ประวัติผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลก

ลอร์ด เบเดน โพเอลล์ (B.P)

            ลอร์ด เบเดน โพเอลล์ เป็นผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลก มีชื่อเต็มว่า โรเบิร์ต สติเฟนสัน  สมิท เบเดน โพเอลล์ (Robert Stephenson Smyth Baden Powell) เรียกย่อ ๆ ว่า บี.พี. (B.P.)  เกิดวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2400 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ บิดาชื่อ เอช.จี.เบเดน โพเอลล์  เป็นศาสตราจารย์ สอนวิชาเรขาคณิต และธรรมชาติศึกษา ณ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มารดาชื่อ  เฮนริเอทต้า เกรซ สมิท เป็นธิดาของ พลเรือเอก ดับบิว. ที. สมิท แห่งราชนาวีอังกฤษ สมรสกับ  นางสาว โมลาฟ เซ็นต์แคลร์ เมื่ออายุได้ 55 ปี

ชีวิตในวัยเด็ก

             เมื่อ บี.พี. อายุได้ 11 – 12 ปี ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษาชื่อ โรสฮิลล์  ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมชื่อชาเดอร์เฮาส์ กรุงลอนดอนได้ 2 ปีต่อมาโรงเรียนได้ย้ายไปตั้งอยู่ในชนบท ณ เมืองโกคาลมิง ในแคว้นเซอร์เรย์ มีน้ำไหลผ่านและมีป่าใหญ่อยู่ติดบริเวณโรงเรียน เขามักใช้เวลาว่างหลบเข้าไปใช้ชีวิตและศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติโดยลำพัง  

              ชีวิตในวัยเด็ก บี.พี. ได้รับความรู้พิเศษจากพลเรือเอกสมิทผู้เป็นตา เกี่ยวกับการว่ายน้ำ เล่นสเกต ขี่ม้า การวัดแดด และดูดาว นอกจากนี้เขายังชอบวาดภาพ ร้องเพลง แสดงละคร มีความสนใจในธรรมชาติศึกษา ศึกษาชีวิตสัตว์ ต้นไม้ตลอดจนความรู้เชิงพราน และในวันปิดภาคเรียนมักจะท่องเที่ยวพักแรมไปกับพี่ชายอีก 3 คน

              ปีสุดท้ายที่เรียนอยู่ในชาเดอร์เฮาส์ บี.พี. ได้ไปสมัครสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด 2 ครั้งแต่สอบไม่ได้ ในปี พ.ศ. 2419 จึงสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิสต์ ได้ที่ 5 ได้รับตั้งแต่เป็นนายร้อยตรีในกองทัพบกของอังกฤษ และถูกส่งไปประจำการที่ประเทศอินเดีย เมื่ออายุ 19 ปี

ชีวิตในการรับราชการทหาร

          บี.พี. รับราชการทหารในประเทศอินเดีย ประจำกองทหารม้าอุสซาร์ที่ 13  เป็นเวลา 8 ปี โดยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง และได้รับยศร้อยเอก เมื่ออายุ 26 ปี  ในระหว่างนี้มีเหตุการณ์ที่แสดงลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันกีฬาแทงหมูป่า ขณะอยู่บนหลังม้า โดยใช้หอกสั้น เมื่อ พ.ศ. 2426 และขณะที่มียศเป็นร้อยตรี ได้รับเงินเดือนน้อยมาก เพียงปีละ 120 ปอนด์ จึงดำเนินชีวิตอย่างประหยัด คือ  งดสูบบุหรี่ ดื่มสุราแต่น้อย หารายได้พิเศษ โดยการเขียนเรื่องและเขียนภาพลงหนังสือพิมพ์ชีวิตราชการทหารของท่านส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอินเดียและแอฟริกา มีสิ่งประทับใจที่เกี่ยวกับกิจการลูกเสือหลายครั้ง เช่น

           ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2431 ได้ไปปราบชนเผ่าซูลู ซึ่งมีหัวหน้าชื่อ ดินีส ซูลู ในแอฟริกาใต้สำเร็จ เขาได้นำประสบการณ์บางอยางในครั้งนี้ มาใช้ในกิจการลูกเสือด้วย ได้แก่ บทเพลงอินกอน

ยามา (หัวหน้า) อิน กอน ยา - มา กอน – ยา – มา

(ลูกคู่) อิน – วู – ยู ยาโบห์ ยาโบห์ อิน – วู – ยู

(หัวหน้า)

(ลูกคู่)

