แหล่งอนุรักษ์โคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคา

    แหล่งอนุรักษ์พันธุ์โคขาวลำพูนที่หาดูได้ยากเป็นโคขาวลำพูนที่มีลักษณะที่ดีซึ่งนำไปใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ จุดถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลท่าตุ้มโดยสำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดลำพูน

ความเป็นมาของแหล่งอนุรักษ์โคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคา

โคขาวลำพูนเป็นโคพันธุ์พื้นเมืองที่เกษตรกรในเขตภาคเหนือเลี้ยงสืบทอดกันมาเป็นเวลานานมีประประวัติความเป็นมาอย่างไรไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนแต่น่าจะอยู่กับวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยล้านนามาตั้งแต่อดีตจากการบอกเล่าสืบต่อกันมาพอจะสันนิษฐานที่มาของโคขาวลำพูนได้ 3 แนวทางคือ

1.เกิดจากการกลายพันธุ์ของโคพื้นเมืองในสมัยเจ้าแม่จามเทวีเจ้าผู้ครองนครหริภุญชัย (ลำพูน) เมื่อประมาณ 1,340 ปีที่ผ่านมาเป็นสัตว์คู่บารมีของชนชั้นปกครองในสมัยนั้น

2.บ้างก็บอกว่าโคขาวน่าจะเป็นต้นตระกูลของโคพื้นเมืองในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นโคทางยุโรปที่ไม่มีหนอกต่อมาถูกผสมข้ามสายพันธุ์โดยโคอินเดียที่มีหนอกทำให้เกิดโคพันธุ์ใหม่ในภูมิภาคนี้ที่มีเหนียงคอสั้นหน้าผากแบนและหูเล็กกางมีหนอกเล็กน้อยแบบโคอินเดีย

3.จากการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าสืบต่อกันมาว่าสมัยก่อนราว พ.ศ. 2490-2450 บ้านเมืองไม่มีรถยนต์ที่จะใช้บรรทุกสิ่งของเพื่อการค้าขายผู้คนเลยหันมาใช้สัตว์บรรทุกสิ่งของแทนเช่นม้าต่างโคต่างเป็นต้นเพื่อบรรทุกสิ่งของไปมาค้าขายกันระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านเช่นพม่าเป็นต้นขากลับพ่อค้าก็ซื้อโคตัวเมียสีขาวที่เมืองพม่ามาเลี้ยงที่เมืองลำพูนและมีการปรับปรุงสายพันธุ์จนกลายเป็นโคขาวลำพูนขึ้น

จากการสันนิษฐานทั้ง 3 แนวทาง“ โคขาว” มีความเกี่ยวข้องกับจังหวัดลำพูนผู้คนจึงเรียกขานชื่อตามแหล่งที่พบโคพันธุ์นี้ว่า“ โคขาวลำพูน” จนติดปากมาจนถึงปัจจุบัน โคขาวลำพูนเป็นโคที่มีรูปร่างขนาดใหญ่กว่าโคพื้นเมืองทั่วไปรูปร่างสูงโปร่งลำตัวมีขนสีขาวเป็นมันพี่หางยาวเป็นพวงสีขาวและเขามีรูปทรงเป็นรูปเชิงเทียนโค้งงามสีน้ำตาลอมส้มมีนัยน์ตาแจ่มใสขอบตาสีชมพูหูไม่มีตำหนิมีขวัญหน้าขวัญทัดดอกไม้ข้างขวาและขวัญหลังถูกต้องตามตำรากีบและข้อท้าแข็งแรงสูงประมาณ 150 เซนติเมตรลำตัวยาว 120 เซนติเมตรนิสัย เชื่องไม่ดุร้ายจับไปฝึกสอนได้ง่ายจากการที่โคขาวลำพูนมีลักษณะครบถ้วนจึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นพระโคในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่โปรดจัดขึ้นเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารเป็นขวัญกำลังใจให้กับเกษตรกรและเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองเช่นพระโคเพชร พระโคพลอย พระโครุ่ง พระโคโรจน์และพระโคเทิด พระโคทูน

