Thai translation of the catalogue The Portuguese Historical Heritage

Data de publicação: 14/mai/2011 5:51:28

นิทรรศการการสืบสานมรดกทางประวัติศาสตร์ของโปรตุเกสทั่วโลกโดยมูลนิธิกาลูสต์ กุลเบงเกียนไม่ว่าจะเป็นซากโบสถ์ในอยุธยา ประเทศไทย กำแพงป้อมที่ตั้งตระหง่านบริเวณท่าเรือ มอมบาซา (Mombasa) ในเคนยา ป้อมปราการที่ทางเข้าอ่าวเปอร์เซียในอิหร่าน หรือโบสถ์สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในกรุงธากา ประเทศบังคลาเทศ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้มีลักษณะร่วมซึ่งเป็นสาระสำคัญประการหนึ่งคือ เครื่องประจักษ์พยานว่า ชาวโปรตุเกสปรากฏในประวัติศาสตร์ ทั่วทุกมุมโลก

ชาวโปรตุเกส เริ่มประสบการณ์โลกาภิวัฒน์เป็นครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยวิธีการเดินเรือไปตามมหาสมุทรต่าง ๆ ในโลก หนึ่งในมิติที่สำคัญที่สุดในการผจญภัยทางทะเลนี้คือ การประสบพบเห็นวัฒนธรรมต่าง ๆ อีกมิติหนึ่งที่เชื่อมโยงอนุสรณ์สถานเหล่านี้เข้าด้วยกันคือความข้องเกี่ยวกับมูลนิธิกาลูสต์ กุลเบงเกียน

มูลนิธิได้รับการก่อตั้งใน ค.ศ. 1956 ตามเจตนารมณ์ในพินัยกรรมของกาลูสต์ ซาร์คิส กุลเบงเกียน (Calouste Sarkis Gulbenkian) ชาวอาร์เมเนีย ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นผู้สะสมงานศิลปะและพำนักในโปรตุเกสใน ค.ศ. 1942 จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตใน ค.ศ.1955

มูลนิธิเป็นสถาบันเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรของโปรตุเกส ซึ่งริเริ่มโครงการต่าง ๆ ทั้งในโปรตุเกสและต่างประเทศ ทั้ง 4 แขนง คือ ศิลปะ วิทยาศาสตร์ การศึกษา และการพัฒนามนุษย์ โดยเข้าร่วมในเครือข่ายสาธารณกุศลระหว่างประเทศเพื่อเพื่อนมนุษย์อย่างจริงจัง ร่วมกับมูลนิธิอื่น ๆ ในทวีปยุโรปในโครงการที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและสหวิทยาการต่าง ๆ

ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา มูลนิธิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบูรณะมรดกทางประวัติศาสตร์ของโปรตุเกสในหลายประเทศ

หมู่บ้านโปรตุเกส , อยุธยา , ประเทศไทย

สนธิสัญญาไมตรีและการค้า ซึ่งลงนามใน ค.ศ. 1516 ระหว่างกษัตริย์แห่งโปรตุเกสและสยาม นอกจากจะมีการก่อตั้งสถานีการค้าหลายแห่งแล้ว ยังมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตซึ่งดำเนินตราบจนทุกวันนี้ มูลนิธิได้สนับสนุนโครงการเพื่อการอนุรักษ์ซากปรักหักพังของโบสถ์เซนต์ดอมินิค ในระหว่างการขุดค้นได้พบโครงกระดูกชาวสยามและโปรตุเกสจำนวนมากในหลุมฝังศพข้างซากปรักหักพัง การค้นพบนี้นำไปสู่การริเริ่มสร้างศาลาที่อนุรักษ์โครงกระดูกไว้ และยังมีการสร้างท่าเรือขนาดเล็กสำหรับผู้เดินทางทางน้ำ การก่อสร้างแล้วเสร็จใน ค.ศ. 1995

