การทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง 

ประวัติความเป็นมา

อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน มีพื้นที่เป็นแหล่งปลูกลำไยขนาดใหญ่ ทุกปีจะมีเศษใบลำไยจากสวนของเกษตรกรและจากโกดังรับซื้อลำไยเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาในการกำจัด ซึ่งโดยปกติจะใช้วิธีการเผาทำลาย และยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนการทำเกษตรกรรมสูง โดยเฉพาะปัญหาราคาปุ้ยเคมีที่สูงขึ้น รวมถึงปัญหาดินในสวนลำไยเสื่อมโทรม จึงได้จัดตั้งฐานเรียนรู้การผลิตปุ้ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกองขึ้น เพื่อให้มีการจัดการเศษใบลำไยที่มีจำนวนมาก แล้วนำมาทำปุ้ยอินทรีย์เพื่อบำรุงดินและลดตันทุนการผลิตของเกษตรกร

ความจำเป็นของการทำปุ๋ยหมัก

ในการเพาะปลูกของเกษตรกร สิ่งที่มีความจำเป็นและสำคัญที่สุดคือความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความอุดมสมบูรณ์ของดินจะได้มาจากการที่มีอินทรีย์วัตถุสะสมอยู่ในดินอยู่มาก จุลินทรีย์ดินจะใช้อินทรีย์วัตถุเป็นสารอาหารแล้วปลดปล่อยแร่ธาตุที่จำเป็นให้แก่พืชในปริมาณที่พืชต้องการอย่างเพียงพอ ซึ่งได้แก่ ธาตุอาหารหลัก (ไนโตรเจน-N ฟอสฟอรัส-P2O5 และโพแทสเซียม-K2O) ธาตุอาหารรอง (ซัลเฟอร์ แคลเซียม และแมกนีเซียม) และจุลธาตุ (แมงกานีส ทองแดง โบรอน โมลิบดินัม เหล็ก คลอรีน นิกเกิ้ล และสังกะสี) การเติมความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินวิธีหนึ่งคือการใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์ (Compost) ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้กับพืชแล้ว ปุ๋ยอินทรีย์ยังช่วยลดความเป็นกรดของดินที่เกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าหญ้าอย่างยาวนานได้อีกด้วย ทำให้เชื้อโรคในดิน เช่น โรครากเน่า เป็นต้น ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ เพราะเชื้อโรคศัตรูพืชจะชอบอยู่ในดินที่เป็นกรดเท่านั้น นอกจากนี้ ในอดีตก่อนที่จะมีการผลิตปุ๋ยเคมีขึ้นในโลก เกษตรกรในประเทศไทยก็ได้มีการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินในการเพาะปลูกโดยการใช้มูลสัตว์ต่าง ๆ เช่น มูลโค มูลกระบือ และมูลไก่ เป็นต้น มาโดยตลอด ประเทศไทยในขณะนั้นสามารถส่งออกข้าวเป็นที่ 1 ของโลกได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีปุ๋ยเคมีใช้

      แต่ปัจจุบัน ภายหลังจากการ “ปฏิวัติเขียว” หรือการนำปุ๋ยเคมีเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2503 การเกษตรกรรมของไทยก็ได้ใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี และยาฆ่าหญ้าอย่างหนัก โดยลืมที่จะเติมความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินอย่างแต่ก่อน การใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีอย่างยาวนาน 40 - 50 ปี ได้ทำให้ดินเพาะปลูกเสื่อมสภาพลงอย่างมาก กลายเป็นดินที่แน่น แข็ง และเป็นกรด รากพืชไม่สามารถชอนไชหาอาหารได้ดี ความเป็นกรดของดินทำให้เกิดการละลายของธาตุอะลูมิเนียมออกมาแล้วดูดซึมเข้าทางรากพืช ทำให้พืชไม่แข็งแรงกลายเป็นโรคง่าย และเชื้อราที่เป็นโรคพืชบางชนิดยังทำงานได้ดีในดินที่เป็นกรดอีกด้วย ทำให้เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีเพิ่มมากขึ้นทุกปีทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นอีก และในขณะเดียวกัน การเผาทำลายเศษพืชในแต่ละครั้งก็ส่งผลให้อินทรีย์วัตถุและจุลินทรีย์ดินที่มีอยู่น้อยพลอยสลายตัวหายไปอีกด้วย

      เพื่อให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินกลับคืนมาเกษตรกรจึงควรงดการเผาเศษพืช นำเศษพืชมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีแล้วนำไปปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้กับดิน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ที่จะส่งผลให้การใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีลดลง ซึ่งหมายถึงต้นทุนการผลิตก็จะลดลง มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีผลกำไรมากขึ้นตามไปด้วย ดินเพาะปลูกจะกลับมาเป็นดินดำที่ฟู นุ่ม โครงสร้างเม็ดดินจะร่วนซุยขึ้น มีไส้เดือนกลับคืนมาที่ช่วยการชอนไชของรากพืช พืชก็จะกลับมาแข็งแรง เกษตรกรและประชาชนจะมีสุขภาวะที่ดีจากการลดควันพิษจากการเผาและลดการใช้สารเคมี