           สร้อยคอของดินิส ซูลู ทำด้วยไม้แกะเป็นท่อนเล็ก ๆ ซึ่งต่อมา บี.พี. ได้นำมาเป็นบีดเครื่องหมายวูดแบดจ์ สำหรับผู้ที่ผ่านการอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือขั้นความรู้ชั้นสูง  ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2432 ที่เกาะมอลต้า บี.พี. ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยทูตทหาร  ทำหน้าที่เป็นทหารสืบราชการลับ

           ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2438 ทำการรบกับเผ่าอาซันดิ ซึ่งมีกษัตริย์ชื่อว่า คิงเปรมเปห์และได้รับชัยชนะ เหตุการณ์ครั้งนี้ บี.พี. ได้ประสบการณ์ดังต่อไปนี้

1) การบุกเบิก เช่น การโค่นต้นไม้ การทำสะพาน การสร้างค่ายพัก

2) ทดลองการแต่งกายของตนเอง ใช้หมวกปีกแบบโคบาล จนได้รับฉายาจากพวกพื้นเมืองว่า คัมตะไค แปลว่า คนสวมหมวกปีกกว้าง

          3) ประเพณีการจับมือซ้าย จากการแสดงความเป็นมิตรของคนพื้นเมือง

          ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2439 พวกมาตาบิลี ซึ่งเป็นเผ่าหนึ่งของซูลู เดิมอยู่ในทรานสวาล  และถูกพวกบัวร์ขับไล่ จึงอพยพไปอยู่ในมาติบีลีแลนด์ (ปัจจุบันเรียกโรดิเซีย) พวกมาตาบิลี  ก่อการกบฏรัฐบาลอังกฤษจึงสั่งทหารไปปราบ บี.พี. ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งและได้รับ  ประสบการณ์เรื่องการสอดแนม โดยเฉพาะการปฏิบัติงานตอนกลางคืน เลยได้รับฉายาว่า  “อิมปีซ่า” แปลว่า หมาป่าไม่เคยนอนหลับ

           ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2442 เหตุการณ์ที่เมืองมาฟอีคิง หลังจาก บี.พี. ได้กลับจากการปฏิบัติงานที่อินเดีย 2 ปี บี.พี. ได้รับคำสั่งด่วนให้เดินทางไปแอฟริกา เพื่อหาทางป้องกันการรุกรานของพวกบัวร์ (ชาวดัทซ์ที่อพยพไปอยู่ในแอฟริกาใต้) ในทรานสวาลและออเร้นจ์ทรีสเตท ซึ่งจะตั้งตนเป็นเอกราช บี.พี. ได้นำกองทหารไปรักษาเมืองมาฟอีคิงซึ่งถูกล้อมโดยกองทหารบัวร์เป็นเวลานานถึง 217 วัน จึงมีกองทัพใหญ่ยกไปช่วยและทำให้พวกบัวร์ต้องล่าถอยไป

            ในการป้องกันเมืองมาฟอีคิง บี.พี. ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง อดทน ร่าเริง  ไม่ย่อท้อ ใช้สติปัญญาหาวิธีแก้ปัญหา ทำกลอุบายลวงข้าศึกให้เข้าใจผิด คิดว่า มีกำลังทหารมากมาย และมีการป้องกันรักษาเมืองอย่างเข้มแข็ง ตลอดจนใช้เด็กอาสาสมัครที่ได้รับการอบรมแล้วปฏิบัติหน้าที่ส่งข่าว ปรากฏว่าทำงานได้ผลดี ทำให้ บี.พี. มีความประทับใจในตัวเด็ก และเห็นวา ถ้าใช้เด็กให้ถูกทางแล้วจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างมาก จึงได้ริเริ่มการลูกเสือ  ในเวลาต่อมา จากเหตุการณ์ที่เมืองมาฟอีคิง ทำให้ บี.พี. ได้รับฉายาว่า “ผู้ป้องกันมาฟอีคิง”

            การลูกเสือเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษเป็นแห่งแรกในโลก เมื่อ พ.ศ. 2451 โดยพลโท ลอร์ด เบเดน โพเอลล์ (Lord Baden Powell) หรือ B - P มูลเหตุจูงใจที่ตั้งกองลูกเสือขึ้นมาก็คือ ท่านไปรับราชการทหาร โดยไปรักษาเมืองมาฟฟิคิง (Mafiking) อันเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในสหภาพแอฟริกาใต้ ขณะนั้นเกิดสงครามขึ้นกับพวกบัวร์ (Boer)