    แหล่งอนุรักษ์พันธุ์โคขาวลำพูนที่หาดูได้ยากเป็นโคขาวลำพูนที่มีลักษณะที่ดี

ซึ่งนำไปใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ จุดถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลท่าตุ้มโดยสำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดลำพูน

กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคพันธุ์ขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคาเริ่มก่อตั้งกลุ่มเมื่อปี พ.ศ. 2545 โดยนายอยุธ ไชยยอง ผู้ใหญ่บ้าน บ้านไร่ป่าคา หมู่ 13 ตำบลท่าตุ้ม ร่วมกับชาวบ้านได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคาขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะหารายได้เสริมให้กับครอบครัวหลังจากฤดูกาลเก็บผลผลิตลำไยเสร็จประชากรในชุมชนบ้านไร่ป่าคา ตำบลท่าตุ้ม อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรชาวสวนลำไย มีการกำจัดวัชพืชโดยเฉพาะหญ้าที่ขึ้นตามสวนลำไย โดยการตัดทิ้งและใช้สารเคมีฉีดพ่นเป็นประจำ ทำให้สูญเสียหญ้าไปโดยเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ ยังมีผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตรอื่นๆ เช่น ฟางข้าว          ต้นข้าวโพด กากเปลือกถั่ว ซึ่งเกษตรกรมักเผาทิ้งเป็นประจำ ขณะนั้นสาธารณูปโภคพื้นฐานมีพร้อม เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา ชาวบ้านมีรายได้หลักมาจากการทำนาและสวนลำไย ซึ่งบางปีก็ขาดทุน และไม่มีรายได้เสริม  


ากความมุ่งมั่นตั้งใจ  ผลงานของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคา  เป็นที่ประจักษ์เมื่องานวิจัยได้รับการคัดเลือกให้เป็นงานวิจัยดีเด่นประจำปี  2549 ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย            ( สกว. ) ภาคเหนือ  ความภูมิใจนี้จึงเหมือนน้ำทิพย์ให้กลุ่มทำงานต่อจนถึงทุกวันนี้

ในขณะที่ชาวบ้านเห็นว่าโคขาวลำพูนมีการเลี้ยงในชุมชนบ้านไร่ป่าคาอยู่จำนวนน้อย แต่มีการเลี้ยงในจังหวัดอื่นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีความเห็นร่วมกันที่จะอนุรักษ์โคขาวลำพูน ไว้คู่กับเมืองลำพูนตลอดไป นอกจากนี้การเลี้ยงโคขาวลำพูนทำให้คนในชุมชน มีอาชีพเสริม โดยได้ทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาสนับสนุนการทำงาน และมีการทำวิจัยไปพร้อมกัน โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหลัก ร่วมคิด ร่วมทำ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ จนประสบผลสำเร็จ และในปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคพันธุ์ขาวลำพูน บ้านไร่ป่าคานี้ มีโคขาวลำพูนประมาณ 50 ตัว และจะควบคุมจำนวนที่เลี้ยงไว้ เนื่องจากอาหาร และหญ้าสดมีไม่เพียงพอ นอกจากนี้สมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงโคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคายังไม่มีประสบการณ์ ในการเลี้ยงโคขาวลำพูนจึงมีความจำเป็นที่กลุ่มสมาชิกจะสร้างความรู้ในการพัฒนาการจัดการกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคาโดยผ่านกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อให้กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคา สามารถประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำพูนหน่วยผสมเทียมกรมปศุสัตว์สาขาอำเภอป่าซางรวมทั้งสถาบันการศึกษาเช่นคณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กศน.ตำบลท่าตุ้ม และโรงเรียนหนองบัว ตำบลท่าตุ้ม เพื่อหาแนวทางในการจัดการแปลงหญ้า จัดการตัวโค และการบริหารจัดการกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญช่วยให้นักเรียนนักศึกษาซึ่งเป็นลูกหลานได้เรียนรู้เรื่องการเลี้ยงโคขาวลำพูนเป็นการสืบทอดและอนุรักษ์พันธุ์โคขาวลำพูนได้ยั่งยืนมากขึ้น 


กิจกรรมของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขาวลำพูน จากแหล่งอนุรักษ์โคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคา มีจุดประสงค์เพื่ออนุรักษ์โคขาวลำพูน และส่งเสริมให้เกษตรกร ยังรวมไปถึงเยาวชนรุ่นใหม่ให้เรียนรู้และเข้าใจถึงวิถีเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริซึ่งเป็นการวิจัยควบคู่ไปกับกิจกรรมพัฒนาทั่วไปของชุมชนเพื่อให้การเลี้ยงโคขาวลำพูนเกิดความยั่งยืนและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างยั่งยืนสืบต่อไปในการวางแผนกิจกรรมแบ่งออกเป็น 3 ส่วน 

1. การพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขาวลำพูน  

2. การพัฒนาชุดหลักสูตรท้องถิ่น 

3.เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับชุมชนและผู้สนใจที่จะอนุรักษ์พันธุ์โคขาวลำพูน

การดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขาวลำพูนสมาชิกในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคาทั้งนี้จุดประสงค์ของการเลี้ยงเป็นกลุ่มเพื่อป้องกันการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์ของโคขาวลำพูนกับโคสายพันธุ์อื่นเช่นโคสายพันธุ์บราห์มัน  ซึ่งโคขาวลำพูนที่เกิด ณ แหล่งอนุรักษ์โคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคาแห่งนี้ ร้อยละ 90 จะมีลักษณะถูกต้องตรงตามลักษณะสายพันธุ์ของโคขาวลำพูนโดยเป็นการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ เมื่อลูกมีอายุได้ประมาณ 8 เดือน จะถูกแยกออกจากแม่ การเลี้ยงโคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคาจะมีสมาชิกกลุ่มมาดูแลโคขาวลำพูน ทั้งการให้อาหาร การให้วัคซีน และการทำประวัติเมื่อมีโคขาวลำพูนเกิดใหม่ ซึ่งสมาชิกกลุ่มดังกล่าวจะได้รับการอบรมจากกรมปศุสัตว์ อีกทั้งได้รับความรู้การเลี้ยงโคและการปลูกหญ้าจากคณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โคขาวลำพูน ณ แหล่งอนุรักษ์โคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคาแห่งนี้ จะได้รับอาหารซึ่งเป็นหญ้าสด เช่น หญ้าแพงโกล่า รวมถึงลำต้นของข้าวโพด จำนวน 3 มื้อ โดยเริ่มให้ตั้งแต่เช้าตรู่ จนถึงเวลาประมาณ 15.00 น. สมาชิกภายในกลุ่มแต่ละคนจะถือหุ้น และมีการแบ่งปันผลกำไรที่เกิดขึ้นเมื่อมีการซื้อขายลูกโค ซึ่งโคขาวลำพูนมีผู้นิยมซื้อไปเลี้ยงเพื่อประดับบารมี เนื่องจากโคขาวลำพูนเป็นโคที่มีลักษณะ สวยงาม และเป็นโคซึ่งได้รับเลือกให้เป็นพระโคในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ทำให้สามารถขายลูกโค ทั้งเพศเมีย – เพศผู้ จำหน่าย   ราคาประมาณตัวละ 25,000 – 30,000 บาท



การพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขาวลำพูน  

การพัฒนาชุดหลักสูตรท้องถิ่น

พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับชุมชนและผู้สนใจที่จะอนุรักษ์พันธุ์โคขาวลำพูน

ปัจจุบันแหล่งอนุรักษ์โคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคา มีโคขาวลำพูนที่มีลักษณะถูกต้องครบถ้วนตรงตามลักษณะ ที่กำหนด เป็นเพศผู้ จำนวน 2 ตัว จากจำนวน 50 ตัว ที่มีชื่อ “ขวัญมงคล” พร้อมที่จะเป็นพระโคในพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปี พ.ศ 2566 ต่อไป

