภาพให้ใหญ่ขึ้นเพื่อสามารถมองเห็นได้ชัดเจน สำหรับนักศึกษาที่ตาบอดสนิทจะต้องศึกษาจากหนังสือที่เป็นอักษรเบรลล์หรือหนังสือเสียง เป็นต้น

2. นักศึกษาพิการด้านการได้ยิน

นักศึกษาพิการด้านการได้ยินจะมีปัญหาคือ ไม่สามารถรับฟังเสียงต่าง ๆ ได้ (หูหนวก) ดังนั้นในการเรียนจึงจำเป็นต้องมีล่ามเพื่อแปลคำบรรยายของอาจารย์ผู้สอนเป็นภาษามือ เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจและจดคำบรรยายได้ถูกต้อง สำหรับนักศึกษาที่มีการได้ยินระดับหูตึงจะต้องใส่เครื่องช่วยฟังเพื่อขยายเสียงให้ได้ยินชัดเจน ในการเรียนการสอนผู้สอนจะบรรยายโดยใช้น้ำเสียงปกติ แต่จะมีการเขียนประกอบการบรรยายมากขึ้น และอีกทั้งจัดที่นั่งให้นักศึกษามองเห็นผู้สอนได้ชัดเจน

3. นักศึกษาพิการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว

นักศึกษาพิการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่จะมีปัญหาด้านการเดินทาง โดยเฉพาะเมื่อเข้ามาศึกษาในระดับอุดมศึกษา จึงควรมีการปรับสภาพแวดล้อมทั้งบริเวณมหาวิทยาลัย และภายในห้องเรียนให้เกิดความสะดวกในการเดินทาง เช่นจัดทางลาด จัดลิฟต์ และจัดโต๊ะที่เหมาะสมในการนั่งเรียนสำหรับนักศึกษากลุ่มนี้

4. นักศึกษาที่มีปัญหาทางการเรียนรู้

นักศึกษาที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ที่เข้ามาศึกษาในระดับอุดมศึกษาส่วนหนึ่งจะมีปัญหาด้านการอ่านและการเขียน ดังนั้นในการจัดการเรียนการสอนจึงเน้นให้นักศึกษาได้ฟังคำบรรยาย ดูวีดีทัศน์ และมีการสอนวิธีการเรียนที่เหมาะสมแก่นักศึกษาแต่ละคน สำหรับการทดสอบสามารถใช้วิธีการทดสอบโดยให้นักศึกษาอธิบายและตอบคำถามโดยการพูดแทนการเขียนคำตอบจากแบบสอบถามและมีการให้เวลาเพิ่มในการสอบแก่นักศึกษาที่มีปัญหาด้านการอ่านหรือการเขียนด้วย

5. นักศึกษาที่มีสภาวะออทิสติก

ผู้สอนและผู้ที่จะปฏิบัติงานร่วมกับนักศึกษากลุ่มนี้จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจถึงลักษณะและสภาวะต่าง ๆ มีการเรียนรู้พฤติกรรมและอารมณ์ของแต่ละคนอย่างละเอียด และจึงเริ่มให้การช่วยเหลือเพื่อสร้างสัมพันธ์ภาพ โดยชักจูงให้เขาออกจากโลกส่วนตัวของเขาเองได้ก่อน

ในการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษากลุ่มออทิสติก ผู้สอนจะต้องเตรียมการณ์ให้นักศึกษารู้ตัวล่วงหน้าก่อนจะดำเนินภารกิจต่าง ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม ชี้แจงบอกเล่าให้เข้าใจเพื่อป้องกันความสับสนของนักศึกษา โดยใช้คำพูดภาษาที่เป็นรูปธรรม พูดตรงไปตรงมา หลีกเลี่ยงคำพูดที่เป็นนามธรรมสำนวน สุภาษิตหรือคำพังเพย เพราะนักศึกษาอาจไม่เข้าใจ

การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนักศึกษาพิการแต่ละคนจะทำให้อาจารย์ผู้สอนและผู้เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติงาน ให้การช่วยเหลือสนับสนุนแก่นักศึกษาได้อย่างเหมาะสม ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับความสำเร็จทางการศึกษา ปรับตัวอยู่ร่วมในสังคมสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัว อีกทั้งเป็นพลเมืองที่ดีของชาติต่อไป