            ในการผจญศึกใหญ่คราวนั้น ท่านได้ฝึกเด็กขึ้นหน่วยหนึ่ง เพื่อช่วยราชการสงคราม เช่น เป็นผู้สื่อข่าวสอดแนม รักษาความสงบเรียบร้อยภายใน รับใช้ในการงานต่าง ๆ เช่น ทำครัว เป็นต้น ปรากฏว่าได้ผลดีมาก เพราะเด็กที่ได้รับการฝึกเหล่านั้นสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ใช้รับมอบหมายได้อย่างเข้มแข็งว่องไว ได้ผลดีไม่แพ้ผู้ใหญ่และบางอย่างกลับทำได้ดีกว่าผู้ใหญ่เสียอีก

             เมื่อท่านกลับจากราชการสงครามเมืองมาฟฟิคิงแล้ว ท่านได้ร่างโครงการอบรมเด็กขึ้น มีหลักการคล้ายลูกเสือในปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 ท่านได้ทดลองตั้ง Boy Scout ขึ้นเป็นกองแรกที่ เกาะบราวน์ซี ไอแลนด์ (Brown Sea Island) โดยเกลี้ยกล่อมเด็กที่เที่ยวเตร่อยู่ในที่ต่าง ๆ มาอบรมแล้วท่านได้คอยคุมการฝึกตามโครงการด้วยตนเอง และได้ผลดีสมความมุ่งหมายทุกประการ จึงทำให้เกิดความบันดาลใจ ในอันที่จะขยายกิจการให้กว้างขวางออกไปในวันข้างหน้า

             พอถึงปี พ.ศ. 2455 รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศรับรองฐานะของลูกเสืออังกฤษเป็นทางการพร้อมกับออกกฎหมายคุ้มครองให้ด้วย จากนั้นการลูกเสืออังกฤษก็เจริญแพร่หลายออกไปเป็นลำดับมาคติพจน์ที่ท่านลอร์ด บาเดน โพเอลล์ ได้ให้ไว้แก่ลูกเสือก็คือ BE PREPARED (จงเตรียมพร้อม)        ลูกเสือนานาชาติ ทำให้เขาได้ชื่อตามบรรดาศักดิ์ว่า บารอน เบเดน โพเอลล์ แห่ง กิลเวลล์ แต่คนทั่วไปมักนิยมเรียก ลอร์ด เบเดน โพเอลล์ ในการชุมนุม Scout ครั้งแรกของโลก ในปี พ.ศ. 2463  ที่ประชุมผู้แทน Scout จากประเทศต่าง ๆ ก็ประกาศให้เขาเป็นประมุขของ Scout ตลอดกาล  และทุกคนเรียกท่านอย่างย่อๆ ว่า B-P

1.1  พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

           พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 ได้รับพระราชทานพระนามว่าสมเด็จเจ้าฟ้าวชิราวุธ เมื่อทรงพระเยาว์ได้ศึกษาวิชาหนังสือไทยกับพระยาศรีสุนทรโวหาร เพิ่งได้พระชนมายุได้ 13 พรรษา เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ในสาขาประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ กฎหมาย วรรณคดี ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด และวิชาทหารบกที่โรงเรียนแฮนด์เฮิสต์ รวม 9 ปี  

              พระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ  เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ขณะนั้นมีพระชนมายุได้ 31 พรรษา ตลอดรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจทำนุบำรุงประเทศชาติในด้านการปกครอง การทหารการศึกษา การสาธารณสุข การคมนาคม การศาสนา โดยเฉพาะทางวรรณคดีทรงพระราชนิพนธ์ทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรองประมาณ 200 เรื่อง ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ ประชาชนจึงถวายพระสมญาแด่พระองค์ว่า “พระมหาธีรราชเจ้า” ทรงอยู่ในราชสมบัติเพียง 16 ปี เสด็จสวรรคต  เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระชนมายุ 46 พรรษา แต่เนื่องด้วยพระราชกรณียกิจของพระองค์ ทำให้เกิดคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างใหญ่หลวง รัฐบาลกับประชาชนจึงร่วมใจกันสร้างพระบรมรูปของพระองค์ประดิษฐานไว้ที่สวนลุมพินี และคณะลูกเสือแห่งชาติ ร่วมด้วยคณะลูกเสือทั่วราชอาณาจักร ได้สร้างพระบรมรูปของพระองค์ประดิษฐานไว้หน้าค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