ทามาน ซารี (วังน้ำ) , เมืองย้อกจาการ์ต้า , อินโดนีเซีย

ทามาน ซารี (วังน้ำ) ได้รับการก่อสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ตามแผนที่วาดขึ้นโดยสถาปนิกเชื้อสายโปรตุเกส ซึ่งอาจจะมาจากเมืองกัวหรือมะละกา เห็นอิทธิพลของโปรตุเกสเด่นชัดในการออกแบบตามสไตล์ยุโรปโดยส่วนรวม ซึ่งทำให้หวนระลึกถึงพระราชวังและคฤหาสน์ในชนบทสไตล์ บาร็อค ในโปรตุเกส มีพิธีเปิดงานอนุรักษ์บริเวณ สระ ทามาน ซารี ของมูลนิธิ กุลเบงเกียน ใน ค.ศ. 2004

ประตูซานติอาโก และโบสถ์เซนต์ปอล , เมืองมะละกา , มาเลเซีย

ประตู ซานติอาโกเป็นร่องรอยของป้อม อา ฟาโมซา (แปลว่า มีชื่อเสียง) สุดท้ายที่หลงเหลือสร้างโดยอะฟงซู ดือ อัลบูแกร์ (Afonso de Albuquerque) ใน ค.ศ. 1511 ภายหลังจากมะละกาเสียเมืองในเดือนมกราคม ค.ศ. 1641 ชาวดัชต์ ได้ทำลายป้อมปราการเสียเป็นส่วนใหญ่ ต่อมา ใน ค.ศ. 1807 ผู้บริหารชาวอังกฤษได้สั่งการให้รื้อป้อมเสีย

อาคารดั้งเดิมของโบสถ์เซนต์ปอล เป็นหอสวดมนต์ขนาดเล็กบนเนินเขา เมื่อพระนิกายเยซูอิตมาถึงเมืองมะละกา หอสวดมนต์ก็อยู่ในสภาพพังพินาศ สถานที่นี้ยังเคยเป็นที่ฝังพระศพเซนต์ ฟรังซิส ซาเวียร์ ชั่วคราว 2-3 เดือน ก่อนจะส่งพระศพต่อไปยังเมืองกัว ใน ค.ศ. 1553 พระนิกายเยซูอิตได้ทำลายอาคารเดิมและสร้างโบสถ์ใหม่ในบริเวณเดียวกัน ได้ใช้ประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ใน ค.ศ. 1590 เป็นทั้งสถานที่ประกอบพิธีกรรมและป้อมปราการติดตั้งปืนใหญ่ออกสู่ทะเล

ใน ค.ศ. 1991 มูลนิธิได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับหน่วยงานของมาเลเซียเพื่อฟื้นฟูโบราณสถานทั้ง 2 แห่ง

โบสถ์ลูกประคำอันศักดิ์สิทธิ์ , กรุงธากา , บังคลาเทศ

พระโปรตุเกสนิกายออกัสตินได้ก่อสร้างโบสถ์ลูกประคำอันศักดิ์สิทธิ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยผสมผสานสถาปัตยกรรมแนวคริสต์ศาสนาและเครื่องประกอบประดับตามศิลปะอิสลามและตระกูลโมกุล โครงการบูรณะอาคารนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการตกแต่งตามธรรมเนียมของอนุสรณ์สถานอื่น ๆ ในเมืองนั้น ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับโบสถ์แห่งนี้ งานบูรณะนี้แสดงรายละเอียดของอาคารเดิมซึ่งน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของหอสวดมนต์โบราณ มูลนิธิ ได้ดำเนินงานสำเร็จในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2000

ไม้กางเขน เฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน , เมืองเซบู , ฟิลิปปินส์

บาทหลวงนิกายออกัสตินได้ริเริ่มสร้างอนุสรณ์แด่นักเดินเรือชาวโปรตุเกส เฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน ใน ค.ศ. 1521 ผู้ตั้งกางเขนไม้เพื่อประกาศการเดินทางถึงภูมิภาคและเตรียมแท่นบูชาสำหรับพิธีมิซาในบริเวณดังกล่าว ซึ่งยังเป็นที่แรกที่พวกเข้ารีต ซึ่งมาจากครอบครัวพระราชาแห่ง เซบู และบริวาร 2-300 คน ประกาศตนเป็นคริสต์และรับศีลจุ่ม