ขั้นตอนการทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง

         ขั้นตอนที่ 1 นำใบลำไย 3 ส่วน วางเป็นชั้นบาง ๆ สูงไม่เกิน 10 เซนติเมตร ฐานกว้าง 2.5 เมตร โปรยทับด้วยมูลสัตว์ 1 ส่วน แล้วรดน้ำ (อย่างเช่น ใบลำไย 12 เข่ง มาวางหนา 10 ซม. โรยทับด้วยมูลสัตว์ 4 เข่ง เพื่อให้เป็นสัดส่วน 3 ต่อ 1 เป็นต้น) ทำเช่นนี้ 15 - 17 ชั้น รดน้ำแต่ละชั้นให้มีความชื้น ขึ้นกองเป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีความสูง 1.50 เมตร ชั้นบนสุดเป็นมูลสัตว์ กองปุ๋ยจะมีความยาวเท่าไรก็ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณเศษพืชและมูลสัตว์ที่มี ความสำคัญของการที่ต้องทำเป็นชั้นบาง ๆ 15 - 17 ชั้นก็เพื่อให้จุลินทรีย์ที่มีอยู่ในมูลสัตว์ได้ใช้ทั้งธาตุคาร์บอนที่มีอยู่ในเศษพืชและธาตุไนโตรเจนที่มีในมูลสัตว์ในการเจริญเติบโตและสร้างเซลล์ ซึ่งจะทำให้การย่อยสลายวัตถุดิบเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

          ขั้นตอนที่ 2 ตลอดเวลา 60 วัน ให้รักษาความชื้นภายในกองปุ๋ยให้มีความเหมาะสมอยู่เสมอตลอดเวลา (มีค่าประมาณร้อยละ 60 – 70) โดยมี 3 ขั้นตอนดังนี้

          1. รดน้ำภายนอกกองปุ๋ยทุกวัน ๆ ละครั้ง โดยไม่ให้มีน้ำไหลนองออกมาจากกองปุ๋ยมากเกินไป

          2. เมื่อครบวันที่ 10 ใช้ไม้หรือเหล็กแทงกองปุ๋ยให้เป็นรูลึกถึงข้างล่างแล้วกรอกน้ำลงไป ระยะห่างของรูประมาณ 40 เซนติเมตร ทำขั้นตอนที่สองนี้ 5 ครั้ง ระยะเวลาห่างกัน 10 วัน เมื่อเติมน้ำเสร็จแล้วให้ปิดรูเพื่อไม่ให้สูญเสียความร้อนภายในกองปุ๋ย ขั้นตอนนี้แม้ว่าอยู่ในช่วงของฤดูฝนก็ยังต้องทำ เพราะน้ำฝนไม่สามารถไหลซึมเข้าไปในกองปุ๋ยได้ จากข้อดีที่น้ำฝนไม่สามารถชะล้างเข้าไปในกองปุ๋ยได้ เกษตรกรจึงสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวิธีนี้ในฤดูฝนได้ด้วย ปริมาณน้ำที่เติมโดยรวมต้องไม่ทำให้มีน้ำเจิ่งนองออกมามากเกินไป

          3. ภายหลังวันที่ 10 หรือ 20 ให้สุ่มตรวจสอบความชื้นข้างในกอง โดยการเอาจอบมาสับกองปุ๋ยลึก ๆ สัก 40 ซม. เพื่อดูว่าข้างในกองปุ๋ยแห้งเกินไปหรือเปล่า ถ้าแห้งเกินไปก็จะได้กรอกน้ำลงไปที่จุดนั้น แล้วปรับวิธีการเจาะกองปุ๋ยกรอกน้ำของเรา

ภายในเวลา 5 วันแรก กองปุ๋ยจะมีค่าอุณหภูมิสูงขึ้นมาก บางครั้งสูงถึง 70 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับกองปุ๋ยที่ทำได้ถูกวิธี ความร้อนสูงนี้เกิดจากกิจกรรมการย่อยสลายของจุลินทรีย์ (จุลินทรีย์มีมากมายและหลากหลายในมูลสัตว์อยู่แล้ว) และความร้อนสูงนี้ยังเป็นสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำงานของจุลินทรีย์ในกองปุ๋ยอีกด้วย (จุลินทรีย์กลุ่มชอบความร้อนสูง Thermophiles และ Mesophiles) หลังจากนั้นอุณหภูมิจะค่อย ๆ ลดลงตามเวลาจนมีค่าอุณหภูมิปกติที่อายุ 60 วัน

