สาระสำคัญ

        ผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลก คือ โรเบิร์ต สตีเฟนสัน สมิท เบเดน โพเอลล์ (RobertStephenson Smyth Baden Powell) หรือ บี.พี. เป็นชาวอังกฤษ เกิดที่กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2400 เป็นเด็กกำพร้าบิดาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ในวัยเด็กชอบใช้ชีวิตกลางแจ้งศึกษาธรรมชาติ เล่นกีฬา และชอบเป็นผู้นำ สอบเข้าโรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิสต์ ได้ที่ 2 และได้รับพระราชทานยศเป็นร้อยตรี เมื่ออายุ 19 ปี ปฏิบัติหน้าที่ทหารอย่างดีเด่น ได้รับพระราชทานยศเป็นร้อยเอก เมื่ออายุ 26 ปี เป็นนายทหารที่เฉลียวฉลาด กล้าหาญ สร้างวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ทำการต่อสู้อย่างห้าวหาญ เพื่อรักษาเมืองมาฟิคิง (Mafeking) ให้รอดพ้นจากวงล้อม และการบุกรุกโจมตีของกองทัพบัวร์ (Boer) ที่แอฟริกาใต้ ได้รับการสรรเสริญว่า “วีรบุรุษผู้กล้าหาญแห่งยุค” เมื่อวันที่ 1 – 9 สิงหาคม พ.ศ. 2450 บี.พี. ได้นำเด็กชายที่มีอายุ 11 – 15 ปี จากครอบครัวที่มีฐานะแตกต่างกัน จำนวน 20 คน ไปเข้าค่ายพักแรมที่เกาะบราวน์ซี นับว่าเป็นการอยู่ค่ายพักแรมของลูกเสือครั้งแรกของโลก และถือว่าเกาะบราวน์ซี เป็นค่ายลูกเสือแห่งแรกของโลก เช่นกันในปี พ.ศ. 2463 สมาคมลูกเสืออังกฤษ จัดประชุมลูกเสือทั่วโลกเป็นครั้งแรก ที่ประเทศอังกฤษมีลูกเสือกว่า 8,000 คน จาก 34 ประเทศ เข้าร่วมชุมนุมในการชุมนุมครั้งนี้ มีข้อตกลง และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ลอร์ด เบเดน โพเอลล์ หรือ บี.พี. เป็นประมุขคณะลูกเสือแห่งโลกตลอดกาลและ บี.พี. ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2484 สิริอายุ 84 ปี

        องค์การลูกเสือโลก เป็นองค์การอาสาสมัครนานาชาติ มีความสำคัญในการทำหน้าที่รักษา และดำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกภาพของขบวนการลูกเสือแห่งโลก และทำหน้าที่ส่งเสริมกิจการลูกเสือทั่วโลก ให้มีการพัฒนาและก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีธรรมนูญลูกเสือโลกเป็นกฎหมายสำ หรับยึดถือปฏิบัติ การมีองค์กรหลัก 3 องค์กร คือ สมัชชา   ลูกเสือโลกคณะกรรมการลูกเสือโลก และสำนักงานลูกเสือโลก ปัจจุบัน (พ.ศ. 2561) มีสมาชิกกว่า 40 ล้านคน ใน  169 ประเทศตามบัญญัติของธรรมนูญลูกเสือโลก ประเทศสมาชิกขององค์การลูกเสือโลกแต่ละประเทศจะมีองค์การลูกเสือแห่งชาติได้เพียง 1 องค์การเท่านั้น กิจการลูกเสือทุกประเทศยึดมั่นในวัตถุประสงค์ หลักการ และวิธีการของ ลูกเสือเหมือนกันทั่วโลก คือ มุ่งพัฒนาเยาวชนด้วยรากฐานของอุดมการณ์ของลูกเสือ ซึ่งมีคำปฏิญาณและกฎของ  ลูกเสือเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจนำสู่การประพฤติปฏิบัติตนของความเป็นพลเมืองดี และความเป็นพี่น้องกันระหว่าง   ลูกเสือทั่วโลก


ตัวชี้วัด

1. อธิบายประวัติผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลก

2. อธิบายความสำคัญขององค์การลูกเสือโลก

3. อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการลูกเสือไทยกับการลูกเสือโลก

ขอบข่ายเนื้อหา

เรื่องที่ 1 ประวัติผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลก

เรื่องที่ 2 องค์การลูกเสือโลก

เรื่องที่ 3 ความสัมพันธ์ระหว่างลูกเสือไทยกับลูกเสือโลก