มีเรื่องเล่าที่น่าอัศจรรย์เกี่ยวกับไม้กางเขนนี้ เมื่อเวลาผ่านไปผู้เชื่อในอำนาจมหัศจรรย์ของไม้กางเขนนี้เข้ามาเก็บชิ้นส่วนไปกับตัว จึงก่อสร้างรั้วล้อมขนาดเล็กเพื่อป้องกันการทำลายไม้กางเขนนี้ใน ค.ศ. 1834 ต่อมาเพดานได้รับการตกแต่งใน ค.ศ. 1950 ซึ่งแสดงภาพเหตุการณ์การตั้งไม้กางเขน และพิธีมิซาแรกที่ผนังด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านแสดงภาพครอบครัวของ ราชา ฮูมาบอน และเหล่าบริวารในพิธีรับศีลจุ่ม

โบราณสถานนี้ ได้รับการอนุรักษ์ใน ค.ศ. 2006

โบสถ์ มาทริ เดอี , วิหารแห่งเมืองกัลกัตตา , อินเดีย

โบสถ์ มาทริ เดอี เป็นวิหารประจำเมืองกัลกัตตา รู้จักกันในนาม ปารังจี ปัลลี (Parangi Palli) หมายความว่า โบสถ์ของพวกฝรั่ง คือ ชาวต่างชาติ นานนับหลายศตวรรษ โบสถ์ประสบชะตากรรมนานัปการ รวมทั้งการบุกทำลายศาสนวัตถุและการบูรณะที่ไม่เหมาะสม ทำให้ร่องรอยสถาปัตยกรรมโปรตุเกสขนานแท้ปรากฏน้อยมากในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีก็ยังปรากฏอิทธิพลของโปรตุเกสอยู่บ้างในบางส่วน อาทิ บริเวณร้องเพลงคอรัสซึ่งตั้งอยู่สูงกว่าปกติ นับเป็นคุณลักษณะเฉพาะของโบสถ์โปรตุเกสบางแห่ง ซึ่งไม่สามารถพบได้ในสถาปัตยกรรมโบสถ์คาทอลิกสมัยใหม่เลย จุดนี้ปรากฏในโครงสร้างด้านหน้าโบสถ์ งานอนุรักษ์นี้ สำเร็จใน ค.ศ. 2009

พิพิธภัณฑ์ อินโด-โปรตุเกส , เมืองโคชิน , อินเดีย

มูลนิธิให้การสนับสนุนการก่อสร้างอาคารที่เหมาะสมภายในที่พำนักของพระราชาคณะแห่งเมืองโคชิน ในภาคใต้ของอินเดีย และจัดแสดงศาสนวัตถุ ซึ่งนำมาจากห้องเก็บของในพระราชวัง รวมทั้งโบสถ์ต่าง ๆ ในสังฆมณฑลแห่งเมืองโคชิน มีพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ อินโด-โปรตุเกส ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000

พิพิธภัณฑ์คริสตศิลป์ , ย่านเมืองเก่าของกัว , อินเดีย

มูลนิธิ กาลูสต์ กุลเบงเกียน มีส่วนปกปักรักษางานศิลป์หลายชิ้นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ระหว่างอินเดียและโปรตุเกส

ใน ค.ศ. 1994 มูลนิธิได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์คริสตศิลป์ที่โรงเรียนเตรียมบาทหลวง ราชอล (Rachol Seminary) ภายในอาคารสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 และใช้สถานที่นั้นจนถึงใน ค.ศ. 2001 ต่อมา ได้ย้ายไปจัดแสดงที่ย่านเมืองเก่าของกัว ขณะนี้วัตถุจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์คริสตศิลป์ใน สำนักชีซานตา มอนิกา

ป้อมฮอร์มุซ และป้อมเคชฮ์ม์ , อิหร่าน

ใน ค.ศ. 1507 อะฟงซู ดือ อัลบูแกร์ ได้เริ่มก่อสร้างป้อมใหญ่ที่ฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเกาะในอ่าวเปอร์เซียที่ต้องพึ่งพาเสบียงจากภายนอก ต่อมาอัลบูแกร์ ถูกบังคับให้ออกจากพื้นที่และงานก่อสร้างก็ต้องหยุดชะงักจนถึง ค.ศ. 1515 ทั้งป้อมฮอร์มุชและป้อมเคชฮ์ม์ ต่างก็เป็นเสมือนจุดยุทธศาสตร์ป้องกันการโจมตี และจุดควบคุมการเดินเรือในอ่าว โดยป้อมเคชฮ์ม์มีหน้าที่หลักในการจัดหาน้ำและอาหารให้แก่ฮอร์มุซ มูลนิธิได้เสนอโครงการอนุรักษ์ให้รัฐบาลอิหร่านคือ เคชฮ์ม์ ใน ค.ศ. 2002 และ ฮอร์มุซ ใน ค.ศ. 2004

