ผ้าทอใยกล้วย


ผ้าทอใยกล้วย Brand “ตีบคำ”  ผลิตภัณฑ์หนึ่งเดียวในโลก

กล้วย เป็นพืชที่มีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง  กล้วยใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น ใบ ปลี (ดอก) และผล กาบกล้วย (ลำต้น) สามารถฉีกเป็นฝอย นำไปตากจนแห้งใช้ทำเป็นเชือกกล้วย และเส้นใยกล้วยใช้สำหรับทอผ้าได้ กาบกล้วยใช้แกะสลักเป็นลวดลายไทยใช้ประกอบเป็น ฐานพระจิตกาธานฐานที่ทำขึ้นสำหรับเผาศพ สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งเรียกว่า “ลายแทงหยวก” ส่วนปลีหรือหัวปลีนำมาเป็นอาหารโดยใช้ปลีเป็นเครื่องเคียงรับประทานสดกับน้ำพริกหรือขนมจีน รวมถึงการทำอาหารประเภทยำ แกง หรือต้มกะทิ สำหรับมารดาที่คลอดบุตรใหม่ๆมีน้ำนมให้บุตรไม่เพียงพอจะนำปลีกล้วยมาแกงเพื่อใช้บำรุงน้ำนมมารดาได้

กาบปลี ใช้ตกแต่ง ประดับเป็นกลีบดอกไม้ หรือเครื่องประกอบการจัดดอกไม้ และผลใช้รับประทานได้ทั้งดิบและสุกโดยนำมาประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน

ใบ หรือคำที่เรียกกันว่า ใบตอง นำมาใช้งานโดยนำมาเป็นภาชนะสำหรับใส่ขนมหรืออาหารต่าง ๆ อาทิ ขนมกล้วย ข้าวเหนียวปิ้ง ข้าวต้มมัด ห่อหมก ฯลฯ เนื่องจากใบตองมีความทนทานต่อความร้อน คนไทยจึงนิยมนำมาทำเป็นมวนบุหรี่ นอกจากนั้นใบตองยังนำมาเป็นงานด้านศิลปะประดิษฐ์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไทยที่มีมาช้านานที่มีความละเอียดอ่อน สลับซับซ้อน และทำได้ยาก ต้องอาศัยความชำนาญ ทั้งการเลือกใบตอง ถ้าเลือกไม่ดีใบตองอาจฉีกขาดได้ง่ายจึงต้องอาศัยศึกษาเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีต่าง ๆ เช่นทำกระทง ทำบายศรี หรือประดับพานร่วมกับดอกไม้ เพื่อใช้ในงานพิธีต่าง ๆ

แม้ว่าในปัจจุบันนี้สังคมไทย ได้รับวัฒนธรรมจากทางตะวันตกและมีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทและมีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่กระแสย้อนยุค ก็เป็นกระแสที่ต้องยอมรับว่ามีอิทธิพลต่อสังคม เศรษฐกิจเช่นกัน ดังจะเห็นได้จาก โรงแรมขนาดใหญ่ร้านอาหารที่มีชื่อเสียงหรือแม้แต่ธุรกิจด้านความสวยความงาม ผู้จัดงานหรือนักออกแบบ จัดเตรียมสถานที่ให้เหมาะสมกับงานแต่ละประเภท ที่เรียกโดยทั่วไปว่า Organizer ยังกลับ มาให้ความสำคัญกับการใช้งานจากการประดิษฐ์จากใบตอง แต่หัวใจสำคัญที่สุดคือการสืบทอดและสืบสานงานฝีมือในแขนงนี้ให้คงอยู่ต่อไป