โคขาวลำพูนที่มีลักษณะถูกต้องครบถ้วน 15 ประการ

ภาพโดย : อรพินธ์  ไชยยอง

การเลี้ยงโคขาวลำพูน

โคขาวลําพูนเป็นโคที่เลี้ยงง่าย ไม่ค่อยมีปัญหาในการเลี้ยง เป็นโคที่มีสุขภาพแข็งแรง มีความสมบูรณ์พันธุ์สูง ทนทานต่อโรค พยาธิ และแมลงเขตร้อน แม้จะได้รับการเลี้ยงดูแบบแร้นแค้นก็ตามจึงเหมาะสมกับการเลี้ยงในเขตชนบทของไทย

การเลี้ยงโคขาวลําพูนของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขาวลําพูนบ้านไร่ป่าคา มี 2 วิธี คือ

1. การเลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง การเลี้ยงแบบนี้กลุ่มผู้เลี้ยงโคขาวลําพูนสร้างคอกไว้ใกล้แหล่งเลี้ยง เพื่อขังโคได้นอนตอนกลางคืน เวลาสายต้อนโคออกคอกปล่อยโคออกแทะเล็มหญ้าตามทุ่งนา หรือที่สวนรกร้างว่างเปล่าในตอนกลางวัน หลังการต้อนโคออกคอกไปปล่อยทุ่งแล้วเก็บกวาด คอก นํามูลโคไปฝั่งลาน ตากให้แห้งบรรจุใส่กระสอบนําไปใส่สวนลําไย เหลือขายเป็นรายได้ เสริม เย็นต้อนโคกลับขังคอก ให้อาหารเสริมพวกหญ้าหมัก ฟางข้าว แขวนก้อนเกลือแร่ให้โค แทะเล็ม มีถังน้ำใส่น้ำให้โคกิน



2. การเลี้ยงแบบยืนโรง หรือแบบยังคอก กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขาวลําพูน โดยการนําของ นายอยุธ ไชยยอง ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขาวลําพูนบ้านไร่ป่าคาได้สร้างคอกขนาดใหญ่ พอที่จะเลี้ยงโคได้ตามต้องการ ล้อมรั้วให้มั่นคง มีรางอาหาร มีถังน้ำไว้ในคอกให้โคได้กินน้ำ พร้อมกับปลูกหญ้าไว้ตัดให้โคกิน หมุนเวียนกับฟางข้าว ให้อาหารเม็ดเสริมเป็นบางครั้ง แขวน ก้อนเกลือแร่ไว้ให้โคได้แทะเล็ม หมั่นทําความสะอาดคอกโดยเก็บมูลโคไว้ข้างนอกนำไปตากที่ลานทุกวัน แห้งแล้วบรรจุกระสอบนําไปใส่สวนลําไยทําให้ประหยัดต้นทุนการผลิตลําไยส่วนหนึ่ง เหลือขายเป็นรายได้เสริม การเลี้ยงแบบนี้มีข้อเสีย โคไม่ได้ออกกําลังทําให้การกินอาหารได้น้อย รูปร่างโคจึงไม่ค่อยอ้วน ผอมแก้ไขโดยการให้อาหารเม็ดเสริม 


ประโยขน์ของการเลั้ยงโคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคา

มูลจากโคขาวลำพูนสร้างรายได้

ผู้เขียนมีประสบการณ์การเลี้ยงโคขาวลำพูนสมัยเป็นเด็ก จะเห็นการเลี้ยงโคขาวลำพูนในอดีต ผู้คนจะเลี้ยงเพื่อการใช้ประโยชน์มากมาย เช่น ไถนา เทียมเกวียน เป็นโคต่าง โคลากบรรทุกสิ่งของไปมาค้าขายกัน บางที่ก็เลี้ยงขุนเพื่อขายเป็นรายได้ มักจะเลี้ยงไว้ใต้ถุนบ้าน  2-3 ตัว มูลเหตุที่เลี้ยงไว้ใต้ถุนบ้านก็เพื่อป้องกันขโมย ในอดีตโคขาวลำพูนตัวผู้จะมีราคาแพงกว่าโคขาวลำพูนตัวเมียเพราะโคขาวลำพูนตัวผู้สามารถใช้ทำงานต่าง ๆ ได้นั่นเอง โคขาวลำพูนตัวเมียใช้ผสมพันธุ์เพื่อตกลูกเท่านั้น