1.2  กำเนิดลูกเสือไทย

           ในการตั้งลูกเสือก็เพื่อให้คนไทยรักชาติบ้านเมือง เป็นผู้นับถือศาสนาและมีความสามัคคี ไม่ทำลายซึ่งกันและกัน เป็นรากฐานแห่งความมั่นคงของประเทศชาติ ทรงให้ที่มาของชื่อลูกเสือไว้ว่า

“ลูกเสือบ่ใช่เสือสัตว์ไพร

เรายืมมาใช้ด้วยใจกล้าหาญปานกัน

ใจกล้ามิใช่กล้าอธรรม์

เช่นเสืออรัญสัญชาติชนคนพาล

ใจกล้าต้องกล้าอย่างทหาร

กล้ากอปรกิจการแก่ชาติประเทศเขตคน”

1.3  กิจการลูกเสือไทยแต่ละยุค

         กิจการลูกเสือไทย เริ่มขึ้นครั้งแรกที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 มีความเจริญก้าวหน้ามาถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2561) นับเนื่องเป็นเวลา 107 ปี โดยจำแนกตามรัชสมัย ดังนี้

1) รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2454 –2468)

2) รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2468 –2477)

3) รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 (พ.ศ. 2477 – 2489)

4) รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอลุยเดช รัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2489 – 2559)

5) รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 (พ.ศ. 2559 - พ.ศ. 2561 ถึงปัจจุบัน)

รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรรัชกาลที่ 10 

(พ.ศ. 2559 - ปัจจุบัน) 

“ลูกเสือ” วิชาที่ทรงโปรด

            พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 หมวด 1 บททั่วไป มาตรา 6 ให้มีคณะลูกเสือแห่งชาติ ประกอบด้วยลูกเสือทั้งปวงและบุคลากรทางการลูกเสือ มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ

             สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงเป็นลูกเสือสำรอง ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2504 ซึ่งเป็นวันที่โรงเรียนจิตรลดาทำพิธีเปิดหน่วย “ลูกเสือสำรอง” โดย นายกอง วิสุทธารมณ์ อธิบดีกรมพลศึกษาขณะนั้น ในฐานะเลขาธิการสภาคณะกรรมการจัดการลูกเสือแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับประจำ วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2559 อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดลูกเสือสามัญ ซึ่งเป็นวิชาที่พระองค์ทรงโปรดมากที่สุด ขึ้นเป็นภาพปกพร้อมพาดหัวข่าวว่า (ขออนุญาตนำความบางประการมาตีพิมพ์ซ้ำ ณ ที่นี้)

             “ทรงโปรดวิชาลูกเสือ” พร้อมโปรยข่าวตอนหนึ่งว่า “ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ วิชาที่ทรงโปรดคือ “ลูกเสือ” เพราะได้ออกกำลังกลางแจ้ง จุดประกายความฝันให้ศึกษาต่อวิชาทหารจากสถาบันชั้นนำ จนได้รับการยกย่องในระดับสากล”

อีกตอนหนึ่งบรรยายว่า “การได้เป็นลูกเสือสำรองเป็นความภาคภูมิใจและเป็นที่ใฝ่ฝันสำหรับเด็กชายที่เข้าสู่วัยเรียนทุกคนเช่นไร สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ในขณะนั้นก็รู้สึกเช่นนั้น โดยพระองค์ทรงเฝ้ารอเวลานี้มานานแล้ว พร้อมกับพระสหายในวัยเดียวกัน”

               หน่วยลูกเสือของโรงเรียนจิตรลดาแบ่งออกเป็น 2 หมู่ หรือ 2 ซิกซ์ เพราะขณะนั้นมีนักเรียนอยู่ในเกณฑ์เป็นลูกเสือสำรองได้เพียง 12 คน โดยหมู่หนึ่งแบ่งออกเป็น 6 คน หมู่แรก ชื่อหมู่สีฟ้า ทรงเป็นหัวหน้าหมู่ หมู่ที่สองชื่อหมู่สีน้ำเงิน หัวหน้าหมู่คือ สัณห์ ศรีวรรฑธนะ การเป็นหัวหน้าหมู่ลูกเสือสำรองนี้ โดยทั่วไปผู้บังคับบัญชาลูกเสือเป็นผู้เลือก แต่ในโรงเรียนจิตรลดาเปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกกันเอง

               หัวหน้าหมู่มีหน้าที่ดูแลและเก็บสิ่งของซึ่งเป็นของหมู่ให้เรียบร้อย เมื่อถึงเวลาฝึกก็นำออกมาแจกให้ลูกหมู่ เสร็จแล้วก็เก็บรวบรวมไปไว้ยังที่ให้เป็นระเบียบ ซึ่งทรงปฏิบัติหน้าที่นี้ได้โดยไม่ขาดตกบกพร่อง แม้ทรงอิดเอื้อนบ้างในตอนแรก เพราะยังไม่เข้าพระทัยในหน้าที่นี้ดีแต่เมื่อพระอาจารย์อธิบายถวายก็ทรงปฏิบัติตาม พระองค์ทรงโปรดวิชาลูกเสือสำรองมาก เพราะนอกจากจะได้ทรงกระโดดโลดเต้นออกกำลังกายกลางแจ้งแล้ว ยังได้ทรงฟังนิทานสนุก ๆ และได้ทรงร้องเพลงที่สนุกสนานอีกด้วย ทรงเป็นนักเรียนที่ช่างซักมากที่สุดในชั้น วันใดที่มีการฝึกลูกเสือสำรองจะทรงตื่นบรรทมเช้ากว่าปกติ เตรียมฉลองพระองค์ลูกเสือด้วยพระองค์เอง สิ่งแรกที่ทรงทำหลังจากตื่นบรรทมก็คือ ขัดหัวเข็มขัดและรองพระบาทสำหรับเครื่องแบบลูกเสือ ทำความสะอาดพระนขา (เล็บ) เตรียมพร้อมสำหรับการตรวจอยู่ตลอดเวลา

              ในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือไทย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2506 ในพิธีสวนสนามของลูกเสือ ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานครั้งแรก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ในขณะนั้น เสด็จฯ ไปทรงร่วมกิจกรรมกับลูกเสือโรงเรียนอื่นเป็นครั้งแรกที่ทรงร่วมพิธีสวนสนามของลูกเสือ ซึ่งประชาชนคนไทยที่ทราบข่าวก่อนหน้าพากันเป็นห่วงเป็นใยพระองค์ท่านไปต่าง ๆ นานา ด้วยเกรงว่าพระองค์จะประชวรลง บางคนถึงกับกล่าวว่า “โถ ทูลกระหม่อมจะทรงทนแดดไหวหรือ ท่านจะทรงเป็นลมไหมนะ” โดยความห่วงใยในพระองค์ของพสกนิกรเรื่องนี้ เมื่อทรงทราบก็ได้รับสั่งว่า “ต้องได้ซิ ทำไมจึงดูถูกกันอย่างนี้นะ”

              ครั้นถึงวันสวนสนามก็ทรงปฏิบัติหน้าที่ของลูกเสือสำรองของโรงเรียนจิตรลดาได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับลูกเสือคนอื่น ๆ ในวันนั้น ทรงถือป้ายชื่อโรงเรียนผ่านพระที่นั่งด้วยพระอาการสง่า และทรงร่วมแสดงในนามหมู่ลูกเสือโรงเรียนจิตรลดาด้วย

               สำหรับการที่ทรงมีความอดทนและรู้จักหน้าที่ของลูกเสือเป็นที่ประจักษ์ชัดอีกครั้งหนึ่งในการซ้อมใหญ่สวนสนามวันฉลองครบรอบวันกำเนิดลูกเสือไทย วันที่ 1 กรกฎาคม 2508 ขณะนั้นทรงเป็นลูกเสือโทแล้ว วันนั้นที่กรีฑาสถานแห่งชาติฝนตกหนักอย่างลืมหูลืมตาไม่ขึ้น บรรดาผู้คุมการฝึกซ้อมลงความเห็นว่า ควรเชิญเสด็จเข้าประทับในชายคา เพราะอาจจะทำให้ประชวรหวัดได้ เจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่คนหนึ่งวิ่งออกไปที่สนาม ทูลเชิญเสด็จเข้าที่ประทับในชายคา ทรงมองหน้าผู้ทูลเชิญพร้อมกับสั่นพระเศียร แล้วรับสั่งว่า “ทำไมจะต้องให้ฉันหลบเข้าไปด้วยล่ะ ใคร ๆ เขาตากฝนได้ฉันก็ตากได้เหมือนกัน ฉันแข็งแรงพอ” ก่อนหน้านั้นเมื่อโรงเรียนจิตรลดาเข้าพิธีประจำกองลูกเสือสามัญ โดยสมทบกับหน่วยโรงเรียนวชิราวุธ เป็นกองลูกเสือ สังกัด อ.3 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2506 ทรงสอบได้เป็น ลูกเสือโท เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2508 ในวันนั้นได้เสด็จฯ ไปทรงสอบเดินทางไกล และประกอบอาหารที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ต้องเสด็จฯ ตั้งแต่เช้ามืด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสห้ามใครตามเสด็จนอกจากราชองครักษ์ ซึ่งให้ตามเสด็จได้เพียงห่าง ๆ