ผลจากโครงการวิจัย ในปี พ.ศ 2551 “ภายใต้โครงการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้เชิงบูรณาการด้วยการจัดการการทำบัญชีครัวเรือน” ที่ชุมชนบ้านร่องช้าง หมู่ที่ 5 ตำบลท่าตุ้ม อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ได้ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีแนวคิดการสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ โดยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากเส้นใยกล้วย เพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชน ผสานกับภูมิปัญญาการทอผ้าฝ้ายพื้นเมือง และก่อเกิดรายได้แก่ชุมชน โดยมีกระบวนการผลิต ดังนี้

ขั้นตอนและกระบวนการผลิต

การทำเส้นใยกล้วย มีลำดับขั้นตอน ต่อไปนี้

  1. เลือกและตัดต้นกล้วยที่ตัดเครือแล้วมาเลือกกาบกล้วย โดยเลือกใช้กาบกล้วยชั้นที่ 2-6 ตัดกาบกล้วยให้มีความกว้างประมาณ 2-3 นิ้ว ยาวประมาณ 60 เซนติเมตร ใช้มีดปอกส่วนหน้าของกาบกล้วยทิ้งไปแล้วใช้มีดขูดเยื่อกล้วยโดยกดปลายมีดไปตามความยาวของกาบกล้วย

2. ใช้มีดปอกส่วนหน้าของกาบกล้วยทิ้ง แล้วใช้มีดหรือช้อนแกงขูดเยื่อกล้วยโดยกดปลายมีดไปตามความยาวของกาบกล้วยให้เหลือแต่กาบนอกที่ให้บางที่สุด

3. ใช้หวีหยักลงบนกาบกล้วยที่ขูดเอาเนื้อทิ้งแล้วดึงไปจนสุดความยาวจะได้เส้นใยกล้วย  นำไปล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วนำไปตากแดดให้แห้งสนิท ใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน แล้วรวบเส้นที่แห้งเก็บรักษาเส้นไว้ในที่ไม่อับชื้น

4. การย้อมสีเส้นใยกล้วย เส้นใยกล้วยจะมีสีขาวตามธรรมชาติ ถ้าต้องการให้เส้นใยกล้วยเป็นสีต่าง ๆ ต้องนำเส้นใยกล้วยที่แห้งสนิทไปต้มย้อมสี เช่น สีชมพูใช้ลูกหม่อน สีม่วงใช้ดอกอัญชัญ สีน้ำตาลอ่อนใช้ชาอัสสัม สีเขียวอมเหลืองใช้เปลือกเพกา สีแดงใช้ครั่ง แก่นฝาง เปลือกสะเดา สีเหลืองใช้หัวขมิ้นชัน สีดำใช้ผลมะเกลือ ตับเต่า ฯลฯ เป็นต้น 

เครื่องมืออุปกรณ์สำหรับทอผ้าใยกล้วย

เครื่องมือสำคัญที่ใช้ทอผ้า เรียกว่า กี่ทอ หรือหูก ในการทอผ้าใยกล้วยจะไม่ใช้กระสวยแต่จะใช้ไม้ในการในการนำเส้นใยกล้วยสอดเข้าโดยทั่วไป

เครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้าที่พบโดยทั่วไป มี  2 ชนิด คือ กี่ตั้งและกี่กระตุก ไม้เหยียบหูก ไม้หาบหูก ฟืม เป็นต้น

2. ไม้เหยียบหูก  เป็นไม้กลม ๆ ยาวประมาณ 1.50 - 2.00 เมตร สำหรับสอดกับเชือกที่ผูกโยงจากด้านล่างของเขาลงมาทำเป็นห่วงไว้เมื่อจะให้เขาขึ้น - ลง ในกรณีเปลี่ยนสีของเส้นใยกล้วยเหยียบไม้นี้ไม้เหยียบหูก จะมีจำนวนเท่ากับจำนวนของฟืมนั้น ๆ