ในปัจจุบัน การเลี้ยงโคขาวลำพูนเพื่อไถนา เทียมเกวียน แทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว เกษตรกรพัฒนาการเลี้ยงเป็นการเลี้ยงแบบภายในครอบครัวเป็นรายได้เสริมครัวเรือนละ 2-3 ตัว หรือเลี้ยงเป็นอาชีพเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 50 - 100 ตัวขึ้นไป  ซึ่งเป็นทั้งประโยชน์ทางตรงคือมีรายได้จากการขายโคขาวลำพูน และประโยชน์ทางอ้อมคือได้มูลจากโคขาวลำพูนเกษตรกรก็นําไปตากแห้งบรรจุกระสอบขายราคาจะประมาณกระสอบละ 25 - 30 บาท หรือสมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงโคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคา จะเก็บไว้เป็นปุ๋ยสำหรับใส่สวน ไร่ นา ของตนเอง เป็นการลดต้นทุนการผลิตในการเกษตรอีกทางหนึ่ง  มูลโคขาวลำพูนมีธาตุอาหารสูงโดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนลำไย นําไปใช้ในการปรับปรุงดินหลังจากเก็บผลผลิตลำไยที่ใส่สารโปรแทสเซียมคลอเรทหรือการทำลำไยนอกฤดูเสร็จแล้ว ทำให้มูลโคขาวลำพูน มีจำนวนกับความต้องการของเกษตรกรจำนวนมากส่งผลให้สมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงโคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคาที่เลี้ยงโคขาวลำพูนมีรายได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ แหล่งอนุรักษ์โคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคา ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของจังหวัดลำพูน จะมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศและสื่อต่างๆให้ความสนใจ มีความต้องการที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สืบสานอนุรักษ์โคพันธุ์ขาวลำพูนไว้เพื่อให้ลูกหลานได้รู้จักและเป็นมิ่งขวัญอยู่คู่เมืองลำพูนตลอดไป 

                   ตามคำขวัญของชุมชน

หมู่บ้านพลังงานทดแทน ดินแดนโคขาวลำพูน

เพิ่มพูนแหล่งเรียนรู้     เชิดชูวัฒนธรรม น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง

                  

                 แต่งโดย : อรพินธ์  ไชยยอง ปี 2551


การศึกษาเรียนรู้ภายในแหล่งอนุรักษ์โคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคา 

 https://shorturl.asia/ronvd

กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลักสูตรท้องถิ่นการเลี้ยงโคขาวลำพูนให้กับผู้ประสานงานกลางการจัดการพันธุกรรมสัตว์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

โดย กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โรงเรียนบ้านหนองบัว กับการบูรณาการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรท้องถิ่นการเลี้ยงโคขาวลำพูน

อ้างอิง

นายไพบูลย์ ปันดอนตอง , โรงเรียนบ้านหนองบัว. (2546). สัมภาษณ์, 1 มีนาคม.

นายอยุธ  ไชยยอง , แหล่งอนุรักษ์โคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคา. (2565). สัมภาษณ์, 18 กรกฎาคม.


ข้อมูลการติดต่อ

ข้อมูลการติดต่อ : ายอยุธ  ไชยยอง  ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงโคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคา หมู่ที่ 13 ตำบลท่าตุ้ม อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

ที่ทำการ  :  แหล่งอนุรักษ์โคขาวลำพูนบ้านไร่ป่าคา หมู่ที่ 13 ตำบลท่าตุ้ม อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

 หมายเลขโทรศัพท์ : 081-8837511

แผนที่การเดินทาง หรือติดต่อเข้าศึกษาเรียนรู้ โทร : 081-8837511 

ข้อมูลเนื้อหา    โดย นายอยุธ  ไชยยอง

เรียบเรียงเนื้อหา   โดย นางสาวอรพินธ์  ไชยยอง

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย    นางสาวอรพินธ์  ไชยยอง

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด : สิงหาคม 2565