          ขั้นตอนที่ 3 เมื่อกองปุ๋ยมีอายุครบ 60 วัน ก็หยุดให้ความชื้น กองปุ๋ยจะมีความสูงเหลือเพียงประมาณ 1 เมตร แล้วทำปุ๋ยอินทรีย์ให้แห้งเพื่อให้จุลินทรีย์สงบตัว ไม่ให้เป็นอันตรายต่อรากพืช วิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์ให้แห้งอาจทำโดยทิ้งไว้ในกองเฉย ๆ ประมาณ 1 เดือน หรืออาจแผ่กระจายให้มีความหนาประมาณ 20 – 30 ซม. ซึ่งจะแห้งภายในเวลา 3 – 4 วัน สำหรับผู้ที่ต้องการจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ก็อาจนำปุ๋ยอินทรีย์ที่แห้งแล้วไปตีป่นให้มีขนาดเล็กสม่ำเสมอ ซึ่งจะมีราคาประมาณกิโลกรัมละ 5 - 7 บาท สามารถเก็บได้นานหลายปี

          กองปุ๋ยที่สูง 1.5 เมตร จะสามารถเก็บกักความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาการย่อยสลายของจุลินทรีย์เอาไว้ในกองปุ๋ย ความร้อนนี้นอกจากจะเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับจุลินทรีย์ชนิดชอบความร้อนสูงที่มีในมูลสัตว์แล้ว เมื่อความร้อนนี้ลอยตัวสูงขึ้นจะทำให้อากาศภายนอกที่เย็นกว่าไหลเวียนเข้าไปในภายในกองปุ๋ย ซึ่งเกิดจากผลของการพาความร้อน อากาศภายนอกที่ไหลหมุนเวียนเข้ากองปุ๋ยนี้ช่วยทำให้เกิดสภาวะการย่อยสลายของจุลินทรีย์แบบใช้อากาศ ทำให้ไม่ต้องมีการพลิกกลับกอง และช่วยให้กองปุ๋ยไม่มีกลิ่นหรือน้ำเสียใด ๆ ในหน้าหนาวเราอาจพบเห็นไอร้อนลอยออกมาจากกองปุ๋ย ซึ่งชี้ให้เห็นว่ากำลังมีอากาศเย็นกว่าไหลเข้าไปในกองปุ๋ยตลอดเวลา

หัวใจสำคัญของการทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง

          ต้องรักษาความชื้นภายในกองปุ๋ยให้มีความเหมาะสมอยู่เสมอตลอดเวลาทั้งภายในและภายนอกกองปุ๋ยด้วยวิธีการ 2 ขั้นตอนข้างต้น บริเวณใดที่แห้งเกินไปหรือแฉะเกินไปจุลินทรีย์จะไม่สามารถย่อยสลายได้ ทำให้วัสดุไม่ย่อยสลาย กระบวนการอาจใช้เวลานานถึง 6 เดือนถึง 1 ปีก็ได้

ข้อห้ามของการทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง

1. ห้ามขึ้นเหยียบกองปุ๋ยให้แน่น หรือเอาผ้าคลุมกองปุ๋ย หรือเอาดินปกคลุมด้านบนกองปุ๋ย เพราะจะทำให้อากาศไม่สามารถไหลถ่ายเทได้

2. ห้ามละเลยการดูแลความชื้นทั้ง 2 ขั้นตอน เพราะถ้ากองปุ๋ยแห้งเกินไปจะทำให้ระยะเวลาแล้วเสร็จนานและปุ๋ยอินทรีย์มีคุณภาพต่ำ

3. ห้ามวางใบลำไยเป็นชั้นหนาเกินไป การวางใบลำไยเป็นชั้นหนาเกินไปจะทำให้จุลินทรีย์ที่มีในมูลสัตว์ไม่สามารถเข้าไปย่อยสลายเศษพืชได้

4. ห้ามทำกองปุ๋ยใต้ต้นไม้ เพราะความร้อนของกองปุ๋ยอาจทำให้ต้นไม้ตายได้

5. ห้ามระบายความร้อนออกจากกองปุ๋ย เพราะความร้อนสูงในกองปุ๋ยจะช่วยให้จุลินทรีย์ทำงานได้ดีมากขึ้น และยังช่วยให้เกิดการไหลเวียนของอากาศผ่านกองปุ๋ยอีกด้วย

...แผนที่การเดินทางมายัง...

แหล่งเรียนรู้ : การทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง 

ข้อมูลเนื้อหา โดย :  เวิลด์เคมิคอล กรุ๊ป. (2566). ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปริมาณมากแบบไม่พลิกกลับกอง. สืบค้นจาก http://www.baanrakdin.com/article/29/

เรียบเรียงข้อมูล/เนื้อหา โดย : นายวุฒิชัย ภิมาลย์

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย : เทศบาลตำบลหนองล่อง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน

TKP : ประจำเดือน มิถุนายน 2566