3. ขาหูก หรือ ตะกอ / ตระกอ คือส่วนที่ใช้สอดด้ายเป็นด้ายยืน และแบ่งด้ายยืนออกเป็นหมู่ ๆ ตามต้องการ เพื่อที่จะพุ่งกระสวยเข้าหากันได้สะดวก เขาหูกมีอยู่ 2 อัน แต่ละอันเวลาสอดด้ายต้องสอดสลับกันไปเส้นหนึ่งเว้นเส้นหนึ่ง ที่เขาหูกจะมีเชือกผูกแขวนไว้กับด้านบน โดยผูกเชือกเส้นเดียว สามารถจะเลื่อนไปมาได้ส่วนล่างผูกเชือกติดกับคานเหยียบหรือตีนเหยียบไว้ เพื่อเวลา ต้องการดึงด้ายให้เป็นช่องก็ใช้เท้าเหยียบคานเหยียบนี้ คานเหยียบจะเป็นตัวดึงเขาหูกให้เลื่อนขึ้นลง ถ้าหากต้องการทอเป็นลายๆ ก็ต้องใช้คานเหยียบหลายอัน เช่น ลายสองใช้คานเหยียบ 4 อัน เรียก ทอ 4 ตะกอ ลายสามใช้คานเหยียบ 6 อัน เรียก ทอ 6 ตะกอ จำนวนตะกอที่ช่างทอผ้าใช้ มีตั้งแต่ 2–12 ตะกอ ผ้าผืนใดที่ทอหลายตะกอถือว่ามีคุณภาพดีมีลวดลายที่ละเอียด สวยงาม และมีราคาแพง

4. ไม้หาบหูก  เป็นไม้ที่สอดร้อยกับเชือกที่ผูกเขาด้านบน เพื่อให้หูกยึดติดกับกี่ไม้หาบหูกจะมีอันเดียวไม่ว่าจะใช้ฟืมที่มี 2 เขา, 3 เขา หรือ 4 เขา

     5. ฟืม  เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับทอผ้า มีตัวฟืมที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง เป็นกรอบสี่เหลี่ยม มีฟันซี่เล็ก ๆ เรียงกันเป็นตับอยู่กลางและระยะห่างของฟันเป็นที่ใช้สำหรับสอดเส้นใยกล้วยผ่าน ความกว้างของฟืม ประมาณ 5 - 6 เซนติเมตร ส่วนความยาวของฟืมคือความกว้างของผืนผ้า

6. ไม้ ที่ประดิษฐ์ขึ้นมา ใช้สำหรับนำเอาเส้นใยกล้วยสอดเข้าไป

7. ไม้แกนม้วนผ้า หรือ ไม้กำพั่น เป็นไม้ที่ใช้สำหรับม้วนผ้าใยกล้วยที่ทอแล้ว ไม้แกนม้วนผ้ามีขนาดความยาวเท่ากับกี่หรือเท่ากับความกว้างของหน้าผ้า

        ขั้นตอนกระบวนการทอผ้าใยกล้วย

หลักในการทอผ้าใยกล้วย คือใช้หลักของการขัดกันของเส้นฝ้ายพื้นเมือง ที่เรียกว่า เส้นยืนและเส้นใยกล้วยเป็นเส้นพุ่ง ซึ่งมีวิธีการทอเป็นขั้น ๆ ดังนี้

1.  สืบเส้นฝ้าย้ส้นยืนเข้ากับแกนม้วนฝ้ายเส้นยืน  และร้อยปลายเส้นฝ้ายแต่ละเส้นเข้าในตะกอ    

และชุดและฟันหวี ดึงปลายเส้นฝ้ายยืนทั้งหมดม้วนเข้ากับแกนม้วนผ้าอีกด้านหนึ่ง ปรับความตึงหย่อนให้พอเหมาะ

2.    เตรียมเส้นใยกล้วยสำหรับทำเส้นพุ่ง

3.    เริ่มการทอโดยกดเครื่องแยกหมู่ตะกอ เส้นฝ้ายยืนชุดที่ 1 จะถูกแยก ออกและเกิดช่องว่าง สอด

