ผางผะติ้ด เรื่องเล่าล้านนา

ผางประทีส หรือผางประทีป (อ่าน “ผางผะดี้ด หรือผางผะตี๊บ”) 

       ผางประทีป ผางประทีส หรือผางผะติ้ด เป็นภาชนะดินเผาขนาดเล็ก คล้ายอ่าง ปากกว้างประมาณ 2-3 นิ้ว ใช้สำหรับใส่น้ำมันหรือขี้ผึ้งสำหรับจุดไฟหรือจุดประทีปของทางภาคเหนือมีลักษณะคล้ายกับตะเกียงหรือตะคัน ใช้จุดวางประดับไวตามวัดวาอารามหรือศาสนสถานในวันสำคัญทางศาสนาหรือเทศกาลสำคัญ 

ความเป็นมา

ในล้านนา ตามเรื่องเล่าเกี่ยวกับที่มาผางประทีปเป็นเครื่องสักการะบูชาในพระพุทธศาสนา ในช่วงประเพณียี่เป็ง ชาวล้านนานิยมจุดผางประทีปเป็นพุทธบูชาสืบเนื่องจากตำนานพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ ได้แก่พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตม (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) พระศรีอริยะเมตไตร พระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ได้ถือกำเนิดจากแม่กาเผือก วันหนึ่งขณะที่แม่กาออกไปหาอาหารได้เกิดพายุทำให้ไข่ทั้งห้าฟองของแม่กาเผือกถูกพัดตกจากรังไหลไปตามแม่น้ำ โดยมีแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์เก็บไปเลี้ยง เมื่อไข่ทั้งห้าฟองฟักออกมาเป็นมนุษย์เป็นเพศชาย จากนั้นทั้งห้าได้บวชเป็นฤๅษี เมื่อฤๅษีทั้งห้าได้พบกันจึงไต่ถามถึงมารดาของแต่ละองค์ แต่ละองค์ก็ตอบว่า แม่ไก่เก็บมาเลี้ยง แม่นาคเก็บมาเลี้ยง แม่เต่าเก็บมาเลี้ยง แม่โคเก็บมาเลี้ยง และแม่ราชสีห์เก็บมาเลี้ยง ฤๅษีทั้งห้าองค์จึงสงสัยว่า แม่ที่แท้จริงของตนเป็นใคร จึงพากันอธิษฐานขอให้ได้พบแม่ ด้วยแรงอธิษฐานจึงทำให้พกาพรหมผู้เป็นแม่แปลงกายเป็นกาเผือกบินลงมาเล่าเรื่องในอดีตให้ฤๅษีทั้งห้าฟัง และบอกว่าหากคิดถึงแม่ ให้นำด้ายดิบมาฟั่นเป็นตีนกาจุดเป็นประทีปบูชาในวันยี่เป็ง ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายประทีปตีนกา จึงทำให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ 

นอกจากนี้ผางประทีบยังใช้จุดบูชาเพื่อตอบแทนผู้มีพระคุณ เพื่อสักการะต่อสิ่งต่างๆ ที่ได้ใช้ประโยชน์เช่น ประตูบ้าน บ่อน้ำ ยุ้งข้าว เตาไฟ บันได รั้วกำแพงบ้าน ฯลฯ และยังเป็นการบูชาแสงสว่างโดยเชื่อว่าจะทำให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีแสงสว่างนำทางชีวิตให้โชติช่วงชัชวาลอีกด้วย (คัมภีร์อานิสงส์ผางประทีส, ม.ป.ป.) 

           ถ้วยประทีป หรือถ้วยเล็กๆ ที่ทำด้วยดินเผารูปลักษณะแตกต่างกันตามฝีมือช่างแต่ละยุคสมัย ผางประทีสแบบเก่าที่พบหลายแห่งมีขนาดใหญ่เท่าชามแกงขนาดย่อม ซึ่งผางประทีสที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้ก็ก็เพื่อบรรจุเชื้อเพลิงได้มากสำหรับให้แสงสว่างเป็นเวลานาน ส่วนผางประทีสที่ทำขายสำเร็จรูป คือมีทั้งประทีสน้ำมัน และตีนกา มักมีขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร สูงประมาณ 3 เซนติเมตร และขนาดใหญ่คือประมาณ 10 เซนติเมตร สูงประมาณ 4 เซนติเมตร ซึ่งผางประทีสขนาดใหญ่นี้อาจทำเป็นชนิดที่ทำเป็นเชิงสูงขึ้นประมาณ 10 เซนติเมตรก็มีเช่นกัน ผางประทีสชนิดนี้มักจะมีลายประดับที่ปากถ้วยไว้ด้วย