ป้อม เยซู , เมืองมอมบาซา , เคนยา

การก่อสร้างป้อมเยซูเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1593 ในรัชสมัยที่กษัตริย์สเปน พระเจ้าฟิลิปที่ 2 ทรงปกครองโปรตุเกส โจวันนี บัตติสตา ไคยราติ (Giovanni Battista Cairati) เป็นผู้ออกแบบตามโครงแบบอิตาเลียนล่าสุดเพื่อสถาปัตยกรรมด้านการทหาร ป้อมให้ความมั่นคงในป้องกันภัย โดยใช้กองทหารจำนวนน้อยที่สุด แม้ว่าจะเป็นอาคารขนาดใหญ่โดยมีความยาว 130 เมตร หน้ายาว 90 เมตร ป้อมมีลักษณะทำลายล้างยาก ขณะนี้เป็นจุดรวมของชุมชนทางการเมืองและศาสนาที่แตกต่างกันภายในเมือง ป้อมเยซูถือเป็นการฟื้นฟูมรดกโบราณสถานของโปรตุเกสในต่างประเทศครั้งแรก ใน ค.ศ. 1958 ในสมัยที่เคนยายังเป็นรัฐในอารักขาของสหราชอาณาจักร

อีก 40 ปีต่อมา มีงานอนุรักษ์ที่กำแพง และเสร็จสิ้นใน ค.ศ. 2001

ป้อมเซนต์ เจมส์ , เมือง คิลวา , แทนซาเนีย

ป้อมเซนต์ เจมส์เป็นจุดจอดพักทางทะเลที่สำคัญในปีแรก ๆ หลังการเดินทางของวาสกู ดา กามา (Vasco da Gama)ใน ค.ศ. 1498 ในสมัยนั้น ป้อมนี้เป็นจุดค้าขายที่สำคัญ ซึ่งมีการส่งออกทองจำนวนมากสู่ทวีปยุโรป ป้อมเซนต์ เจมส์ถูกสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1505 หลังจากสร้างเสร็จก็ถูกทิ้งให้รกร้าง ใน ค.ศ. 1999 มูลนิธิได้เสนอโครงการแนวทางฟื้นฟูป้อมนี้แก่หน่วยงานผู้มีอำนาจของ แทนซาเนีย

มรดกของโปรตุเกสทั่วโลก: สถาปัตยกรรมและผังเมือง

มูลนิธิได้ตัดสินใจส่งเสริมโครงการพิสูจน์อัตลักษณ์มรดกของโปรตุเกสทั่วโลกในด้านสถาปัตยกรรมและการจัดผังเมือง

ใน ค.ศ. 2007 ศาสตราจารย์ ฌูเซ่ มัตโตซู (José Mattoso) นักวิจัยที่โดดเด่น ได้รับเชิญให้ปฏิบัติภารกิจนี้ ร่วมกับมาฟาลดา ซูอารืช ดา กุนญา (Mafalda Soares da Cunha) และผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และประวัติศิลป์จำนวนมาก ได้กำหนดอัตลักษณ์และจัดทำบัญชีมรดกด้านสถาปัตยกรรมและผังเมืองของโปรตุเกสหรือได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกส

ผลงานนี้ได้รับการตีพิมพ์แล้ว 3 เล่ม โดยแบ่งตามสภาพภูมิศาสตร์คือ อเมริกาใต้ , แอฟริกา ทะเลแดง และอ่าวเปอร์เซีย และเอเชียและโอเชียเนีย ตามลำดับอักษรเสมือนพจนานุกรมสถานที่และอนุสรณ์สถาน โดยให้ข้อมูลกับผู้อ่านที่มิได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับร่องรอยด้านการก่อสร้าง การจัดผังเมือง และประวัติศาสตร์ อันเป็นผลจากการพบปะแลกเปลี่ยนกับหลากหลายวัฒนธรรม ซึ่งชาวโปรตุเกสได้ริเริ่มขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 15

www.facebook.com/500Years.PortugalThailand