เส้นใยกล้วยพุ่งผ่าน สลับตะกอชุดที่ 1 ยกตะกอชุดที่ 2 สอดเส้นใยกล้วยพุ่งกลับ ทำสลับกันไปเรื่อย ๆ

     4. การกระทบฟันหวี (ฟืม) เมื่อสอดเส้นใยกล้วยพุ่งกลับก็จะกระทบฟันหวี เพื่อให้เส้นใยกล้วยพุ่งแนบติดกัน ได้เนื้อผ้าที่แน่นหนา

     5. การเก็บหรือม้วนผ้าทอใยกล้วย เมื่อทอผ้าได้พอประมาณแล้วก็จะม้วนเก็บในแกนม้วนผ้า โดยผ่อนแกนด้ายยืนให้คลายออกและปรับความตึงหย่อนใหม่ให้พอเหมาะกับการทอต่อไป

การแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าทอใยกล้วย

จากการที่ได้มีการนำเส้นใยกล้วยมาทอเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอใยกล้วยเป็นผืนอย่าสวยงามแล้ว ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอใยกล้วยบ้านร่องช้างได้นำไปออกแบบ ตัดเย็บ แปรรูปเป็นเครื่องใช้จิปาถะจากผ้าทอใยกล้วยเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย  เช่น ปกสมุดทำมือ กระเป๋าสะพาย มู่ลี่ ชุดเซ็ตจานรองแก้ว หมวก โคมไฟ ฯลฯ นอกจากนั้นนำเชือกมาถักเปียและฟั่นเป็นเส้นเชือก ทำผลิตภัณฑ์ เช่น หมวก กระเป๋า ตะกร้า และเชือกสำหรับทำริบบิ้น เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์จากผ้าทอใยกล้วยและเชือกกล้วย

จุดเด่น

ผ้าทอใยกล้วยที่มีเส้นใยจากธรรมชาติ ย้อมสีธรรมชาติ ปราศจากสารเคมีใดใดแปลกปลอมปะปนจึงเป็นเสน่ห์ที่แฝงฝังในเฉดสีหลากหลายผ่านใยกล้วยซึ่งปรากฎผลงานวิจัยระบุแล้วว่า ใยกล้วยเมื่อสัมผัสความชื้นก็ยิ่งมีความหนึบแน่นแข็งแรง ยิ่งผสมผสานกับเฉดสีธรรมชาติก็ยิ่งสร้างสรรค์มนต์เสน่ห์ของผ้าทอใยกล้วยได้อย่างสวยงาม นอกเหนือจากการสร้างสรรค์ชิ้นงานจากเศษวัสดุ ลดปริมาณขยะธรรมชาติ ลดภาวะโลกร้อน

ที่ตั้ง

บ้านร่องช้างหมู่ที 5 ตำบลท่าตุ้ม  มีระยะห่างจากอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ประมาณ 12 กิโลเมตร ในการคมนาคมติดต่อ ระหว่างหมู่บ้านในเขตพื้นที่ตำบลท่าตุ้ม ส่วนใหญ่เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และถนนลาดยาง การเดินทางเข้าสู่ตำบลท่าตุ้ม จะสามารถเดินทางมาตามถนนสายสบทา-ท่าลี่ หรือถนนสายสันห้างเสือ-ท่าลี่ สามารถเดินทางได้โดยรถประจำทางสายลำพูน-ป่ารกฟ้า

ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง 

หลักสูตรรายวิชาเลือก สาระการประกอบอาชีพ  วิชาการทอผ้าทอใยกล้วย ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 1 หน่วยกิต  

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอป่าซาง สำนักงาน กศน.จังหวัดลำพูน

ข้อมูลเนื้อหา   นางวันทนีย์ สุขใจ    ภูมิปัญญา 

 ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว   นางสาวอรพินธ์  ไชยยอง

ข้อมูลการถ่ายภาพ   นางสาวอรพินธ์  ไชยยอง