ประวัติการลูกเสือไทย

            พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นความสำคัญของกิจการลูกเสือ  จึงได้ทรงพระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 โดยมีพระราชประสงค์ 3 ประการ ซึ่งเป็นรากฐานแห่งความมั่นคงที่จะนำให้ชาติดำรงอยู่เป็นไทยได้สมนาม  คือ 

1) ความจงรักภักดีต่อผู้ทรงดำรงรัฐสีมาอาณาจักรโดยต้องตามนิติธรรมประเพณี 

2) ความรักชาติบ้านเมืองและนับถือพระศาสนา และ 

3) ความสามัคคีในคณะและไม่ทำลายซึ่งกันและกัน

         ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับที่สามของโลกที่มีลูกเสือ โดยตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงหรือโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน เรียกว่า กองลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ 1 ลูกเสือคนแรกของประเทศไทย คือ นายชัพน์ บุนนาค พระองค์ได้ทรงดำเนินการสอนลูกเสือโดยพระองค์เอง วิชาที่ใช้ในการฝึกอบรมเป็นวิชาฝึกระเบียบแถว ท่าอาวุธ การสะกดรอย หน้าที่ของพลเมือง ฯลฯ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งกองลูกเสือตามโรงเรียนต่าง ๆ ทำให้กิจการลูกเสือได้รับความนิยมแพร่หลายและเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วและโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีข้อบังคับลักษณะการปกครองลูกเสือ พระองค์ทรงตั้งสภากรรมการลูกเสือแห่งชาติและพระองค์ดำรงตำแหน่งสูงสุดของคณะลูกเสือแห่งชาติ  หลังจากนั้นพระมหากษัตริย์ไทยทุกประองค์ทรงเป็นพระประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ

ประวัติลูกเสือไทย แบ่งออกเป็น 5 ยุค ได้แก่

          1) ยุคก่อตั้ง (พ.ศ. 2454 - 2468) เป็นยุครัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎ-เกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์ทรงสถาปนาลูกเสือแห่งชาติขึ้น เมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ. 2454โปรดให้ตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เรียกว่ากองลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ 1  ซึ่งต่อมากิจการลูกเสือได้ขยายตัวไปหลายจังหวัด

            2) ยุคส่งเสริม (พ.ศ. 2468 - 2482) เริ่มตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า-เจ้าอยู่หัว จนถึงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคนี้ได้มีการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อพ.ศ. 2470 ณ พระราชวังอุทยานสราญรมย์ จังหวัดพระนคร และเมื่อ พ.ศ. 2473 ได้มีการจัดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ณ สถานที่เดียวกัน ปี พ.ศ.2476 ตั้งกองลูกเสือสังกัดกรมพลศึกษากระทรวงศึกษาธิการ และ พ.ศ. 2482 ได้มีการตราพระราชบัญญัติลูกเสือขึ้นเป็นฉบับแรก

          3) ยุคประคับประคอง (พ.ศ. 2482 - 2489) เป็นยุคที่อยู่ในระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลของสงครามทำให้กิจการลูกเสือซบเซาลงมาก มีการตราพระราชบัญญัติยุวชนแห่งชาติขึ้นโดยแบ่งหน่วยราชการเป็นหน่วยลูกเสือและหน่วยยุวชนทหาร

          4) ยุคก้าวหน้า (พ.ศ. 2489 - 2514) กิจการลูกเสือที่สำคัญที่เกิดขึ้นในยุคนี้คือ การยกเลิกพระราชบัญญัติยุวชนแห่งชาติ พ.ศ.  2486 ได้ตราพระราชบัญญัติลูกเสือขึ้นพ.ศ. 2490 และได้ตั้งค่ายลูกเสือวชิราวุธที่จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2504 มีการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือสามัญ ขั้นวูดแบดจ์ ครั้งที่ 1 และส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมกิจกรรมของกิจกรรมลูกเสือนานาชาติกิจกรรมของลูกเสือโลกหลายกิจกรรม