                ผางประทีปหรือผางประทีส คือประทีปที่เป็นเครื่องจุดตามไฟเป็นพุทธบูชาหรือบูชาสืบชาตาอายุ หรืออีกนัยหนึ่งคือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้จุดแทนเทียนในเวลากลางคืน ตัวประถางที่รองรับทำด้วยดินเผาหรือกระเบื้องเคลือบ ตามความหมายดังกล่าวคำว่า ประทีป หมายถึงแสงไฟ ผาง หมายถึงภาชนะรองรับน้ำมันหรือไขที่เป็นเชื้อเพลิงของประทีป รวมความผางประทีป คือเครื่องจุดตามไฟ

 นอกจากถ้วยประทีปแล้ว สิ่งที่สำคัญคู่กันก็คือ น้ำมัน และตีนกาหรือสีสาย ซึ่งน้ำมันที่ใช้เติมลงในถ้วยประทีปนั้น อาจเป็นน้ำมันถั่ว น้ำมันมะพร้าว น้ำมันละหุ่ง น้ำมันงา รวมถึงน้ำมันที่ได้จากสัตว์อีกด้วย ปัจจุบันนิยมใช้ขี้ผึ้ง (พาราฟีน) แต่ไม่พบว่านิยมใช้น้ำมันจากสัตว์ในประทีปที่บูชาพระ

สีสาย ซึ่งอาจอ่านเป็น “สี้สาย” หรืออ่านเคลื่อนเป็น “ขี้สาย” นั้น ทำจากด้ายฟั่นให้เป็นเชือกสองเกลียวยาวประมาณ 15 เซนติเมตร แล้วดึงแยกเกลียวทั้งสองออกจากกันโดยเว้นระยะจากปลายเชือกประมาณ 10 เซนติเมตร เมื่อปล่อยมือเชือกเกลียวแต่ละเกลียวก็จะพันกันกลับเป็นเชือกอีกทีหนึ่ง จัดแต่งเชือกทั้ง 4 ชายให้เข้ากัน โดยจัดสามชายแยกออกจากกันเป็นสามแฉก เหมือนตีนกา และอีกชายหนึ่งตั้งอยู่ตรงกลางของทั้งสามชาย ก็จะได้ตีนกา หรือสีสายตามต้องการ

ในช่วงเทศการยี่เพง (อ่าน “ยี่เป็ง”) ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสอง จะมีการประดับประทีปโคมไฟกันทั่วไป นอกจากการประดับส่วนนี้แล้ว ยังใช้เป็นจุดบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนหนึ่งตามอายุของแต่ละคน ในการตั้งธัมม์หลวง หรือฟังเทศน์มหาชาตินั้นเจ้าของกัณฑ์เทศน์กัณฑ์ใดในหาเวสสันดรชาดกก็จะจุกประทีปตามจำนวนคาถา เช่น กัณฑ์กุมาร 101 คาถา ก็จุดประทีบ 101 ดวง เป็นต้น 

(ข้อมูลจากสารานุกรมไทยภาคเหนือ เล่ม 8 หน้า4072-4075) 

ประเพณีจุดผางปะติ๊ดถือเป็นอีกประเพณีหนึ่งของภาคเหนืที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ในอดีตแสดงให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมรวมไปถึงความมีส่วนร่วมของคนในชุมชนซึ่งในวันนี้เป็นการจัดขึ้นด้วยความพร้อมใจกันของคนในชุมชน จะเห็นได้ว่ามีประทีปโคมไฟหลากหลายสีสันถูกนำมาตกแต่งอย่างสวยงามหลายหมื่นดวงรอบเมืองมีประชาชน เยาวชน มาเข้าร่วมกิจกรรมจุดประทีปให้สว่างไสวไปตลอดเส้นทางรอบคูเมืองทั้งหมดซึ่งทั้งหมดนี้เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยสร้างสีสันและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้มาสัมผัสกับขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของเราชาวล้านนาอีกทางหนึ่งด้วย 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. (2532). พจนานุกรมหัตถกรรมและอุตสาหกรรมพื้นบ้าน. กรุงเทพฯ: บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย.

ผางประทีป จากหม้อดินเผาสู่ผางประทีป. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://www.museumthailand.com/th/3065/storytelling/ผางประทีป/ .  

ข้อมูลเนื้อหา โด  :  นางสาวอรพินธ์  ไชยยอง

เรียบเรียง โดย : นางสาวอรพินธ์ ไชยยอง

ภาพประกอบ โดย : นางสาวอรพินธ์  ไชยยอง