การสำรวจตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม เพื่อการพัฒนา

              การสำรวจตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม เพื่อการพัฒนาของลูกเสือ กศน.  ลูกเสือจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการรู้จักตนเอง การรู้จักครอบครัว ชุมชน และสังคม และการมีความรับผิดชอบและช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสามัคคี ดังนี้

4.1 การรู้จักตนเอง

             การรู้จักและเข้าใจตนเอง สามารถดำเนินการได้โดยการสำรวจตนเอง รับรู้สภาพการดำรงชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่าอยู่ในสภาวะใดหรือกำลังเผชิญปัญหาใดอยู่บ้าง

4.2 การรู้จักครอบครัว ชุมชน และสังคม

              เมื่อเรารู้จักตนเองแล้ว หากเรารักใครเราก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับผู้นั้นด้วยเช่นกัน คนในครอบครัวก็ทำนองเดียวกัน ภรรยาและสามีต้องรู้จัก และเข้าใจกันให้ดี รู้ว่าใครชอบไม่ชอบอะไร เหมือนหรือต่างกันตรงไหน ชอบรับประทานอะไร รู้จักนิสัยใจคอ ยิ่งครองรักกันนานเท่าใด ยิ่งต้องรู้จักกันมากขึ้น ไม่ใช่รู้จักกันน้อยลง และต้องเข้าใจกันให้มากขึ้น ถ้าเรารักลูกก็ต้องรู้จักและมีความรู้เกี่ยวกับลูกว่าชอบไม่ชอบวิชาใด ถนัดอะไร ชอบอาชีพอะไร อุปนิสัยเป็นอย่างไร มีจุดเด่น จุดด้อยอะไรบ้าง โดยเราจะต้อง “ปรับ” พื้นฐานเหล่านี้ให้เข้ากันให้ได้  เพื่อช่วยให้เราสามารถอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข การที่เรารู้จักนิสัย รู้จุดเด่น จุดด้อย ของครอบครัวมากเท่าใดก็จะยิ่งช่วยให้เราสามารถดูแลเขาได้ดีขึ้น  นอกจากนี้เรายังต้องรู้จักชุมชนของเราให้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น ต้องศึกษาความเชื่อของชุมชนเพราะพื้นฐานการศึกษาประสบการณ์ ศาสนามีความแตกต่างกัน ต้องศึกษาผู้นำชุมชนหรือผู้มีชื่อเสียง ศึกษาบริบทพื้นฐานของชุมชน ได้แก่ ขนาดของชุมชน สถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์  ประวัติศาสตร์ จำนวนประชากร ปัญหาของชุมชนทั้งในอดีตและปัจจุบัน การประกอบอาชีพของคนในชุมชน รู้ว่าบทบาทภารกิจที่ต้องรับผิดชอบคืออะไร มีทักษะและประสบการณ์ในการดำเนินงานด้านใด มีความรู้สึกชอบ และยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ทั้งผู้เห็นต่างและผู้เห็นด้วย  สามารถรับรู้ถึงความรู้สึกของผู้อื่น ตลอดจนมีความรู้ และทักษะในการสื่อความหมายได้ดีคุณสมบัติทั้งหมดนี้ ล้วนมีความสำคัญมากในการอยู่ร่วมกันของชุมชน เพราะความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน จะช่วยให้การทำงานของชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

4.3 การมีความรับผิดชอบและช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสามัคคี

              สมาชิกทุกคนในสังคมย่อมต้องมีบทบาทหน้าที่ตามสถานภาพของตน ซึ่งบทบาทและหน้าที่ของสมาชิกแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันไป แต่ในหลักใหญ่และรายละเอียดจะเหมือนกัน ถ้าสมาชิกทุกคนในสังคมได้ปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องก็จะได้ชื่อว่าเป็น "พลเมืองที่ดีของสังคมและประเทศชาติ" และยังส่งผลให้ประเทศชาติพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้น สมาชิกในสังคมทุกคน โดยเฉพาะเยาวชนที่ถือว่าเป็นอนาคตของชาติ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้และปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของตน เพื่อช่วยนำพาประเทศชาติให้พัฒนาสืบไป

             การเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมและประเทศชาตินั้นประชาชนทุกคนนับเป็นพลังอันสำคัญที่จะช่วยกันเสริมสร้างกิจกรรม ควรเป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม กล่าวคือจะต้องมีธรรมะในการดำเนินชีวิต และร่วมแรงร่วมใจ สามัคคีและเสียสละเพื่อส่วนรวม ได้แก่

           1) การเสียสละต่อส่วนรวม เป็นคุณธรรมที่ช่วยในการพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า เพราะหากสมาชิกในสังคมเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตน จะทำให้สังคมพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและมั่นคง

             2) การมีระเบียบวินัยและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เป็นคุณธรรมที่ช่วยให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เพราะถ้าสมาชิกในสังคมยึดมั่นในระเบียบวินัย รู้และเข้าใจสิทธิของตนเอง ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น และตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด สังคมนั้นก็จะมีแต่ความสุข เช่น ข้าราชการทำหน้าที่บริการประชาชนอย่างดีที่สุด ก็ย่อมทำให้เป็นที่ประทับใจรักใคร่ของประชาชนผู้มารับบริการ

        3) ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นคุณธรรมที่มีความสำคัญ เพราะหากสมาชิกในสังคมยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต เช่น ไม่ลักทรัพย์ ไม่เบียดเบียนทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของประเทศชาติมาเป็นของตน รวมทั้งผู้นำประเทศมีความซื่อสัตย์สุจริตก็จะทำให้สังคมมีแต่ความเจริญประชาชนมีแต่ความสุข

           4) ความสามัคคี ความรักใคร่กลมเกลียวปรองดองและร่วมมือกันทำงาน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมจะทำให้สังคมเป็นสังคมที่เข้มแข็ง แต่หากคนในสังคมเกิดความแตกแยกทั้งทางความคิดและการปฏิบัติตนในการอยู่ร่วมกัน จะทำให้สังคมอ่อนแอและล่มสลายในที่สุด

           5) ความละอายและเกรงกลัวในการทำชั่ว ถ้าสมาชิกในสังคมมีหิริโอตัปปะ  มีความเกรงกลัวและละอายในการทำชั่ว สังคมก็จะอยู่กันอย่างสงบสุข เช่น นักการเมืองจะต้อง  มีความซื่อสัตย์สุจริตไม่โกงกิน ไม่เห็นแก่ประโยชน์พวกพ้อง โดยต้องเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ประเทศชาติก็จะสามารถพัฒนาไปได้อย่างมั่นคง  

            ดังนั้น การสำรวจตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม เพื่อการพัฒนา จำเป็นต้องมองให้ครอบคลุมประเด็นของการพัฒนา และตรงตามความจำเป็นที่ควรได้รับการพัฒนา  เพื่อให้เกิดทักษะการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตนเองการพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล หรือการพัฒนาสัมพันธภาพภายในชุมชนและสังคม ซึ่งการสำรวจเพื่อการพัฒนา จึงสามารถทำได้ทั้งการสำรวจด้วยวิธีมองตนเอง และให้บุคคลอื่นช่วยมองตัวเรา จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาคิดวิเคราะห์ จัดลำดับความเป็นไปได้ว่ามีเรื่องใดที่จะสามารถพัฒนาได้ด้วยปัจจัยใด

ตัวอย่างแบบสำรวจ เพื่อการพัฒนา ลูกเสือ กศน.