         5) ยุคถึงประชาชน (พ.ศ. 2514 - ปัจจุบัน) เกิดกิจกรรมลูกเสือชาวบ้านโดยสภาลูกเสือแห่งชาติ มีมติรับกิจการลูกเสือชาวบ้านเป็นส่วนหนึ่งของคณะลูกเสือแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2516 และกระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2516 ให้นำวิชาลูกเสือเข้าสู่หลักสูตรของโรงเรียน

          จะเห็นได้ว่ากิจการลูกเสือมีประวัติที่ยาวนาน เป็นกระบวนการที่ทั่วโลกยอมรับว่าสามารถพัฒนาเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่ดี มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อส่วนรวมและชาติบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี รู้จักการทำงานเป็นระบบหมู่ รู้จักการเป็นผู้นำและผู้ตาม รวมทั้งเป็นกระบวนการที่ฝึกคนให้รู้จักการเป็นประชาธิปไตย ฝึกผู้ใหญ่ให้รู้จักวิธีการฝึกชาวบ้านให้รู้จักแยกแยะชั่วดี

1.1  พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

           พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 ได้รับพระราชทานพระนามว่าสมเด็จเจ้าฟ้าวชิราวุธ เมื่อทรงพระเยาว์ได้ศึกษาวิชาหนังสือไทยกับพระยาศรีสุนทรโวหาร เพิ่งได้พระชนมายุได้ 13 พรรษา เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ในสาขาประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ กฎหมาย วรรณคดี ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด และวิชาทหารบกที่โรงเรียนแฮนด์เฮิสต์ รวม 9 ปี  

              พระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ  เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ขณะนั้นมีพระชนมายุได้ 31 พรรษา ตลอดรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจทำนุบำรุงประเทศชาติในด้านการปกครอง การทหารการศึกษา การสาธารณสุข การคมนาคม การศาสนา โดยเฉพาะทางวรรณคดีทรงพระราชนิพนธ์ทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรองประมาณ 200 เรื่อง ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ ประชาชนจึงถวายพระสมญาแด่พระองค์ว่า “พระมหาธีรราชเจ้า” ทรงอยู่ในราชสมบัติเพียง 16 ปี เสด็จสวรรคต  เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระชนมายุ 46 พรรษา แต่เนื่องด้วยพระราชกรณียกิจของพระองค์ ทำให้เกิดคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างใหญ่หลวง รัฐบาลกับประชาชนจึงร่วมใจกันสร้างพระบรมรูปของพระองค์ประดิษฐานไว้ที่สวนลุมพินี และคณะลูกเสือแห่งชาติ ร่วมด้วยคณะลูกเสือทั่วราชอาณาจักร ได้สร้างพระบรมรูปของพระองค์ประดิษฐานไว้หน้าค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

1.2  กำเนิดลูกเสือไทย

           ในการตั้งลูกเสือก็เพื่อให้คนไทยรักชาติบ้านเมือง เป็นผู้นับถือศาสนาและมีความสามัคคี ไม่ทำลายซึ่งกันและกัน เป็นรากฐานแห่งความมั่นคงของประเทศชาติ ทรงให้ที่มาของชื่อลูกเสือไว้ว่า

“ลูกเสือบ่ใช่เสือสัตว์ไพร

เรายืมมาใช้ด้วยใจกล้าหาญปานกัน

ใจกล้ามิใช่กล้าอธรรม์

เช่นเสืออรัญสัญชาติชนคนพาล

ใจกล้าต้องกล้าอย่างทหาร

กล้ากอปรกิจการแก่ชาติประเทศเขตคน”

1.3  กิจการลูกเสือไทยแต่ละยุค

         กิจการลูกเสือไทย เริ่มขึ้นครั้งแรกที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 มีความเจริญก้าวหน้ามาถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2561) นับเนื่องเป็นเวลา 107 ปี โดยจำแนกตามรัชสมัย ดังนี้

1) รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2454 –2468)

2) รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2468 –2477)

3) รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 (พ.ศ. 2477 – 2489)

4) รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอลุยเดช รัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2489 – 2559)

5) รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 (พ.ศ. 2559 - พ.ศ. 2561 ถึงปัจจุบัน)

รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรรัชกาลที่ 10 

(พ.ศ. 2559 - ปัจจุบัน) 

“ลูกเสือ” วิชาที่ทรงโปรด

            พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 หมวด 1 บททั่วไป มาตรา 6 ให้มีคณะลูกเสือแห่งชาติ ประกอบด้วยลูกเสือทั้งปวงและบุคลากรทางการลูกเสือ มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ

             สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงเป็นลูกเสือสำรอง ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2504 ซึ่งเป็นวันที่โรงเรียนจิตรลดาทำพิธีเปิดหน่วย “ลูกเสือสำรอง” โดย นายกอง วิสุทธารมณ์ อธิบดีกรมพลศึกษาขณะนั้น ในฐานะเลขาธิการสภาคณะกรรมการจัดการลูกเสือแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับประจำ วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2559 อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดลูกเสือสามัญ ซึ่งเป็นวิชาที่พระองค์ทรงโปรดมากที่สุด ขึ้นเป็นภาพปกพร้อมพาดหัวข่าวว่า (ขออนุญาตนำความบางประการมาตีพิมพ์ซ้ำ ณ ที่นี้)

             “ทรงโปรดวิชาลูกเสือ” พร้อมโปรยข่าวตอนหนึ่งว่า “ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ วิชาที่ทรงโปรดคือ “ลูกเสือ” เพราะได้ออกกำลังกลางแจ้ง จุดประกายความฝันให้ศึกษาต่อวิชาทหารจากสถาบันชั้นนำ จนได้รับการยกย่องในระดับสากล”

อีกตอนหนึ่งบรรยายว่า “การได้เป็นลูกเสือสำรองเป็นความภาคภูมิใจและเป็นที่ใฝ่ฝันสำหรับเด็กชายที่เข้าสู่วัยเรียนทุกคนเช่นไร สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ในขณะนั้นก็รู้สึกเช่นนั้น โดยพระองค์ทรงเฝ้ารอเวลานี้มานานแล้ว พร้อมกับพระสหายในวัยเดียวกัน”

               หน่วยลูกเสือของโรงเรียนจิตรลดาแบ่งออกเป็น 2 หมู่ หรือ 2 ซิกซ์ เพราะขณะนั้นมีนักเรียนอยู่ในเกณฑ์เป็นลูกเสือสำรองได้เพียง 12 คน โดยหมู่หนึ่งแบ่งออกเป็น 6 คน หมู่แรก ชื่อหมู่สีฟ้า ทรงเป็นหัวหน้าหมู่ หมู่ที่สองชื่อหมู่สีน้ำเงิน หัวหน้าหมู่คือ สัณห์ ศรีวรรฑธนะ การเป็นหัวหน้าหมู่ลูกเสือสำรองนี้ โดยทั่วไปผู้บังคับบัญชาลูกเสือเป็นผู้เลือก แต่ในโรงเรียนจิตรลดาเปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกกันเอง

               หัวหน้าหมู่มีหน้าที่ดูแลและเก็บสิ่งของซึ่งเป็นของหมู่ให้เรียบร้อย เมื่อถึงเวลาฝึกก็นำออกมาแจกให้ลูกหมู่ เสร็จแล้วก็เก็บรวบรวมไปไว้ยังที่ให้เป็นระเบียบ ซึ่งทรงปฏิบัติหน้าที่นี้ได้โดยไม่ขาดตกบกพร่อง แม้ทรงอิดเอื้อนบ้างในตอนแรก เพราะยังไม่เข้าพระทัยในหน้าที่นี้ดีแต่เมื่อพระอาจารย์อธิบายถวายก็ทรงปฏิบัติตาม พระองค์ทรงโปรดวิชาลูกเสือสำรองมาก เพราะนอกจากจะได้ทรงกระโดดโลดเต้นออกกำลังกายกลางแจ้งแล้ว ยังได้ทรงฟังนิทานสนุก ๆ และได้ทรงร้องเพลงที่สนุกสนานอีกด้วย ทรงเป็นนักเรียนที่ช่างซักมากที่สุดในชั้น วันใดที่มีการฝึกลูกเสือสำรองจะทรงตื่นบรรทมเช้ากว่าปกติ เตรียมฉลองพระองค์ลูกเสือด้วยพระองค์เอง สิ่งแรกที่ทรงทำหลังจากตื่นบรรทมก็คือ ขัดหัวเข็มขัดและรองพระบาทสำหรับเครื่องแบบลูกเสือ ทำความสะอาดพระนขา (เล็บ) เตรียมพร้อมสำหรับการตรวจอยู่ตลอดเวลา

              ในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือไทย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2506 ในพิธีสวนสนามของลูกเสือ ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานครั้งแรก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ในขณะนั้น เสด็จฯ ไปทรงร่วมกิจกรรมกับลูกเสือโรงเรียนอื่นเป็นครั้งแรกที่ทรงร่วมพิธีสวนสนามของลูกเสือ ซึ่งประชาชนคนไทยที่ทราบข่าวก่อนหน้าพากันเป็นห่วงเป็นใยพระองค์ท่านไปต่าง ๆ นานา ด้วยเกรงว่าพระองค์จะประชวรลง บางคนถึงกับกล่าวว่า “โถ ทูลกระหม่อมจะทรงทนแดดไหวหรือ ท่านจะทรงเป็นลมไหมนะ” โดยความห่วงใยในพระองค์ของพสกนิกรเรื่องนี้ เมื่อทรงทราบก็ได้รับสั่งว่า “ต้องได้ซิ ทำไมจึงดูถูกกันอย่างนี้นะ”

              ครั้นถึงวันสวนสนามก็ทรงปฏิบัติหน้าที่ของลูกเสือสำรองของโรงเรียนจิตรลดาได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับลูกเสือคนอื่น ๆ ในวันนั้น ทรงถือป้ายชื่อโรงเรียนผ่านพระที่นั่งด้วยพระอาการสง่า และทรงร่วมแสดงในนามหมู่ลูกเสือโรงเรียนจิตรลดาด้วย

               สำหรับการที่ทรงมีความอดทนและรู้จักหน้าที่ของลูกเสือเป็นที่ประจักษ์ชัดอีกครั้งหนึ่งในการซ้อมใหญ่สวนสนามวันฉลองครบรอบวันกำเนิดลูกเสือไทย วันที่ 1 กรกฎาคม 2508 ขณะนั้นทรงเป็นลูกเสือโทแล้ว วันนั้นที่กรีฑาสถานแห่งชาติฝนตกหนักอย่างลืมหูลืมตาไม่ขึ้น บรรดาผู้คุมการฝึกซ้อมลงความเห็นว่า ควรเชิญเสด็จเข้าประทับในชายคา เพราะอาจจะทำให้ประชวรหวัดได้ เจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่คนหนึ่งวิ่งออกไปที่สนาม ทูลเชิญเสด็จเข้าที่ประทับในชายคา ทรงมองหน้าผู้ทูลเชิญพร้อมกับสั่นพระเศียร แล้วรับสั่งว่า “ทำไมจะต้องให้ฉันหลบเข้าไปด้วยล่ะ ใคร ๆ เขาตากฝนได้ฉันก็ตากได้เหมือนกัน ฉันแข็งแรงพอ” ก่อนหน้านั้นเมื่อโรงเรียนจิตรลดาเข้าพิธีประจำกองลูกเสือสามัญ โดยสมทบกับหน่วยโรงเรียนวชิราวุธ เป็นกองลูกเสือ สังกัด อ.3 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2506 ทรงสอบได้เป็น ลูกเสือโท เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2508 ในวันนั้นได้เสด็จฯ ไปทรงสอบเดินทางไกล และประกอบอาหารที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ต้องเสด็จฯ ตั้งแต่เช้ามืด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสห้ามใครตามเสด็จนอกจากราชองครักษ์ ซึ่งให้ตามเสด็จได้เพียงห่าง ๆ