              การเสด็จเข้าค่ายลูกเสือที่ค่ายวชิราวุธครั้งนั้น ทรงทำอาหารเอง ซึ่งที่ทรงโปรดทำที่สุดคือ “ข้าวสวยคลุกไข่ปั้นเป็นก้อนทอด” โดยทรงโปรดการทำครัวเท่ากับความช่างเสวย บางคราวทรงทำอาหารเองด้วยหม้อและเตาดินเผาเล็ก ๆ แล้วประทับเสวยอย่างเอร็ดอร่อยร่วมกับผู้ตามเสด็จ

              ทรงศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดาถึงมัธยมศึกษาปีที่ 1 จึงเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อที่อังกฤษ  เมื่อครั้งทรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานพระราโชวาทในพิธีปฏิญาณตนและสวนสนาม เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 ไว้ตอนหนึ่งว่า

               “...กิจการลูกเสือและเนตรนารีนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเยาวชนของชาติ เพราะการฝึกอบรมอย่างถูกต้องครบถ้วนตามแบบแผนและวิธีการของลูกเสือนั้น ย่อมจะทำให้เยาวชนมีคุณสมบัติในตัวเองสูงขึ้นหลายอย่าง เช่น ทำให้มีระเบียบวินัยที่ดี มีความเข้มแข็งอดทนขยันหมั่นเพียร เอื้อเฟื้อ เสียสละ ซื่อสัตย์ สุจริต และรู้จักใช้ความคิดอย่างฉลาดคุณสมบัติเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยหลักที่จะเกื้อหนุนส่งเสริมให้แต่ละคนสามารถพึ่งตนเอง และสร้างสรรค์ประโยชน์อันยั่งยืน เพื่อส่วนรวมและประเทศชาติได้...”

              เมื่อพระองค์ท่านขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระบรมราโชบายด้านการศึกษาและความมั่นคง มีพระราชประสงค์อยากเห็นคนไทยมีวินัย รู้หน้าที่ มีความรับผิดชอบ สร้างวินัยโดยกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี


พระบรมราโชบายด้านการศึกษาในหลวงรัชกาลที่ 10

การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน

1. มีทัศนะคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง

- ความรู้ความเข้าใจต่อชาติบ้านเมือง

- ยึดมั่นในศาสนา

- มั่นคงในสถาบันพระมหากษัตริย์

- มีความเอื้ออาทรต่อครอบครัวและชุมชน

2. มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง - มีคุณธรรม

- รู้จักแยกแยะสิ่งที่ผิด - ชอบ / ชั่ว - ดี

- ปฏิบัติแต่สิ่งที่ชอบ สิ่งที่ดีงาม

- ปฏิเสธสิ่งที่ผิด สิ่งที่ชั้ว

- ช่วยกันสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง

3. มีงานทำ - มีอาชีพ

- การเลี้ยงดูลูกหลานในครอบครัว หรือ การฝึกฝนอบรมในสถานศึกษาต้องมุ่งให้เด็กและเยาวชนรักงาน สู้งาน ทำจนงานสำเร็จ

- การฝึกฝนอบรมทั้งในหลักสูตรและนอกหลักสูตรต้องมีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนทำงานเป็นและมีงานทำในที่สุด

- ต้องสนับสนุนผู้สำเร็จหลักสูตร มีอาชีพ มีงานทำ จนสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัว

4. เป็นพลเมืองดี

- การป็นพลเมืองดี เป็นหน้าที่ของที่คน

- ครอบครัว - สถานศึกษาและสถานประกอบการ ต้องส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสทำหน้าที่เป็นพลเมืองดี

- การเป็นพลเมืองดี คือ "เห็นอะไรที่จะทำเพื่อบ้านเมืองได้ก็ต้องทำ" เช่น งานอาสาสมัคร งานบำเพ็ญประโยชน์งานสาธารณกุศลให้ทำด้วยความมีน้ำใจและ ความเอื้ออาทร


https://www.matichonweekly.com/column/article_17373