              การเสด็จเข้าค่ายลูกเสือที่ค่ายวชิราวุธครั้งนั้น ทรงทำอาหารเอง ซึ่งที่ทรงโปรดทำที่สุดคือ “ข้าวสวยคลุกไข่ปั้นเป็นก้อนทอด” โดยทรงโปรดการทำครัวเท่ากับความช่างเสวย บางคราวทรงทำอาหารเองด้วยหม้อและเตาดินเผาเล็ก ๆ แล้วประทับเสวยอย่างเอร็ดอร่อยร่วมกับผู้ตามเสด็จ

              ทรงศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดาถึงมัธยมศึกษาปีที่ 1 จึงเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อที่อังกฤษ  เมื่อครั้งทรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานพระราโชวาทในพิธีปฏิญาณตนและสวนสนาม เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 ไว้ตอนหนึ่งว่า

               “...กิจการลูกเสือและเนตรนารีนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเยาวชนของชาติ เพราะการฝึกอบรมอย่างถูกต้องครบถ้วนตามแบบแผนและวิธีการของลูกเสือนั้น ย่อมจะทำให้เยาวชนมีคุณสมบัติในตัวเองสูงขึ้นหลายอย่าง เช่น ทำให้มีระเบียบวินัยที่ดี มีความเข้มแข็งอดทนขยันหมั่นเพียร เอื้อเฟื้อ เสียสละ ซื่อสัตย์ สุจริต และรู้จักใช้ความคิดอย่างฉลาดคุณสมบัติเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยหลักที่จะเกื้อหนุนส่งเสริมให้แต่ละคนสามารถพึ่งตนเอง และสร้างสรรค์ประโยชน์อันยั่งยืน เพื่อส่วนรวมและประเทศชาติได้...”

              เมื่อพระองค์ท่านขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระบรมราโชบายด้านการศึกษาและความมั่นคง มีพระราชประสงค์อยากเห็นคนไทยมีวินัย รู้หน้าที่ มีความรับผิดชอบ สร้างวินัยโดยกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี


พระบรมราโชบายด้านการศึกษาในหลวงรัชกาลที่ 10

การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน

1. มีทัศนะคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง

- ความรู้ความเข้าใจต่อชาติบ้านเมือง

- ยึดมั่นในศาสนา

- มั่นคงในสถาบันพระมหากษัตริย์

- มีความเอื้ออาทรต่อครอบครัวและชุมชน

2. มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง - มีคุณธรรม

- รู้จักแยกแยะสิ่งที่ผิด - ชอบ / ชั่ว - ดี

- ปฏิบัติแต่สิ่งที่ชอบ สิ่งที่ดีงาม

- ปฏิเสธสิ่งที่ผิด สิ่งที่ชั้ว

- ช่วยกันสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง

3. มีงานทำ - มีอาชีพ

- การเลี้ยงดูลูกหลานในครอบครัว หรือ การฝึกฝนอบรมในสถานศึกษาต้องมุ่งให้เด็กและเยาวชนรักงาน สู้งาน ทำจนงานสำเร็จ

- การฝึกฝนอบรมทั้งในหลักสูตรและนอกหลักสูตรต้องมีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนทำงานเป็นและมีงานทำในที่สุด

- ต้องสนับสนุนผู้สำเร็จหลักสูตร มีอาชีพ มีงานทำ จนสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัว

4. เป็นพลเมืองดี

- การป็นพลเมืองดี เป็นหน้าที่ของที่คน

- ครอบครัว - สถานศึกษาและสถานประกอบการ ต้องส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสทำหน้าที่เป็นพลเมืองดี

- การเป็นพลเมืองดี คือ "เห็นอะไรที่จะทำเพื่อบ้านเมืองได้ก็ต้องทำ" เช่น งานอาสาสมัคร งานบำเพ็ญประโยชน์งานสาธารณกุศลให้ทำด้วยความมีน้ำใจและ ความเอื้ออาทร


https://www.matichonweekly.com/column/article_17373